อาจริยบูชา “พันเอก ปิ่น มุทุกันต์”

อาจริยบูชา “พันเอก ปิ่น  มุทุกันต์”

ผู้สร้างคุณูปการแก่พระพุทธศาสนา

ชีวิตนี้เพื่อธรรม[1]

…………………………….

“มีคนไม่น้อยที่มักไม่พอใจในสิ่งที่ตนได้   กลับไปพอใจกับสิ่งที่ตนไม่ได้

                          เข้าตำรา “เมียตัวไม่รัก  เที่ยวไปรักเมียคนอื่น”

                          คนประเภทนี้จึงมักต้องเป็นทุกข์ ไม่ค่อยได้เจอสุข

                          เพราะชอบเลื่อนความสุขไปไว้ที่อื่นเสีย” [2]

              อ่านเกร็ดธรรมข้างบนนี้แล้ว ทำให้ย้อนระลึกถึงอดีตอนุศาสนาจารย์ทหารบกท่านหนึ่ง ที่มีผลงานโดดเด่นในการปกป้องและเผยแผ่พระพุทธศาสนากว่า ๔ ทศวรรษ ท่านอธิบาย สาธยายหลักธรรมได้ซาบซึ้ง กินใจ เข้าใจง่าย สามารถทำสิ่งที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรม ผลงานของท่านทำให้คนหนุ่มคนสาว ที่ไม่ค่อยสนใจธรรมะ ได้หันมาศึกษาธรรมะ ท่านเป็นนักเผยแผ่ธรรมที่เลื่องชื่อแห่งยุค ๒๕ พุทธศตวรรษ ท่านผู้นี้คือ พ.อ.ปิ่น  มุทุกันต์

              ในโอกาสที่ครบ ๑๐๐ ปีชาตกาลของท่านเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา ขอนำเรื่องราวชีวิตของท่านมานำเสนอให้ท่านผู้อ่าน  เพื่อรำลึกถึงบุคคลผู้สร้างคุณูปการแก่พระพุทธศาสนาและประเทศชาติมาอย่างยาวนาน  แม้ท่านจะจากโลกนี้ไปกว่า ๔๗ ปีแล้ว  แต่วรรณกรรมของท่านก็ยังคงโดดเด่น เป็นที่น่าศึกษามาจนถึงปัจจุบัน

              พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์[3] เกิดเมื่อวันพุธที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๕๙ ณ บ้านคำพระ      ตำบลคำพระ อำเภออำนาจเจริญ  จังหวัดอุบลราชธานี เป็นลูกคนที่ ๙ (คนสุดท้อง) ของ    นายมหาธิราช (มั่น) กับนางสุดซา

นายมหาธิราช (มั่น) บิดาผู้ให้กำเนิดเด็กชายปิ่น ผู้สร้างคุณูปการแก่พระพุทธศาสนาในเวลาต่อมา

          เด็กชายปิ่น เป็นคนมีอัธยาศัยร่าเริง ฉลาดขยันขันแข็ง ไม่ชอบอยู่เฉย ๆ       มีความรับผิดชอบ มีอุปนิสัยกล้าได้    กล้าเสีย มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และมีภาวะผู้นำแม้จะยังอยู่ในวัยเด็ก

          พออายุได้ ๙ ขวบ ได้เข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนประชาบาลบ้านคำพระ  เป็นเด็กที่มีผลการเรียนดีจนเป็นที่ชอบใจของครูอาจารย์ หลังจากจบชั้นประถม ๔ แล้ว ด้วยความที่ครอบครัวมีฐานะยากจน บิดามารดาไม่มีเงินส่งท่านเรียนหนังสือ จึงได้นำไปฝากเป็นศิษย์วัด อยู่กับเจ้าอาวาสวัดบ้านคำพระ

วัดบ้านคำพระ ปัจจุบันอยู่ในเขตปกครองของ อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ

              อยู่เป็นศิษย์วัดได้ระยะหนึ่ง เด็กชายปิ่นได้บวชเป็นผ้าขาว (ผู้ถือศีล ๘)        ที่วัดป่าสายธุดงค์กรรมฐานไม่ไกลจากบ้านคำพระนัก  ได้มีโอกาสออกธุดงค์ติดตามรับใช้และฝึกปฏิบัติไปกับท่านพระอาจารย์สิงห์   ขนฺตยาคโม  ศิษย์พระอาจารย์มั่น  ภูริทตฺโต  ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่สายกรรมฐานที่ผู้คนเคารพศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเด็กชายปิ่นได้เข้ากราบคารวะและเรียนกรรมฐานจากพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต อีกด้วย

