จิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ[1]
…………
ความเป็นมา
ตามที่ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใย และทรงคำนึงถึงความอยู่ดีมีสุขของประชาชนเป็นสำคัญ และพระองค์ทรงมีพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะทำให้ประเทศชาติมั่นคง เป็นปึกแผ่น มีความรัก ความสามัคคีและประชาชน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยมีพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และแนวพระราชดำริต่างๆ ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้ประชาชน และพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดทำโครงการจิตอาสาขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๐ ณ โรงเรียนสุโขทัย เขตดุสิต กทม. โดยมีพระ ราโชบายให้ริเริ่มทำจากจุดเล็กไปหาใหญ่ ซึ่งหมายถึง เริ่มจากการ ดูแลรักษาบ้าน และบริเวณรอบบ้านของตนเอง ให้สะอาดเรียบร้อยเสียก่อน ทรงทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง กล่าวคือ เริ่มทำจากพื้นที่โดยรอบพระที่นั่งอัมพรสถาน และรอบพระราชวังดุสิต ในครั้งนั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ หน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยทหารรักษาพระองค์ ข้าราชบริพารในพระองค์ ร่วมกับประชาชนจิตอาสาจากชุมชนโดยรอบพื้นที่พระราชวังดุสิต ทำกิจกรรมจัดระเบียบพื้นที่ต่างๆ ภายในชุมชน และพื้นที่สาธารณะ ทำความสะอาด ปรับปรุงภูมิทัศน์ ตลอดจนการขุดลอกคูคลองในพื้นที่ เหตุการณ์นี้นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ ที่ต่อมาแพร่หลายไปทั่วประเทศ แสดงให้เห็นถึงพระราชปณิธานอันแน่วแน่ ของพระองค์ ที่ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะส่งเสริมความเป็นจิตอาสาของประชาชนชาวไทย ให้ร่วมกัน “ทำความ ดี ด้วยหัวใจ” เพื่อความผาสุกของอาณาประชาราษฎร์
โดยกิจกรรมจิตอาสาพระราชทาน แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ จิตอาสาพัฒนา จิตอาสาภัยพิบัติ และจิตอาสาเฉพาะกิจ
หลักสูตรการฝึกอบรมจิตอาสา
ประเภทของหลักสูตรการฝึกอบรมจิตอาสา ทรงกำหนด หลักสูตรการฝึกอบรมจิตอาสา ออกเป็น ๓ ระดับ ได้แก่
หลักสูตรทั่วไป มีระยะเวลาฝึกอบรม จำนวน ๗ วัน
หลักสูตรหลักประจำ มีระยะเวลาฝึกอบรม จำนวน ๖ สัปดาห์
หลักสูตรพิเศษ มีระยะเวลาฝึกอบรม จำนวน ๓ เดือน
ที่ผ่านมาได้ดำเนินการฝึกไปแล้ว คือ หลักสูตร “หลักประจำ” รุ่นที่ ๑ – ๒ ชื่อพระราชทาน รุ่น “เป็นเบ้า เป็น แม่พิมพ์” โดยมีข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ทั้ง ๔ เหล่า และข้าราชการบางกระทรวง เข้ารับการฝึกอบรม รุ่นที่ ๑ ในห้วงเดือนมีนาคม ถึง เดือนเมษายน, รุ่นที่ ๒ ในห้วงเดือน พฤศจิกายน ถึง เดือนธันวาคม ๒๕๖๑ และรุ่นที่ ๓ (อยู่ระหว่างฝึกอบรม) ในห้วงเดือน มีนาคม ถึง เมษายน ๒๕๖๒ ทำการฝึก ณ โรงเรียนจิตอาสา พื้นที่กองพันฝึกส่วนหลัง กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เขตพระราชฐานในพระองค์ “วิภาวดี” ทั้งได้ทรงพระกรุณาวินิจฉัยเนื้อหาทุกวิชาของหลักสูตร และ ทรงให้พัฒนาปรับปรุงสถานที่ฝึก สนับสนุนค่าใช้สอย เครื่องช่วยฝึก และพระราชทานอาหาร ตลอดห้วงการฝึก
