อนุศาสนาจารย์กับการพัฒนาเยาวชน

อนุศาสนาจารย์กับการพัฒนาเยาวชน

พ.อ. อรุณ  นิลสุวรรณ

(อดีตอนุศาสนาจารย์ กองทัพภาคที่ ๔)

……………………………………

๑. เกริ่นนำ

          พันโท เกรียงไกร  จันทะแจ่ม ได้ขอให้เขียนบทความเรื่อง “บทบาทอนุศาสนาจารย์กับการพัฒนาเยาวชน” เพื่อนำไปลงพิมพ์ในหนังสือ ๑๐๐ ปี การอนุศาสนาจารย์ไทย ด้วยเห็นว่าข้าพเจ้าทำโครงการเกี่ยวกับเยาวชนตลอดมา ก็รู้สึกเขินนิดๆ เพราะงานที่ทำเป็นงานเล็กๆ ของสำนักสงฆ์ คือ “โครงการของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ตำบลท่าข้าม” (ศอต.ท่าข้าม) เป็นโครงการไม่ใหญ่ แต่ตั้งปณิธานไว้ในใจว่าจะทำไปตลอดชีวิต ก็จะเล่าถึงวิธีคิดในการทำงานส่วนนี้สู่กันฟัง

๒. ความเป็นมาของโครงการ

        ก่อนอื่นก็จะขอเล่าความเป็นมาก่อนจะมาเป็น “โครงการศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ตำบลท่าข้าม” สักเล็กน้อย กล่าวคือ ในปี พ.ศ.๒๕๐๒ ข้าพเจ้าจบการศึกษาชั้น ป.๔ จากโรงเรียนวัดหินเกลี้ยง ตำบลท่าข้าม อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา แต่ไม่สามารถเรียนต่อชั้น ป.๕ ได้ เพราะพ่อป่วยหนัก แม่ไม่อนุญาตให้เรียน จนถึงปี พ.ศ.๒๕๐๓ พ่อถึงแก่กรรม แม่ขอให้ข้าพเจ้าบวชเณรหน้าศพพ่อ บวชแล้วก็ไปอยู่วัดท่าข้าม ท่องบทสวดมนต์กับหลวงตา จนจบปาฏิโมกข์ แต่ไม่ได้เรียนนักธรรมเพราะไม่มีครูสอน

        จนมาถึงปี พ.ศ.๒๕๐๖ พระอธิการเทือน ปนาโท (พระครูปนาทธรรมคุณ)    เจ้าอาวาสวัดหินเกลี้ยง มาเปิดสอนนักธรรมที่สำนักสงฆ์วชิรธรรม (เกาะปลัก) ซึ่งเป็นสำนักเรียนพระปริยัติธรรมประจำตำบลท่าข้าม ได้ซักชวนข้าพเจ้ากับเพื่อนๆสามเณร  วัดท่าข้ามและวัดอื่น ๆ อีกหลายรูปไปเรียนนักธรรม โดยท่านพระอธิการเทือน ปนาโท เป็นผู้สอนเอง ปรากฏว่าในปีนั้น สามเณรอรุณ นิลสุวรรณ สอบนักธรรมชั้นตรีได้เป็นรูปแรกของตำบลท่าข้าม

        ต่อมาพระอธิการเทือน ปนาโท พิจารณาเห็นว่า ข้าพเจ้ามีแววทางการศึกษา  ในปี พ.ศ.๒๕๐๘ จึงจัดส่งไปเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ณ วัดคูหาสวรรค์ จังหวัดพัทลุง และในปี พ.ศ.๒๕๑๐ สอบ ป.ธ. ๑-๒ ได้ ปี ๒๕๑๑ สอบ ป.ธ. ๓ ได้ และ ปี    พ.ศ. ๒๕๑๒ สอบ ป.ธ.๔ ได้ ตามลำดับ จากนั้นเดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร เข้าศึกษาต่อ ณ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ ในปี ๒๕๑๓ จนจบปริญญาตรีพุทธศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ ๒) ในปี พ.ศ.๒๕๒๑ (พธ.บ.รุ่นที่ ๒๔ รุ่นเดียวกับ พระพรหมบัณฑิต (ประยูร  ธมฺมจิตฺโต) อดีตอธิการบดี ม.มจร.) จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ก็ไปปฏิบัติศาสนกิจที่อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง ปี พ.ศ.๒๕๒๓ เดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยมัทราส รัฐทมิฬนาฑู ประเทศอินเดีย       ปี พ.ศ.๒๕๒๕ ลาสิกขา กลับมาเป็นอาจารย์สอน ณ มจร. วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ และในปี พ.ศ.๒๕๒๖ ก็สอบบรรจุเป็น อศจ.ยศ.ทบ. ได้ตามลำดับ