          ต่อมาในปี ๒๔๗๔ บิดาของท่านได้ถึงแก่กรรมลง จึงได้กลับมาช่วยเหลือ       การงานที่บ้านระยะหนึ่ง  แต่มารดาอยากให้ท่านบวช จึงพาท่านไปบวชเป็นสามเณร        ที่        วัดสุทัศนาราม จังหวัดอุบลราชธานี หลังจากบวชเรียนแล้วท่านก็สอบได้นักธรรมชั้นตรี  ชั้นโท ชั้นเอกพร้อมกับบาลีไวยากรณ์ ในระยะเวลา ๓ ปี ทำให้มารดาของท่านปลาบปลื้มใจยิ่งนัก

          ในช่วงเป็นสามเณร ท่านได้สนใจแนวทางการเทศนาของท่านเจ้าคุณ       พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์  สิริจนฺโท) แห่งวัดบรมนิวาส กรุงเทพมหานคร ยิ่งนัก เพราะท่านเป็นพระสุปฏิปันโน มีชื่อเสียงทางด้านเทศนาโวหารและการปฏิบัติธรรม     โดยเป็นสหายธรรมที่มีความคุ้นเคยกับพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต

พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) องค์ต้นแบบแห่งการแสดงธรรมที่ซาบซึ้งกินใจของ พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์

          สามเณรปิ่น ได้อ่านหนังสือธรรมเทศนาของท่านเจ้าคุณฯ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนจำได้ขึ้นใจ  เมื่อมีโอกาส เกิดสถานการณ์ที่ต้องขึ้นเทศน์ในงานบุญ ท่านก็ได้อาศัยความจำจากบทธรรมเทศนานี้ ขึ้นแสดงธรรมจนเป็นที่ติดอกติดใจของผู้ฟัง ท่านจึงเป็นสามเณรนักเทศน์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  แต่อย่างไรก็ตาม ต่อมาท่านก็ได้พัฒนาความสามารถของตนเอง จนเกิดความชำนาญกระทั่งได้กลายเป็นนักเทศน์ นักบรรยายธรรมที่มีวาทะ    คมคาย จับใจผู้ฟังอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา

          หลังสอบได้นักธรรมชั้นเอก พระอาจารย์ของท่าน คือ พระครูสุวรรณวารีคณารักษ์ (วิเชียร) ได้นำท่านไปฝากกับพระมหาเฉย  ยโส (ธรรมพันธุ์) วัดสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสำนักเรียนที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครขณะนั้น เมื่ออายุ ๒๐ ปีท่านจึงได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดสัมพันธวงศ์ เมื่อปี ๒๔๗๙ โดยมีสมเด็จพระ   วชิรญาณวงศ์ (ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวง      วชิรญาณวงศ์) วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์, พระรัชชมงคลมุนี เป็น           พระกรรมวาจารย์ และพระมหาเฉย ยโส เป็นพระอนุสาวนาจารย์  ได้รับฉายาว่า        “วิริยากโร” (แปลว่า ผู้กระทำความเพียร) จากนั้นท่านก็ได้รับความก้าวหน้าทางการศึกษาตามลำดับ โดยสอบได้เปรียญธรรม ๗ ประโยค

          สำนักวัดสัมพันธวงศ์แห่งนี้เป็นแหล่งฝึกฝนกิริยามารยาทและฝึกฝนนักเทศน์ที่ทรงประสิทธิภาพทำให้พระมหาปิ่น วิริยากโร ได้รับการฝึกฝนอบรมและเพิ่มพูนทักษะความสามารถในการเทศน์ได้อย่างดี จนท่านกลายเป็นนักเทศน์นักบรรยายธรรม          ที่มหาชนรู้จักในเวลาต่อมา ผลงานของท่านเป็นที่พอใจของพระเถระผู้ใหญ่  เช่น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน  ติสฺโส) แห่งวัดบรมนิวาส ถึงกับกล่าวเปรียบท่านว่า “เหมือนดั่งเพชรประดับหัวแหวน ที่จะนำไปประดับที่ไหนก็มีแต่จะเปล่งประกาย สร้างมูลค่าให้แก่แหวนวงนั้น”

          แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์พลิกผลันที่ทำให้ท่านต้องลาสิกขาแบบปัจจุบัน     ทันด่วน เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๔๘๗ เนื่องจากเหตุผลการบริหารงานบางประการภายในวัด แต่เพชรไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ยังเป็นเพชรวันยังค่ำ 

