อาจริยบูชา “ปฐมอนุศาสนาจารย์ทหารบก”

ประวัติ พระธรรมนิเทศทวยหาญ(อยู่ อุดมศิลป์)[1]

พ.ศ. ๒๔๒๔ – ๒๕๑๐

———————

         อำมาตย์ตรี พระธรรมนิเทศทวยหาญ นามเดิม ทองอยู่ ภายหลังเปลี่ยนเป็น อยู่ นามสกุล อุดมศิลป์ เป็นบุตรนายด้วง นางพร้อม เกิดที่บ้านในตรอกบ้านข้าวหลาม ตำบลหัวลำโพงใน จังหวัดพระนคร เมื่อวันที่   ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๒๔

          เมื่อเยาว์วัยบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดเทพศิรินทราวาส พระธรรมไตรโลกาจารย์ (เดช) ครั้งยังเป็นพระเทพกวีเป็นพระอุปัชฌาย์ ครั้นเมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดบวรนิเวศวิหาร พระธรรมนิเทศทวยหาญก็ได้เป็นสหจรด้วย ดังที่พระธรรมนิเทศทวยหาญบันทึกไว้ใน “หมายเหตุ”(พ.ศ. ๒๔๙๒ พระธรรมนิเทศทวยหาญได้ยกหนังสือ เอกสาร และพัสดุต่างๆ ซึ่งเป็นของส่วนตัวให้ นาวาอากาศเอก เมฆ อำไพจริต[2] อนุศาสนาจารย์ผู้เป็นศิษย์คนหนึ่ง นำไปมอบเป็นสมบัติของห้องสมุดอนุศาสนาจารย์ทหารอากาศ และได้เขียนเล่าเรื่องความเป็นมาของเอกสารต่างๆ เป็นทำนอง “หมายเหตุ” เพื่อให้ทราบเรื่องราวต่างๆ ได้กระจ่างชัดขึ้น) ว่า

          “ทูลกระหม่อมพระองค์ใหญ่ (สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร) ทรงผนวชเณร ไม่มีเณรเล็กๆ เป็นสหจร (มีแต่เณรโข่ง ทรงเรียกว่าปู่เณร รูปร่างใหญ่โตมาก….ฉันเล็กกว่าเพื่อนจนทรงเรียกว่าเณรแอ๊ว พระราชทานตุ๊กตาปอสเลน ๒ ตัว) พระราชาคณะต่างวัดที่เป็นเวรถวายธรรมิกถาจัดสามเณรเข้าไปถวายเป็นบริวาร ท่านเจ้าคุณพระธรรมไตรโลกาจารย์ (เดช) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทรฯ เป็นพระอุปัชฌาย์เณรของฉัน เอาฉันเข้าไปถวายด้วย จึงต้องไปอยู่กับวัดบวรฯ ในคราวนั้น ล้นเกล้าฯ(พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศที่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราวุธ) กับทูลกระหม่อมพระองค์อื่นไปประทับอยู่กับสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ได้ทรงเห็นฉันเสมอ และทรงทักทายในบางโอกาส จึงทรงรู้จักแต่นั้นมา

          จากนั้นได้เข้าเป็นนักเรียนบาลีในโรงเรียนของมหามกุฎราชวิทยาลัย ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ครั้งยังทรงเป็นกรมหมื่น ทรงตั้งขึ้น       ใช้หลักสูตรใหม่สอบความรู้ด้วยวิธีเขียน พ.ศ. ๒๔๔๒ สอบได้เทียบเปรียญ ๗ ประโยค วันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๕ อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ได้รับฉายาว่า“เขมจาโร” สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ เป็นพระอุปัชฌาย์ และเข้าแปลประโยค ๘ ได้ในปีนั้น        ปีต่อมาก็เข้าแปลประโยค ๙ ได้ ซึ่งสองประโยคหลังนี้สอบที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยวิธีสอบแบบเดิมคือ แปลด้วยปากเปล่า และในการแปลประโยค ๙ ได้นี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ประทานพระรูปเป็นรางวัล มีลายพระหัตถ์ใต้พระรูปว่า