        จากจุดเริ่มต้น ที่เข้ามาศึกษานักธรรมชั้นตรี กับ พระครูปนาทธรรมคุณ (เทือน ปนาโท) นั้น ทำให้ข้าพเจ้าได้รับความสำเร็จในชีวิตมีความโดดเด่นที่เรียกว่า เป็นคนแรกของตำบลท่าข้ามหลายอย่าง คือ สอบนักธรรมตรีได้เป็นคนแรก  สอบบาลีได้เป็น     มหาเปรียญคนแรก  เรียนจบปริญญาตรี พุทธศาสตรบัณฑิต เป็นคนแรก  เรียนจบปริญญาโท จากประเทศอินเดียเป็นคนแรก และสอบบรรจุเป็นอนุศาสนาจารย์กองทัพบกได้เป็นคนแรก  ของตำบลท่าข้ามอีกเช่นกัน ความสำเร็จของข้าพเจ้าในส่วนนี้เป็นแรงบันดาลใจให้รุ่นน้อง ๆ ถือเป็นแบบอย่าง ได้เดินตามมาศึกษากับพระครูปนาทธรรมคุณ จน สอบเปรียญได้ และจบ ปริญญาตรี ปริญญาโท ต่อมาอีกนับได้ ๒๑ คน

        เมื่อเป็นอนุศาสนาจารย์ กองทัพบกแล้ว ได้ปฏิบัติงานในหน้าที่ อศจ.        หลายพื้นที่ เช่น กรุงเทพมหานคร จังหวัดสระแก้ว จังหวัดสระบุรี และในปีพ.ศ. ๒๕๓๑ ก็ได้ย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ ณ กรมทหารราบที่ ๕ ค่ายเสนาณรงค์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่เป็นภูมิลำเนาเดิม ได้มีโอกาสสนองงานคณะสงฆ์ และครูบาอาจารย์อย่างใกล้ชิด และอบอุ่นยิ่ง โดยเฉพาะได้สืบทอดงาน ศพอ.หาดใหญ่ ที่ก่อตั้งโดย พ.อ.ประทัย โกศลกุล  อดีต อศจ.ผส.๕ ในปี พ.ศ.๒๕๐๗ โดยดำรงตำแหน่งเลขานุการ ศพอ.หาดใหญ่ เป็นคนที่ ๕ ต่อจาก พ.อ. ประทัย โกศลกุล, พ.อ. ศรีสวัสดิ์ แสนพวง,        พ.ท. สุรินทร์ พัฒนศิริ และ พ.อ. อรุณ ศุภรัตนดิลก ตามลำดับ

        ในฐานะเลขานุการ ศพอ.หาดใหญ่ ได้ร่วมกับพระเถระหลายรูป เช่น พระครูโสภณคุณาทร   วัดคลองเปล ริเริ่มจัดโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนในนาม  คณะสงฆ์อำเภอหาดใหญ่ ร่วมกับ ค่ายเสนาณรงค์ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๕๓๒ และครั้งต่อมาอีกหลายปี จนทำให้ค่ายเสนาณรงค์กับคณะสงฆ์ มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด จนต่อมา ผบ.จทบ.สข. (ผบ.มทบ.๔๒) ได้รับพระราชทานรางวัลเสมาธรรมจักร เพราะผลงานสนับสนุนศพอ.หาดใหญ่ หลายท่านติดต่อกัน ในด้านพิธีกรรม ได้ร่วมกับพระครูอาทรวรคุณ เลขานุการเจ้าคณะจังหวัดสงขลา ปรับปรุงการปฏิบัติพิธีกรรมต่าง ๆ ให้เรียบร้อยขึ้น และปฏิบัติพิธีเป็นแบบอย่างที่ดี จนเป็นที่กล่าวขานกันว่า ถ้ามีพระครูอาทรวรคุณ และ พ.อ.อรุณ นิลสุวรรณ อยู่แล้ว งานพิธีนั้นต้องเรียบร้อย ซึ่งพระครูอาทรวรคุณ พระครูโสภณคุณาทร และ พ.อ.อรุณ  นิลสุวรรณ ซึ่งเกิดปี พ.ศ.เดียวกัน กลายเป็นเพื่อนคู่ทุกข์ คู่ยาก ด้วยกันมาจนปัจจุบัน

