คุณค่าของอนุศาสนาจารย์กองทัพบกในจังหวัดชายแดนภาคใต้

คุณค่าของอนุศาสนาจารย์กองทัพบกในจังหวัดชายแดนภาคใต้[1]

The Value of Army Chaplains in Southern Border Provinces of Thailand

ภัทรกฤติ รอดนิยม[2]* และศันสนีย์ จันทร์อานุภาพ[3]

Phattarakrit Rodniyom2* and Sansanee Chanarnupap3

บทคัดย่อ

        บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณค่าเชิงบทบาทหน้าที่ของอนุศาสนาจารย์กองทัพบกที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ประกอบด้วย การศึกษาเอกสารและการศึกษาภาคสนาม เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสังเกต การสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม และการสัมภาษณ์เจาะลึก ผู้ให้ข้อมูลหลักมีจำนวน 40 คน ผลการศึกษาพบว่า อนุศาสนาจารย์เป็นคำเรียกชื่อนายทหารผู้ปฏิบัติหน้าที่ทางด้านศาสนาในกองทัพ ภารกิจของอนุศาสนาจารย์กองทัพบก คือ นำกำลังพลเข้าหาธรรมะ นำธรรมะพัฒนากำลังพล ดำรงสถานภาพเป็นตัวแทนของศาสนาในการอบรมสั่งสอนด้านศีลธรรม จริยธรรม และวัฒนธรรม เป็นผู้นำทางด้านจิตวิญญาณของกำลังพลทุกระดับ เป็นเจ้าหน้าที่พิธีการทางศาสนาที่อยู่ในเครื่องแบบ อนุศาสนาจารย์กองทัพบกมีหน้าที่สร้างขวัญกำลังใจและกระตุ้นจิตสำนึกให้กำลังพลมีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ และพร้อมที่จะเสียสละตนเองในการปฏิบัติตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย คุณค่าเชิงบทบาทหน้าที่ของอนุศาสนาจารย์กองทัพบกในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถสรุปได้ 3 ข้อ ได้แก่ (1) ด้านการอบรมสั่งสอนในทางธรรม (2) ด้านศาสนพิธีและพิธีกรรมตามความเชื่อ โดยเฉพาะในกรณีที่กำลังพลเสียชีวิต และ (3) ด้านการให้คำปรึกษาและสร้างขวัญกำลังใจ โดยเฉพาะการเยี่ยมเยียนกำลังพลที่ป่วย บาดเจ็บ ถูกคุมขัง หรือมีปัญหา เพื่อปลอบขวัญและให้กำลังใจ

คำสำคัญ: คุณค่า อนุศาสนาจารย์กองทัพบก จังหวัดชายแดนภาคใต้

Abstract

        This paper aims to study the value of Thai army chaplains working in Southern border provinces of Thailand. The research methodology comprises of documentary and field research. Data are collected by general observation, participatory observation and in-depth interview. Forty key informants generate the core data for the study. The research found that an army chaplain is a soldier who is responsible for the moral teaching in the military. He is the key person who is responsible for promoting morale, responsibility, honesty so that the military will be ready to sacrifice their life for the assigned mission. Principally, Thai army chaplains in Southern border provinces of Thailand have significant acting roles in three areas: (1) teaching and training in righteousness (2) directing religious practices and ritual, especially when soldiers died (3) mentoring, visiting and raising up the soldiers who are in needs such as sick, injured, imprisoned or suffering.   

Keywords: Value, Thai Army Chaplain, Southern Border Provinces of Thailand

บทนำ

        ฐานข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Incident Database – DSID) รายงานสรุปสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในรอบ 13 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2547-2559 พบว่า มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวม 19,507 ราย เมื่อพิจารณาจากพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของการเกิดเหตุการณ์ จะเห็นได้ว่าข้อมูลรวมตั้งแต่ปี พ.ศ.2547-2559 มีเหตุการณ์มากที่สุดที่จังหวัดนราธิวาส คือ 6,959 เหตุการณ์ (ร้อยละ 36) รองลงมาคือจังหวัดปัตตานีมี 6,279 เหตุการณ์ (ร้อยละ 33) และจังหวัดยะลามี 5,357 เหตุการณ์ (ร้อยละ 28) สถานการณ์ความรุนแรงมีผลต่อประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานในด้านการดูแลความสงบและความมั่นคงของประเทศชาติด้วย ข้อมูลการวิเคราะห์สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นพบว่า เป้าหมายในระยะหลังของการก่อเหตุการณ์ความไม่สงบมักจะมุ่งไปที่ผู้ถืออาวุธด้วยกันมากกว่าที่จะโจมตีประชาชน จำนวนของกองกำลังฝ่ายทหาร ตำรวจ ทหารพราน และอาสาสมัครป้องกันภัยที่บาดเจ็บและเสียชีวิตมีประมาณร้อยละ 36.8 [1] นอกจากนั้น ผลการศึกษาภาวะสุขภาพจิตและทัศนคติของกำลังพลกองทัพบกที่ปฏิบัติภารกิจในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังพบว่า กำลังพลส่วนใหญ่มีความรู้สึกเครียดทางจิตใจ (ร้อยละ 61.50) และต้องการได้รับความช่วยเหลือ (ร้อยละ 45.93) โดยมีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้า (ร้อยละ 34.55) และมีพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น (ร้อยละ 19.67) ส่วนทัศนคติเกี่ยวกับสาเหตุของความเครียด ได้แก่ ปัญหาด้านการเงิน (ร้อยละ 62.20) ปัญหาความปลอดภัยในชีวิต (ร้อยละ 57.93) และปัญหาครอบครัว (ร้อยละ 48.63) สำหรับทัศนคติต่อการเข้ารับบริการด้านสุขภาพจิตมีอุปสรรคได้แก่ การลาหยุด (ร้อยละ 64.35) และการเดินทางไปรับบริการ (ร้อยละ 56.03) [2]

        ด้วยเหตุนี้ กองทัพบกจึงให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาวะทางจิตใจของกำลังพลทั้งในที่ตั้งและในสนาม โดยได้กำหนดตำแหน่ง “อนุศาสนาจารย์” ทำหน้าที่นำกำลังพลเข้าหาธรรมะ นำธรรมะพัฒนากำลังพล ช่วยให้คำปรึกษา ปลอบขวัญ สร้างกำลังใจ และกระตุ้นจิตสำนึกให้กำลังพลพร้อมที่จะเสียสละตนเองในการปฏิบัติตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย [3]

        บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณค่าเชิงบทบาทหน้าที่ของอนุศาสนาจารย์กองทัพบกที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ประกอบด้วย การศึกษาเอกสารและการศึกษาภาคสนาม โดยอนุศาสนาจารย์กองทัพบก ในบทความวิจัยนี้ หมายถึง บุคคลผู้ที่ดำรงตำแหน่งเป็นอนุศาสนาจารย์และผู้ช่วยอนุศาสนาจารย์กองทัพบก ซึ่งแบ่งออกเป็นสองประเภทคือ อนุศาสนาจารย์ (คำย่อเรียกว่า อศจ.) เป็นนายทหารสัญญาบัตร อัตราบรรจุชั้นยศตั้งแต่ร้อยตรีขึ้นไป และผู้ช่วยอนุศาสนาจารย์ (คำย่อเรียกว่า ผช.อศจ.) ซึ่งยังจำแนกได้เป็นสองประเภทย่อย คือ (1) เป็นนายทหารสัญญาบัตร มีคุณสมบัติเหมือนอนุศาสนาจารย์ ชั้นยศร้อยตรีขึ้นไป และ (2) เป็นนายทหารชั้นประทวน มีคุณสมบัติสำเร็จการศึกษาทางพระพุทธศาสนา เปรียญธรรม 6 ประโยคขึ้นไป มีชั้นยศตั้งแต่สิบตรีถึงจ่าสิบเอก

        ข้อค้นพบที่ได้ช่วยขยายองค์ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติบทบาทของอนุศาสนาจารย์กองทัพบกในสถานการณ์ความไม่สงบ และยังสามารถเป็นแหล่งความรู้สำหรับวางแผนพัฒนาการปฏิบัติงานของอนุศาสนาจารย์ประจำกองทัพไทยในทุกเหล่าทัพต่อไป

วิธีการวิจัย

        บทความวิจัยนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ประกอบด้วยการศึกษาเอกสารและการศึกษาภาคสนาม เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสังเกต การสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม และการสัมภาษณ์เจาะลึก ผู้ให้ข้อมูลหลักมีจำนวน 40 คน จำแนกออกเป็น (1) อนุศาสนาจารย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 12 คน (2) ผู้บังคับบัญชาในสนามซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของหน่วยทหารที่ดูแลการปฏิบัติบทบาทของอนุศาสนาจารย์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 12 คน (3) กำลังพลภายในขอบเขตความรับผิดชอบของอนุศาสนาจารย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 12 คน นอกจากนั้น ผู้วิจัยยังเก็บข้อมูลจากอนุศาสนาจารย์ในสังกัดกองทัพภาค 4 แต่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 4 คน เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาคุณค่าเชิงบทบาทหน้าที่ของอนุศาสนาจารย์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

        สำหรับการเข้าถึงผู้ให้ข้อมูลนั้น ผู้วิจัยเป็นอนุศาสนาจารย์ประจำกองทัพภาค 4 แต่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้วิจัยสามารถเข้าถึงข้อมูลและผู้ให้ข้อมูลหลักได้ง่าย โดยอาศัยความสัมพันธ์ในฐานะเพื่อนร่วมงาน ซึ่งต้องประสานการทำงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานระหว่างกัน ผู้วิจัยสามารถเข้าพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อติดตามการทำงานของผู้ให้ข้อมูลหลักได้ตลอดช่วงเวลาการวิจัย ทั้งนี้ ผู้วิจัยตระหนักว่า แม้ผู้วิจัยจะเป็นอนุศาสนาจารย์ แต่ข้อมูลและข้อค้นพบที่ได้จะต้องมาจากผู้ให้ข้อมูลหลักอย่างแท้จริง ผู้วิจัยพิจารณาข้อจำกัดในการวิจัย พบว่า การวิจัยนี้มีข้อจำกัดดังนี้ (1) ข้อมูลสำคัญทางราชการทหารบางอย่างไม่สามารถเปิดเผยได้ เช่น ข้อมูลสถิติจำนวนกำลังพลในพื้นที่ เป็นต้น (2) ชื่อสกุลของผู้ให้ข้อมูลหลักจำนวนหนึ่งจำเป็นต้องใช้นามแฝง เพื่อความปลอดภัยเนื่องจากเป็นผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เกิดสถานการณ์ความไม่สงบ

        ผู้วิจัยนำข้อมูลที่ได้รับจากการศึกษาเอกสารและการศึกษาภาคสนามมาจัดกระทำอย่างเป็นระบบ เชื่อมโยง และหาความสัมพันธ์ของข้อมูล เพื่อทำความเข้าใจคุณค่าเชิงบทบาทหน้าที่ของอนุศาสนาจารย์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การตรวจสอบความเชื่อถือได้ของข้อมูลใช้วิธีสามเส้า (Triangulation) จากนั้นผู้วิจัยสร้างข้อสรุปด้วยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (Content Analysis) แล้วจึงเขียนรายงานเชิงพรรณนา

ผลการศึกษา

        ประวัติความเป็นมาของอนุศาสนาจารย์กองทัพบก

        ประวัติความเป็นมาของอนุศาสนาจารย์กองทัพบก พอจะสรุปใจความสำคัญได้ดังนี้ ตำแหน่งอนุศาสนาจารย์สำหรับกองทหารนั้นเริ่มต้นขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งในครั้งนั้นนิยมใช้เรียกตัวบุคคล ไม่ได้แต่งตั้งขึ้นเป็นกองหรือแผนก และไม่ได้บัญญัติศัพท์เรียกว่าอนุศาสนาจารย์อย่างในปัจจุบัน คงเรียกตามภาษาอังกฤษว่า แช๊ปลิน (Chaplain) ตามสมัยนิยมในยุคนั้น คำว่า “อนุศาสนาจารย์” พบครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งประเทศไทยประกาศเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ หนึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงกลาโหมส่งกองทหารอาสาไปช่วยฝ่ายสัมพันธมิตรในงานสงคราม และทรงมีพระราชปรารภว่า “กองทหารที่โปรดเกล้าฯ ให้ส่งไปแล้วนั้นจัดได้ดีทุกสิ่งสรรพ์ แต่ยังขาดสิ่งสำคัญอยู่อย่างหนึ่งคือ อนุศาสนาจารย์ ที่จะเป็นผู้ปลุกใจทหาร หาได้จัดส่งไปด้วยไม่ เพราะทหารที่จากบ้านเมืองไปคราวนี้ต้องไปอยู่ในถิ่นไกล ไม่ได้พบเห็นพระเหมือนเมื่ออยู่ในบ้านเมืองของตน จิตใจจะห่างเหินจากทางธรรม ถึงยามคะนองก็จะฮึกเหิมเกินไป เป็นเหตุให้เสื่อมเสีย ไม่มีใครจะคอยให้โอวาทตักเตือน ถึงคราวทุกข์ร้อนก็จะอาดูรระส่ำระสาย ไม่มีใครจะช่วยปลดเปลื้องบรรเทาให้ดูเป็นการว้าเหว่น่าอนาถ ถ้ามีอนุศาสนาจารย์ออกไป จะได้คอยอนุสาสน์พร่ำสอนและปลอบโยนปลดเปลื้องในยามทุกข์”