          ภายหลังจากที่ท่านได้ลาสิกขาออกมา ได้เข้าสอบบรรจุเป็นอนุศาสนาจารย์ทหารบก เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๔๘๘ ซึ่งสามารถสอบได้เป็นอันดับที่ ๑ นับเป็นจุดเริ่มต้นชีวิตนักเผยแผ่ธรรมที่มีชื่อเสียงแห่งยุค ๒๕ พุทธศตวรรษในเวลาเพียงไม่กี่ปีต่อมา

เป็นอนุศาสนาจารย์ทหารบกผู้มีความสามารถในการบรรยายธรรม เป็นที่สนใจของข้าราชการ พระสงฆ์และประชาชน

          งานอนุศาสนาจารย์ เป็นงานที่ถูกจริตของท่านยิ่งนัก เพราะนอกจากจะอบรมธรรมแก่ทหารในหน่วยต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดแล้ว ยังต้องไปบรรยายธรรมแก่ผู้ต้องขังในเรือนจำอีกด้วย นอกจากนั้นท่านยังได้รับเชิญให้ไปบรรยายธรรม ปาฐกถาธรรมในสถานที่และโอกาสอันหลากหลาย

          ในปี ๒๔๙๗ ท่านได้เริ่มจัดรายการธรรมะเผยแผ่ทั้งทางโทรทัศน์และวิทยุ เช่น รายการแก้ปัญหาทางธรรมและปัญหาชีวิต ทางสถานีวิทยุกรมการทหารสื่อสาร, รายการมุมสว่างทางวิทยุ ท.ท.ท., รายการนาทีทอง ทางสถานีโทรทัศน์ ซึ่งปรากฏว่าแนวทางและลีลาความสามารถของท่านเป็นที่ถูกอก ถูกใจผู้คนเป็นอันมากทั้งพระสงฆ์และฆราวาส จะมีแฟนคลับคอยติดตามประหนึ่งติดหนังติดละครเลยทีเดียว  แต่รายการที่ทำให้ท่านเป็นที่รู้จักของสื่อมวลชน และมหาชน คือ รายการธรรมนิเทศ อันเป็นรายการที่มุ่งอบรมให้ความรู้ทางธรรมแก่ทหาร  หากแต่ไม่เพียงทหารเท่านั้นที่รับฟัง ชาวบ้านทั่วไปตลอดทั้งพระสงฆ์ ต่างชื่นชอบติดอกติดใจเป็นการใหญ่  และหาก พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์ ได้รับเชิญไปบรรยายธรรมหรือปาฐกถาธรรมที่ไหน ส่วนใหญ่ที่นั่งมักไม่เพียงพอ ผู้คนต้องยืนเบียดเสียดกันล้นสถานที่

          ต่อมาในปี ๒๔๘๙ ท่านได้สมรสกับ อาจารย์จรัสศรี  ประภัสสร ธิดาของนายบุญสืบและนางละมุน  ประภัสสร มีพยานรักด้วยกัน ๒ คน คือ นางสาวจันทิมา       และ นายภาณุพงษ์ มุทุกันต์

พันเอกปิ่นและอาจารย์จรัสศรี (ประภัสสร) คู่ชีวิตผู้อยู่เบื้องหลังงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา

          แม้ท่านจะเป็นที่รู้จักของคนหมู่มาก มีชื่อเสียงในสังคมมาโดยลำดับ แต่ท่านก็มิได้ลุ่มหลงในชื่อเสียง  คำชื่นชมและลาภสักการะที่ตามมา เพราะท่านมีปณิธานที่จะทำงานเผยแผ่ธรรมด้วยใจบริสุทธิ์ มุ่งประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นที่ตั้ง มิได้มุ่งหวังชื่อเสียงหรือลาภสักการะใด ๆ  โดยก่อนการบรรยายท่านจะตั้งจิตแผ่เมตตาส่งความปรารถนาดีอย่างจริงใจแก่ประชุมชนที่มารับฟัง นอกจากท่านจะมีวิชาความรู้ดีแล้ว ท่านยังมีความประพฤติที่ดีอีกด้วย โดยยึดหลักที่ว่า “ยถาวาที  ตถาการี (สอนคนอื่นเช่นไร ให้ทำตนเช่นนั้น) ” ดังมีเหตุการณ์เมื่อปี ๒๔๙๗  เกิดเหตุเพลิงไหม้ชุมชนย่านบ้านพักของท่าน  ทำให้ท่านสูญเสียทรัพย์สินทุกอย่าง เหลือเพียงเสื้อผ้าติดตัวเท่านั้น นับเป็นเรื่องราวที่น่าทุกข์ใจยิ่งนัก สำหรับปุถุชนอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ  แต่สำหรับ พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์แล้ว ท่านได้ถือเป็นโอกาสปฏิบัติธรรมไปด้วย โดยนำ “กลวิธีแก้ทุกข์” ซึ่งท่านได้บรรยายแก่มหาชน มาปฏิบัติ และเป็นสิ่งพิสูจน์ด้วยว่า อัคคีภัยที่เกิดกับครอบครัวของท่าน มิอาจลามมามอดไหม้ถึงใจของท่านได้เลย  ท่านยังคงออกบรรยาย ปาฐกถาธรรมเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก  โดยไม่สะทกสะท้านกับความวอดวายที่เกิดขึ้น