        ในส่วนที่เกี่ยวกับพระครูปนาทธรรมคุณ (เทือน ปนาโท) ก็ได้แวะเวียนไปเยี่ยม ไปช่วยงานอย่างสม่ำเสมอ  เห็นว่าท่านมีสุขภาพแข็งแรงดี  ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๙    พระครูปนาทธรรมคุณ ได้เริ่มก่อสร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ของสำนักสงฆ์วชิรธรรม (เกาะปลัก) ทดแทนหลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรม เพื่อใช้เป็นสถานที่บำเพ็ญกุศล         ศึกษาธรรมของพระเณรและเป็นที่ฝึกอบรมเยาวชนให้เป็นหลักฐาน แต่ศาลายังไม่ทันเสร็จ พระครู ปนาทธรรมคุณ ได้มรณภาพลงด้วยโรคลมปัจจุบัน ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๐ สิริรวมอายุได้เพียง ๖๗ ปี

        จากการมรณภาพของพระครูปนาทธรรมคุณ ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของข้าพเจ้าที่ได้เข้าไปมีบทบาทในการพัฒนาเยาวชนในตำบลท่าข้าม เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของพระครูปนาทธรรมคุณ อย่างต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน การดำเนินการพัฒนาเยาวชน ตำบลท่าข้าม (ศอต.ท่าข้าม) จะมีความแตกต่าง จากการดำเนินงาน  ศพอ.หาดใหญ่ เพราะว่างาน ศพอ.หาดใหญ่ เป็นงานเสวยบุญบารมีของครูอาจารย์ที่สะสมสร้างไว้ ให้ทั้งเงิน    ทั้งคน ทั้งชื่อเสียงของงาน ที่คนรู้จักศรัทธาอยู่แล้ว แต่การดำเนินงาน ศอต.ท่าข้ามนั้น เป็นการเสวยวิบากกรรมที่ต้องสูญเสียอาจารย์ไปอย่างกะทันหัน และทิ้งภาระการสร้างศาลาไว้เบื้องหลัง จึงต้องใช้ความพยายามอย่างสูงในการสร้างงาน สร้างคน สร้างบารมี ความดี และชื่อเสียง เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของท่านอาจารย์ไว้ ซึ่งต้องเริ่มต้นจากศูนย์ (ชีวิตติดลบ) เพื่อให้เกิดความศรัทธาเชื่อถือ ตรงนี้เป็นงานที่ท้าทายอย่างยิ่ง แต่พยายามทำได้สำเร็จแล้วในระดับหนึ่ง ซึ่งจะเล่าสู่กันฟังต่อไป

        ๓.แนวทางการดำเนินงานพัฒนาเยาวชนของศอต.ท่าข้าม

        เมื่อพูดถึงแนวทางในการดำเนินงานของ ศอต.ท่าข้าม ถ้าพูดแบบสำนวนของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ก็ใช้หลักศาสตร์พระราชา ๓ หลัก คือ ยึดหลักมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ได้ดังนี้ คือ

        แนวทางที่ ๑ หลักการสร้างความมั่นคง

        ๑. ในปี พ.ศ.๒๕๔๒ หลังจากพระครูปนาทธรรมคุณ มรณภาพแล้ว ก็ได้ร่วมกับ  พระมหามนตรี สุขขวัญ (ผู้เป็นศิษย์ของพระครูปนาทธรรมคุณ และมีศักดิ์เป็นหลานของข้าพเจ้า) ได้มาจำพรรษาที่สำนักสงฆ์ วชิรธรรม (เกาะปลัก) เปิดอบรมเยาวชนขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเชิญชวนเยาวชนในพื้นที่ใกล้เคียง มาทำความดีถวายหลวงพ่อ     (พระครูปนาทธรรมคุณ) ในช่วงเข้าพรรษา ตอนเย็น เวลา ๑๘.๐๐-๒๐.๐๐ น. โดยฝึกการไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ เล่านิทานชาดกให้ฟังแล้วเลี้ยงขนม เครื่องดื่ม ตามสมควร ก็มีเยาวชนมาสมัครตั้งแต่ ระดับ อนุบาล จนถึง ม.๓ จำนวนถึง ๖๑ คน พอออกพรรษาก็มอบเกียรติบัตรให้ในนามเจ้าคณะอำเภอหาดใหญ่ พร้อมด้วยทุนรางวัลการศึกษา ก็เป็นที่ฮือฮาพอใจของเยาวชนและผู้ปกครอง ทั่วไป งานช่วงนี้จะทำพร้อมๆกับการหาทุนเตรียมสร้างศาลาการเปรียญที่ค้างคาอยู่ และทำต่อเนื่องกันมา ๕ ปี