        ในครั้งนั้นได้ทรงเลือก รองอำมาตย์ตรี อยู่ อุดมศิลป์ ซึ่งรับราชการอยู่ในกรมราชบัณฑิต กระทรวงธรรมการ ให้เป็นอนุศาสนาจารย์ตามกองทหารอาสาออกไปยังประเทศสัมพันธมิตร ณ ทวีปยุโรป ก่อนออกเดินทางพระองค์ได้มีพระราชดำรัสสั่งเสียเมื่อเข้าเฝ้าถวายบังคมลาไปราชการสงครามตามพระราชดำริ ดังนี้ “นี่แน่ เจ้าเป็นผู้ที่ข้าได้เลือกแล้ว เพื่อให้ไปเป็นผู้สอนทหาร ด้วยเห็นว่าเจ้าเป็นผู้สามารถที่จะสั่งสอนทหารได้ ตามที่ข้าได้รู้จักชอบพอกับเจ้ามานานแล้ว เพราะฉะนั้น ขอให้เจ้าช่วยรับธุระของข้าไปสั่งสอนทหารทางโน้น ตามแบบอย่างที่ข้าเคยสอนมาแล้ว เจ้าก็คงจะได้เห็นแล้วมิใช่หรือ เออ นั่นและ ข้าขอฝากให้เจ้าช่วยสอนอย่างนั้นด้วย เข้าใจละนะ”

        เมื่ออนุศาสนาจารย์ไปถึงนครปารีส ประเทศฝรั่งเศสแล้ว หัวหน้าทูตทหารได้ทำรายงานบอกมายังกรมเสนาธิการทหารบก โดยระบุหน้าที่ของอนุศาสนาจารย์ที่ต้องปฏิบัติในราชการสงครามคราวนั้น จอมพลเสนาธิการทหารบก ได้ทรงกำหนดไปยังกองทูตทหารมีใจความ 5 ข้อดังนี้ (1) ให้ทำการอยู่ในกองทูตทหาร (2) ส่งตัวไปเยี่ยมเยียนทหารในที่ต่าง ๆ ซึ่งทหารแยกย้ายกันอยู่นั้นเนือง ๆ เพื่อสั่งสอนตักเตือนในทางพระพุทธศาสนา และทางจรรยาความประพฤติ (3) ให้ถามสุขทุกข์กันอย่างจริงใจ ทั้งคอยให้รับธุระต่าง ๆ ของทหาร เช่น จะสั่งมาถึงญาติของตนในกรุงสยาม หรือส่งเงินส่งของมาให้ ให้รับธุระทุกอย่าง (4) ทหารคนใดเจ็บไข้ให้อนุศาสนาจารย์ไปเยี่ยมปลอบโยนเอาใจ และ (5) ถ้ามีเหตุอันไม่พึงประสงค์ที่ทหารคนใดถึงแก่ความตายลง ให้อนุศาสนาจารย์ทำพิธี โดยอ้างพระธรรมตามแบบสงฆ์ปฏิบัติในขณะฝังศพ

        ประมวลความว่า อนุศาสนาจารย์ทำหน้าที่ตามอย่างพระ แต่พระจะเดินทางไปยุโรปมิได้ ขัดด้วยการแต่งกายและเหตุอื่นๆ จึงต้องใช้คฤหัสถ์ซึ่งเป็นเปรียญและเคยอุปสมบทอยู่ในสมณเพศแทน โดยก่อนอนุศาสนาจารย์จะออกเดินทางในครั้งนั้น ได้ถวายบังคมลาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า และทรงพระกรุณาโปรดให้ขึ้นเฝ้าบนตำหนักจันทร์เป็นพิเศษ ได้ประทานวัตถุเป็นมิ่งขวัญสามอย่าง คือ เหรียญพระพุทธชินสีห์ เหรียญพระจตุราริยสัจ และเหรียญมหาสมณุตตมาภิเษก แล้วทรงสั่งไว้ว่า ถ้าถึงคราวจำเป็นก็ให้นำวัตถุเหล่านี้ออกทำน้ำมนต์ได้ ทั้งทรงอธิบายไว้ด้วยว่า สีลพตปรามาสนั้น ถ้ามุ่งเอาเมตตากรุณาเป็นที่ตั้งแล้ว ยังเป็นกิจที่ควรทำ ไม่เป็นข้อที่เสียหาย อนุศาสนาจารย์จึงได้อัญเชิญวัตถุมิ่งขวัญทั้งสามไปยังโรงพยาบาลลุกเซมเบิก ประเทศฝรั่งเศส เมื่อนายแพทย์ให้ทหารป่วยที่เดินได้มารวมกันในห้องทหารป่วยที่เดินไม่ได้ อนุศาสนาจารย์ได้ตั้งสัตยาธิษฐานประกาศข้อความทำน้ำมนต์ดัง ๆ ช้า ๆ ให้ทุกคนได้ยินทุกคำอย่างกล่าวประกาศสัตยาธิษฐานที่ท่านทำกันมา ครั้นสำเร็จเป็นน้ำมนต์ขึ้นแล้ว จึงได้ประพรมตามเตียงคนไข้จนทั่วห้อง เพื่อขับอุปัทวะอย่างประน้ำมนต์ขึ้นเรือนใหม่ นับเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับทหารไทยในโรงพยาบาลลุกเซมเบิก [4]

        อนุศาสนาจารย์ที่ไปคราวนั้นได้กลับมากับกองทูตทหารถึงกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2462 กระทรวงกลาโหมได้มีคำสั่งตั้งกองอนุศาสนาจารย์ขึ้นทันทีตามพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งกองอนุศาสนาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2462 เป็นต้นมา