หลักสูตรหลักประจำ
แนวทางการฝึกอบรม เน้นการฝึกอบรมแบบ Two-way communication การแลกเปลี่ยนประสบการณ์แบบศึกษาเป็นคณะ เน้นฝึกปฏิบัติ สำหรับการบรรยายจากผู้มีประสบการณ์ จาก ๑๔ หน่วยงาน วิทยากร ๔๙ ท่าน โดยมีระยะเวลาฝึกอบรม ๖ สัปดาห์ต่อเนื่อง แบ่งเป็น ๖ หมวดวิชา รวมทั้งสิ้น จำนวน ๔๖๒ ชั่วโมง เช่น
หมวดวิชาที่ ๑ วิชาทหารทั่วไป จำนวน ๒๗ ชั่วโมง
หมวดวิชาที่ ๒ วิชาการอบรมความรู้ (อุดมการณ์/สถาบันพระมหากษัตริย์) จำนวน ๘๕ ชั่วโมง
หมวดวิชาที่ ๓ วิชาการอบรมความรู้ (ด้านจิตอาสา) จำนวน ๘๐ ชั่วโมง
หมวดวิชาที่ ๔ วิชาชีพ (เลือก) ๑ วิชา จำนวน ๓๐ ชั่วโมง
หมวดวิชาที่ ๕ วิชาศาสตร์พระราชา จำนวน ๙๐ ชั่วโมง
หมวดวิชาที่ ๖ การฝึกปฏิบัติและการศึกษาดูงานพื้นที่จริง จำนวน ๑๕๐ ชั่วโมง
ผู้รับการฝึกจะได้ศึกษาดูงาน ณ สถานที่ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา, พระบรมมหาราชวัง, หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบบ้านอ่างตะแบก จ.ฉะเชิงเทรา, โครงการชั่งหัวมันอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เพชรบุรี และศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี
สวัสดิการระหว่างการฝึกอบรม
ในระหว่างการฝึกอบรม ผู้รับการฝึกจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทาน เครื่องแบบจิตอาสา ประกอบด้วย เสื้อจิตอาสา, หมวกสีฟ้า, ผ้าพันคอสีเหลือง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ ของ จิตอาสา ๙๐๔ และ เอกสารตำราประกอบการฝึกอบรม ให้กับผู้รับการฝึก อีกทั้ง พระราชทานเลี้ยงอาหารประจำวัน และอาหารว่าง ให้กับผู้รับการฝึกในแต่ละวัน พระราชทานเลี้ยงอาหารพิเศษ ในวันสำคัญ และวันเยี่ยมญาติ ซึ่งได้พระราชทานเลี้ยงให้กับญาติของผู้รับการฝึกด้วย และหากผู้รับการฝึกเจ็บป่วย ในระหว่างรับการฝึก ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานแจกันดอกไม้และของเยี่ยมให้แก่ผู้ป่วย
ผลลัพธ์ที่ต้องการ หลังจบการฝึกหลักสูตรจิตอาสา
๑. สามารถทำงานเป็นทีม และนำไปอบรมขยายผลในหน่วยงานของตนเอง
๒. สามารถนำความรู้ที่อบรมไปใช้ โดยเป็นทีมงานลงขยายผลในพื้นที่เป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็น การอบรม/การช่วยเหลือประชาชน ในพื้นที่ต่าง ๆที่ได้รับมอบ
๓. เป็นหน่วย/ชุด ล่วงหน้าที่มีความพร้อมสามารถไปช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติในพื้นที่ ทั่วประเทศ
อศจ.จิตอาสา
อศจ.ทบ. ได้รับโควตาเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรจิตอาสา ๙๐๔ หลักสูตรหลักประจำ รุ่นที่ ๓/๖๒ “เป็นเบ้า เป็นแม่พิมพ์” จำนวน ๘ นาย (เป็นรุ่นแรกที่ อศจ.ทบ. ได้เข้าฝึกอบรม) โดยคณะกรรมการของ ยศ.ทบ. ได้คัดเลือก อศจ.ทบ. ที่สมัครใจเข้ารับการฝึกอบรมทั่วประเทศ มีผลการคัดเลือกตามคุณสมบัติที่โรงเรียนจิตอาสากำหนด ดังนี้
๑. พ.ท. ณรงค์กรณ์ สีมงคุณ อศจ.ยศ.ทบ.
๒. พ.ต. ชัชวาลย์ ถึงแสง อศจ.กช.
๓. ร.อ. ภักดี ขันทะวัต อศจ.พธ.ทบ.
๔. ร.อ. อนาวิล อร่าม อศจ.มทบ.๑๑
๕. ร.อ.ธนากร สารการ อศจ.ร.๑๒ รอ.