        ๒. ในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ เมื่อเห็นแนวทางการอบรมเยาวชนรุ่นเริ่มแรกพอไปได้ ในปีนี้ก็ได้จัดทำโครงการจัดตั้งกองทุนมูลนิธิชื่อว่า “กองทุนมูลนิธิพระครูปนาทธรรมคุณเพื่อการศึกษา” โดยขออนุมัติ พระราชวีราภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดสงขลา เป็นประธานกรรมการกองทุน พ.ท.อรุณ  นิลสุวรรณ อศจ.พล.พัฒนา ๔ เป็นเลขานุการ ปรากฏว่า โครงการเริ่มแรกได้รับเงินเข้ากองทุน ๑๐๐,๐๐๐ กว่าบาท (จากชีวิตเป็นศูนย์ ก็เริ่มมีเงินเป็นแสน) ทำให้เกิดกำลังใจ มีพลังใจที่มั่งคงขึ้น มุ่งมั่นที่จะพัฒนาต่อไปให้ดียิ่งขึ้น

        แนวทางที่ ๒ หลักการสร้างความมั่งคั่ง

        ๑. ในปี พ.ศ.๒๕๔๖ ปีนี้การสร้างศาลาการเปรียญพอใช้ประโยชน์ได้แล้ว แต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ จึงได้ขยายผลการฝึกอบรมเยาวชนให้กว้างขึ้นในรูปแบบของศูนย์อบรม (ศูนย์วันอาทิตย์) คือเปลี่ยนมาอบรมในทุกวันเสาร์ ตอนเช้า เวลา ๐๘.๐๐ – ๑๒.๐๐ น. บนศาลาการเปรียญหลังใหม่ และได้ขออนุมัติพระเทพวีราภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดสงขลา ออกระเบียบจัดตั้งเป็นศูนย์อบรม ชื่อว่า “ศูนย์ฝึกอบรมศีลธรรมและวัฒนธรรมเยาวชน ตำบลท่าข้าม” โดยพระเทพวีราภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดสงขลา      ในนามประธานกองทุนมูลนิธิพระครูปนาทธรรมคุณเพื่อการศึกษา ลงนามแต่งตั้งให้ พระครูชยุตสุตคุณ เจ้าคณะตำบลท่าข้าม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายสินธน อินทรัตน์ นายก อบต.ท่าข้าม เป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์ และ พ.ท.อรุณ นิลสุวรรณ เป็นเลขานุการ ผลปรากฏว่า ได้พัฒนายกระดับ ฐานะของศูนย์อบรมเป็นรูปแบบ มีระบบขึ้น แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนกับกรมการศาสนา ส่วนการเรียนการสอน ก็ใช้รูปแบบของ ศพอ.หาดใหญ่ ขอสนับสนุนพระอาจารย์ จากวัดหงส์ประดิษฐาราม มาช่วยสอน บางทีพระอาจารย์ติดศาสนกิจ ก็ต้องสอนคนเดียว เมื่อต้องสอนคนเดียว ก็ต้องวางแผนดังนี้ คือ ตอนเย็นวันศุกร์ เตรียมซื้อขนม-นม-เครื่องดื่ม ใส่รถกระบะ เตรียมพร้อมไว้ทุกวัน พอเช้าวันเสาร์ออกจากบ้านมาแต่เช้า วิธีการสอนคือ ๐๘.๐๐ น. ฝึกการไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิก่อน เวลา ๐๙.๐๐ น. พักทานอาหารว่าง (ขนม-นม ที่เตรียมมา) เวลา ๐๙.๓๐ – ๑๐.๓๐ น. อบรมเนื้อหาวิชาการ จะสอนเรื่องอะไร ก็ออกเป็นแบบฝึกหัดมา ๒๐ – ๓๐ ข้อ ให้นักเรียนฝึกคิด-ทำ พอนักเรียนทำเสร็จก็จะเฉลย  ช่วงที่เฉลย ก็ถือโอกาสพูดอบรมไปด้วยตามเนื้อหาแบบฝึกหัดแล้วบันทึกผลคะแนนของนักเรียนทุกคนไว้ พอครบเทอม     ก็รวมคะแนนเหมือนคะแนนสอบ แล้วให้ทุนรางวัลตามผลงานที่ทำ เวลา ๑๐.๓๐ น.     ก็เลี้ยงอาหารกลางวันอีกรอบหนึ่ง ก่อนกลับบ้าน เวลา ๑๑.๐๐ น. สรุปผลงานประจำวัน รวมถึงความดีความชอบของทุกคนต่อเนื่อง กิจกรรมจะดำเนินไปทำนองนี้ ประเมินแล้ว นักเรียน พอใจ การอบรมเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี แต่ถ้าวันใดพระอาจารย์มาสอนครบ ก็แยกย้ายกันเข้าชั้นเรียน ตามรูปแบบ ศพอ.นั่นเอง