        ปัจจุบันกองอนุศาสนาจารย์ สังกัดกรมยุทธศึกษาทหารบก เป็นการจัดหน่วยกำลังพลสายวิทยาการอนุศาสนาจารย์ขึ้นตรงกองทัพบก และหน่วยรองเป็นการจัดกำลังพลสายวิทยาการอนุศาสนาจารย์ประจำหน่วยปฏิบัติหน้าที่เป็นฝ่ายกิจการพิเศษประจำผู้บังคับบัญชา สำหรับตำแหน่งอนุศาสนาจารย์นั้น เป็นคำเรียกชื่อนายทหารผู้ปฏิบัติหน้าที่ทางด้านศาสนาในกองทัพ[4] ภารกิจของอนุศาสนาจารย์กองทัพบก คือ นำกำลังพลเข้าหาธรรมะ นำธรรมะพัฒนากำลังพล ดำรงสถานภาพเป็นตัวแทนของศาสนาในการอบรมสั่งสอนด้านศีลธรรม จริยธรรม และวัฒนธรรม เป็นผู้นำทางด้านจิตวิญญาณของกำลังพลทุกระดับ เป็นเจ้าหน้าที่พิธีการทางศาสนาที่อยู่ในเครื่องแบบ อนุศาสนาจารย์กองทัพบกมีหน้าที่สร้างขวัญกำลังใจและกระตุ้นจิตสำนึกให้กำลังพลมีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ และพร้อมที่จะเสียสละตนเองในการปฏิบัติตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย

        คุณสมบัติและการเข้าสู่ตำแหน่งของอนุศาสนาจารย์กองทัพบก

        ผู้ที่เข้ารับตำแหน่งอนุศาสนาจารย์จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจทางด้านศาสนาเป็นอย่างดี โดยกองทัพบกจะส่งอนุศาสนาจารย์ไปประจำอยู่ตามหน่วยต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับกรม หรือศูนย์การทหารขึ้นไป

        ผู้สมัครสอบคัดเลือกเป็นอนุศาสนาจารย์กองทัพบก จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

        ๑. เป็นผู้เคยอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา

        ๒. วิทยฐานะสำหรับตำแหน่งอนุศาสนาจารย์และผู้ช่วยอนุศาสนาจารย์ชั้นสัญญาบัตรต้องเป็นเปรียญธรรม 9 ประโยค หรือปริญญาทางศาสนา เช่น ปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือปริญญาศาสนศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งจะต้องได้เปรียญธรรม 4 ประโยคขึ้นไป สำหรับตำแหน่งผู้ช่วยอนุศาสนาจารย์ชั้นประทวนนั้น จะต้องเป็นเปรียญธรรม 6 ประโยคขึ้นไป

        ๓. มีสัญชาติไทย และบิดามารดามีสัญชาติไทยโดยกำเนิด

         ๔. ตำแหน่งอนุศาสนาจารย์และผู้ช่วยอนุศาสนาจารย์ชั้นสัญญาบัตร ต้องมีอายุครบ 25 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 35 ปีบริบูรณ์ ส่วนตำแหน่งผู้ช่วยอนุศาสนาจารย์ชั้นประทวน ต้องมีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์และไม่เกิน 30 ปีบริบูรณ์

        ๕. ไม่เคยมีประวัติเสียหายทั้งในระหว่างเป็นพระภิกษุและลาสิกขามาแล้ว

        ๖. มีร่างกายสมบูรณ์ไม่มีโรคซึ่งขัดต่อการรับราชการทหาร

        ๗. มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นอนุศาสนาจารย์สอนทหาร และไม่ขัดต่อข้อบังคับทหาร

        เพื่อให้ได้บุคคลที่มีสมรรถภาพและคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นอนุศาสนาจารย์และผู้ช่วยอนุศาสนาจารย์กองทัพบกจึงกำหนดการสอบคัดเลือกเป็น 2 ภาคคือ ภาควิชาการและภาคความประพฤติ ภาควิชาการ ทำการสอบดเลือก 4 สาขา คือ (1) ท่วงทีวาจา ทำการสอบเป็นรายบุคคล โดยให้พิจารณาถึงรูปร่าง เสียง สำเนียง นิสัยใจคอ ความคิดเห็น ลักษณะท่าทาง การแต่งกาย การพูดจา โวหาร ไหวพริบ (2) ข้อเขียน ในสาขานี้กำหนดสอบ 3 วิชา คือ วิชาเรียงความ วิชาความรู้ทั่วไป และวิชาเลขานุการ (3) บรรยาย กำหนดเรื่องบรรยายให้ทราบล่วงหน้า 1 วัน ให้เวลาบรรยายคนละ 30 นาที ถึง 45 นาที (4) สัมภาษณ์ กำหนดสอบความรู้ 2 ทางคือ ความรู้ทางธรรมและความรู้ทางโลก สำหรับภาคความประพฤติ กำหนดสอบคัดเลือก 3 วิธีคือ (1) ให้ผู้สมัครสอบส่งบันทึกประวัติของตนตามแบบที่กรรมการกำหนดให้ (2) ให้ผู้สมัครสอบนำหนังสือรับรองความประพฤติของตนจากพระอุปัชฌาย์อาจารย์หรือจากสำนักเรียนที่ตนเคยอยู่ในปกครองมาแสดงตามแบบที่กรรมการกำหนดให้ (3) กรรมการสอบ ทำการสืบสวนความประพฤติและอัธยาศัยจากบุคคลที่พึงเชื่อถือได้ สำหรับการตัดสินผลการสอบคัดเลือกนั้น ผู้มีคะแนนสอบในภาควิชาการแต่ละวิชาตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไป และรวมทุกวิชาตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไป นับว่าสอบผ่านภาควิชาการ ผู้สอบผ่านทั้งภาควิชาการและภาคความประพฤติจึงนับว่าผ่านการสอบคัดเลือก

        จรรยาบรรณของอนุศาสนาจารย์กองทัพบก

        เพื่อให้อนุศาสนาจารย์ผู้ทำหน้าที่สอนและอบรมศีลธรรมแก่ทหารวางตนเหมาะสม คู่ควรแก่กองทัพ กองอนุศาสนาจารย์จึงได้กำหนดจริยาวัตรหรือจรรยาบรรณสำหรับประพฤติปฏิบัติเป็นการภายในของหมู่คณะ ถือเป็นแบบธรรมเนียมสืบต่อกันมา เรียกว่า “วินัยอนุศาสนาจารย์” หรือจรรยาบรรณของอนุศาสนาจารย์เพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากวินัยของทหาร เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2501 รวม 13 ข้อ ดังนี้

