๑. การจัดสถานที่ทำบุญ
๑.๑ โต๊ะหมู่บูชา
– ตั้งไว้ด้านขวาของอาสน์สงฆ์ สูงกว่าอาสน์สงฆ์พอสมควร หันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออกทิศเหนือ หรือทิศใต้ก็ได้ ไม่นิยมตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันตก (ดูความเหมาะสมของสถานที่ประกอบด้วย)
– โต๊ะหมู่บูชา ประกอบด้วยสิ่งสำคัญอย่างน้อย คือ
๑.๑.๑ พระพุทธรูป ๑ องค์
๑.๑.๒ แจกัน ๑ คู่ พร้อมดอกไม้ประดับ (ดอกไม้นิยมให้มีสีสวย–กลิ่นหอม–กำลังสดชื่น)
๑.๑.๓ กระถางธูป ๑ ใบ พร้อมธูปหอม ๓ ดอก
๑.๑.๔ เชิงเทียน ๑ คู่ พร้อมเทียน ๒ เล่ม
๑.๒ อาสน์สงฆ์
– จัดตั้งไว้ด้านซ้ายโต๊ะหมู่บูชา แยกเป็นเอกเทศต่างหากจากที่นั่งฆราวาส ประกอบด้วยเครื่องรับรอง คือ
๑.๒.๑ พรมเล็กเท่าจำนวนพระสงฆ์
๑.๒.๒ กระโถนเท่าจำนวนพระสงฆ์
๑.๒.๓ ภาชนะน้ำเย็นเท่าจำนวนพระสงฆ์
๑.๒.๔ ภาชนะน้ำร้อนเท่าจำนวนพระสงฆ์
– เครื่องรับรองดังกล่าว ตั้งไว้ด้านขวามือของพระสงฆ์ โดยตั้งกระโถนไว้ด้านในสุดถัดออกมาเป็นภาชนะน้ำเย็น ส่วนภาชนะน้ำร้อนจัดถวายเมื่อพระสงฆ์เข้านั่งแล้ว
– ถ้าเครื่องรับรองไม่เพียงพอ จัดไว้สำหรับพระผู้เป็นประธานสงฆ์ ๑ ที่ นอกนั้น ๒ รูปต่อ ๑ ที่ก็ได้ (ยกเว้นแก้วน้ำ)
๑.๓ ที่นั่งเจ้าภาพและผู้จัดงาน
– จัดไว้ด้านหน้าของอาสน์สงฆ์ โดยแยกเป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากอาสน์สงฆ์
– ถ้าเนื่องเป็นอันเดียวกับอาสน์สงฆ์ให้ปูเสื่อหรือพรมบนอาสน์สงฆ์ทับผืนที่เป็นที่นั่งสำหรับฆราวาส โดยปูทับกันออกมาตามลำดับ แล้วปูพรมเล็กสำหรับพระสงฆ์แต่ละรูปอีกเพื่อให้สูงกว่าที่นั่งเจ้าภาพ
๑.๔ ภาชนะน้ำมนต์
– จัดทำเฉพาะพิธีทำบุญงานมงคลทุกชนิด โดยตั้งไว้ข้างโต๊ะหมู่บูชา ด้านขวาของประธานสงฆ์
– พิธีทำบุญงานอวมงคลที่เกี่ยวเนื่องกับศพ เช่น ทำบุญ ๗ วัน ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน เป็นต้น ไม่ต้องจัดภาชนะน้ำมนต์
๑.๕ เทียนน้ำมนต์
– ใช้เทียนขี้ผึ้งแท้ น้ำหนัก ๑ บาทขึ้นไป โดยใช้ชนิดไส้ใหญ่ เพื่อป้องกันมิให้ดับง่าย
๒. การนิมนต์พระสงฆ์
๒.๑ พิธีทำบุญงานมงคล อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า ๕ รูป ข้างมากไม่มีกำหนด (พิธีหลวง และพิธีที่มีการทำบุญทักษิณานุประทานนิยม ๑๐ รูป)
๒.๒ งานมงคลสมรส เมื่อก่อนนิยมนิมนต์จำนวนคู่ คือ ๖ – ๘ – ๑๐ – ๑๒ รูป เพื่อฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวนิมนต์ฝ่ายละเท่า ๆ กัน
๒.๓ ในปัจจุบัน งานมงคลทุกประเภท รวมทั้งงานมงคลสมรสนิยมนิมนต์ ๙ รูป (เลข ๙ ออกเสียงใกล้เคียงคำว่า “ก้าว” หมายถึง ก้าวหน้าหรือกำลังพระเกตุ ๙, พระพุทธคุณ ๙ และโลกุตรธรรม ๙)
