พิธีทอดผ้าป่า

         ผ้าป่า หมายถึง ผ้าที่ไม่มีเจ้าของหวงแหน ทิ้งอยู่ตามป่าบ้าง ตามป่าช้าบ้าง ตามถนนหนทาง กองหยากเยื่อ และห้อยอยู่ตามกิ่งไม้บ้าง

          ประเพณีการทอดผ้าป่าก็มีมาแต่ครั้งพุทธกาล คือในขณะที่พระพุทธเจ้ายังมิได้ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับผ้าจีวรจากชาวบ้าน ทรงอนุญาตให้เที่ยวแสวงหา “ผ้าบังสุกุล” คือ “ผ้าที่เปื้อนฝุ่น” หรือผ้าที่เขาห่อซากศพทิ้งไว้ตามป่าช้า เอามาซักฟอกทำความสะอาด ทำเป็นสังฆาฏิ จีวร หรือสบงนุ่งห่ม ต่อมาชาวบ้านปรารถนาจะบำเพ็ญกุศลให้ต้องตามพระพุทธานุญาต จึงได้จัดผ้าที่สมควรแก่พระไปทอดทิ้งไว้ตามที่ต่าง ๆ น่าจะเป็นด้วยเหตุนี้จึงเรียกว่า “ผ้าป่า” การถวายผ้าป่าเป็นการกุศลที่ไม่เกี่ยวข้องกับวินัยของพระ ไม่มีกำหนดเวลาเหมือนกฐิน สามารถถวายได้ตลอดเวลา แต่ส่วนใหญ่นิยมทอดหลังจากออกพรรษาแล้ว ปัจจุบันชาวบ้านจัดหาผ้าสำเร็จรูป พร้อมบริขารต่าง ๆ ไปถวายกันที่วัดได้เลย

          การทอดผ้าป่าไม่จำกัดเวลา จะถวายเวลาใดก็ได้ แต่ถ้าจะถวายร่วมกับการถวายผ้ากฐินให้ถวายผ้ากฐินก่อน

การเตรียมการ

         – จัดผ้าไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่ง เช่น สังฆาฏิ จีวร สบง หรือทั้งไตรก็ได้

          – เครื่องอุปโภคบริโภคที่สมควรแก่สมณบริโภคตามความเหมาะสม โดยบรรจุรวมกันในภาชนะ เช่น ถังตักน้ำ กระจาด ปักกิ่งไม้ไว้และพาดผ้าไตรจีวรที่กิ่งไม้นั้น

          – ไทยธรรมสำหรับถวายพระสงฆ์

การปฏิบัติ (ลำดับพิธี)

         – พระสงฆ์และผู้ร่วมพิธีพร้อม

          – ประธานในพิธีจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย กราบ ๓ ครั้ง

          – พิธีกรอาราธนาศีล

          – พระสงฆ์ให้ศีล ผู้ร่วมพิธีรับศีล

          – ประธานฯ หรือพิธีกรนำกล่าวคำถวายผ้าป่า

          – พระสงฆ์พิจารณาผ้าป่า

          – พิธีกรประกาศยอดเงินถวายวัด

          – ประธานฯ ถวายเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์ (ถ้ามี)

          – พระสงฆ์อนุโมทนา

          – ประธานฯ กรวดน้ำ-รับพร

          – เสร็จพิธี

คำถวายผ้าป่า

นะโม ตัสสะ, ภะคะวะโต, อะระหะโต, สัมมาสัมพุทธัสสะ (๓ จบ)

          อิมานิ มะยัง ภันเต, ปังสุกูละจีวะรานิ, สะปะริวารานิ, ภิกขุสังฆัสสะ, โอโณชะยามะ, สาธุ โน ภันเต, ภิกขุสังโฆ, อิมานิ, ปังสุกูละจีวะรานิ, สะปะริวารานิ, ปะฏิคคัณหาตุ, อัมหากัง, ทีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะฯ

          ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ, ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ขอน้อมถวาย, ผ้าบังสุกุลจีวร, กับทั้งของบริวารทั้งหลายเหล่านี้, แด่พระภิกษุสงฆ์, ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ, ผ้าบังสุกุลจีวร, กับทั้งของบริวารทั้งหลายเหล่านี้,     ของข้าพเจ้าทั้งหลาย, เพื่อประโยชน์, เพื่อความสุข, แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ตลอดกาลนานเทอญฯ