อาจริยพจน์ พันเอก (พิเศษ) สัมฤทธิ์ คมขำ[1]
“ความเป็นอนุศาสนาจารย์”
“ทุกหน่วยราชการ หรือแม้องค์กรเอกชน กำหนดให้มีกฎเกณฑ์และมีวัฒนธรรมการปฏิบัติเป็นของตนเอง เพื่อความดำรงอยู่ดีและความพัฒนายิ่งขึ้นของหน่วย/องค์กร และบุคลากร
กองทัพเป็นหน่วยราชการใหญ่ จึงมีกฎเกณฑ์และวัฒนธรรมการปฏิบัติเป็นของตนเอง เฉพาะกองทัพบก ซึ่งมีกำลังพลมากกว่ากองทัพอื่นๆ จึงมีระเบียบ คำสั่ง เป็นต้นไว้อย่างเป็นมาตรฐาน และเป็นวัฒนธรรมของกองทัพและของกำลังพลอย่างชัดเจน
อนุศาสนาจารย์กองทัพบก มีหน้าที่ปฏิบัติการหรืออำนวยการเกี่ยวกับการศาสนา และให้คำแนะนำแก่ผู้บังคับบัญชาในปัญหาทั้งปวงเกี่ยวกับศาสนาและขวัญ รวมทั้งการปฏิบัติที่เกี่ยวกับศาสนาและขวัญ
เนื่องจากมีภารกิจหน้าที่ดังกล่าว ที่ประชุมอนุศาสนาจารย์จึงมีมติให้มีวินัย (จรรยาบรรณ) ของอนุศาสนาจารย์ด้วยการออกเป็นประกาศคณะอนุศาสนาจารย์ (ฉบับที่ 1) ไว้ตั้งแต่ 17 เมษายน 2501 เป็นต้นมา โดยได้รวบรวมข้อปฏิบัติของอนุศาสนาจารย์ตั้งแต่ปฐมอนุศาสนาจารย์ ได้ถือปฏิบัติสืบกันมานั่นเอง มาเป็นวินัยของอนุศาสนาจารย์ จึงเท่ากับว่าอนุศาสนาจารย์มีวินัย 2 ชั้น คือ
1. วินัยทหารในฐานะอนุศาสนาจารย์เป็นทหาร
2. วินัยของอนุศาสนาจารย์ในฐานะเป็นอนุศาสนาจารย์
การเป็นอนุศาสนาจารย์ เมื่อผ่านการสอบคัดเลือกคือสอบได้ ก็ได้รับการแต่งตั้งยศเป็นนายทหารสัญญาบัตร ตำแหน่งอนุศาสนาจารย์ ซึ่งกองทัพก็ออกคำสั่งแต่งตั้งให้ตามขั้นตอน ไม่มีสิ่งใดยุ่งยาก แต่ความเป็นอนุศาสนาจารย์นั้น อนุศาสนาจารย์ล้วนแต่ถือกันว่าไม่มีใครแต่งตั้งให้เป็นได้ ฉะนั้นถึงจะมีตำแหน่งเป็นอนุศาสนาจารย์แล้ว ความเป็นอนุศาสนาจารย์ก็อาจจะยังไม่เกิดขึ้น
อนุศาสนาจารย์แต่ละนายจึงฝึกอบรมตนเองเพิ่มเติม ให้มีฉันทะและศรัทธาในตำแหน่งหน้าที่ มีจิตวิญญาณ รักและชอบในภารกิจของตนจริง และมีความรู้สึกเป็นสุขใจเมื่อได้ปฏิบัติภารกิจหน้าที่ตน อันเป็นภารกิจหน้าที่ที่เป็นบุญกุศลและเสียสละ มีมโนธรรมสำนึกที่จะอยู่ในขอบเขตของตน เพื่อจะได้เข้าถึงความเป็นอนุศาสนาจารย์ ที่แท้จริง จึงเท่ากับว่าการเป็นอนุศาสนาจารย์เป็นได้ด้วย ภูมิรู้ ที่สอบผ่านเข้ามาได้และได้รับการแต่งตั้งให้เป็น แต่ความเป็นอนุศาสนาจารย์ เป็นได้ด้วย ภูมิธรรม ไม่มีใครออกคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นได้ อนุศาสนาจารย์ผู้นั้นเท่านั้นที่จะแต่งตั้งให้ตนมีความเป็นอนุศาสนาจารย์ได้เอง
อนึ่งอนุศาสนาจารย์เป็นผู้ได้บวชเรียนศึกษามาทางด้านพระพุทธศาสนาโดยตรง จึงล้วนแต่เป็นผู้มีสำนึกอยู่เสมอว่า ตนเป็นตัวแทนของคณะสงฆ์ที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่กำลังพลทุกประเภทในกองทัพ จึงย่อมจำเป็นที่จะต้องให้การสนับสนุนกิจการของคณะสงฆ์ด้วยความเต็มใจ มีศรัทธามั่นคง และสนับสนุนส่งเสริมพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเป็นสุปฏิบัติสม่ำเสมอ
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ผู้เข้ามาเป็นอนุศาสนาจารย์เริ่มแรกในกองทัพ ยังไม่คุ้นเคยกับระบบราชการและการเป็นข้าราชการ ไม่ได้ฝึกอบรมวิชาทหารโดยตรงมาตามขั้นตอน หากแต่เป็นนายทหารสัญญาบัตรในทันที เมื่อได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอนุศาสนาจารย์ จึงย่อมสมควรที่จะอ่านศึกษาหนังสือ/เอกสาร 5 ประการต่อไปนี้ตั้งแต่ตอนเริ่มต้นเข้ารับราชการ คือ
1. คู่มือการอนุศาสนาจารย์กองทัพบก
2. หลักนิยมอนุศาสนาจารย์ทหารบก (ซึ่งมีอยู่ในเล่มนี้แล้ว)
3. หลักปฏิบัติราชการของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว[1]
4. มรรยาททหาร[3]
5. ระเบียบงานสารบรรณของสำนักนายกรัฐมนตรี และระเบียบงานสารบรรณของกองทัพบก
ซึ่งตามข้อ 3,4 นี้ แม้นายทหารชั้นประทวน ที่สอบได้จะได้รับยศเป็นนายทหารสัญญาบัตร ยังได้รับการอบรมจาก ยศ.ทบ.เป็นส่วนรวม ฉะนั้น อนุศาสนาจารย์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งยศเป็นนายทหารสัญญาบัตรเป็นครั้งแรก จึงควรจะได้อ่าน ศึกษา ปฏิบัติตามที่เกี่ยวข้อง และนำไปประยุกต์ใช้ในหน้าที่การบรรยายอบรมทางศีลธรรมวัฒนธรรมต่อไป
[1] ผอ.กอศจ. ลำดับที่ ๑๖ (พ.ศ. ๒๕๓๙ – ๒๕๔๑)
[2]พระราชนิพนธ์เรื่องหลักราชการ 10 ประการเมื่อ 20 ก.พ. 2457 ณ พระราชวังสนามจันทร์ : ผู้เขียนได้มอบให้ กอศจ.ยศ.ทบ. เมื่อ ๑ พ.ค. ๖๒
[3] พระนิพนธ์ของ จอมพล สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ ภูวนารถ : ผู้เขียนได้มอบให้ กอศจ.ยศ.ทบ. เมื่อ ๑ พ.ค. ๖๒