๒.๔ งานทำบุญอายุ นิยมนิมนต์พระสงฆ์เกินกว่าอายุเจ้าภาพ ๑ รูป
๒.๕ งานอวมงคลเกี่ยวเนื่องกับพิธีศพ นิยมนิมนต์ดังนี้
– สวดพระอภิธรรม ๔ รูป
– สวดหน้าไฟ ๔ รูป
– สวดพระพุทธมนต์ ๕ – ๗ – ๑๐ รูป ตามกำลังศรัทธา
– สวดแจง ๒๐ – ๒๕ – ๕๐ – ๑๐๐ – ๕๐๐ รูป หรือทั้งวัด
– สวดมาติกา สวดบังสุกุล นิยมนิมนต์เท่าอายุผู้ตายหรือตามศรัทธาก็ได้
๒.๖ วิธีการนิมนต์พระสงฆ์
– พิธีที่เป็นทางราชการ นิมนต์เป็นลายลักษณ์อักษร
– พิธีทำบุญส่วนตัว นิยมไปนิมนต์ด้วยวาจาด้วยตนเอง
๒.๗ ข้อควรระวัง
– อย่านิมนต์ออกชื่ออาหาร เช่น นิมนต์ไปฉันขนมจีน เป็นต้น เพราะพระผิดวินัยบัญญัติ
– นิมนต์แต่เพียงว่า “นิมนต์รับบิณฑบาต รับภิกษา” หรือ “นิมนต์ฉันเช้า ฉันเพล” เป็นต้น
๓. การใช้ด้ายสายสิญจน์
๓.๑ นิยมใช้ทั้งงานพิธีมงคล และพิธีอวมงคล
๓.๒ งานพิธีอวมงคลเกี่ยวกับศพ ไม่ใช้ด้ายสายสิญจน์วงรอบอาคารบ้านเรือน ใช้เป็นสายโยงจากศพมาถึงอาสน์สงฆ์ สำหรับพระสงฆ์พิจารณาบังสุกุล
๓.๓ งานพิธีมงคล นิยมวงรอบอาคารบ้านเรือนเฉพาะพิธีขึ้นบ้านใหม่ ทำบุญบ้านประจำปี และทำบุญปัดความเสนียดจัญไรดังนี้
– อาคารบ้านเรือนที่มีรั้วหรือกำแพง วงรอบรั้วหรือกำแพงโดยรอบ
– อาคารบ้านเรือนที่มีรั้วหรือกำแพงล้อม หรือมีแต่บริเวณกว้างขวางเกินไปให้วงเฉพาะรอบตัวอาคารบ้านเรือน
๓.๔ การวงด้ายสายสิญจน์
– เริ่มวงด้ายสายสิญจน์ตั้งแต่โต๊ะหมู่บูชา แต่ยังไม่ต้องวงรอบพระพุทธรูป เมื่อวงรอบอาคารบ้านเรือน หรือรอบบริเวณงาน แล้วจึงนำมาวงรอบฐานพระพุทธรูปภายหลัง โดยวงเวียนขวา ๑ รอบ หรือ ๓ รอบ
– วงด้ายสายสิญจน์เวียนขวาไปตามลำดับ และยกขึ้นให้อยู่สูงที่สุด เพื่อป้องกันคนข้ามกราย หรือทำขาด
– ด้ายสายสิญจน์ที่วงแล้วให้คงไว้ตลอดไป ไม่ต้องเก็บ
– พิธีทำบุญงานมงคลอื่น ๆ วงเฉพาะบริเวณห้องพิธีหรือเฉพาะรอบฐานพระพุทธรูปที่โต๊ะหมู่บูชา แล้วโยงมาวงรอบภาชนะน้ำมนต์ วางกลุ่มด้ายสายสิญจน์ใส่พานไว้ด้านซ้ายโต๊ะหมู่บูชา
๓.๕ การใช้ด้ายสายสิญจน์ทอดบังสุกุล
– โยงจากศพ จากโกศอัฐิ จากรูปของผู้ตาย หรือจากรายนามของผู้ตายอย่างใดอย่างหนึ่งมาทอดให้พระสงฆ์พิจารณาบังสุกุล
– ในพิธีทำบุญงานมงคล หากเชิญโกศอัฐิของบรรพบุรุษมาร่วมบำเพ็ญกุศลด้วยเมื่อจะนิมนต์พระสงฆ์พิจารณาบังสุกุล ให้ใช้ด้ายสายสิญจน์อีกกลุ่มหนึ่งต่างหากจากกลุ่มที่พระสงฆ์ถือเจริญพระพุทธมนต์ หรือจะเด็ดด้ายสายสิญจน์จากกลุ่มเดียวกันนั้นให้ขาดออกจากพระพุทธรูป แล้วเชื่อมโยงกับโกศอัฐิก็ได้
๓.๖ การทำมงคลแฝด