          ตลอดเวลาที่ท่านเป็นอนุศาสนาจารย์ทหารบกนี้ ท่านได้สร้างผลงานอันเป็นคุณประโยชน์แก่ทางราชการ สังคมและพระพุทธศาสนาไว้เป็นอันมาก เช่น การบรรยายชุดพิเศษในวาระเฉลิมฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ภายใต้ผลงาน “พุทธศาสตร์” มีประชาชนสนใจสมัครเป็นนักศึกษาพุทธศาสตร์กับท่านเป็นจำนวนมากเกินกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพอพระทัยและสนพระทัยต่อคำบรรยายชุดนี้ด้วย        

          และมีเหตุการณ์เขียนหนังสือเรื่องปุจฉา วิสัชชนา ๑๙๕๘ มีเนื้อหาโจมตีพระพุทธศาสนาอย่างร้ายแรงในหลายประเด็น ซึ่งผู้เขียนเป็นนักบวชต่างศาสนา ท่านก็ได้แสดงปาฐกถาพิเศษเพื่อชี้แจงข้อกล่าวหาร้ายแรงนั้น เพื่อความเข้าใจอันถูกต้องต่อพระพุทธศาสนา แบบบัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น ต่อมาได้มีการจัดพิมพ์ปาฐกถาพิเศษของท่านเพื่อให้ชาวพุทธและศาสนิกต่างศาสนาได้ศึกษาและทำความเข้าใจในประเด็นต่าง ๆ เหล่านั้นด้วย

          หลังจากภารกิจปกป้องพระพุทธศาสนาผ่านไปไม่นาน ด้วยบทบาทอนุศาสนาจารย์ทหารบก ที่นอกจากอบรมธรรมะให้แก่กำลังพลแล้ว ยังต้องให้คำปรึกษาแก่หน่วยทหารในประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับทหารซึ่งนับถือศาสนาอื่นด้วย เช่น เมื่อปี ๒๕๐๒[4] กรณีองค์กรของชาวซิกข์ ได้ร้องขอให้ทหารที่นับถือซิกข์ไม่ต้องสวมหมวก     โดยให้โพกผ้าบนศีรษะตามข้อกำหนดทางศาสนาแทน ซึ่งท่านก็เป็นผู้ประสานกับทางกองทัพบกในการผ่อนผันให้ทหารซิกข์ไม่ต้องสวมหมวก

          ต่อมา ปี ๒๕๐๓ ท่านได้รับอนุมัติให้เดินทางไปทัศนศึกษา เพื่อดูงานด้านศาสนาในประเทศอินเดียและปากีสถาน เป็นเวลา ๒๐ วัน โดยได้รับการสนับสนุนการเดินทางจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ,ชาวอินเดียผู้นับถือซิกข์และสถานทูตอินเดียได้อำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ ในการเดินทาง ซึ่งการไปทัศนศึกษาในครั้งนี้ได้เกิดเหตุการณ์น่าประทับใจคือ ชาวซิกข์ทั่วโลกที่เมืองอมฤตสระ ได้มอบดาบศรีซาฮิบแก่ท่านเพื่อตอบแทนที่ท่านเป็นผู้ประสานความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนิกของศาสนาต่าง ๆ ในประเทศไทย และท่านได้มีโอกาสเข้าเฝ้าองค์ดาไลลามะ พระประมุขแห่งธิเบตถึงที่ประทับส่วนพระองค์ ก่อนลากลับยังได้รับพระราชทานบัตรลงพระปรมาภิไธยจากองค์     ดาไลลามะเป็นที่ระลึกอีกด้วย ซึ่งการเดินทางไปทัศนศึกษาครั้งนี้เป็นการเดินทางเพื่อประกาศพระศาสนาและสร้างศาสนสัมพันธ์กับศาสนิกต่างศาสนา เป็นอย่างดี

