พิธีทอดกฐินราษฎร์

          กฐิน เป็นพระบรมพุทธานุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาถ้วนไตรมาสในอาวาสเดียวกัน ตั้งแต่ ๕ รูป ขึ้นไป ทำการกรานกฐินในระยะเวลา ๑ เดือน ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ หลังจากออกพรรษาแล้ว ภิกษุที่กรานกฐินแล้วย่อมได้รับอานิสงส์ ๕ ประการ ตามพระวินัย กฐินจึงจัดเป็นกาลทาน ทายก ผู้ถวายย่อมได้รับบุญมาก ได้รับอานิสงส์มากเช่นเดียวกัน

          กฐินราษฎร์ หมายถึง กฐินที่ราษฎรหรือประชาชนผู้มีศรัทธานำผ้ากฐินของตนไปถวายตามวัดต่างๆยกเว้นวัดหลวง ๑๖ วัด เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ วัดสุทัศนเทพวราราม    วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นต้น

การเตรียมการ

         – ทำการจองวัดที่หน่วยงานหรือเจ้าภาพประสงค์จะนำผ้ากฐินไปถวายก่อนล่วงหน้า ประมาณ ๒-๓ เดือน บางวัดที่มีผู้ศรัทธามาก ต้องจองล่วงหน้าก่อนประมาณ ๑ ปี หรือหลายปี

          – จัดเตรียมผ้ากฐิน (ผ้าไตร) และบริวารกฐิน

          – จัดผ้าห่มพระพุทธปฏิมาประธาน จัดวางไว้ที่พาน หรือบนผ้ากฐิน (ผ้าไตร)

การปฏิบัติ (ลำดับพิธี) มี ๒ รูปแบบ ได้แก่

รูปแบบที่ ๑

เวลา ๑๐.๐๐ น.

          – ผู้ร่วมพิธีพร้อม พระสงฆ์พร้อม

          – ประธานในพิธีจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย กราบ ๓ ครั้ง

          – ประธานฯ ถวายตาลปัตรแด่ประธานสงฆ์ แล้วกลับนั่งที่เดิม

          – พิธีกรอาราธนาศีล

          – พระสงฆ์ให้ศีล ผู้ร่วมพิธีรับศีล

          – พิธีกรนำผ้ากฐินมอบให้ประธานฯ

          – ประธานฯ ยืน ณ จุดที่กำหนด หยิบผ้าห่มพระพุทธปฏิมาประธาน ส่งให้ไวยาวัจกรไปห่มพระพุทธปฏิมาประธาน แล้วรับผ้ากฐินจากพิธีกร ยืนประคองผ้าระหว่างแขน ประนมมือ หันหน้าไปทางพระพุทธปฏิมาประธาน ตั้ง “นะโม” ๓ จบ แล้วหันหน้าไปทางพระสงฆ์นำกล่าวคำถวายผ้ากฐิน

          – กล่าวคำถวายผ้ากฐินจบแล้ว นำผ้ากฐินไปวางบนพานแว่นฟ้า ยกประเคนพระสงฆ์รูปที่ ๒ และประเคนเทียนปาติโมกข์ แล้วกลับมานั่งที่เดิม

          – พระสงฆ์กระทำอปโลกนกรรม

          – ประธานฯ และผู้ร่วมพิธีถวายเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์

          – พิธีกรประกาศยอดเงินถวายวัด เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะสงฆ์ เสด็จแล้วเชิญประธานฯ ประเคนยอดเงินแด่เจ้าอาวาส

          – พระสงฆ์ (กล่าวสัมโมทนียกถา) อนุโมทนา

          – ประธานฯ กรวดน้ำ รับพร

          – ประธานฯ กราบพระรัตนตรัย

          – เสด็จพิธี

เวลา ๑๑.๐๐ น.

          – ประธานฯ และผู้ร่วมพิธีถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์

          – ประธานฯ มอบเครื่องอุปกรณ์การศึกษา, อุปกรณ์การกีฬาให้กับโรงเรียน (ถ้ามี)

การแต่งกาย        

          – ข้าราชการทหาร เครื่องแบบปกติกากีแกมเขียวคอพับแขนยาว

          – พลเรือน ชุดสุภาพ

—————————————–

รูปแบบที่ ๒

เวลา …………. น.