        ๒. ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ คณะสงฆ์จังหวัดสงขลา ได้เปิดหน่วยวิทยบริการ มจร.สงขลา ขึ้นที่วัดหงส์ประดิษฐาราม พ.ท.อรุณ นิลสุวรรณ ได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์สอนด้วย ก็ได้มีโอกาสพูดคุยเรื่องการสอนอบรมเยาวชน ให้นิสิตฟัง และซักชวนให้ไปจำพรรษา และสอนเยาวชน ที่สำนักสงฆ์วชิรธรรม (เกาะปลัก) โดยตั้งปณิธานไว้ในใจว่า ถ้าพระนิสิตรูปใด ไปช่วยสอน ก็จะรับเป็นผู้อุปถัมภ์ค่าเทอม และค่าใช้จ่ายให้ท่าน จนจบปริญญาตรี ผลปรากฏว่า มีสมัคร ๒ รูป คือ พระเกียงไกร กับ พระพงษ์ศักดิ์ ได้มาเปิดสอนแบบธรรมศึกษาขึ้นเป็นปีแรก มีเยาวชนสมัครเข้าสอบ ๑๙ คน สอบได้ ๑๘ คน โดยส่งไปร่วมสอบ ณ สนามสอบ วัดหงส์ประดิษฐาราม

        เมื่อมีเยาวชน สอบธรรมศึกษาตรีได้ ชื่อเสียงก็ขจรขจายไป ผู้ปกครอง ก็ดีใจ โรงเรียนก็ภูมิใจ มีผลทำให้เยาวชนมาสมัครเรียนมากขึ้น การสนับสนุนทุนดำเนินงานก็ง่ายขึ้น โดยเฉพาะ นายก อบต.ท่าข้าม ได้จัดงบอุดหนุนให้ปีละ ๕๐,๐๐๐ บาท ทำให้ฐานะของ ศอต.ท่าข้าม หรือ พ.ท.อรุณ นิลสุวรรณ หรือ ตารุณ-ลุงรุณ เริ่มติดปาก ติดใจ เยาวชน และชุมชนมากขึ้นเรื่อยๆ

        ๓. ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ เมื่อเยาวชน สมัครสอบธรรมศึกษามากขึ้น ก็มีอุปสรคในเรื่องสถานที่สอบธรรมศึกษา ที่เคยไปร่วมสอบกับวัดหงษ์ประดิษฐาราม สถานที่ ก็ไม่เพียงพอ จึงได้ขออนุมัติพระเทพวีราภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดสงขลา ลงนามหนังสือขอใช้สถานที่ของโรงเรียนหาดใหญ่พิทยาคม ซึ่งอยู่ในตำบลทุ่งใหญ่ ติดกับตำบลท่าข้าม ให้เป็นสนามสอบธรรมศึกษาประจำปี ของคณะสงฆ์ตำบลท่าข้าม ผลการประสานงานเป็นไปด้วยดีเพราะทางโรงเรียนหาดใหญ่พิทยาคม มีความประสงค์จะให้นักเรียนเข้าสอบธรรมศึกษาอยู่ด้วยแล้ว จึงทำให้โรงเรียนระดับประถมศึกษาในตำบลท่าข้ามและตำบลทุ่งใหญ่ ที่เป็นเครือข่ายสมาชิกของ ศอต.ท่าข้าม       ได้ร่วมสอบธรรมศึกษา ณ โรงเรียนหาดใหญ่พิทยาคม ทั้งหมดทุกโรงเรียน ผลดีที่เกิดขึ้น คือ

        ๑. นักเรียนที่มาเรียน ศอต.ท่าข้าม มีสถานที่สอบธรรมศึกษาใกล้บ้าน

        ๒. พระอาจารย์ ศอต.ท่าข้าม ได้มีโอกาสไปสอนธรรมศึกษาในโรงเรียนหาดใหญ่พิทยาคม ได้ขยายสมาชิกเครือข่ายกว้างขวางมากขึ้น

        ๓. นักเรียนระดับประถมศึกษาได้มีโอกาสเข้าเรียน ชั้น ม.๑ ที่โรงเรียนหาดใหญ่พิทยาคม เพิ่มมากขึ้น