ศึกษาภูมิประเทศและวัฒนธรรมประเทศอินเดีย ถิ่นกำเนิดพระพุทธศาสนา

          ได้เข้าร่วมเป็นคณะทำงานเพื่ออบรมศีลธรรมแก่ผู้ประพฤติตนเป็นอันธพาลในช่วงปี ๒๕๐๒  ได้นำเสนอโครงการศาสนสถานประจำหน่วยทหาร เพื่อปลูกฝังธรรมะ และสร้างทัศนคติที่ดีต่อกำลังพล ทำให้ทุกมณฑลทหารบกมีศาสนสถานประจำหน่วยเกิดขึ้นมาโดยลำดับ,         รื้อฟื้นโครงการหอพักบุตรข้าราชการทหารบก เพื่ออำนวยความสะดวกแก่บุตรทหารที่ไม่อาจโยกย้ายไปตามบิดา/มารดา ด้วยเหตุผลทางการเรียน โครงการนี้ทำให้เกิดการจัดตั้งโรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ตามมาอีกด้วย, เสนอจัดตั้งโรงเรียนการศาสนาและศีลธรรมทหารบก โดยมีการเปิดการศึกษา รุ่นที่แรกเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ ปัจจุบันได้เปิดทำการเรียนการสอนเป็นรุ่นที่ ๖๐ แล้ว และมีแผนจะเปิดสอนออนไลน์ เพื่อเปิดโอกาสให้กำลังพลได้ศึกษาอย่างทั่วถึงในทุกภูมิภาค นอกจากนั้นกองทัพบกยังบรรจุวิชาการศาสนาและศีลธรรม ลงในหลักสูตรการศึกษาของโรงเรียนเหล่า สายวิทยาการทุกหลักสูตร

          ขณะที่ท่านเพียรสร้างคุณประโยชน์แก่สังคมและพระศาสนาอย่างไม่รู้จักเบื่อ รู้จักท้อในฐานะอนุศาสนาจารย์ทหารบกนั้น กระทรวงกลาโหมได้โอนท่านไปรับราชการในตำแหน่งรักษาการรองอธิบดีกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อ ๗ ธันวาคม ๒๕๐๕ และในปีถัดมาอธิบดีกรมการศาสนาเกษียณอายุราชการ ท่านก็ได้เลื่อนตำแหน่งอธิบดีกรมการศาสนาในวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๐๖ ท่านจึงได้รับภารธุระในการบำรุงสนับสนุนพระศาสนาของประเทศให้เจริญรุ่งเรืองตามสมควรแก่ฐานะ แต่โดยเหตุที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา งานส่วนมากจึงเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา  การเข้ามานั่งเก้าอี้อธิบดีกรมการศาสนาครั้งนี้ พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์ มีความตั้งใจแน่วแน่ในอันที่จะสร้างความเจริญให้เกิดแก่พระพุทธศาสนาและหน่วยราชการแห่งนี้ โดยท่านปรับปรุงงานให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มีการปรับโครงสร้าง ขยายอัตราขนานใหญ่ เพื่อให้เหมาะกับภาระงานที่รับผิดชอบ พัฒนาความรู้ของเจ้าหน้าที่ให้พร้อมรองรับแผนงานโครงการต่าง ๆ นับเป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่นับแต่จัดตั้งกรมเลยทีเดียว ท่านได้เสนอแผนงาน/โครงการสำคัญ ๆ เช่น

          ได้ดำเนินการป้องกันความมัวหมองอันเนื่องจากเรื่องศาสนสมบัติที่จะเกิดกับพระพุทธศาสนาโดยเตรียมออก พระราชบัญญัติคุ้มครองวัดในพระพุทธศาสนา

          โครงการพระธรรมทูต เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปสู่มหาชนทั้งในและต่างประเทศ เมื่อปี ๒๕๐๗ โครงการนี้ประสบผลสัมฤทธิ์อย่างรวดเร็วและเจริญก้าวหน้าสืบมาจนปัจจุบัน ทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์อีกด้วย