        ๑. อนุศาสนาจารย์ต้องรักษาศีลห้าเป็นนิตย์

        ๒. อนุศาสนาจารย์ต้องตั้งอยู่ในธรรมของสัตบุรุษและกุศลกรรมบถสิบ

        ๓. อนุศาสนาจารย์ต้องมีภรรยาเพียงคนเดียว และต้องเลี้ยงดูครอบครัวโดยชอบธรรม

        ๔. อนุศาสนาจารย์ต้องไม่เข้าไปมั่วสุมในสำนักหญิงแพศยา บ่อนการพนัน และโรงยาฝิ่น

        ๕. อนุศาสนาจารย์ต้องงดเว้นการประกอบมิจฉาชีพและรับประกอบกิจอันวิญญูชนพิจารณาแล้วตำหนิติเตียนมิได้

        ๖. อนุศาสนาจารย์เมื่อประสงค์จะร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากผู้ใหญ่ต้องไม่ใช้บัตรสนเท่ห์หรือเขียนคำขอร้อง ตลอดจนข้อความโจมตีผู้อื่นทางหนังสือพิมพ์

        ๗. อนุศาสนาจารย์จะต้องไม่วิ่งเต้น หรือขอร้องให้บุคคลภายนอกวงการอนุศาสนาจารย์จำต้องโยกย้ายตน หรือยับยั้งการโยกย้ายตน ในเมื่อการกระทำนั้นขัดกับแผนการโยกย้ายของสายวิทยาการ

        ๘. อนุศาสนาจารย์จะต้องงดเว้นเด็ดขาดจากการแสดงตัวว่าเป็นคนมักได้ ร่ำร้องขอบำเหน็จความชอบจากผู้ใหญ่เพื่อตนเอง

        ๙. อนุศาสนาจารย์ไม่พึงพกอาวุธ

        ๑๐. อนุศาสนาจารย์ไม่พึงเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองใด

         ๑๑. อนุศาสนาจารย์ไม่พึงรำวง เต้นรำร้องเพลง โชว์ต่อยมวย แต่งแฟนซี และออกปรากฏตัวในฐานะเป็นผู้แสดงลิเกละคร

        ๑๒. อนุศาสนาจารย์พึงตระหนักในการแต่งกายให้สุภาพ

        ๑๓. อนุศาสนาจารย์จะต้องไม่ประพฤติตนเป็นปฏิปักษ์ต่อคณะสงฆ์นิกายใดนิกายหนึ่ง และเคารพเชิดชูโดยสม่ำเสมอ

        นอกจากนี้ บุคคลผู้จะเข้าเป็นอนุศาสนาจารย์ต้องให้คำสัตย์ปฏิญาณต่อกองอนุศาสนาจารย์ โดยเขียนชื่อ นามสกุล ลงในใบให้คำสัตย์ปฏิญาณ ลงวันเดือนปี พร้อมลงนาม ยืนยันต่อคณะอนุศาสนาจารย์ด้วย

        ภารกิจของอนุศาสนาจารย์กองทัพบก

        อนุศาสนาจารย์กองทัพบกต้องสามารถปฏิบัติภารกิจในการเผยแผ่ธรรมะ การบำบัดทุกข์ บำรุงขวัญ และสร้างสรรค์อุดมธรรมของพระพุทธศาสนาแก่กำลังพลได้ทั้งในเวลาราชการและนอกเวลาราชการ ทั้งในที่ตั้งปกติและในสนาม ภารกิจของอนุศาสนาจารย์กองทัพบกในยามปกติ มีดังนี้ (ก) ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะแก่ผู้บังคับหน่วยและฝ่ายอำนวยการอื่น ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี (ข) ส่งเสริมกำลังพลให้มีการปฏิบัติศาสนกิจ ทั้งโดยส่วนตัวและเป็นหน่วย (ค) เสนอแนะและกำกับการปฏิบัติพิธีกรรมต่าง ๆ ร่วมกับฝ่ายอำนวยการอื่น (ง) ดำเนินการให้มีการสอนอบรมในเรื่องของศาสนา วัฒนธรรมประเพณี และนำกำลังพลปฏิบัติธรรมในโอกาสต่าง ๆ (จ) หมั่นพบปะเยี่ยมเยียนกำลังพลผู้ป่วยเจ็บ ผู้ถูกคุมขัง และผู้มีปัญหา เพื่อปลุกปลอบขวัญและให้กำลังใจ (ฉ) ประสานให้ความร่วมมือกับองค์กรทางศาสนา สถานศึกษา และองค์กรของชุมชนต่าง ๆ ในกิจการทหารที่เกี่ยวข้องกับศาสนพิธี (ช) วางแผนให้มีการใช้ศาสนสถานของหน่วยที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ในด้านการปลูกฝังคุณธรรมแก่กำลังพลให้มากที่สุด (ซ) วางแผนให้ศาสนสถานเป็นจุดนัดพบของกำลังพลทุกระดับ พร้อมทั้งครอบครัว โดยอาศัยกิจกรรมทางด้านศาสนาและวัฒนธรรมประเพณี (ญ) สามารถปฏิบัติการและอำนวยการเกี่ยวกับด้านศาสนา ขวัญและกำลังใจของกำลังพลในกองทัพบก รวมทั้งการอบรมด้านคุณธรรมจริยธรรม วัฒนธรรมประเพณี และงานธุรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามที่กำหนดไว้ในหมายเลขชำนาญการทางทหาร  

        ภารกิจที่อนุศาสนาจารย์กองทัพบกได้รับการผ่อนผันยกเว้น

        เนื่องจากอนุศาสนาจารย์เป็นนายทหารซึ่งได้รับความนับถือจากศาสนิกว่าเป็นเสมือน “พระในเครื่องแบบ” เป็นผู้มีหน้าที่ธำรงไว้ซึ่งศีลธรรม ความยุติธรรม จริยธรรม ตามตำแหน่งหน้าที่ของตน มิใช่นายทหารผู้ถืออาวุธและมิใช่นายทหารผู้ทำการรบตามอนุสัญญาเจนีวา ฉะนั้นทางราชการจึงได้ผ่อนผันยกเว้นมิให้อนุศาสนาจารย์ต้องปฏิบัติในภารกิจที่ล่อแหลม หมิ่นเหม่ที่จะเสียศีลธรรม จริยธรรม ความยุติธรรมและภาวะของอนุศาสนาจารย์ ซึ่งจะทำให้ผู้รับการอบรม ศีลธรรม จริยธรรม ขาดความเคารพนับถือและเชื่อถือตามควร สิทธิ์ได้รับการผ่อนผันยกเว้นเป็นพิเศษนี้ได้มาโดยพฤตินัยจากผู้บังคับบัญชาชั้นสูงในอดีต ตั้งแต่อนุศาสนาจารย์คนแรกแห่งกองทัพไทย แม้ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงในสมัยต่อ ๆ มาก็ถือเป็นจารีตนิยมและแนวปฏิบัติผ่อนผันยกเว้นสืบมา  