          “ให้พระมหาเขมจาโร (อยู่) ในการแปลฎีกาสังคหะประโยค ๙ ได้น่าที่นั่งเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๒ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ผู้อุปัชฌายะ

วัดบวรนิเวศวิหาร

วันที่ ๕ เมษายน ร.ศ. ๑๒๓”

          พระธรรมนิเทศทวยหาญขณะเป็นสามเณรอายุได้ ๑๖ ปี สอบได้เป็นนักเรียนเอก(คือ ๓ ประโยค) ก็เริ่มเป็นครูเป็นการส่วนตัว สอนไปด้วย เรียนไปด้วย จนมีนักเรียนมากขึ้น สองปีต่อมาคือ พ.ศ. ๒๔๔๒ ทางวัดเทพศิรินทราวาส จึงแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการศึกษาพระปริยัติธรรมสำนักเรียนวัดเทพศิรินทรฯ พระมหาเปรม เปมงฺกโร ศิษย์รูปหนึ่งได้กล่าวไว้ในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพพระธรรมนิเทศทวยหาญถึงเรื่องนี้ตอนหนึ่งว่า

          “ท่านลงมือเปิดสอนบาลีไวยากรณ์ก่อนเปนเบื้องต้น เอากุฎีที่อยู่ของท่านเองเปนสำนักเรียน  เมื่อนักเรียนพระเณรเข้ามามอบตัวเปนศิษย์มากขึ้นเปนลำดับ…       เจ้าอาวาส…จึงมอบโรงเรียนปริยัติธรรมภาษาบาลีให้ท่านอาจารย์มหาอยู่  เข้าจัดการศึกษา ฝึกสอนเปนอิสระคนเดียวหมด

          ….ท่านอาจารย์เอาใจใส่ทุกวิถีทาง… ทั้งวันทั้งคืนไม่เป็นอันกินอันนอน เพราะต้องทำการสอนเองคนเดียวด้วยทุกชั้นทุกแผนก… แบ่งเวลาสอนเช้าเรื่องนี้ บ่ายเรื่องนั้น บางครั้งเพิ่มการสอนกลางคืนเข้าอีกด้วย.. ผลปรากฏว่าพระเณรนักเรียนทวีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ประกาศความเจริญก้าวหน้าของการศึกษาพระปริยัตติธรรมที่ท่านอาจารย์มหาอยู่ได้เสกสร้างขึ้นด้วยกำลังใจ..”

          นอกจากจะเป็นครูผู้มีความสามารถแล้ว พระธรรมนิเทศทวยหาญ ยังเป็นนักเทศน์ชั้นเลิศรูปหนึ่งในสมัยนั้น ซึ่งนิยมเทศน์ปฏิภาณ คือเทศน์ปากเปล่า ได้ถวายเทศน์หน้าพระที่นั่ง เป็นที่พอพระราชหฤทัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ถึง ๓ คราว และหลังจากถวายเทศน์คราวที่ ๓ ได้ไม่กี่วัน มีพระราชพิธีขนานนาม  เรือยนต์พระที่นั่ง ๒ ลำ ที่ท่าวาสุกรี พระธรรมนิเทศทวยหาญบันทึกไว้ใน “หมายเหตุ” ว่า

          “เสร็จพระราชพิธีแล้วเสด็จประพาสลำน้ำ ฉันถูกคัดให้ลงลำประทับในเรือ     พระที่นั่งยนต์ลำนี้แหละ ล้นเกล้าฯ รับสั่งกับเจ้าประคุณ (สมเด็จพระมหาสมณเจ้า    กรมพระยาวชิรญาณวโรรส) ว่าได้ฟังพระอมราฯ ถวายเทศน์เมื่อวานซืนนี้ นึกอุ่นใจว่ายังมีผู้ถวายเทศน์ให้ฟังได้…ในที่สุดรับสั่งว่า ได้ถวายเทศน์โปรดถึง ๓ คราวติดๆ กันมาแล้ว ต่อไปจะเป็นคนสำหรับเทศน์ถวายหลวง ต้องขอพรสักอย่างเถอะ จงให้ปฏิญาณเสียเดี๋ยวนี้แหละ คือในการรับนิมนต์ไม่ว่าที่ไหน ขออย่าได้รับนิมนต์เทศน์ตลกเป็นอันขาดทีเดียวนะ เทศน์คู่ ทรงเรียกว่าเทศน์ตลก ทีแรกฟังไม่เข้าใจเล่นเอางง ทรงอธิบายว่าเทศน์คู่มักจะติดตลก บ่อยเข้าก็เคยปากจะพลั้งออกไปในเวลาถวายเทศน์ ที่ทรงขอพรไว้ตั้งแต่ต้นดังนี้มีประโยชน์แก่ฉันมาก ตัดความยุ่งยากไปอย่างถนัดใจ…”