ภาพในประวัติศาสตร์ที่ พ.อ.ปิ่น บันทึกร่วมกับคณะ ณ วัดสัมพันธวงศ์

           โครงการพัฒนาวัดทั่วประเทศ โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อปี ๒๕๐๗ – ๒๕๑๘ มีส่วนราชการเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น กรมการศาสนา กรมศิลปากร กรมอาชีวศึกษา กรมการปกครอง กรมโยธาธิการ กรมการแพทย์ สำนักงบประมาณ และมหาเถรสมาคมโดยมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานกรรมการ โครงการนี้จึงดำเนินไปอย่างคล่องตัว ส่งผลให้วัดหลายแห่งที่ทรุดโทรมได้รับการปรับปรุงให้สะอาด เรียบร้อยยังความศรัทธาปสาทะให้เกิดแก่พุทธศาสนิกชนทั้งประเทศ  นับเป็นการสร้างคุณประโยชน์ในวงกว้างแก่พระพุทธศาสนา

          จัดตั้งหน่วยนพกะ เพื่อสงเคราะห์พุทธมามกะผู้เยาว์ เนื่องจากสมัยก่อนเยาวชนในครอบครัวหนึ่งมีมาก  หากแต่ยากจน อาจถูกชักนำให้เดินทางผิด เข้าสู่ลัทธิมืดมนไร้อนาคต เป็นการดำเนินการด้วยการจำแนกตามสภาพ ออกเยี่ยมเยียนเพื่อบำรุงขวัญให้กำลังใจ ส่งเสริมทางดีงาม สนับสนุนการศึกษาและช่วยแก้ไขปัญหาชีวิต เป็นการปกป้องให้พ้นจากหายนะภัยทั้งหลาย

          การจัดพิมพ์พระไตรปิฎก ฉบับรัชดาภิเษก เมื่อปี ๒๕๐๖ เพื่อส่งเสริมให้คนไทยได้ศึกษาพระไตรปิฎกมากขึ้น ทำให้มีผู้คนสนใจมากมาย จนขาดตลาดลงในเวลาเพียง ๕ ปี ท่านจึงดำริให้จัดพิมพ์เป็นครั้งที่ ๒ โดยกำหนดให้เป็นฉบับรัชดาภิเษก ฉลองโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ ๒๕ ปี ในปี ๒๕๑๔ รวมเล่มจากจำนวน ๘๐ เล่ม เป็น ๔๕ เล่ม ตามจำนวนปีที่พระพุทธองค์ทรงปฏิบัติพุทธกิจ

          สร้างวัดพุทธประทีป กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ  เพื่อบรรยายธรรมและสอนวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อปี ๒๕๐๘ ท่านได้ริเริ่มด้วยการจัดซื้ออาคาร ๒ ชั้นครึ่ง พร้อมเนื้อที่ ๕๐๐ ตารางวา เพื่อสร้างวัด และได้จัดให้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อ ๑ สิงหาคม ๒๕๐๙ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๙) และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ (ในรัชกาลที่ ๙)  ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน และมีพระราชสิทธิมุนี  หัวหน้าคณะพระธรรมทูตสายอังกฤษเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก           นับตั้งแต่ท่านได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในกรมการศาสนาเมื่อปี ๒๕๐๕ เป็นต้นมานั้น ท่านก็มุ่งมั่น สร้างประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ ทำให้ท่านมีภารกิจด้านงานบริหารมากมาย จนต้องห่างเหินจากงานบรรยายธรรมที่รักสุดชีวิต ท่านจึงเผยแผ่ธรรมผ่านงานเขียนแทน โดยท่านอาศัยช่วงเวลากลางคืนและเช้าตรู่ก่อนไปทำงานในการสร้างสรรค์ผลงาน แม้ยามพักผ่อนสุดสัปดาห์หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ ก็ยัง     มิวายต้องนำพางานเขียนไปทำด้วย  และด้วยความที่ท่านเป็นคนมุมานะ ทุ่มเทกับงานนี้เอง เป็นเหตุให้ท่านป่วยด้วยโรคทางเดินอาหาร จนต้องเจ็บออด ๆ แอด ๆ บั่นทองสมรรถภาพการทำงานของท่านลง

นำผู้แทนจากศาสนาต่าง ๆ เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๙ ) ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา

          ท่านได้เข้ารับการรักษาจากแพทย์ในช่วงปลายปี ๒๕๑๓ แต่หลังจากเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดแล้ว ร่างกายของท่านกลับซูบซีดไร้เรี่ยวแรง เมื่อพิจารณาเห็นว่าคงไม่อาจทำงานให้ราชการได้อย่างเต็มที่เหมือนเมื่อก่อน  ท่านจึงตัดสินใจยื่นหนังสือลาออกจากราชการตั้งแต่วันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๑๔ แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายสุกิจ  นิมมานเหมินท์) ได้ยับยั้งการลาออกนั้น เนื่องจากเสียดายในความสามารถของท่าน โดยขอให้ลาป่วยแทนการลาออก