        ๔. ลูกหลานเยาวชนในตำบลท่าข้าม ตำบลทุ่งใหญ่ ที่ไม่ชอบเรียนธรรมะ พอไปเรียน ม.๑ ที่โรงเรียนหาดใหญ่พิทยาคม ก็ถูกบังคับให้สอบธรรมศึกษาทุกคน ก็ต้องพบตารุณที่นั่น เรียกว่า หนีตารุณ – ไม่พ้นเลยทีเดียว  และในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ นี้ เกียรติคุณความดีของ ศอต.ท่าข้ามได้ขจรขจายไปอีกขึ้นหนึ่ง นั้นคือ นายเอกพงษ์ อิสโร ลูกศิษย์รุ่นแรก ปี พ.ศ.๒๕๔๒ ซึ่งกำลังเรียนอยู่ชั้น ม.ปลายของโรงเรียนหาดใหญ่พิทยาคม      ได้ริเริ่มขอเปิดโครงการอบรมเยาวชนภาคฤดูร้อนขึ้นที่ ศอต.ท่าข้าม สำนักสงฆ์วชิรธรรม (เกาะปลัก) ในช่วง ๑-๓๐ เมษายน ๒๕๔๙ โดยมีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ

                ๑. เพื่อฝึกอบรมเยาวชนในห้วงปิดภาคเรียน

                ๒. เพื่อส่งเสริมความรัก ความสัมพันธ์อันดีระหว่าง พี่ๆ น้องๆ ในชุมชน

                ๓. เพื่อเสริมสร้างให้พี่ๆ เป็นผู้นำที่มีจิตอาสา กล้าแสดงออก มีใจรัก และรู้จักทำงานกันเป็นทีม

        เมื่อพิจารณาข้อเสนอแล้ว เห็นว่า เป็นความริเริ่มที่ดี ก็อนุมัติให้ดำเนินการและได้บรรจุโครงการนี้ เป็นโครงการของ ศอต.ท่าข้าม และดำเนินการพัฒนาต่อเนื่องมาจนปัจจุบันเป็นปีที่ ๑๔ แล้ว

        นี่คือ แนวทางที่พัฒนาสร้างความมั่งคั่ง หรือ ขยายผลงาน ศอต.ท่าข้ามให้ก้าวหน้ากว้างขวางขึ้นด้วยดี

        แนวทางที่ ๓ หลักการสร้างความยั่งยืน มาถึงตอนนี้ งานอบรมเยาวชนของ ศอต.ท่าข้าม มีงานหลัก ๆ อยู่ ๒ งาน (โครงการ) คือ

        ๑. โครงการอบรมเยาวชนภาคพรรษา อบรมในช่วงเดือน ก.ค.-ธ.ค. ของทุกปี เป็นการอบรมในรูปแบบหลักสูตรธรรมศึกษา ตรี โท เอก รับสมัครเยาวชน     ในระดับ ป.๓-ม.๓ ชั้น ป.๓-๔ อบรมปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมพื้นฐาน และปูพื้นเพื่อเตรียมสอบธรรมศึกษา ส่วนในระดับชั้น ป.๕ ขึ้นไปสอนเพื่อส่งเข้าสอบธรรมศึกษาประจำปีของคณะสงฆ์

        กลุ่มเยาวชนเป้าหมายในโครงการนี้ คือ นักเรียนจากโรงเรียน      ในตำบลท่าข้าม ๔ โรงเรียน คือ รร.วัดหินเกลี้ยง รร.วัดท่าข้าม รร.วัดเขากลอย และ    รร.วัดแม่เตย ในตำบลทุ่งใหญ่มี ๓ โรงเรียน คือ รร.วัดพรุเตาะ รร.บ้านทุ่งใหญ่ และ     รร.บ้านทุ่งงาย ถ้ารวม รร.หาดใหญ่พิทยาคม ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับมัธยมด้วย เป็น       ๘ โรงเรียน มีนักเรียนเป้าหมาย ๓๐๐ – ๔๐๐ คน

        วิธีการจัดการเรียนการสอน รร.วัดหินเกลี้ยง รร.วัดเขากลอย       รร.วัดพรุเตาะ รร.วัดท่าข้าม และ รร.บ้านทุ่งใหญ่ ให้นักเรียนมาเรียนในวันเสาร์         ณ ศอต.ท่าข้าม เวลา ๐๘.๐๐ – ๑๒.๐๐ น.

ส่วน รร.วัดแม่เตย รร.บ้านทุ่งงาย และ รร.หาดใหญ่พิทยาคม จะจัดครูไปสอนในโรงเรียน ไม่ต้องจัดเลี้ยงอาหาร-เครื่องดื่ม ข้อตกลงสำหรับนักเรียน ๒ กลุ่มนี้คือ

        ๑. ถ้ามาเรียนที่ ศอต.ท่าข้าม จะได้รับสิทธิ์ คือ เมื่ออบรม      จบหลักสูตรจะได้รับทุนการศึกษาตามความสามารถทุกคน และถ้าสอบธรรมศึกษาได้     ก็จะได้รับทุนอีก ๕๐๐ บาท (ได้ ๒)