– นำด้ายดิบที่ยังไม่ได้ทำเป็นด้ายสายสิญจน์ไปขอให้พระเถระที่เคารพนับถือทำพิธีปลุกเสก และทำเป็นมงคลแฝดสำหรับคู่บ่าวสาว ก่อนถึงวันงานประมาณ ๗ วัน หรือ ๓ วันเป็นอย่างน้อย
๔. เทียนชนวน
๔.๑ อุปกรณ์
– ใช้เชิงเทียนทองเหลืองขนาดกลาง ๑ ข้าง
– เทียนขี้ผึ้งไส้ใหญ่ ๆ ขนาดพอสมควร ๑ เล่ม
– น้ำมันชนวน (ขี้ผึ้งแท้แช่น้ำมันเบนซิน หรือเคี่ยวขี้ผึ้งให้เหลว ยกลงจากเตาไฟแล้วผสมน้ำมันเบนซิน)
๔.๒ การถือเชิงเทียนชนวนสำหรับพิธีกร
– ถือด้วยมือขวา โดยหงายฝ่ามือ ใช้นิ้วมือสี่นิ้ว (เว้นนิ้วหัวแม่มือ) รองรับฐานเชิงเทียนใช้หัวแม่มือกดฐานเชิงเทียนด้านบนให้แน่นเข้าไว้
– ไม่นิยมจับกึ่งกลางเชิงเทียน เพราะจะทำให้ผู้ใหญ่รับไม่สะดวก
๔.๓ การส่งเทียนชนวนให้ผู้ใหญ่สำหรับพิธีกร
– ถึงเวลาประกอบพิธี จุดเทียนชนวน ถือด้วยมือขวา เดินเข้าไปหาประธานในพิธี ยืนตรงโค้งคำนับ
– เดินตามหลังประธานในพิธีไปยังที่บูชา
– ถ้าประธานในพิธีหยุดยืนหน้าที่บูชา พิธีกรน้อมตัวลงเล็กน้อยส่งเทียนชนวน (ถ้าประธานในพิธีนั่งคุกเข่า
พิธีกรก็นั่งคุกเข่าตาม) แล้วส่งเทียนชนวนด้วยมือขวา มือซ้ายห้อยอยู่ข้างตัว
– ส่งเทียนชนวนแล้วถอยหลังออกมาห่างจากประธานในพิธีพอสมควร พร้อมกับคอยสังเกต ถ้าเทียนชนวนดับ พึงรีบเข้าไปจุดทันที
– เมื่อประธานในพิธีจุดธูปเทียนเสร็จแล้ว เข้าไปรับเทียนชนวน โดยวิธียื่น มือขวาแบมือเข้าไปรองรับ ถอยหลังห่างออกไปเล็กน้อย โค้งคำนับแล้วจึงกลับหลังหันเดินออกมา
๔.๔ การจุดธูปเทียนสำหรับประธานในพิธี
– เมื่อพิธีกรถือเทียนชนวนเข้าไปเชิญประธานฯ ประธานฯ ลุกขึ้นจากที่นั่ง เดินไปที่หน้าโต๊ะหมู่บูชา ถ้าโต๊ะหมู่บูชาตั้งอยู่สูง พึงยืน ถ้าตั้งอยู่ไม่สูงนัก พอนั่งคุกเข่าจุดถึง พึงนั่งคุกเข่าลงแล้วรับเชิงเทียนชนวนจากพิธีกร
– จุดเทียนเล่มขวาของพระพุทธรูปก่อน แล้วจุดเล่มซ้ายต่อไป แล้วจึงจุดธูปเช่นเดียวกับเทียน
– ถ้ามีสายชนวนเชื่อมโยงจากธูปไปยังเทียนทุกคู่ พึงจุดธูปเป็นอันดับแรก
– ถ้าธูปมิได้จุ่มน้ำมันชนวน พึงถอนธูปออกมาจุดกับเทียนชนวน ส่งเทียนชนวนให้พิธีกรแล้ว ปักธูปไว้ตามเดิม โดยปักเรียงหนึ่งเป็นแถวเดียวกัน หรือปักเป็นสามเส้าก็ได้
– จุดธูปเทียนเสร็จแล้ว นั่งคุกเข่าประนมมือ กล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย โดยว่า นโม… ๓ จบ แล้วว่า อิมินา … (เพียงแต่นึกในใจ) แล้วกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ขณะกราบพึงระลึกถึงพระรัตนตรัยด้วย คือกราบครั้งที่ ๑ บริกรรมว่า อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ ครั้งที่ ๒ บริกรรมว่า สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม ธัมมัง นะมัสสามิ ครั้งที่ ๓ บริกรรมว่า สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สังฆัง นะมามิ เสร็จแล้วกลับเข้าไปนั่งประจำที่