          – ผู้ร่วมพิธีพร้อม พระสงฆ์พร้อม

          – ประธานในพิธีฯ จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย กราบ ๓ ครั้ง

          – หยิบผ้าห่มพระพุทธปฏิมาประธาน (อธิษฐาน) ส่งให้ไวยาวัจกรนำไปห่มพระพุทธปฏิมาประธาน

          – ประธานในพิธีฯ ถวายตาลปัตรแด่ประธานสงฆ์ แล้วกลับนั่งที่เดิม

          – พิธีกรอาราธนาศีล

          – พระสงฆ์ให้ศีล ผู้ร่วมพิธีรับศีล

          – พิธีกรนำผ้ากฐินมอบให้ประธานฯ

          – ประธานในพิธีฯ ยืน ณ จุดที่กำหนด แล้วรับผ้ากฐินจากพิธีกร ยืนประคองผ้าระหว่างแขน ประนมมือ หันหน้าไปทางพระพุทธปฏิมาประธาน

          – ตั้งนะโม ๓ จบ แล้วหันหน้าไปทางพระสงฆ์ นำกล่าวคำถวายผ้ากฐิน

          – กล่าวคำถวายผ้ากฐินจบแล้ว นำผ้ากฐินไปวางบนพานแว่นฟ้า ยกประเคนพระสงฆ์รูปที่ ๒ และประเคนเทียนปาติโมกข์ แล้วกลับมานั่งที่เดิม

          – พระสงฆ์กระทำอปโลกนกรรม

          – ประธานฯ และผู้ร่วมพิธีร่วมกันถวายบริวารกฐินแด่พระสงฆ์องค์ครองกฐิน

          – พิธีกร นำกล่าวถวายผ้าป่าหางกฐิน (ถ้ามี)

          – ประธานฯ และผู้ร่วมพิธีถวายเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์

          – พระสงฆ์อนุโมทนา

          – ประธานฯ กรวดน้ำ – รับพร

          – ประธานฯ กราบพระรัตนตรัย

          – เสร็จพิธีฯ

คำถวายผ้ากฐิน

นะโม ตัสสะ, ภะคะวะโต, อะระหะโต, สัมมาสัมพุทธัสสะ

นะโม ตัสสะ, ภะคะวะโต, อะระหะโต, สัมมาสัมพุทธัสสะ

นะโม ตัสสะ, ภะคะวะโต, อะระหะโต, สัมมาสัมพุทธัสสะ

          อิมัง ภันเต, สะปะริวารัง, กะฐินะทุสสัง, สังฆัสสะ, โอโณชะยามะ, สาธุ โน ภันเต, สังโฆ, อิมัง สะปะริวารัง, กะฐินะทุสสัง, ปะฏิคคัณหาตุ, ปะฏิคคะเหตตะวา จะ อิมินา ทุสเสนะ, กะฐินัง, อัตถะระตุ,    อัมหากัง, ทีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ ฯ

          ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ, ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ขอน้อมถวาย, ผ้ากฐิน, พร้อมทั้งบริวารนี้, แด่พระสงฆ์, ขอพระสงฆ์จงรับ, ซึ่งผ้ากฐิน, พร้อมทั้งบริวารนี้, ของข้าพเจ้าทั้งหลาย, ครั้นรับแล้ว, ขอจงกรานกฐิน, ด้วยผ้าผืนนี้, เพื่อประโยชน์, เพื่อความสุข, แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ตลอดกาลนานเทอญ

อานิสงส์ของพระภิกษุเมื่อได้กรานกฐิน มี ๕ คือ

          ๑. เที่ยวไปไม่ต้องบอกลาตามสิกขาบทที่ ๖ แห่งอเจลกวรรค ปาจิตติยกัณฑ์

          ๒. จาริกไปไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบทั้ง ๓ ผืน

          ๓. ฉันคณะโภชน์ได้ (นั่งล้อมวงฉันได้)

          ๔. เก็บอติเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา (ผ้านอกเหนือจากผ้าสามผืน)

          ๕. จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้น เป็นของได้แก่พวกเธอ (ทั้งยังได้โอกาสขยายเขตจีวรกาลไปอีก ๔ เดือน)

อานิสงน์ของผู้ทอดถวายผ้ากฐิน

          ๑. เป็นผู้มีชื่อเสียงฟุ้งขจรขจายไปทั่วสารทิศ

          ๒. ได้ชื่อว่าเป็นผู้สืบอายุพระพุทธศาสนา ถวายกำลังแก่สมณสงฆ์ดำรงพระศาสนา

          ๓. ได้สงเคราะห์พระสงฆ์ตามพระวินัยซึ่งเป็นไปตามพระพุทธานุญาต

          ๔. เป็นการรักษาประเพณีที่ดีงามไว้มิให้เสื่อมสูญไป

          ๕. เป็นการบูชาพุทธโอวาทของพระบรมศาสดา

          ๖. ได้ชื่อว่าบำเพ็ญมหาบุญ

          ๗. เป็นปัตตานุโมทนามัย

          ๘. ทำทรัพย์และชีวิตให้มีสาระ

          ๙. เป็นการสร้างความสามัคคีในระหว่างพุทธบริษัท

          ๑๐. เป็นการสั่งสมทุน คือบุญกุศลไว้ในภายภาคหน้า

          ๑๑. เป็นการสร้างทางไปสวรรค์และนิพพานให้แก่ตนเอง

ภาพตัวอย่างการจัดพิธีถวายผ้ากฐินทั่วไป