        ๒. ถ้าครูไปสอนในโรงเรียน จะได้ทุนการศึกษาเมื่อสอบธรรมศึกษาได้เท่านั้น (ได้ ๑) การรับทุนการศึกษาของนักเรียนผู้เข้าอบรมโครงการนี้ กำหนดในวันอาทิตย์ที่ ๒ ของเดือน ธันวาคม ซึ่งตรงกับวันทำบุญครบรอบวันมรณภาพของพระครูปนาทธรรมคุณ (เทือน ปนาโท) ประจำปี จะมีการเชิญทำบุญทอดผ้าป่าสามัคคีสมทบทุนมูลนิธิด้วย สำหรับครูสอนปัจจุบันมีครูจิตอาสา เป็นหลักอยู่ ๔ ท่าน คือ

                ๑. พ.อ.อรุณ         นิลสุวรรณ

                ๒. นายป้อน         ณ มณี  (ลูกศิษย์พระครูปนาทธรรมคุณ)

                ๓. นายฉลอง        เพ็ชรขาว (ลูกศิษย์พระครูปนาทธรรมคุณ)

                ๔. นายอดิเรก       แก้วมณีโชติ (ศิษย์เก่า ศอต.ท่าข้าม            จบ ปริญญาตรีพุทธศาสตรบัณฑิต)

        โครงการอบรมเยาวชนภาคพรรษานี้จะมีนักเรียนประมาณ ๑๐๐ – ๑๕๐ คน กลุ่มนี้ต้องบริหารจัดการเรื่องอาหาร ขนม และเครื่องดื่มบริการเป็นประจำทุกวัน

        ๒. โครงการอบรมเยาวชนภาคฤดูร้อน (โครงการพี่สอนน้อง) อบรมในช่วงวันที่ ๑ – ๓๐ เมษายน ช่วงปิดภาคเรียนของทุกปี รับสมัครเยาวชน ตั้งแต่         ป.๑ – ม.๓ (บางทีน้องอยู่ชั้นอนุบาลตามพี่มา ก็รับให้เรียนด้วย) กิจกรรมการเรียนการสอน คือ สอนวิชาสามัญศึกษา ภาษาไทย อังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา กิจกรรมไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ มารยาทไทย รวมถึงกิจกรรมนันทนาการ และการแข่งกีฬาสีด้วย เพื่อให้น้องๆ มีความรักผูกสัมพันธ์กัน

        กลุ่มเยาวชนเป้าหมายของโครงการนี้ นอกจากเยาวชนในโรงเรียน ๘ โรงเรียนข้างต้นแล้ว จะมีเยาวชนที่เรียนโรงเรียนในเมือง หรือต่างอำเภอ ต่างจังหวัด ด้วย เนื่องจากเด็กบางคนปิดเทอมแล้วมาอยู่บ้านปู่ย่า ปู่ย่าก็พามาสมัคร    เข้าอบรมดีกว่าซนอยู่กับบ้านเฉยๆ ไม่ได้อะไร โครงการนี้ เน้นความรักผูกพันกันระหว่างพี่ๆน้องๆ แต่มีการประเมินผลทางวิชาการและมอบทุนการศึกษาแก่ผู้เข้าอบรมทุกคนด้วย

        ผลดีของโครงการนี้ นอกจากประเด็นความรักของพี่น้องแล้ว ยังเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์กิจกรรม ศอต.ท่าข้าม ได้กว้างไกล เพราะผู้ปกครองที่อยู่ไกลมาเห็นแล้วเกิดศรัทธา หรือเห็นผลดีที่เกิดกับลูกหลาน ก็ช่วยกันแนะนำบอกล่าว แถมบางครั้งยังชักชวนมาเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารเด็กๆ อีกด้วย

        จากโครงการที่ทำประจำ ๒ โครงการนี้ ก็สะท้อนให้เห็นความมั่นคง    ของศอต.ท่าข้ามได้แล้วส่วนหนึ่ง แต่เพื่อให้ผลการพัฒนาอย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง ก็ได้กำหนดแนวนโยบายกับเยาชนผู้ที่มาเข้าอบรมไว้อีกว่า

        ๑. นักเรียนที่เข้าอบรม ณ ศอต.ท่าข้าม ถ้าทำดีจะได้รับรางวัลทุกคน (ใช้สโลแกนว่า ที่นี่….ใครทำดี  มีรางวัลมอบให้ทุกคน)

        ๒. ผู้ที่เข้าอบรมจบหลักสูตรและสอบธรรมศึกษา จะได้ทุนรางวัล ๒ ครั้ง คือ ขณะเข้าอบรม จบหลักสูตร ๑ ครั้ง และเมื่อสอบธรรมศึกษาได้ จะได้อีก ๑ ครั้ง