๕. การอาราธนาสำหรับพิธีกร
– เมื่อเจ้าภาพ หรือประธานในพิธี จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยเสร็จแล้ว พิธีกรเริ่มกล่าวคำอาราธนาศีล
– ถ้าอาสน์สงฆ์อยู่ระดับพื้น ผู้ร่วมพิธีทั้งหมดนั่งกับพื้น พิธีกรพึงนั่งคุกเข่าประนมมือกราบ ๓ ครั้ง แล้วจึงกล่าวคำอาราธนา ถ้าอาสน์สงฆ์ยกขึ้นสูงจากพื้น แต่ผู้ร่วมพิธีทั้งหมดนั่งอยู่กับพื้นก็นั่งคุกเข่าอาราธนาเช่นกัน
– ถ้าอาสน์สงฆ์ยกสูง ผู้ร่วมพิธีทั้งหมดนั่งเก้าอี้ พิธีกรพึงยืนทางท้ายอาสน์สงฆ์ ข้างหน้าพระสงฆ์รูปที่ ๓ จากท้ายแถวหรือที่อันเหมาะสม ทำความเคารพประธานในพิธี แล้วหันหน้าไปทางประธานสงฆ์ ประนมมือ กล่าวคำอาราธนาศีล โดยหยุดทอดเสียงเป็นจังหวะ ๆ ดังนี้ “มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ, ติสะระเณนะ สะหะ, ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ, ทุติยัมปิ…ฯลฯ, ตะติยัมปิ…ฯลฯ
– เมื่อรับศีลเสร็จแล้ว พึงอาราธนาพระปริตรต่อไป จบแล้ว ถ้านั่งคุกเข่า กราบ ๓ ครั้ง ถ้ายืนก็ยกมือไหว้ เสร็จแล้วทำความเคารพประธานในพิธีอีกครั้งหนึ่ง
๖. การจุดเทียนน้ำมนต์
– ประธานในพิธี หรือเจ้าภาพ จะต้องรอคอยจุดเทียนน้ำมนต์อีกครั้งหนึ่ง
– เมื่อพระเจริญพระพุทธมนต์ถึงบทมงคลสูตร (บท อะเสวะนา จะ พาลานัง …) พิธีกรพึงจุดเทียนชนวนเข้าไปเชิญประธานในพิธีหรือเจ้าภาพไปจุดเทียนน้ำมนต์ยกภาชนะน้ำมนต์ถวายประธานสงฆ์ยกมือไหว้ แล้วกลับไปนั่งที่เดิม
๗. การถวายข้าวบูชาพระพุทธ
– เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ถึงบทถวายพรพระ พิธีกรยกสำรับคาวหวานไปตั้งที่หน้าโต๊ะหมู่บูชาโดยตั้งบนโต๊ะที่มีผ้าขาวปูรอง หรือที่พื้นแต่มีผ้าขาวปูรอง
– เชิญประธานในพิธีหรือเจ้าภาพทำพิธีบูชา (พิธีกรไม่ควรจัดทำเสียเอง)
– ประธานในพิธี หรือเจ้าภาพ นั่งคุกเข่า (พิธีราษฎร์จุดธูป ๓ ดอก ปักที่กระถางธูป) ประนมมือ กล่าวคำบูชาข้าวพระพุทธจบแล้วกราบ ๓ ครั้ง
– กรณียกสำรับคาวหวานสำหรับพระพุทธและสำรับคาวหรือทั้งคาวและหวานสำหรับ พระสงฆ์เข้าไปพร้อมกัน (หลังจบบทถวายพรพระ) ประธานฯ หรือเจ้าภาพ นั่งคุกเข่ากล่าวคำบูชาข้าว พระพุทธจบแล้ว จึงยกสำรับคาวหรือทั้งคาวและหวานถวายพระสงฆ์เฉพาะรูปประธานฯ นอกนั้นจะมอบให้ ผู้ร่วมพิธีเข้าร่วมถวาย ก็ชื่อว่าเป็นความสมบูรณ์แห่งพิธีการที่เหมาะสม
– คำถวายข้าวพระพุทธ “อิมัง สูปะพยัญชะนะ สัมปันนัง สาลีนัง โภชะนัง อุทะกัง วะรัง พุทธัสสะ ปูเชมะฯ” (ข้าพเจ้าขอบูชาด้วยโภชนะข้าวสาลี พร้อมด้วยแกงกับและน้ำอันประเสริฐนี้แด่พระพุทธเจ้า)