๖. ร.ท. วินัย อรรคฮาด อศจ.ร.๑๗
๗. ร.ต.เด่นนคร ไชยธงรัตน์ อศจ.ร.๑๕๓
๘. ร.ต.พงษ์ศักดิ์ คมแก้ว ผช.อศจ.มทบ.๑๓
ในระหว่างฝึกอบรม ผู้เข้าฝึกอบรมทั้งที่เป็นข้าราชการทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน รัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชน และภาคประชาชน จะไม่มีการแบ่งชั้นยศ ระดับและตำแหน่ง โดยทุกคนเสมอกัน คือ เป็นผู้เข้าฝึกอบรม เพื่อละลายพฤติกรรมและการทำกิจกรรมร่วมกันอย่างเป็นกันเอง สร้างความคุ้นเคยความรักความสามัคคี มีทัศนคติที่ดีต่อกัน มีความพร้อมด้านจิตใจ โดยการฝึกตลอดหลักสูตรจะเน้นความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญ โดยจะมีทีมแพทย์จากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เตรียมพร้อมตลอด ๒๔ ชั่วโมง
สิ่งที่ได้รับและประทับใจ
พ.ต.ชัชวาลย์ ถึงแสง อศจ.กช.
“…ดูแลเขาให้ดี ๆ นะ..นี่คือความประทับใจแรกของผมหลังจากที่ได้ก้าวย่างเข้าสู่เขตพระราชฐานเข้ามาเรียนหลักสูตรจิตอาสา ๙๐๔ หลักสูตรหลักประจำ รุ่นที่ ๓/๖๒ เป็นเบ้า เป็นแม่พิมพ์ ซึ่งเป็นพระดำรัสที่ตรัสสั่งให้ครูทุกท่านให้การดูแลอย่างดีด้วยน้ำพระทัยอันเปี่ยมไปด้วยเมตตาและพระกรุณาที่ทรงมีต่อผู้เข้ารับการฝึกทุกนาย ทำให้ทราบถึงน้ำพระทัยอันยิ่งใหญ่ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยตามพระราชปณิธานของพระองค์ท่าน ที่ว่า สืบสาน รักษาต่อยอด สร้างสุขปวงประชา โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้มีความรู้รักสามัคคีและพัฒนาอย่างยั่งยืนสืบไป”
ร.อ.ภักดี ขันทะวัต อศจ.พธ.ทบ.
“ความภูมิใจแรก ของกระผมคือการที่ กอศจ.ยศ.ทบ. และ ยศ.ทบ. เห็นคุณค่า และคัดสรร ตัวผมเป็น ๑ ใน ๘ของ อศจ.ทบ. การได้เป็นตัวจริง ในงานสำคัญเช่นนี้ นี่คือคุณค่าในฐานะ อศจ. และเมื่อได้เข้ารับการอบรม ก็ได้มากกว่าที่คิด ซึ่งคงหาจากที่อื่นไม่ได้อีกแล้ว, การได้ฝึกตัวเองทั้งทางกาย และจิตใจ, การได้เรียนรู้ศาสตร์พระราชาที่หาได้ยากเพราะศึกษาจากบรมครูยอดปราชญ์ชาวบ้านผู้ประสบความสำเร็จโดยตรง, การได้รู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่ยิ่งใหญ่กว่าที่คิด , การได้ฝึกการเป็นวิทยากรจากยอดวิทยากรระดับประเทศ การได้เรียนรู้ศาสตร์อื่น ๆ อีกมากมาย, การได้เพื่อนใหม่ตั้งแต่ระดับรองผู้ว่าราชการจังหวัด, เสธ.ทน., รอง ผบ.พล, หัวหน้าหน่วยงาน เป็นต้น, การได้เห็นน้ำใจครูฝึกที่ต้องทน และ อยู่ในภาวะกดดันเพราะผู้รับการฝึกล้วนยศตำแหน่งสูง , การได้รู้ว่าที่จริงแล้ว อศจ. เราเป็นผู้ที่สังคมยอมรับ และมีดีกว่าที่คิด แทบจะไม่มีใครที่จะไม่รู้จัก อศจ. , การได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้, การได้สนองพระราชปณิธาน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการเป็นจิตอาสา เป็นแบบอย่างหรือทหารต้นแบบ และ แบบอย่างอันดีแก่สังคม ซึ่งเป็นเกียรติประวัติแก่ตนเอง และ ครอบครัว ตราบนิจนิรันดร์”
ร.อ.อนาวิล อร่าม อศจ.มทบ.๑๑