อธิบดีปิ่นได้ชี้แจงข้อเท็จจริงแก่ข้าราชการกรมการศาสนาก่อนลาป่วยเพื่อพักรักษาตัว

          แต่ในปีถัดมา ท่านเห็นว่าไม่อาจฝืนต่อไปได้ จึงได้ขอลาออกจากราชการด้วยเหตุผลเรื่องสุขภาพ เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕  และหลังจากลาออกได้ไม่นาน ท่านก็ได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า  แม้จะต้องประสบกับภาวะทุกขเวทนาแรงกล้าจากโรคภัยที่เบียดเบียนจนต้องมีการให้ออกซิเจน แต่ท่านก็ได้อาศัยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นที่พึ่งในการรับมือกับทุกขเวทนาในเวลาเจ็บป่วยได้เป็นอย่างดี  พ.อ.ปิ่น ได้ยกเอาอานาปานสติเป็นหลักพิจารณาเพื่อให้เกิดปีติและนำไปสู่สภาวะอุเบกขาในที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากปกติในยามที่ยังแข็งแรงดี  ท่านไหว้พระสวดมนต์และทำสมาธิก่อนนอนทุกคืน ทำให้จิตเสพคุ้นกับการปฏิบัติอานาปานสติ จึงไม่เป็นการยากเลยที่ท่านจะน้อมจิตเข้าสู่อารมณ์กรรมฐานนี้ แม้ขณะที่กำลังกายถดถอยและจิตใจถูกรบกวนจากทุกขเวทนาอันแรงกล้าอยู่ก็ตาม

          จึงถือว่าเป็นข้อได้เปรียบของผู้ที่ตั้งใจพากเพียรปฏิบัติธรรมเป็นนิตย์ตั้งแต่ที่ร่างกายและจิตใจยังแข็งแรงเป็นปกติ เพราะถ้ารั้งบ่ายเบี่ยงไว้ปฏิบัติยามแก่เฒ่าเรี่ยวแรงถดถอย ยิ่งถูกโรคภัยเบียดเบียนด้วยแล้ว   ก็ยิ่งเป็นการยากที่จะน้อมจิตไปสู่อารมณ์ทางธรรมได้  เพราะแม้ขณะร่างกายแข็งแรงจิตใจเป็นปกติดี จิตยังไม่เข้มแข็งพอที่นำตนเข้าสู่การปฏิบัติได้  จะกล่าวไปใยกับการคาดหวังที่จะเร่งกระทำเอาในขณะที่จิตใจและร่างกายเศร้าหมอง ท้อถอย ถูกทุกขเวทนารุมเร้า ซึ่งมีแต่จะจมไปกับความทุกข์ โดนทุกขเวทนาฉุดลากพาไปด้วยเท่านั้นเอง อาการที่จิตไม่อาจมีสติตั้งมั่นเป็นของตนเองได้ ต้องหลงไปกับอารมณ์ทุกขเวทนาจนบางรายถึงกับละเมอเพ้อคลั่งออกมา  นี่เองที่ทางพระท่านเรียกว่า “หลงตาย” และผู้ที่หลงตายนั้นยากนักที่จะคาดหวังสุคติได้ การศึกษาปฏิบัติธรรมในทางพระพุทธศาสนาจึงเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่า อำนวยประโยชน์สุขให้        แม้ในขณะปัจจุบันและในเวลาอันวิกฤติที่กำลังจะสิ้นลม

          ดังนั้นแม้สภาพร่างกายของ พ.อ.ปิ่น จะผ่ายผอมทรุดโทรมลงโดยลำดับ     อันเนื่องจากอำนาจแห่งโรคภัยที่รุมเร้าเบียดเบียนท่านหนักขึ้นทุกขณะ  แต่โดยทั่วไปท่านก็ไม่ได้แสดงอาการทรมานกระสับกระส่ายออกมาให้ปรากฏแต่อย่างใด  อันแสดงถึงสภาวะจิตที่ได้รับการประคับประคองไว้เป็นอย่างดี  จวบจนกระทั่ง ๑๕.๔๕ นาฬิกา ของวันอังคารที่ ๔ เมษายน ๒๕๑๕ ท่านจึงถึงแก่อนิจกรรมด้วยอาการอันสงบท่ามกลางความอาลัยรักจากภรรยา บุตร-ธิดาและสัมพันธชนที่เฝ้าอยู่ข้างเตียง  สิริอายุรวม ๕๕ ปี