๘. การลาข้าวพระพุทธ
– เมื่อพระสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว เจ้าภาพหรือพิธีกร เข้าไปนั่งคุกเข่าประนมมือ กล่าวคำลาข้าวพระพุทธจบแล้วกราบ ๓ ครั้ง แล้วยกสำรับไปได้
– คำลาข้าวพระพุทธ “เสสัง มังคะลัง ยาจามิฯ” (ข้าพเจ้าขอคืนเศษอันเป็นมงคลนี้ ข้าพเจ้าขอภัตต์ที่เหลือที่เป็นมงคลด้วยเถิด)
๙. การจัดภัตตาหารถวายพระสงฆ์
– เวลาเช้า จัดอาหารประเภทอาหารเบา เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก กาแฟ ขนมปัง เป็นต้น
– เวลาเพล จัดอาหารประเภทอาหารหนัก โดยมากจัดเป็นอาหารไทย และควรเป็นอาหารพื้นเมืองเป็นหลัก อาจมีอาหารพิเศษแทรกบ้างก็ได้
๑๐. การประเคนของพระ
– ถ้าเป็นชาย ยกส่งให้ถึงมือพระภิกษุผู้รับประเคน ถ้าเป็นหญิง วางถวายบนผ้าที่พระสงฆ์ทอดรับประเคนและรอให้ท่านจับที่ผ้าทอดนั้นก่อน จึงวางสิ่งของลงบนผ้านั้น
– ถ้าพระสงฆ์นั่งกับพื้น พึงนั่งคุกเข่าประเคน ถ้าพระสงฆ์นั่งเก้าอี้ พึงยืนประเคน
– ยกภัตตาหารที่จะพึงฉันพร้อมภาชนะอาหารถวายเท่านั้น สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ไม่ต้องยกประเคนเพียงแต่วางมอบให้เท่านั้นก็พอ
– ภัตตาหารทุกชนิดที่ประเคนแล้ว ห้ามคฤหัสถ์จับต้องอีก ถ้าเผลอไปจับต้องเข้าต้องประเคนใหม่
– ประเคนครบทุกอย่างแล้ว ถ้านั่งคุกเข่าประเคน ก็กราบ ๓ ครั้ง ถ้ายืนประเคนก็น้อมตัวลงยกมือไหว้
– ลักษณะการประเคนที่ถูกต้อง ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ
๑. สิ่งของที่จะประเคน ไม่ใหญ่โตหรือหนักเกินไป ขนาดปานกลางคนเดียวยกไหว และยกสิ่งของนั้นให้ขึ้นพ้นจากพื้นที่สิ่งของนั้นตั้งอยู่
๒. ผู้ประเคนอยู่ห่างจากพระภิกษุผู้รับประเคนประมาณ ๑ ศอก (อย่างมากไม่เกิน ๒ ศอก)
๓. ผู้ประเคนน้อมสิ่งของนั้นเข้าไปให้ด้วยกิริยาอาการแสดงความเคารพอ่อนน้อม
๔. กิริยาอาการที่น้อมสิ่งของเข้าไปให้นั้น จะส่งให้ด้วยมือก็ได้ ด้วยของเนื่องด้วยกาย เช่นใช้ทัพพีตักถวาย ก็ได้
๕. พระภิกษุผู้รับประเคนนั้น จะรับด้วยมือก็ได้ ด้วยของเนื่องด้วยกาย เช่น จะใช้ผ้าทอดรับ ใช้บาตรรับ หรือใช้ภาชนะรับก็ได้
๑๑. การจัดเครื่องไทยธรรมถวายพระสงฆ์
– เครื่องไทยธรรม คือวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ที่สมควรถวายแก่พระสงฆ์ ได้แก่ปัจจัย ๔ และสิ่งของที่นับเนื่องในปัจจัย ๔
– สิ่งของที่ประเคนพระสงฆ์ได้ในเวลาเช้าชั่วเที่ยง ได้แก่ ประเภทอาหารคาวหวานทุกชนิด ทั้งอาหารสด อาหารแห้ง และอาหารเครื่องกระป๋องทุกประเภท หากนำสิ่งของเหล่านี้ไปถวายในเวลาหลังเที่ยงวันแล้ว เพียงแต่แจ้งให้ภิกษุรับทราบ แล้วมอบสิ่งของเหล่านั้นแก่ศิษย์ของท่านให้เก็บรักษาไว้ทำถวายในวันต่อไปก็พอ