“ด้วยสํานึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สายวิทยาการอนุศาสนาจารย์ ได้คัดเลือกให้กระผมเป็นหนึ่งในจำนวนอนุศาสนาจารย์ ๘ ท่าน เข้ารับการฝึกอบรมในครั้งนี้ กระผมถือว่าตลอดทั้งชีวิตของกระผมได้รับโอกาสที่ถือว่าสูงที่สุดในชีวิต โชคดีที่สุดในชีวิต ทำให้ได้เข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรดังกล่าว ได้รับความรู้ตามกระบวนการฝึกอบรมทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ การปฏิบัติ การศึกษาดูงาน รวบรวมเนื้อหาแล้วก็จะเป็นเรื่องของการฝึกระเบียบวินัย การเข้าใจ ตระหนักอย่างถ่องแท้ในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ซึ่งถือว่าเป็นรากแก้วของความเป็นชาติไทย พระมหากรุณาธิคุณในความเป็นสถาบันสถาบันพระมหากษัตริย์กับความเป็นชาติไทย ความรักความสามัคคีกันของคนในชาติ และการกู้ภัยกู้ชีพในเหตุการณ์ต่างๆ ถือเป็นคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต เหนือสิ่งอื่นใด ที่กระผมได้รับจากการฝึกอบรมในครั้งนี้ นั่นคือหัวใจของการดำเนินชีวิต กระผมจบหลักสูตรการฝึกครั้งนี้แล้ว จะขอปฏิบัติหน้าที่ต่างๆที่ตนมี เพื่อชาติ เพื่อแผ่นดินเกิด ด้วยหัวใจ ขอทำดีด้วยหัวใจ เป็นกุศล เป็นคุณงามความดี ที่กระทำด้วยหัวใจ น้อมถวายด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ครับ”
ร.ท.วินัย อรรคฮาด อศจ.ร.๑๗
“นับตั้งแต่ได้เข้ามาฝึกหลักสูตรจิตอาสา ๙๐๔ หลักสูตรหลักประจำ รุ่นที่ ๓/๖๒ เป็นเบ้า เป็นแม่พิมพ์ กระผมรู้สึกภูมิใจที่ได้เรียนรู้สิ่งที่ไม่เคยได้รู้มาก่อน เช่น ได้มาเรียนรู้ถึงขั้นตอนการกระทำตลอดจนเข้าใจหลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง อีกทั้งได้เข้าใจถึงสามเสาหลัก คือ ชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ได้เรียนรู้หลักการ วิธีการตลอดถึงการได้ฝึกหัดปฏิบัติจริงเกี่ยวกับการกู้ภัย ที่มีการฝึกแบบบูรณาการณ์สมบูรณ์พร้อมทุกสถานี และมีครูที่ทำการฝึกสอนอย่างใกล้ชิด ทำให้ผู้ฝึกมีความเข้าใจการปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง กล้าที่จะปฏิบัติจริงเมื่อถึงคราที่ต้องช่วยชีวิตคนอื่นจริงๆ ที่ประชาชนจิตอาสาสามารถนำไปใช้ได้จริงและแนะนำผู้อื่นให้ปฏิบัติตามได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนอย่างแท้จริง ตามพระราชปณิธานที่ว่า สืบสาน รักษา ต่อยอด สร้างสุขปวงประชา นั่นเอง”
โดยสรุปแล้ว สิ่งที่ อศจ.ทบ. ที่เข้าอบรมได้รับที่เป็นรูปธรรมคือ การได้พัฒนาบุคลิกภาพของการเป็นวิทยากร เช่น ทักษะการพูด การปรากฏตัว ความมีระเบียบวินัย การแสดงความเคารพบุคคลในท่าพระราชทาน การวางแผนการทำงานเป็นทีม การสร้างเครือข่ายจิตอาสาต่างหน่วยงานและการฝึกทักษะการช่วยเหลือผู้ป่วยจากภัยพิบัติ – การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ส่วนที่เป็นนามธรรม คือ ความมีจิตอาสาที่จะช่วยเหลืองานส่วนรวม ความภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทยจากการได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย ความรัก ศรัทธาและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไม่มีเงื่อนไข ความเข้าใจในศาสตร์พระราชา หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเข้าใจถึงหัวใจหลักสำคัญของจิตอาสาพระราชทาน ๙๐๔ คือ “การทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ”
[1] พ.ท. ณรงค์กรณ์ สีมงคุณ อศจ.ยศ.ทบ., วิทยากรจิตอาสาพระราชทาน ๙๐๔
รุ่นที่ ๓/๒๕๖๒