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

         แม้จะมีงานเทศน์มากเพียงไร แต่พระธรรมนิเทศทวยหาญก็ยังเป็นครู รักการสอน รักศิษย์เป็นอย่างมาก ดังที่ได้บันทึกไว้ใน “หมายเหตุ” ตอนหนึ่งว่า

          “ฉันทุ่มเทเวลาและกำลังใจให้นักเรียนอย่างสิ้นเนื้อประดาตัว การสอนนักเรียนเป็นงานดั้งเดิมตั้งแต่เป็น น.เอก (๓ ประโยค) อายุ ๑๖ ปี ก็เป็นครูเรื่อยมา ทั้งที่ตนเองยังเรียนอยู่….ต่อมามีหน้าที่ปกครองนักเรียนด้วย ต้องรับธุระหลายอย่างแผ่กว้างออกไปจนเป็นสำนักใหญ่ ทั้งที่ตนเองเป็นลูกวัด ต้องจัดหมดทั้งฝ่ายครูและนักเรียน..ปัจจัยทางนักเรียนเป็นมาเช่นนี้แหละ จึงหายใจเป็นนักเรียน นั่งกับนักเรียน คุยกับนักเรียน สวดกับนักเรียน ไปไหนๆ กับนักเรียนเสมอ…เทศน์เป็นงานภายหลังประดังเข้ามา ทำเวลาของนักเรียนให้เสียไป จะลดหย่อนความรับผิดชอบก็ไม่ได้ เพราะนักเรียนยึดเราเป็นที่พึ่ง”

          ด้วยเหตุนี้ สำนักเรียนวัดเทพศิรินทราวาสซึ่งเคยซบเซาไประยะหนึ่งจึงกลับรุ่งเรืองขึ้นอีก สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ญาณวโร) ครั้งยังเป็นพระธรรมไตรโลกาจารย์ เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาสได้มอบภาพถ่ายให้และมีลายลิขิตใต้ภาพว่า

          “ที่ ๑/๘๐๑

          พระธรรมไตรโลกาจารย์ ผู้กรรมวาจาจารย์ ให้พระอมราภิรักขิต (เขมจาโร) เปรียญเอก ๙ ประโยค อันเตวาสิกที่ ๑๒๐ เป็นเครื่องประกาศความดีความงาม ในการที่ได้จัดการศึกษาพระปริยัติธรรมอันเป็นกิจสำคัญ ซึ่งเป็นรากเง่าเค้ามูลแห่งพระศาสนาในวัดเทพศิรินทรฯ ด้วยความตั้งใจทำจริงๆ จนเต็มสติกำลังปัญญาสามารถและความอุตสาหะอันกล้าหาญโดยความเอื้อเฟื้ออันดี สู้อดทน มิได้ครั่นคร้ามต่อความลำบากเหน็ดเหนื่อย ทำให้นักเรียนได้ความรู้มากโดยรวดเร็ว

          แต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๓๐”

         ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระธรรมนิเทศทวยหาญได้เป็นพระราชาคณะที่ พระอมราภิรักขิต เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ ดำรงสมณเพศมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๕๙ เกิดอาพาธหนัก จึงได้ถวายบังคมลาสิกขา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสั่งไว้ในท้ายพระบรมราชานุญาตว่า “ให้เกลี้ยกล่อมเอาตัวไว้ใช้  ในการศึกษา” เมื่อรักษาตัวจนทุเลาแล้ว วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ จึงเข้ารับราชการในกรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ เป็นพนักงานกรมราชบัณฑิต ประจำแผนกรวบรวมตำรา เทียบชั้นเจ้าพนักงานตรวจการในกรมศึกษาธิการ