        ภารกิจที่อนุศาสนาจารย์ ได้รับการผ่อนผันยกเว้นเป็นพิเศษมิต้องให้ปฏิบัติมีดังต่อไปนี้

        (1)    การอยู่เวรยาม

        (2)    การทำสัญญาค้ำประกัน

        (3)    การแสดงต่าง ๆ เช่น ลิเก ละคร

        (4)    การบรรเลงดนตรี และการขับร้องเพลง

        (5)    การแสดงนาฏกรรมต่าง ๆ เช่น รำวง ลีลาศ

        (6)    เป็นกรรมการตรวจอาวุธ

        (7)    เป็นกรรมการประกวดราคา

        (8)    เป็นกรรมการตรวจรับของ

        (9)    เป็นกรรมการเกี่ยวกับการเงิน

        (10) เป็นกรรมการจัดซื้อหรือสืบราคา

        (11) เป็นกรรมการสอบสวนผู้กระทำผิด

        (12) เป็นกรรมการประกวดเทพีหรืกรรมการจัดการมวย

        คุณค่าเชิงบทบาทหน้าที่ของอนุศาสนาจารย์กองทัพบกที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

        สำหรับอนุศาสนาจารย์กองทัพบกที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบนั้น ผู้วิจัยพบว่า คุณค่าเชิงบทบาทหน้าที่ของอนุศาสนาจารย์กองทัพบกที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีสามประการหลัก ได้แก่ 

        คุณค่าด้านการอบรมสั่งสอนในทางธรรม

        โดยปกติ อนุศาสนาจารย์จะมีการจัดอบรมศีลธรรมประจำเดือนในทุก ๆ หน่วย ซึ่งมีทั้งการจัดอบรมในสถานที่และนอกสถานที่ อันได้แก่สถานปฏิบัติธรรมต่างๆ เป็นต้น วัตถุประสงค์ก็เพื่อพัฒนาให้กำลังพลมีจิตใจที่เข้มแข็ง มีสติในการดำรงชีวิต การจัดอบรมยังเป็นกิจกรรมเสริมสร้างความสัมพันธ์ในค่ายทหารในแต่ละพื้นที่ด้วย

        “การอบรมศีลธรรม เพื่อเป็นการขัดเกลาจิตใจของกำลังพล เพราะการทำงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กำลังพลแบกความเครียดและความกดดันไว้ การอบรมศีลธรรมจะทำให้กำลังพลมีสติ สามารถก้าวผ่านความเครียดไปได้ [5]

        “การเป็นทหารเปรียบดั่งรั้วของชาติ ทุกคนต่างคาดหวังกับรั้วของชาติให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่สังคม การอบรมศีลธรรมก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้กำลังพลดำเนินชีวิตที่ดีงามอย่างที่ควรจะเป็น” [6]

        “อนุศาสนาจารย์สามารถให้คำแนะนำแก่กำลังพลทุกเชื้อชาติและศาสนา เพราะบทบาทหน้าที่ตาม ชกท.5310 กำหนดไว้ชัด อนุศาสนาจารย์มีหน้าที่ปฏิบัติการหรืออำนวยการในปัญหาทั้งปวงที่เกี่ยวกับศาสนาและขวัญ ทั้งนี้ในการอบรมศีลธรรมประจำเดือนโดยทั่วไปจะแยกประเภทผู้นับถือศาสนา เช่น    กำลังพลที่นับถือพุทธไปวัด กำลังพลที่นับถือคริสต์ไปโบสถ์ กำลังพลที่นับถืออิสลามก็จัดให้มีกิจกรรมละหมาดที่มัสยิด เป็นต้น ในส่วนของพลทหาร เวลาอบรมคุณธรรมทั่วไปก็ให้นั่งรวมกัน แต่เมื่อถึงช่วงเวลาศาสนพิธี เราก็แยกปฏิบัติ มีการเชิญครูสอนศาสนามาให้ความรู้และแนะนำหลักปฏิบัติที่ถูกต้อง อนุศาสนาจารย์เป็นผู้รับผิดชอบในการประสานให้เกิดการอบรมหรือให้คำแนะนำได้ระดับหนึ่ง แต่ต้องไม่กระทบต่อหลักของศาสนา และวางตนเป็นกลาง เคารพหลักความเชื่อทางศาสนา” [7]

        “การจัดกิจกรรมอบรมในทางธรรม ควรเน้นหลักธรรมที่เป็นสากล และต้องไหวรู้ต่อความแตกต่างทางศาสนา อนุศาสนาจารย์ต้องชี้แจงทำความเข้าใจกำลังพลต่างศาสนาก่อนเริ่มพิธีการให้เข้าใจว่ากำลังพลควรปฏิบัติตนอย่างไร และในพิธีการที่ไม่เน้นการมีส่วนร่วมของกำลังพลในหน่วยทุกนาย ก็ไม่ควรให้กำลังพลต่างศาสนาเข้าร่วมในศาสนพิธี หรือบางกิจกรรมอาจใช้วิธีตัดตอนผสมผสาน เช่น การไหว้พระสวดมนต์ก่อนนอน ในช่วงไหว้พระนั้น กำลังพลต่างศาสนาอาจแยกไปปฏิบัติศาสนกิจของตน หลังจากนั้นค่อยรวมพลในช่วงการกล่าวบทปลงใจ ร้องเพลงชาติและเพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นต้น[8]

        (๑) คุณค่าด้านศาสนพิธีและพิธีกรรมตามความเชื่อ

        โดยเฉพาะในกรณีที่กำลังพลเสียชีวิต เมื่อทหารถึงแก่กรรม อนุศาสนาจารย์จะต้องเป็นตัวแทนของหน่วยดำเนินการประสานงานกับองค์กรทางศาสนา และเป็นผู้อำนวยการด้านศาสนพิธีโดยร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับนายทหารฝ่ายการศพ ทั้งในพิธีฝังและพิธีเผา อนุศาสนาจารย์จะรับปฏิบัติหน้าที่ด้านศาสนพิธีทั้งในส่วนของกำลังพลและครอบครัวของกำลังพลในหน่วยที่อนุศาสนาจารย์นั้น ๆ เป็นผู้รับผิดชอบ อีกทั้งยังมีงานบุญต่าง ๆ อาทิเช่น งานแต่งงาน งานทำบุญบ้าน ตามที่กำลังพลได้ขอความอนุเคราะห์ งานสถาปณากองทัพ งานทอดกฐินที่กองทัพเป็นเจ้าภาพ เป็นต้น

