อาจริยพจน์ พล.ต. บุญนาค มูลลา

อาจริยพจน์ พล.ต. บุญนาค มูลลา[1]


        กระผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้รับเชิญให้ส่งอาจริยพจน์ มาตีพิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์ การอนุศาสนาจารย์ไทย เพื่อเป็นข้อคิดเล็กๆ น้อยๆ ในครั้งนี้

        ในโอกาสอันสำคัญนี้ ทำให้เราทั้งหลายรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นที่สุดมิได้ ทั้งนี้ ด้วยทรงหยั่งรู้การณ์อนาคตไกลโดยแท้ จึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากองอนุศาสนาจารย์ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2462 และกิจการในระยะ 100 ปีต่อมา ได้สร้างคุณประโยชน์แก่กองทัพไทยเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นยามสงบหรือยามสงคราม ไม่ว่าในสมรภูมิในประเทศหรือนอกประเทศ ทหารของเรามีขวัญกำลังใจและคุณธรรม ทั้งมีสติยึดมั่น เด็ดเดี่ยว แน่วแน่ ไม่ท้อถอยที่จะประกอบภารกิจ เพื่อพิทักษ์รักษา ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ให้เจริญมั่นคงอยู่ตลอดเวลา

        การที่ทรงเลือกนักการศาสนาไปเป็นผู้บำรุงน้ำใจกองทัพนั้น ก็นับได้ว่า พระองค์ทรงไว้ซึ่งพระราชปรีชาญาณอันหยั่งรู้อย่างถ่องแท้ ในเรื่องชีวิตจิตใจของมนุษย์ เพราะสิ่งที่จะเบียดเบียนจิตใจคนเราให้ซีดเซียวผอมโซนั้น ไม่มีอะไรเก่งไปกว่าความคิดชั่วร้ายและขุ่นหมอง ที่เรียกว่า กิเลส และสิ่งที่จะสู้กับกิเลสได้ ก็ไม่มีอะไรดีไปกว่า การสร้างพลังแก่กล้าให้แก่จิตใจ ด้วยเหตุผลและความเป็นจริงอันมีอยู่ในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา

        การที่ทรงเลือกแล้วอย่างนี้ งานอนุศาสนาจารย์ในกองทัพไทยจึงเป็นงานที่หนัก เพราะเป็นงานยกระดับจิตของกำลังพลให้สูงขึ้น เพราะสภาวจิตของกำลังพลในปัจจุบันนี้มีอยู่ 2 จำพวก พวกแรกคือพวกจิตขุ่นมัว จิตรับการกดดันจากสภาวะทางเศรษฐกิจ หรือกดดันจากงาน นายทหารประทวนผู้มีเงินเดือนน้อย รับภาระบุตรหลายคน ต้องส่งเสียค่าเทอมที่แพง พวกอาหาร เครื่องนุ่งห่มที่แพงขึ้นโดยตลอด บางครั้งอาจต้องขัดสนบ้าง ต้องกู้หนี้ยืมสิน กู้ธนาคาร ดอกเบี้ยก็แพง สารพัดที่จะกู้เพื่อนำเงินมาจุนเจือครอบครัว

        เมื่อจิตของเราเกิดจากความขัดข้องขุ่นมัว ก็จะเริ่มแสดงออกในลักษณะเป็นคนพาล คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ให้ถือเงินก็ยักยอกเงิน ให้คุมน้ำมันก็ยักยอกน้ำมัน ตั้งแก๊งที่ไม่ดี ชวนกันกินเหล้าติดอบายมุข ติดยาเสพติด ทำให้ลูกหลานเห็นเป็นตัวอย่าง พลอยติดเหล้า บุหรี่ ติดยาเสพติด ไม่เรียนหนังสือ กลายเป็นอันธพาลไป อีกพวกหนึ่งมีลักษณะพาล ไม่คำนึงถึงระเบียบวินัย ผู้บังคับบัญชาตักเตือนไม่ได้ พอตักเตือนก็โกรธหันมาคอยจับผิดผู้บังคับบัญชา เห็นผิดเป็นชอบ ชอบวุ่นงานคนอื่น งานตนไม่รู้อะไร ชอบร้องเรียนทำบัตรสนเท่ห์ หาดีใส่ตัว หาชั่วใส่คนอื่น