        ๓. ผู้ที่เข้าอบรมตั้งแต่ ป.๓ – ม.๓ รวม ๗ ปี หรืออย่างน้อย ๕ ปี จนจบ ม.๓ จะได้รับยกย่องเป็นนักเรียนดีเด่น ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ ๑ โล่ ทุกคน

        ๔. ผู้ที่เรียนตั้งแต่ ป.๓ – ม.๓ จบ ม.๓ แล้ว ถ้ายังเรียนต่อ ม.๔ หรือ ปวช. จะพิจารณาให้เป็นครูสอนน้องโครงการอบรมภาคฤดูร้อนประจำปี

        ๕. ผู้ที่เรียนตั้งแต่ ป.๓ – ม.๓ ถ้าเป็นครูสอนน้องต่อเนื่องจนจบ ม.๖ หรือ ปวส. หรือ รับภาระเป็นหัวหน้าโครงการ จะได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณอีก ๑ โล่

        ๖. ผู้ที่เรียนตั้งแต่ ป.๓ – ม.๓ และเป็นครูสอนน้องดีเด่นหรือเป็นหัวหน้าโครงการภาคฤดูร้อน เมื่อเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย จะได้รับทุนการศึกษา    อย่างต่อเนื่องจนจบปริญญาตรี

        นี่คือหลักนโยบายการสร้างความยั่งยืนให้กับเยาวชนของ ศอต.ท่าข้าม ทำให้นักเรียนมองเห็นสิทธิประโยชน์ที่ตนจะได้รับเมื่อมาศึกษาและทำกิจกรรมกับ ศอต.    ท่าข้าม ทำให้นักเรียนส่วนใหญ่ตั้งใจเรียนตั้งแต่ ป.๓-ม.๓ ได้รับโล่นักเรียนดีเด่นไปแล้ว ไม่ต่ำกว่า ๓๐ คน และที่มาเป็นครูสอนน้อง หรือ เป็นหัวหน้าโครงการอบรมเยาวชนภาคฤดูร้อน และได้รับทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวน ๑๑ คน ถือเป็นผลงานการพัฒนาเยาวชนของ ศอต. ท่าข้าม ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ จน ปัจจุบัน รวม ๒๒ ปี ที่เป็นรูปธรรม แม้จะมีจำนวนน้อย แต่เหมาะสมกับฐานะของ   ศอต.ท่าข้าม ที่เป็นสำนักสงฆ์เล็กๆ

        ๔. บทสรุป

        ปัจจุบัน “ศูนย์ฝึกอบรมศีลธรรมและวัฒนธรรมเยาวชนตำบลท่าข้าม” (ศอต.ท่าข้าม) ได้จดทะเบียนเป็น “ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์” ในนามของวัดหินเกลี้ยง ซึ่งเป็นวัดที่พระครูปนาทธรรมคุณ (เทือน ปนาโท) เคยดำรงตำแหน่ง      เจ้าอาวาส เป็นหน่วยงานเผยแผ่ธรรมของกรมการศาสนา ทะเบียนเลขที่ ๑/๒๕๕๙ แต่เปิดดำเนินการ ณ สำนักสงฆ์วชิรธรรม (เกาะปลัก) ใช้ชื่อย่อว่า “ศอต.ท่าข้าม” เหมือนเดิม

        นับเป็นการพัฒนามาสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ที่สมบูรณ์ ในระดับหนึ่ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมการศาสนา  อบต.ท่าข้าม ดอกผลกองทุนมูลนิธิ พระครูปนาทธรรมคุณ เพื่อการศึกษาคณะสงฆ์ และผู้มีจิตศรัทธาทั่วไป และโดยบารมีคุณความดีของท่านพระครูปนาทธรรมคุณ (เทือน ปนาโท) ถือเป็นต้นทุนหลักที่สำคัญที่ทำให้ภารกิจ  ศอต.ท่าข้าม ดำเนินไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนต่อไปไม่ขาดสาย

        คณะศิษย์ผู้ดำเนินงานต่างสำนึกในอุปการคุณของพระครูปนาทธรรมคุณ ยึดถือคติธรรมประจำใจอยู่เสมอว่า

        ยึดมั่นกตัญญู            เชิดชูครูอาจารย์

        สืบทอดปณิธาน         ให้การศึกษาแก่เยาวชน

        ส่งเสริมคนดี             เพื่อทดแทนคุณแผ่นดิน.           นี่คือ เรื่องเล่า เกี่ยวกับ บทบาทของอนุศาสนาจารย์ ที่ดำเนินการพัฒนาเยาวชนของ  ศอต.ท่าข้าม นำมาเล่า เพื่อเป็นแบบอย่างต่อไป