พิธีทำบุญครบรอบอายุ ๖๐ ปี (๕ รอบ)

พิธีทำบุญครบรอบอายุ ๖๐ ปี (๕ รอบ)

วัตถุประสงค์

          – การทำบุญครบรอบอายุ ทำเพื่อเพิ่มพูนบุญกุศลทานบารมีให้แก่ตนเอง อีกนัยหนึ่งนั้น เพื่อเป็นการสืบต่อชะตาชีวิต กำจัดทุกข์โศกโรคภัยให้หมดสิ้นไป

          – ผู้ที่เคารพนับถือได้แสดงออกถึงมุทิตาจิตต่อปูชนียบุคคล

การเตรียมการ

          ๑. นิมนต์พระสงฆ์ ๙ รูป

          ๒. โต๊ะหมู่บูชาพร้อมเครื่องตั้งครบชุด

          ๓. เครื่องใช้พิธีสงฆ์ครบชุด

          ๔. เครื่องบูชาเทวดา

                    (๑) บายศรีปากชาม

                    (๒) เครื่องมัจฉมังสะ คือ กุ้ง, ปู, ปลา, หัวหมู, เป็ด, ไก่

                    (๓) ขนมนมเนย คือ ขนมต้มแดง, ต้มขาว, ขนมหูช้าง, ขนมเล็บมือนาง, มะพร้าวอ่อน, กล้วยน้ำว้า, ผลไม้ต่าง ๆ จัดรวมใส่พานหรือถาด, นม, เนย, ขนมทองหยิบ, ทองหยอด, ฝอยทอง

                    (๔) ธงใหญ่ ธงประจำเทวดานพเคราะห์ ธงเล็ก (ธงสีต่าง ๆ) ตามกำลังวัน (ธงใหญ่ ๙ ธง, ธงเล็ก ๑๐๘ ธง) พร้อมทั้งกระทงบัตรพลี (ภาชนะทำด้วยกาบกล้วยเป็นรูปกระบะสี่เหลี่ยม สำหรับวางเครื่องเซ่นสังเวย) เครื่องบูชาเทวดาเหล่านี้ตั้งไว้บนโต๊ะปูผ้าขาว

                    – เทียนชัย ๑ เล่ม สูงเท่าตัวเจ้าภาพ ใช้ขี้ผึ้งบริสุทธิ์หนัก ๘๐ บาท ไส้เทียนเท่าอายุ บวก ๑ (๖๑ เส้น)

                    – เทียนมงคล ๑ เล่ม สูงเท่ากับขนาดความยาวที่วัดโดยรอบศีรษะเจ้าภาพ ใช้ขี้ผึ้งบริสุทธิ์หนัก ๓๒ บาท ไส้เทียนเท่าอายุ (๖๐ เส้น) ตั้งอยู่ในขันสาคร

                    – ธูปเทียนสำหรับบูชาเทวดานพเคราะห์อย่างละ ๑๐๘ ดอก (ใช้เทียนขี้ผึ้งหนักเล่มละ ๑ สลึง)

                    – เทียนหนักเล่มละ  ๑ บาท อีก ๑๑ เล่ม (เทียนน้ำมนต์ ๒ เล่ม สำหรับปักที่บัตรพลี ๙ เล่ม)

                    – ขันสาครขนาดใหญ่ ๑ ใบ

                    – เครื่องไทยธรรมสำหรับถวายพระสงฆ์

                    – วงด้ายสายสิญจน์จากพระพุทธรูปโต๊ะหมู่บูชาไปยังเครื่องบูชา

การปฏิบัติ (ลำดับพิธี)

          – เจ้าภาพจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย

          – พิธีกรอาราธนาศีล พระสงฆ์ให้ศีล เจ้าภาพและผู้ร่วมพิธีรับศีล

          – เจ้าภาพจุดธูปเทียนบูชาดาวนพเคราะห์

          – พิธีกรกล่าวชุมนุมเทวดา (สัคเค กาเม ฯลฯ จบแล้ว อาราธนาพระปริตร

          – พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ จนถึงบทสรณคมน์ (พุทธัง)

          – เจ้าภาพจุดเทียนชัย และเทียนมงคล

          – พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ สลับกับโหรบูชานพเคราะห์ ดังนี้

          โหรบูชาพระอาทิตย์      พระสงฆ์สวดโมรปริตร

          โหรบูชาพระจันทร์        พระสงฆ์สวดอภยปริตร

          โหรบูชาพระอังคาร       พระสงฆ์สวดกรณียเมตตสูตร

          โหรบูชาพระพุธ  พระสงฆ์สวดขันธปริตร

          โหรบูชาพระเสาร์ พระสงฆ์สวดอังคุลิมาลปริตร

          โหรบูชาพระพฤหัสบดี    พระสงฆ์สวดรตนสูตร

          โหรบูชาพระศุกร์ พระสงฆ์สวดอาฏานาฏิยปริตร

          โหรบูชาพระราหู พระสงฆ์สวดจันทปริตร (กลางคืน) หรือสุริยปริตร (กลางวัน)

          โหรบูชาพระเกตุ พระสงฆ์สวดชยปริตร    

          เมื่อพระสงฆ์สวดพระปริตรประจำนพเคราะห์องค์ใด เจ้าภาพหรือผู้แทนจุดธูปเทียนเท่ากำลังพระเคราะห์องค์นั้น และเมื่อพระสงฆ์ขับตำนานบทรตนสูตร เจ้าภาพจุดเทียนน้ำมนต์

          กำลังนพเคราะห์นั้นมีดังนี้ พระอาทิตย์ ๖, พระจันทร์ ๑๕, พระอังคาร ๘, พระพุธ ๑๗,  พระพฤหัสบดี ๑๙, พระศุกร์ ๒๑, พระเสาร์ ๑๐, พระราหู ๑๒, พระเกตุ ๙

          – ถวายภัตตาหารเช้าหรือภัตตาหารเพลตามแต่โอกาสที่ทำ

          – ถวายเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์

          – พระสงฆ์อนุโมทนา

          – เจ้าภาพกรวดน้ำ – รับพร

          – นำน้ำพระพุทธมนต์ใส่ลงในน้ำเทพมนต์ (น้ำมนต์ที่โหรบูชา)

          – ได้ฤกษ์หลั่งน้ำ นิมนต์พระสงฆ์รูปที่เป็นประธานฯ หลั่งน้ำมนต์ พระสงฆ์นอกนั้นสวดชัยมงคลคาถา แขกผู้มีเกียรติทยอยเข้าไปหลั่งน้ำ (ผู้มีอายุมากกว่าเจ้าภาพรดน้ำที่ตัวหรือศีรษะ ผู้มีอายุน้อยกว่ารดบนฝ่ามือ)

          – ส่งพระสงฆ์กลับ เป็นเสร็จพิธี