          พ.ศ. ๒๔๖๑ รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ออกไปเป็นอนุศาสนาจารย์ของกองทหารไทยในราชการสงคราม ณ ประเทศยุโรป ประจำอยู่ในกองทูตทหารที่กรุงปารีส มีหน้าที่คอยเยี่ยมเยียนให้กำลังใจทหาร ซึ่งแยกย้ายกันคปฏิบัติหน้าที่อยู่ตามที่ต่างๆ วันที่ออกเดินทางมีเอกสารกล่าวถึงอยู่ในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพพระธรรมนิเทศทวยหาญ ดังนี้

ถวายบังคมลา

วันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๑

ที่ท่าวาสุกรี

เสด็จลงเวลา ๑๐ ก.ท. ล่วงแล้ว

ปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหม เบิกฯ

พร้อมกับพระราชดำรัส

พระราชหัตถ์เบื้องขวา ทรงประทับไว้บนบ่าซ้ายของผู้คุกเข่าฟังกระแสอยู่

ในที่เฉพาะพระพักตร์ เมื่อรับพระราชทานเสมาสำหรับงานพระราชสงครามเสร็จแล้วฯ

พระราชดำรัส

          “นี่แน่ะ เจ้าเป็นผู้ที่ข้าได้เลือกแล้ว เพื่อให้ไปเป็นผู้สอนทหาร ด้วยเห็นว่า       เจ้าเป็นผู้สามารถที่จะสั่งสอนทหารได้ ตามที่ข้าได้รู้จักชอบพอกับเจ้ามานานแล้ว เพราะฉะนั้น ขอให้เจ้าช่วยรับธุระของข้าไปสั่งสอนทหารทางโน้น ตามแบบอย่างที่ข้าได้เคยสอนมาแล้ว เจ้าก็คงจะได้เห็นแล้วไม่ใช่หรือ (ทูลรับ) เออ นั่นแหละ ข้าขอฝากให้เจ้าช่วยสั่งสอนอย่างนั้นด้วย เข้าใจละนะ”  (ทูลรับและกราบถวายบังคม สังเกตดูพระอาการละเหี่ย พระสุรเสียงละห้อย เห็นได้ว่าทรงคิดถึงทหารอย่างล้นพ้น)

          ก่อนออกเดินทาง สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ประทานเหรียญให้ ๓ เหรียญ ดังข้อความตอนหนึ่งที่พระธรรมนิเทศทวยหาญบันทึกไว้ใน “หมายเหตุ” ว่า

          “เจ้าประคุณพอพระทัยมากรับสั่งว่า คราวนี้เป็นการดี ตลอดฐานะที่ได้มาในเวลาเป็นพระ เป็นอันตามทันกันได้หมด ฯลฯ แล้วประทานเหรียญครบทั้งสามคือ เหรียญพระพุทธชินสีห์ เหรียญจตุราริยสัจ เหรียญมหาสมณุตตมาภิเสก ทรงชี้แจงว่า ถ้าถึงคราวจำเป็นต้องการน้ำมนต์ ก็เอานี่ทำน้ำมนต์ได้ ครั้นแล้วจะทรงเฉลียวพระทัยขึ้นมา จึงทรงอธิบายต่อไปว่า สีลัพพตปรามาส ถ้าเป็นไปเพื่อเมตตากรุณาแล้ว ไม่ควรรังเกียจ…”

          เมื่อไปราชการสงคราม ณ ทวีปยุโรปแล้ว ครั้งหนึ่งมีเหตุต้องบำรุงขวัญทหารที่เจ็บป่วยที่โรงพยาบาลลุกเซมเบิร์ก กรุงปารีส พระธรรมนิเทศทวยหาญก็เชิญเหรียญทั้ง ๓ มาทำน้ำมนต์ โดยใช้วิธีประกาศคุณพระรัตนตรัยด้วยเสียงดัง อย่างพระอาลักษณ์อ่านประกาศในพระราชพิธี ไม่ท่องมนต์หมุบหมิบอยู่ที่ปากอย่าง เช่นพระภิกษุทำน้ำมนต์ บรรดาทหารที่เจ็บป่วยต่างได้รับน้ำมนต์เป็นกำลังใจกันอย่างถ้วนทั่วและหายจากการเจ็บป่วยทุกคน