– สิ่งของที่ประเคนพระสงฆ์ได้ตลอดเวลา ได้แก่ประเภทเครื่องดื่ม เครื่องยาบำบัดความเจ็บไข้ และประเภทเภสัช เช่น น้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำอ้อย หมากพลู หรือประเภทสิ่งของที่ไม่ใช่ของสำหรับขบฉัน
– สิ่งของที่ไม่สมควรประเคนพระสงฆ์ ได้แก่ เงิน และวัตถุสำหรับใช้แทนเงิน เช่นธนบัตร เป็นต้น (ในการถวาย ควรใช้ใบปวารณาแทนตัวเงิน ส่วนตัวเงินมอบไว้กับไวยาวัจกรของพระภิกษุนั้น)
๑๒. การปฏิบัติในการกรวดน้ำ
– กระทำในงานทำบุญทุกชนิด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว
– ใช้น้ำที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งอื่นใดเจือปน
– ใช้ภาชนะสำหรับกรวดน้ำโดยเฉพาะ ถ้าไม่มี ก็ใช้แก้วน้ำหรือขันน้ำแทน โดยจัดเตรียมไว้ก่อนถึงเวลาใช้
– กรวดน้ำหลังจากถวายเครื่องไทยธรรมแล้ว
– เมื่อประธานสงฆ์เริ่มอนุโมทนา (ยถา…) ก็เริ่มหลั่งน้ำอุทิศส่วนกุศล
– ถ้านั่งอยู่กับพื้น พึงนั่งพับเพียบจับภาชนะ สำหรับกรวดน้ำด้วยมือทั้งสอง รินน้ำให้ไหลลงเป็นสาย
– ถ้าภาชนะสำหรับกรวดน้ำปากกว้าง เช่น ขันหรือแก้ว ควรใช้นิ้วมือขวารองรับสายน้ำให้ไหลลงไปตามนิ้วชี้นั้น ถ้าภาชนะปากแคบ ไม่ต้องใช้นิ้วมือรองรับสายน้ำ
– ควรรินน้ำให้ไหลลงเป็นสาย โดยไม่ขาดตอนเป็นระยะ ๆ พร้อมกันนั้น ควรตั้งจิตอุทิศส่วนกุศลแก่ท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว
– เมื่ออุทิศเป็นส่วนรวมแล้ว ควรอุทิศระบุเฉพาะเจาะจงชื่อ นามสกุล ของผู้ล่วงลับไปแล้วอย่างชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง
– เมื่อพระสงฆ์รูปที่ ๒ รับ และขึ้นอนุโมทนาว่า สัพพีติโย….พึงเทน้ำให้หมดภาชนะ แล้วประนมมือรับพรต่อไป
– ขณะที่พระสงฆ์กำลังอนุโมทนา ไม่พึงลุกไปทำธุรกิจอื่น ๆ (หากไม่จำเป็นจริง ๆ)
– พระสงฆ์อนุโมทนาจบแล้ว พึงกราบหรือไหว้ตามสมควรแก่สถานที่นั้น ๆ
– น้ำที่กรวดแล้ว พึงนำไปเทลงที่พื้นดิน โดยเทลงที่กลางแจ้งภายนอกตัวอาคารบ้านเรือน ห้ามเทลงไปในกระโถน หรือในที่สกปรกเป็นอันขาด
ข้อที่ควรทราบเพิ่มเติม
ศาสนพิธี เป็นองค์ประกอบที่สำคัญส่วนหนึ่งของพระพุทธศาสนา ซึ่งผู้รู้ได้ถือปฏิบัติกันมาจนเป็นแบบแผน และเป็นสิ่งที่ชาวพุทธควรศึกษา และปฏิบัติให้ถูกต้อง เพื่อให้เกิดศรัทธาปสาทะแก่ผู้พบเห็น และให้เกิดความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์แก่พิธีกรรมนั้น ๆ ข้อควรทราบเพิ่มเติม ดังนี้
๑. การไหว้
๑.๑ การไหว้พระ
