พิธีลอยกระทง

พิธีลอยกระทง

วัตถุประสงค์และความเชื่อในการจัดพิธีลอยกระทง

          สาเหตุที่มีประเพณีลอยกระทงขึ้นนั้น เกิดจากความเชื่อหลาย ๆ ประการ ของแต่ละท้องที่ ได้แก่

          ๑. เพื่อแสดงความสำนึกถึงบุญคุณของแม่น้ำที่ให้เราได้อาศัยน้ำกินน้ำใช้ ตลอดจนเป็นการขอขมาต่อพระแม่คงคา ที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ลงไปในน้ำ อันเป็นสาเหตุให้แหล่งน้ำไม่สะอาด

          ๒. เพื่อเป็นการสักการะรอยพระพุทธบาทนันมทานที เมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ และได้ทรงประทับรอยพระบาทไว้บนหาดทรายแม่น้ำนัมมทานที ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ในแคว้นทักขิณาบถของประเทศอินเดีย ปัจจุบันเรียกว่า แม่น้ำเนรพุททา

          ๓. เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ เพราะการลอยกระทงเปรียบเหมือนการลอยความทุกข์ ความโศกเศร้า โรคภัยไข้เจ็บ และสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ให้ลอยตามแม่น้ำไปกับกระทงคล้ายกับพิธีลอยบาปของพราหมณ์

          ๔. เพื่อเป็นการบูชาพระอุปคุต ที่ชาวไทยภาคเหนือให้ความเคารพ ซึ่งบำเพ็ญเพียรบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล โดยมีตำนานเล่าว่าพระอุปคุตเป็นพระมหาเถระรูปหนึ่งที่มีอิทธิฤทธิ์มาก สามารถปราบพญามารได้

          ๕. เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมของไทยไว้มิให้สูญหายไปตามกาลเวลา และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

การเตรียมการ

          – กระทง, ธูปเทียน

การปฏิบัติ       

          เมื่อถึงเวลากำหนด

          – ประธานในพิธีมาถึงบริเวณพิธี

          – ประธานจัดงานมอบกระทงให้ประธานฯ

          – พิธีกรมอบเทียนชนวนให้ประธานฯ จุดเทียนที่กระทง (คนอื่น ๆ จุดเทียนที่กระทงของตน)

          – เชิญผู้เข้าร่วมพิธี กล่าว “ นะโม……” (๓ จบ) ตามผู้นำ ดังนี้

          “มะยัง โภนโต/ อิมินา ปะทีเปนะ / นัมมะทายะ นะทิยา / วาลิกาปุลิเน / มุนิโน / ปาทะวะลัญชัง/อะภิปูเชมะ/ สาธุ โน โภนโต/ อะยัง/ ปะทีเปนะ/ ปาทะวะลัญชัสสะ/ ปูชานิสังโส/ อัมหากัง/ ทีฆะรัตตัง /หิตายะ/ สุขายะ/ สังวัตตะตุ/

          ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมบูชารอยบาทของพระพุทธเจ้าที่ประดิษฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทา ด้วยกระทงประทีปนี้ ขออานิสงส์แห่งการบูชานี้ จงเป็นไป เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข เพื่อความเจริญ แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนานเทอญ

กล่าวคำบูชาจบแล้ว

          – พิธีกร เชิญประธานฯ ลอยกระทง

          – ประธานฯ ลอยกระทง

          – ผู้เข้าร่วมพิธี ร่วมลอยกระทง

          – เสร็จพิธี

คำบูชาในพิธีลอยกระทงอีกแบบหนึ่ง

          อิมินา จะ ปะทีเปนะ                สัมพุทธัสสะ ปะทัง วะรัง

          นัมมะทานะทิยา ตีเร                อะภิปูเชมะ ทูระโต

          อิทัง โน ปูชะนัง โหตุ                สะทา หิตะสุขาวะหัง