        “เนื่องจากอนุศาสนาจารย์ได้เรียนเรื่องศาสนพิธีมาโดยตรง ดังนั้นอนุศาสนาจารย์จะมีความรู้ที่ถูกต้องจึงได้รับเป็นผู้ดำเนินการด้านศาสนพิธีต่างๆ วัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือด้านงานศาสนพิธีแก่กำลังพล และครอบครัว เพื่อแสดงว่ากองทัพไม่ได้ละทิ้งกำลังพลทั้งในยามสุขและยามทุกข์ เพราะเมื่อเข้ามาแล้วนั้นเราจะถือว่าเป็นครอบครัวเดียวกัน” [9]

        “กรณีกำลังพลต่างศาสนาถึงแก่กรรม อนุศาสนาจารย์มีบทบาทในด้านการบำรุงขวัญและต้องแนะนำทางครอบครัวให้จัดพิธีการอย่างสมเกียรติและถูกต้องตามบทบัญญัติทางศาสนา และการที่ผู้บังคับบัญชาเข้าร่วมในพิธีการ ความสง่างาม ความถูกต้องเรียบร้อยเป็นเรื่องสำคัญ” [10]

        (๒) คุณค่าด้านการให้คำปรึกษาและสร้างขวัญกำลังใจ

        โดยเฉพาะการเยี่ยมเยียนกำลังพลที่ป่วย บาดเจ็บ ถูกคุมขัง หรือมีปัญหา เพื่อปลอบขวัญและให้กำลังใจ การให้คำปรึกษาแก่กำลังพลมีด้วยกันในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการปรับตัวเข้ากับเพื่อนร่วมงาน ปัญหาความขัดแย้งและการทะเลาะเบาะแว้ง ปัญหาครอบครัว ปัญหาความรัก ความต้องการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น อนุศาสนาจารย์จะช่วยเป็นผู้ไกล่เกลี่ยและให้คำปรึกษา โดยแทรกธรรมะให้แก่กำลังพล ในสถานการณ์ความไม่สงบนั้น การจัดอบรมบำรุงขวัญทหารจะทำได้น้อยครั้งกว่าในยามปกติ เพราะสถานที่และสถานการณ์ไม่อำนวย แต่อนุศาสนาจารย์จะปฏิบัติงานมากขึ้นในด้านพบปะเยี่ยมเยียนทหารเป็นกิจประจำวัน สำหรับทหารเจ็บป่วยและที่ได้รับบาดเจ็บ อนุศาสนาจารย์จะต้องถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องไปเยี่ยมเยียนปลุกปลอบจิตใจด้วยธรรมะเป็นประจำ

        “แม้อนุศาสนาจารย์ไม่ได้จบจิตวิทยาโดยตรง แต่ก็สามารถช่วยในการเป็นผู้รับฟังปัญหาในเบื้องต้นได้ เพื่อปัญหาบางอย่างจะสามารถนำเสนอต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อแก้ไขต่อไป การที่เรารับฟังเรื่องราวของผู้อื่นด้วยความเข้าใจนั้น เป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ไม่ว่ากำลังพลจะนับถือศาสนาใดก็ตาม” [11]

        นอกจากคุณค่าเชิงบทบาทหน้าที่สามประการหลักข้างต้นแล้ว อนุศาสนาจารย์กองทัพบกที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีคุณค่าเชิงบทบาทหน้าที่ด้านอื่น ๆ อีกด้วย อาทิเช่น ด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ เช่นเมื่อครั้งเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดยะลา ด้านการปฏิบัติงานวิทยุ โดยอนุศาสนาจารย์บางนายยังทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการทางสถานีวิทยุเพื่อความมั่นคง ฉก.ทพ.49 คลื่นความถี่ Fm 107.5 MHz ใช้หลักธรรมะในการเผยแผ่ให้แก่ประชาชนและกำลังพลที่อยู่ใกล้เคียง ด้านการส่งเสริมงานมวลชนสัมพันธ์ เช่น การนำกำลังพลไปช่วยบูรณะวัดร่วมกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อปลูกฝังให้กำลังพลเป็นแบบอย่างที่ดีและปฏิบัติหน้าที่เพื่อส่วนรวม เป็นต้น

        นอกจากนั้นผู้วิจัยยังพบว่า กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารบก ได้ให้คำแนะนำแก่อนุศาสนาจารย์ไว้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานยามสงครามหรือในสถานการณ์ความไม่สงบด้วย เช่น ในพื้นที่สนาม หน่วยทหารที่มีอนุศาสนาจารย์ประจำ ควรมีกระโจมขนาดเล็ก ให้เป็นที่ปฏิบัติงานของอนุศาสนาจารย์ เพื่อจะได้ใช้เป็นที่ปลุกปลอบและช่วยคลี่คลายปัญหาด้านจิตใจแก่ทหารเป็นรายบุคคล และควรมีพระพุทธรูปและเครื่องบูชาขนาดเล็ก พร้อมทั้งหีบบรรจุซึ่งสะดวกแก่การเคลื่อนที่ สำหรับตั้งประจำในกระโจมของอนุศาสนาจารย์ และนำไปใช้ในการอบรมศีลธรรมและศาสนพิธีของหน่วยได้ ที่สำคัญควรมีการเตรียมการด้านฐานข้อมูล ได้แก่ บัญชีรายชื่อทหารจำแนกตามศาสนา บัญชีรายชื่อและที่ตั้งของศาสนสถาน สุสาน ฌาปนสถานภายในพื้นที่ปฏิบัติงานของหน่วย ตลอดจนบัญชีรายชื่อและประวัติย่อของผู้นำศาสนาในเขตปฏิบัติงานของหน่วย เป็นต้น

