ความสามารถนั้น มีบางคนก็เข้าใจกว้างๆ บางคนก็เข้าใจแต่แคบๆ อย่างที่แคบคือใครทำการได้ดีเต็มตามวิชาที่ได้เรียนมาแล้ว ก็เรียกว่าเป็นคนที่มีความสามารถเสียแล้ว แต่แท้จริงควรจะใช้คำว่าชำนาญจะเหมาะกว่า เปรียบเหมือนช่างไม้ ช่างเหล็กหรือช่างอะไร ๆ ที่ทำงานดี ๆ ก็หากล่าวไม่ว่าเขาสามารถ มักกล่าวแต่ว่าผีมือดี และผู้ที่ขี่ม้าขับรถเก่ง ๆ ก็หากล่าวไม่ว่าเขาสามารถ กล่าวแต่ว่าเขาชำนาญ แต่ที่ผู้ได้รอบรู้วิทยาการอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว และใช้ความรู้นั้น โดยอาการอันช่ำชอง มักกล่าวกันว่าเขาสามารถ ซึ่งเป็นการส่งเสริมเกินกว่าที่ควรไปโดยแท้ อันที่จริงผู้ที่ได้เรียนการช่างไม้ จนทำการในหน้าที่ของเขาได้ดีทุกสถานแล้ว ไม่เลวไปกว่าผู้ที่ได้เรียนกฎหมายจนว่าความได้นั้นเลย เป็นแต่ชำนาญการคนละอย่างเท่านั้น แต่ถ้าจะแปลความสามารถให้กว้างออกไป ต้องแปลว่าสิ่งซึ่งกระทำให้ความเป็นใหญ่มีมาแต่ผู้ที่มีอยู่ และจะแปลให้ดีกว่านี้ก็ยาก เพราะความสามารถเป็นสิ่งซึ่งมิได้อยู่ในตำรับตำราอันใด และจะสอนให้แก่กันก็หาได้ไม่ ย่อมเป็นสิ่งซึ่งบังเกิดขึ้นในตัวบุคคลเอง หาใช่เพราะขึ้นโดยหาคะแนนมากๆในเวลาสอบไล่ในโรงเรียนหรือโดยได้ประกาศนียบัตรหลาย ๆ ใบ ก็หามิได้ การแปลคำว่าสามารถแคบไปนั้นแหละ ทำให้เป็นเครื่องบำรุงความโทมนัสแห่งบุคคลบางจำพวกเป็นอันมาก คำว่าสามารถควรจะแปลเสียให้ กว้างทีเดียวว่า “อาจจะทำการงานให้เป็นผลสำเร็จได้ดียิ่งกว่าผู้ที่มีโอกาสเท่า ๆ กัน” เช่นต่างว่าคน ๒ คนได้เรียนหนังสือโรงเรียนเดียวกัน สอบไล่ได้ปานๆ กัน ได้ไปยุโรปด้วยกัน เรียนเท่า ๆ กันอีก และกลับพร้อมกัน เข้ารับราชการพร้อมกันในหน้าที่คล้ายๆ กัน แต่ครั้นเมื่อทำงานแล้ว คน ๑ รู้จักใช้วิชาของตนให้เหมาะแก่กาลเทศะและสมเหตุสมผล อีกคน ๑ ต้องคอย ให้นายชี้หนทางให้ทำก่อนจึงทำ เช่นนี้ นับว่าคนที่ ๑ เป็นผู้มีความสามารถมากกว่าคนที่ ๒