          งานบำเพ็ญกุศลศพของท่านจัดขึ้นที่วัดโสมนัสวิหาร ระหว่างเดือนเมษายน ถึง กรกฎาคม ๒๕๑๕ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๙ ) และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ (ในรัชกาลที่๙) เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานพิธีพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันจันทร์ที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๑๕  นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ล้นเกล้าล้นกระหม่อมอย่างหาที่สุดมิได้ ยังความปลาบปลื้มแก่ครอบครัวมุทุกันต์อย่างซาบซึ้ง

          แม้ พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์ ได้ลาจากไปกว่า ๔๗ ปีแล้ว แต่เสียงบรรยายธรรม  เสียงปาฐกถาธรรม ที่มีลีลาและโวหารอันอาจหาญ เฉียบคมของท่านในรูปแบบวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนากว่า ๓๔ เรื่อง[5]ยังคงเป็นมรดกธรรมที่ยังคงตราตรึงในมโนสัญเจตนาของอนุชนคนรุ่นหลังมาจวบจนปัจจุบัน หลายโครงการที่ท่านได้ริเริ่มสร้างไว้ก็ยังคงมีการสานต่อมาจวบจนปัจจุบัน  และยังคงสร้างคุณประโยชน์ให้แก่สังคมและพระพุทธศาสนาอย่างไม่มีวันกำหนดหมดอายุ

          นับได้ว่า พ.อ.ปิ่น  มุทุกันต์ เป็นผู้มีสายตาอันยาวไกลและมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์คุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและพระศาสนาอย่างจริงจัง โดยมุ่งพัฒนาใน ๓ ปัจจัยหลัก คือ ด้านศาสนธรรมผ่านโครงการพระธรรมทูต ทำให้ศาสนธรรมเข้าไปสู่หัวใจของมหาชนทั้งในและต่างประเทศ, ด้านศาสนวัตถุผ่านโครงการพัฒนาวัดทั่วประเทศ ทำให้สังคมไทยในยุคของท่านงามเรืองรองไปด้วยวัดวาอาราม และด้านศาสนบุคคลผ่านโครงการนพกะ พัฒนาคุณภาพชีวิตของเยาวชน ให้เป็นคนดี มีคุณภาพและคุณธรรม เพื่อให้สังคมไทยเกิดความมั่นคงและมั่งคั่งอย่างยั่งยืนตราบนานเท่านาน            เนื่องในโอกาสวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๒ เวียนมาบรรจบ ซึ่งเป็นวาระครบ ๑๐๐ ปี การอนุศาสนาจารย์ไทย      จึงนำเสนอเกียรติประวัติของ พ.อ.ปิ่น  มุทุกันต์ ในฐานะเป็นอนุศาสนาจารย์ที่สร้างคุณูปการอย่างมากมายแก่ประเทศชาติ พระศาสนา จึงขอเชิญชวนท่านผู้อ่าน  ติดตามผลงานของท่าน เพื่ออนุสรณ์ถึงเกียรติคุณของ พ.อ.ปิ่น  มุทุกันต์ ผู้อุทิศชีวิตนี้เพื่อพระธรรมและพระพุทธศาสนาตลอดชีวิตของท่าน ตาม QR.code


[1] เรียบเรียงโดย พ.ท. เกรียงไกร  จันทะแจ่ม หน.วิชาการและการศึกษา กอศจ.ยศ.ทบ.

[2] ดูรายละเอียดใน,พ.ต.ปิ่น  มุทุกันต์, กลวิธีแก้ทุกข์, สำนักพิมพ์คลังวิทยา : พระนคร, ๒๔๙๙.

[3] รักพงษ์  แซ่โซว, ปิ่น  มุทุกันต์ ชีวิตนี้เพื่อธรรม, เอกสารพิมพ์เผยแผ่เป็นธรรมทานในวโรกาส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา, ๒๕๕๔.

[4] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๙๐.

[5] รักพงษ์  แซ่โซว, ๔ ทศวรรษมรดกธรรม จาก ปิ่น  มุทุกันต์ , เอกสารพิมพ์เผยแผ่เป็นธรรมทานในโอกาสคุณแม่สมปอง  ลิ้มเรืองรอง อายุ ๘๐ ปี, ๒๕๕๕.