– ยกมือทั้งสองพนมอยู่ระดับอก แล้วยกมือที่พนมนั้นขึ้นจรดหน้าผาก โดยให้ปลายนิ้วหัวแม่มือทั้งสองจรดระหว่างคิ้ว น้อมศีรษะลงพองาม
เหตุผล : การเคารพผู้ที่เรานับถืออย่างสูงสุด ควรพนมมือให้อยู่ระดับสูงสุดของใบหน้า และนอบน้อมเคารพด้วยเศียรเกล้า
๑.๒ การไหว้บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย
– ยกมือที่พนมอยู่ขึ้น ให้ปลายนิ้วหัวแม่มือจรดปลายจมูก น้อมศีรษะลงพองาม
เหตุผล : การเคารพผู้ที่ให้ชีวิต ให้ลมหายใจแก่เรา จึงพนมมือไว้เหนือจมูก และน้อมรำลึกถึงพระคุณด้วยเศียรเกล้า
๑.๓ การไหว้ผู้ที่เราเคารพนับถือทั่วไป
– ยกมือที่พนมอยู่ให้ปลายนิ้วหัวแม่มือจรดปลายคาง น้อมศีรษะลงพองาม
เหตุผล : การเคารพผู้ที่ให้วิชาความรู้เป็นแบบอย่างในการทำมาหาเลี้ยงชีพ จึงพนมมือไว้ระดับ ของปาก และน้อมรับเป็นแบบอย่างการดำรงชีวิตด้วยเศียรเกล้า
๑.๔ การไหว้ (การรับไหว้) ผู้เสมอกันหรือผู้น้อยกว่า
– ยกมือพนมขึ้นเสมออก ให้ปลายนิ้วชี้จรดปลายคาง ไม่ต้องน้อมศีรษะ
เหตุผล : คนเสมอกันและเพื่อนมนุษย์ ควรมีน้ำใจเมตตาเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน จึงพนมไว้ในระดับอกหมายถึงจิตใจ
หมายเหตุ การไหว้นั้นจะนั่งพับเพียบไหว้ หรือยืนไหว้ก็ได้ ผู้ชายถ้ายืนต้องให้เท้าทั้งสองชิดกัน ในลักษณะ ยืนตรง ผู้หญิงถ้ายืนให้สืบเท้าข้างหนึ่งไปข้างหลังเล็กน้อย พร้อมทั้งน้อมตัวไหว้สำหรับการไหว้ผู้อาวุโสโสกว่าขึ้นไป
๒. การกราบ
๒.๑ การกราบพระ – กราบศพพระ
กราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง หมายถึงให้อวัยวะ ๕ ส่วนจรดถึงพื้น คือ เข่า ๒ มือ หรือศอก ๒ หน้าผาก ๑ ท่าเตรียม ผู้ชาย นั่งคุกเข่าบนส้นเท้า ปลายเท้าตั้ง ผู้หญิง นั่งทับฝ่าเท้า ปลายเท้าราบ จังหวะ ๑ (อัญชลี) ยกมือทั้งสองขึ้นพนมเสมออก ปลายนิ้วเบนออกประมาณ ๔๕ องศา จังหวะ ๒ (วันทา) ยกมือที่พนมนั้นขึ้นจรดหน้าผาก ให้หัวแม่มือทั้งสองจรดระหว่างคิ้ว จังหวะ ๓ (อภิวาท) กราบลงกับพื้น แบมือคว่ำให้ฝ่ามือทั้งสองห่างกันพอศีรษะจรดพื้นได้ ผู้ชายให้ข้อศอกต่อหัวเข่า ผู้หญิงให้ข้อศอกคร่อมเข่า)
๒.๒ กราบคน – กราบศพคน (กราบมือตั้งครั้งเดียว)
จังหวะ ๑ นั่งพับเพียบพนมมือไหว้ขึ้น (กรณีผู้ตายอาวุโสกว่า) ให้หัวแม่มือจรดปลายจมูก (กรณีผู้ตายอาวุโสเท่ากันหรือรุ่นราวคราวเดียวกัน) ให้หัวแม่มือจรดปลายคาง จังหวะ ๒ กราบลงครั้งเดียวโดยให้มือที่พนมนั้นตั้งกับพื้น หน้าผากจรดสันมือ
๓. การจุดเทียนธูปบูชาพระ
– จุดเทียนเล่มทางขวาของพระพุทธก่อน แล้วจึงจุดเทียนเล่มทางซ้ายของพระพุทธ
– จุดธูป ๓ ดอก โดยจุดดอกทางขวาของพระพุทธ ไปทางซ้ายตามลำดับ