        จะแก้จิตพาล คือกิเลส โลภ โกรธ หลง อารมณ์ร้ายต่างๆ ก็ต้องแก้ที่จิตนั่นเอง แก้ที่นายเพราะจิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว คือยกจิตเขาให้สูงขึ้น ฝึกจิตบริหารจิตด้วยพาเขาหมั่นทำบุญให้ทาน รักษาศีลเจริญเมตตา เพื่อลดความอยาก จิตเขามีอำนาจจึงจะตอบโต้กิเลสได้ ทำจิตให้มีอำนาจก็ด้วยหมั่นเจริญจิตภาวนา นั่งสมาธิ ฟังธรรม ให้จิตไม่ขุ่นมัว เมื่อใจไม่เป็นพาล ใจเป็นบัณฑิต ก็จะเกิดปัญญา พิจารณาเห็นสิ่งต่างๆ เป็นความจริงของชีวิต

        พวกที่สอง ตรงข้ามกับพวกแรก มีจิตผ่องใส ใจเป็นบัณฑิต ผลงานดี พลังจิตสูง เป็นที่ไว้ใจของผู้บังคับบัญชา มีจิตละอายบาป มีเมตตาแก้ปัญหาอย่างรอบคอบ บริหารงานทั้งครอบครัวและราชการได้เป็นอย่างดี เก็บเงินส่งลูกหลานเรียนได้สูงๆ

        กำลังพลทั้งสองพวกนั้น เกี่ยวข้องกับงานภารกิจของอนุศาสนาจารย์ด้วยกันทั้งนั้น แต่จำพวกที่หนึ่ง นั้น เป็นผู้ที่จะท้าทายงานอนุศาสนาจารย์เป็นอย่างยิ่งในการที่จะต้องใช้วิชาความรู้เข้าไปแก้ปัญหาให้ผู้บังคับบัญชา ดังคำโคลงที่นักปราชญ์ท่านประพันธ์ไว้ว่า

        อนุศาสนาจารย์จึงต้องมีธรรมาวุธไว้แก้ปัญหาของกำลังพลที่ท่านรับผิดชอบอยู่ ต้องแก้ตั้งแต่ ผบ.หน่วย ไล่ลงไปจนถึงพลทหาร ซึ่งมีลักษณะปัญหาแตกต่างกันไป สรรพาวุธใช้เพื่อให้ศัตรูยอมแพ้ แต่ธรรมาวุธใช้เพื่อให้ทุกคนได้รับชัยชนะจากกิเลส อนุศาสนาจารย์รบด้วยธรรมาวุธ พระพุทธเจ้าใช้ธรรมาวุธในการสู้รบแม้กับองคุลีมาลเอง ผู้สำเร็จงานจะต้องค้นให้พบ

        พิเภก : ยอดนักข่าว ปุโรหิตาจารย์

        ขงเบ้ง : นักวางแผน วิเคราะห์ทำงาน หาจุดด้อยจุดเด่น

        เจงกิสข่าน : นักปฏิบัติ นักรบ

        อนุศาสนาจารย์นั้นควรระลึกอยู่เสมอว่า ก่อนจะแก้ปัญหาคนอื่น ต้องแก้ปัญหาตนเองให้ได้เสียก่อน เราเป็นหมอใจจึงไม่ควรป่วยทางใจเสียเอง ต้องมีสัจจะซื่อสัตย์สุจริต ต้องเสียสละ ควรบำเพ็ญสังคหวัตถุ 4 อย่างสม่ำเสมอ อย่าทำตนเป็นคนมักได้ อุทิศตนให้คนอื่นได้ร่มเย็น แม้บางครั้งตัวเองจะยืนในที่ร้อน ซึ่งเป็นคุณลักษณะอันวิเศษของสัตบุรุษ ดังคำสุภาษิตที่ว่า

        ฉายมญญสฺส       กุพพนฺติ          ติกฺขนฺติ           สยมาตเป

        ผลานิปิ   ปรสฺเสว          รุกฺขา             สปฺปุริสาอิว

        สร้างร่มเงาให้ความร่มเย็นแก่ผู้อื่น ทั้งคนและหมู่สัตว์ ส่วนตนเองยินดียืนหยัดรับความร้อนของแสงแดด อย่างไม่พรั่นพรึง ถึงคราวมีลูกมีผล ก็มีเพื่อให้ผู้อื่น สัตว์อื่น ได้รับประทาน หาใช่มีเพื่อตนเองไม่

[1] ผอ.กอศจ.ยศ.ทบ. ลำดับที่ ๒๒ (พ.ศ. ๒๕๕๒ – ๒๕๕๔)