พระธรรมนิเทศทวยหาญ (คนกลาง) ในคราวไปเยี่ยมทหารป่วยที่โรงพยาบาลลุกเซมเบิร์กในกรุงปารีส

          พระธรรมนิเทศทวยหาญปฏิบัติหน้าที่อนุศาสนาจารย์เป็นอย่างดีและเต็มความสามารถ ครั้นกลับจากราชการสงคราม ณ ประเทศยุโรปแล้ว กระทรวงกลาโหมเห็นประโยชน์ในราชการทหารที่พระธรรมนิเทศทวยหาญไปปฏิบัติมา จึงได้จัดตั้งกองอนุศาสนาจารย์ ซึ่งเป็นฝ่ายพลเรือนขึ้นในกรมตำราทหารบกเมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ และโอนพระธรรมนิเทศทวยหาญจากกระทรวงธรรมการมาเป็นหัวหน้าอนุศาสนาจารย์ ดังบันทึกใน “หมายเหตุ” ถึงเรื่องนี้ ว่า“…ฉันกลับกับกองทูตทหาร เข้าไปทูลข้อราชการแด่ทูลกระหม่อมเล็ก (จอมพล สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ เสนาธิการทหารบกครั้งนั้น) พอเสร็จก็รับสั่งว่า เดี๋ยวนี้ฉันกับพระเจ้าอยู่หัวได้คิดกันไว้เสร็จแล้วว่า กลับมาก็จะไม่คืนให้กระทรวงธรรมการ จะเอาไว้กับทหารนี่แหละ ฯลฯ … ทูลกระหม่อมพระองค์นั้นทรงร่างข้อบังคับทหารบกว่าด้วยกองอนุศาสนาจารย์ด้วยพระองค์เอง ข้อบังคับนี้เป็นฉะบับแรกในกำเนิดแห่งคณะอนุศาสนาจารย์ ทรงบันทึกเอาคุณประโยชน์ที่ไปทำครั้งนั้นขึ้นตั้งเป็นรูปแห่งข้อบังคับนี้ …ข้อบังคับกับคำสั่งบรรจุให้เป็นหัวหน้าออกพร้อมกัน (ท่านพระองค์นี้เร็วจี๋เป็นเครื่องจักร) ฉันเข้าไปรายงานตนตามระเบียบ…”

          พระธรรมนิเทศทวยหาญปฏิบัติหน้าที่อนุศาสนาจารย์เป็นอย่างดีและเต็มความสามารถ ครั้นกลับจากราชการสงคราม ณ ประเทศยุโรปแล้ว กระทรวงกลาโหมเห็นประโยชน์ในราชการทหารที่พระธรรมนิเทศทวยหาญไปปฏิบัติมา จึงได้จัดตั้งกองอนุศาสนาจารย์ ซึ่งเป็นฝ่ายพลเรือนขึ้นในกรมตำราทหารบกเมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ และโอนพระธรรมนิเทศทวยหาญจากกระทรวงธรรมการมาเป็นหัวหน้าอนุศาสนาจารย์ ดังบันทึกใน “หมายเหตุ” ถึงเรื่องนี้ ว่า

          “…ฉันกลับกับกองทูตทหาร เข้าไปทูลข้อราชการแด่ทูลกระหม่อมเล็ก (จอมพล สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ เสนาธิการทหารบกครั้งนั้น) พอเสร็จก็รับสั่งว่า เดี๋ยวนี้ฉันกับพระเจ้าอยู่หัวได้คิดกันไว้เสร็จแล้วว่า กลับมาก็จะไม่คืนให้กระทรวงธรรมการ จะเอาไว้กับทหารนี่แหละ ฯลฯ … ทูลกระหม่อมพระองค์นั้นทรงร่างข้อบังคับทหารบกว่าด้วยกองอนุศาสนาจารย์ด้วยพระองค์เอง ข้อบังคับนี้เป็นฉะบับแรกในกำเนิดแห่งคณะอนุศาสนาจารย์ ทรงบันทึกเอาคุณประโยชน์ที่ไปทำครั้งนั้นขึ้นตั้งเป็นรูปแห่งข้อบังคับนี้ …ข้อบังคับกับคำสั่งบรรจุให้เป็นหัวหน้าออกพร้อมกัน (ท่านพระองค์นี้เร็วจี๋เป็นเครื่องจักร) ฉันเข้าไปรายงานตนตามระเบียบ…”