สรุปผลการศึกษา

        บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณค่าเชิงบทบาทหน้าที่ของอนุศาสนาจารย์กองทัพบกที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ประกอบด้วย การศึกษาเอกสารและการศึกษาภาคสนาม เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสังเกต การสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม และการสัมภาษณ์เจาะลึก ผู้ให้ข้อมูลหลักมีจำนวน 40 คน ผลการศึกษาพบว่า อนุศาสนาจารย์เป็นคำเรียกชื่อนายทหารผู้ปฏิบัติหน้าที่ทางด้านศาสนาในกองทัพ ภารกิจของอนุศาสนาจารย์กองทัพบก คือ นำกำลังพลเข้าหาธรรมะ นำธรรมะพัฒนากำลังพล ดำรงสถานภาพเป็นตัวแทนของศาสนาในการอบรมสั่งสอนด้านศีลธรรม จริยธรรม และวัฒนธรรม เป็นผู้นำทางด้านจิตวิญญาณของกำลังพลทุกระดับ เป็นเจ้าหน้าที่พิธีการทางศาสนาที่อยู่ในเครื่องแบบ อนุศาสนาจารย์กองทัพบกมีหน้าที่สร้างขวัญกำลังใจและกระตุ้นจิตสำนึกให้กำลังพลมีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ และพร้อมที่จะเสียสละตนเองในการปฏิบัติตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย คุณค่าเชิงบทบาทหน้าที่ของอนุศาสนาจารย์กองทัพบกในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถสรุปได้ 3 ประการหลัก ได้แก่ (1) ด้านการอบรมสั่งสอนในทางธรรม (2) ด้านศาสนพิธีและพิธีกรรมตามความเชื่อ โดยเฉพาะในกรณีที่กำลังพลเสียชีวิต และ (3) ด้านการให้คำปรึกษาและสร้างขวัญกำลังใจ โดยเฉพาะการเยี่ยมเยียนกำลังพลที่ป่วย บาดเจ็บ ถูกคุมขัง หรือมีปัญหา เพื่อปลอบขวัญและให้กำลังใจ

        อนุศาสนาจารย์กองทัพบกที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นพื้นที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน สถานการณ์ความไม่สงบทำให้ทหารจำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ความกดดัน และเสี่ยงต่อภัยอันตรายที่มีผลต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต และความอยู่รอดของชีวิต การสร้างขวัญกำลังใจและกระตุ้นจิตสำนึกให้ทหารมีความพร้อมที่จะเสียสละตนเองในการปฏิบัติตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ย่อมเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถของอนุศาสนาจารย์เป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งจังหวัดชายแดนภาคใต้มีลักษณะพหุลักษณ์ทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะด้านภาษา ศาสนา และชาติพันธุ์ ปัจจุบันกองทัพบกได้ถอนกำลังทหารส่วนใหญ่จากกองทัพภาค 1 ถึง 3 ออกจากพื้นที่ภาคใต้กลับต้นสังกัดเดิมแล้ว โดยให้กองทัพภาค 4 เป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้เป็นสำคัญ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า เน้นการฝึกกองกำลังทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และภาคประชาชนในพื้นที่ให้มีความพร้อมในการดูแลความปลอดภัย ด้วยเหตุนี้ การปฏิบัติบทบาทของอนุศาสนาจารย์กองทัพบกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงจำเป็นต้องมีความไหวรู้ต่อความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมในพื้นที่และในกองทัพด้วย นับเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถของอนุศาสนาจารย์กองทัพบกในจังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นกัน อนุศาสนาจารย์ต้องแสดงออกต่อกำลังพลทุกศาสนาและความเชื่ออย่างเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติ และต้องไม่มีพฤติกรรมดูหมิ่นศาสนาและความเชื่อใด ๆ ตลอดจนให้เกียรติทุกศาสนา สนใจและใส่ใจศึกษาหาความรู้ทำความเข้าใจในหลักธรรมและหลักปฏิบัติของศาสนาต่าง ๆ ในพื้นที่ จนกระทั่งสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม  

เอกสารและบุคคลอ้างอิง

[1] ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี. (2560). ความขัดแย้งชายแดนใต้ในรอบ 13 ปี ความซับซ้อนของสนามความรุนแรงและพลังของบทสนทนาสันติภาพปาตานี. ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลับสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี. เข้าถึงได้ใน https://www.deepsouthwatch.org/node/11651

[2] อิศรา รักษ์กุล. (2554). “ภาวะสุขภาพจิตและทัศนคติของกำลังพลกองทัพบกที่ปฏิบัติภารกิจในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้”, เวชสารแพทย์ทหารบก. 64(2), 67-73. เข้าถึงได้ใน https://www.tci-haijo.org/index.php/rtamedj/article/view/5611

[3-4] กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารบก. (2538). คู่มือการอนุศาสนาจารย์กองทัพบก. เข้าถึงได้ใน https://drive.google.com/file/d/0B3mdQ8Ey_GaySlM5OXc3UjM0Mm8/view

[5] ร้อยโท รักษ์ อาสา (ผู้ให้สัมภาษณ์). ร้อยโท ภัทรกฤติ รอดนิยม (ผู้สัมภาษณ์). ที่ค่ายเสนาณรงค์ ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา. เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561

[6] ร้อยโท ทองสุก ใจดี (ผู้ให้สัมภาษณ์). ร้อยโท ภัทรกฤติ รอดนิยม (ผู้สัมภาษณ์). ที่ค่ายเสนาณรงค์ ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา. เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561

[7,9] พันโท ภูวดล คำบุดดา (ผู้ให้สัมภาษณ์). ร้อยโท ภัทรกฤติ รอดนิยม (ผู้สัมภาษณ์). ที่ค่ายเสนาณรงค์ ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา. เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2561

[8] พันเอก วิรัช ธัญญากร (ผู้ให้สัมภาษณ์). ร้อยโท ภัทรกฤติ รอดนิยม (ผู้สัมภาษณ์). ที่ค่ายเสนาณรงค์ ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา. เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2561

[10] ร้อยโท สมอาจ อิ่มเอม และร้อยเอก ศักดิ์ชัย โชติพันธ์ (ผู้ให้สัมภาษณ์). ร้อยโทภัทรกฤติ รอดนิยม (ผู้สัมภาษณ์). ที่ค่ายเสนาณรงค์ ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา. เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2561

[11] ร้อยโท ถนอมชัย สุทธิแสน (ผู้ให้สัมภาษณ์). ร้อยโท ภัทรกฤติ รอดนิยม (ผู้สัมภาษณ์). ที่ค่ายเสนาณรงค์ ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา. เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561


[1] บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ

ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยทักษิณ ประจำปีการศึกษา 2560

[2] ร้อยโท, นักศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ไทยคดีศึกษา) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ           จ.สงขลา 90000,ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง อศจ.ร.5

[3] ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร., คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จ.สงขลา 90000

2 Graduate Student in M.A. (Thai Studies), Faculty of Humanities and Social Sciences Thaksin University, Songkhla 90000

3 Assistant Professor, Dr., Faculty of Humanities and Social Sciences Thaksin University, Songkhla 90000 

* Corresponding author: kunstopman@gmail.com Tel. 0950149333

[4] ปัจจุบันมีการจัดตั้งกองอนุศาสนาจารย์ประจำกองทัพเรือและกองทัพอากาศด้วย