– เสร็จแล้วกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง
๔. สัญลักษณ์แห่งการบูชา
เทียน เป็นสัญลักษณ์แห่งการบูชาพระธรรมและพระวินัย เปรียบเทียบว่าเทียนเป็นแสงสว่างส่องทาง พระธรรมให้ความสว่างแก่จิตใจ
ธูป เป็นสัญลักษณ์แห่งการบูชาพระคุณของพระพุทธเจ้า ผู้ทรงพระคุณ ๓ ประการคือ พระปัญญาคุณ
พระวิสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ เปรียบเทียบว่า ธูปมีกลิ่นหอม เมื่อหมดดอกความหอมจะสิ้นไป แต่ความหอมของพระพุทธคุณ มิมีวันจางหายไป
ดอกไม้ เป็นสัญลักษณ์แห่งการบูชาพระสงฆ์ เปรียบเทียบว่า ดอกไม้จัดเป็นระเบียบแล้วดูสวยงาม
พระสงฆ์อยู่ในระเบียบวินัย ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ย่อมสวยงามมีคุณค่า
๕. การจุดธูป
จุด ๑ ดอก : บูชาศพ
จุด ๓ ดอก : บูชาพระรัตนตรัย คือ บูชาพระคุณของพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ ประการ
จุด ๕ ดอก บูชาปูชนียบุคคลทั้งห้าคือ บูชาพระรัตนตรัย ๓ ดอก บูชาบิดามารดา ๑ ดอก บูชาครูอาจารย์ ๑ ดอก หรือบูชาพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระโคตมะ และพระศรีอริยเมตไตรย
จุด ๗ ดอก บูชาองค์แห่งธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ๗ ประการที่เรียกว่า โพชฌงค์ ๗ หรือบูชาวันทั้ง ๗ คือ อาทิตย์ – เสาร์
จุด ๙ ดอก บูชาพระพุทธคุณโดยพิสดาร ๙ ประการ หรือบูชาพระภูมิเจ้าที่ทั้ง ๙ พระองค์
๖. การอัญเชิญพระพุทธรูปมาตั้งบนโต๊ะหมู่บูชา
– ควรทำเมื่อใกล้เวลาจะประกอบพิธี
– พระพุทธรูปนั้นควรใหญ่พอสมควร ไม่ใช่พระเครื่อง ซึ่งเล็กเกินไป
– ถ้ามีครอบ ควรเอาที่ครอบออก หากมัวหมองด้วยธุลี ควรเช็ดให้สะอาด หรือสรงน้ำเสียก่อน
– อัญเชิญโดยยกที่ฐานพระให้สูงระดับอกด้วยอาการเคารพ ห้ามจับที่พระศอ (คอ) หรือพระพาหา (แขน)
ในลักษณะหิ้วของ ซึ่งเป็นอาการที่ไม่เคารพ
– ตั้งบนโต๊ะหมู่บูชาตัวที่สูงที่สุด
– ควรอัญเชิญกลับไปไว้ที่เดิมเมื่อเสร็จพิธี
ตัวอย่างการจัดโต๊ะหมู่ ๗
ตัวอย่างการจัดโต๊ะหมู่ ๙
ตัวอย่างการจัดโต๊ะหมู่ ๔ (โต๊ะซัด)
เครื่องทองน้อย
ส่วนประกอบ
– กรวยพุ่มดอกไม้ ๓ พุ่ม
– ธูปไม้ระกำ ๑ ดอก
– เทียน ๑ เล่ม
(ตั้งอยู่บนพานเดียวกันตามรูปข้างบน)
วาระที่ใช้ ๕ กรณี คือ
– ทรงธรรมของในหลวง
– บูชาพระธาตุ
– บูชาพระอัฐิ – พระบรมรูป – พระบรมฉายาลักษณ์ในรัชกาลก่อน
– บูชาศพ และ
– นำขบวนแห่ศพเวียนเมรุ
วิธีใช้ประกอบศพ
– จุดบูชาศพ หันกรวยพุ่มดอกไม้เข้าหาศพ หันธูปเทียนออกทางผู้จุด
– จุดบูชาแทนศพ หันพุ่มกรวยดอกไม้ออกทางผู้จุด หันธูปเทียนเข้าหาศพ
แผนผังการจัดสถานที่