จอมพล สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ

          ต่อมาทางราชการยกฐานะอนุศาสนาจารย์ขึ้นเป็นแผนกที่ ๓ พระธรรมนิเทศทวยหาญ ได้เป็นหัวหน้าแผนก ภายหลังย้ายอนุศาสนาจารย์ไปอยู่กรมยุทธศึกษาทหารบก ตั้งเป็นแผนกที่ ๔ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๔ แก้แผนกที่ ๔ กรมยุทธศึกษาทหารบก เป็นแผนกอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารบก พระธรรมนิเทศทวยหาญเป็น    หัวหน้าแผนก   จนครบเกษียณอายุเมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๕ ตรงกับวันเกิดครบ ๖๐ ปี

เครื่องแบบของพระธรรมนิเทศทวยหาญ (ในพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ)

          นอกจากงานในหน้าที่ของอนุศาสนาจารย์แล้ว พระธรรมนิเทศทวยหาญยังมีงานราชการพิเศษที่สำคัญอีกหลายประการ กล่าวคือ

          พ.ศ. ๒๔๖๘ ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดเกล้าฯ ให้เป็นราชบัณฑิตทำการบูชาทิศ ถวายน้ำมูรธาภิเษกด้วยมงคลคาถาเป็นภาษาบาลี อัญเชิญเสด็จครอบครองรัฐสีมาประจำทิศอาคเนย์ และถวาย    พระพรชัยให้ทรงพระเจริญในสิริราชสมบัติ

          พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นกรรมการชำระปทานุกรม ตามที่กระทรวงธรรมการขอมา

          พ.ศ. ๒๔๗๗ เป็นภาคีสมาชิกของราชบัณฑิตยสถาน

          พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็นกรรมการสอบไล่ผู้สมัครสอบแข่งขันเพื่อรับทุนเล่าเรียนหลวง และเป็นประธานสำนักศิลปกรรม

          ผลงานที่พระธรรมนิเทศทวยหาญแปลและแต่ง ซึ่งได้พิมพ์แล้วมีจำนวนมากกว่า ๓๐ เรื่อง เช่น ปัญจสติกักขันธกะ (สังคายนาครั้งที่ ๑) เวสสันดรชาดกกัณฑ์ที่ ๑๐      สักกบรรพ ปกิณณกเทศนา ผลที่ต้องกับการ  สงวนศาสนา สัตย์และสุจริต สงครามปาก บัวเบญจพรรณ แม้กับแม้น การอ่านหนังสือ คำแนะนำแก่ผู้ที่จะเป็นครูสอนภาษาบาลี เป็นต้น

          หลังเกษียณอายุราชการแล้ว พระธรรมนิเทศทวยหาญได้บำเพ็ญประโยชน์ตนคือปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ทำตนให้เป็นที่พึ่งของตน มากขึ้นเป็นลำดับ

          พระธรรมนิเทศทวยหาญมีสุขภาพไม่แข็งแรงนัก เจ็บป่วยบ่อย แต่ก็มีชีวิตอยู่    ยืนยาวมาจนถึงวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ จึงได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งที่คอ      สิริอายุได้ ๘๖ ปี ๑ เดือน ๑๐ วัน


[1] นายสดุภณ จังกาจิตต์   ผู้เรียบเรียงจากหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพพระธรรมนิเทศทวยหาญ ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริ      ยาราม,  ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๑

[2] อศจ.ทบ.รุ่นที่ ๔/๒๔๗๑ ต่อมาโอนไปเป็น อศจ.ที่กองทัพอากาศ ดำรงตำแหน่ง ผอ.กอศ.ยศ.ทอ.ลำดับที่ ๓ (พ.ศ.๒๔๙๙-๒๕๐๕)