ความหมาย และวัตถุประสงค์
พิธีพุทธาภิเษก ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ให้ความหมายไว้ว่า พิธีในการปลุกเสกพระพุทธรูปหรือวัตถุมงคล โดยมีพระเถระผู้เชี่ยวชาญในการทำสมาธิจำนวนหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า คณะปรก นั่งภาวนาส่งกระแสจิตเพ่งคุณพระรัตนตรัยเข้าไปสู่องค์พระหรือวัตถุมงคลนั้น ๆ
สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดสร้างแตกต่างกันไปตามคณะเกจิอาจารย์ศิษยานุศิษย์ และเจ้าภาพ แต่ละวัด แต่ละท้องถิ่นจะมีศรัทธา สร้างเป็นสิริมงคลแก่สานุศิษย์ บุคคลทั่วไป หรือแม้แต่เพื่อรวบรวมจตุปัจจัยในการก่อสร้าง บูรณะพระอาราม วัดวาต่าง ๆ ฯลฯ แต่ประโยชน์ที่เกิดแก่พุทธศาสนิกชน ก็คือ ได้มีโอกาสในการบำเพ็ญบุญบำเพ็ญจิตตภาวนาร่วมกัน เป็นพุทธานุสติ ธัมมานุสติ และสังฆานุสติ บังเกิดแก่สาธุชน ผู้ตั้งใจปฏิบัติตามกำลังแต่ละคนต่อไป
การเตรียมการ
๑. จัดสถานที่ประกอบพิธี โต๊ะหมู่บูชา อาสนะสำหรับพระสงฆ์ ที่นั่งสำหรับผู้ร่วมพิธี
๒. นิมนต์พระสงฆ์
๒.๑ พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ๙ รูป
๒.๒ พระสงฆ์สวดพุทธาภิเษก ๔ รูป
๒.๓ พระเกจิอาจารย์นั่งปรก ตามความศรัทธาของเจ้าภาพ ไม่จำกัด
๓. จตุปัจจัยไทยธรรม ถวายพระสงฆ์ตามจำนวนที่นิมนต์
๔. อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในพิธี
๔.๑ เทียนชัย ๑ เล่ม หนัก ๘๐ บาท ไส้ ๑๐๘ เส้น สูงเท่าความสูงของประธานพิธีหรือเจ้าภาพ
๔.๒ เทียนมงคล ๑ เล่ม หนัก ๑๐ บาท ไส้มีจำนวนเส้นเกินกว่าอายุประธานฯ หรือเจ้าภาพ สูงเท่าความยาวรอบศีรษะของประธานฯ หรือเจ้าภาพ
๔.๓ เทียนพุทธาภิเษก ๒ เล่ม หนักเล่มละ ๓๒ บาท ไส้ ๕๖ เส้น สูงประมาณกึ่งหนึ่งของเทียนชัย
๔.๔ เทียนนวหรคุณ ๙ เล่ม หนักเล่มละ ๒ บาท ไส้ ๙ เส้น
๔.๕ เทียนหน้าพระพุทธาภิเษก ๒ เล่ม ขนาดและน้ำหนักเหมือนเทียนนวหรคุณ
๔.๖ เทียนโต๊ะหมู่บูชาพระประธาน ๒ เล่ม ขนาดพองาม น้ำหนักประมาณเล่มละ ๕ บาท
๔.๗ ธูปหอม ๓ ดอก
๔.๘ เทียนหนัก ๖ สลึง ๒๘ เล่ม ไส้ ๙ เส้น
๔.๙ ธูปจีนดอกเล็กสำหรับปักเครื่องสังเวยเท่าจำนวนสิ่งของ
๔.๑๐ เทียนบูชาพระรัตนตรัย ๑๐๘ เล่ม หนักเล่มละ ๒ สลึง
๔.๑๑ ธูป ๑๐๘ ดอก
๔.๑๒ กำหญ้าคาพรมน้ำมนต์ ๑ กำ
๔.๑๓ ใบพลู ๗ ใบ สำหรับดับเทียนชัย ใส่พานเตรียมไว้
๔.๑๔ แป้งเจิม ๑ ที่
๔.๑๕ เครื่องสังเวย
๔.๑๖ ตู้ใส่เทียนชัย กันลม มิให้เทียนชัยดับ
การปฏิบัติ
พิธีบวงสรวง
– ประธานในพิธีจุดธูปเทียนบูชาฤกษ์หน้าโต๊ะสังเวย
– พราหมณ์บูชาฤกษ์ และอ่านเทวโองการ บวงสรวง
– ประธานในพิธีจุดธูปบูชาปักที่เครื่องสังเวย ตามจำนวนเครื่องสังเวย
พิธีเจริญพระพุทธมนต์
– ประธานในพิธีจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ณ โต๊ะหมู่บูชา
– พิธีกรกล่าวนำผู้ร่วมพิธีบูชาพระรัตนตรัย อาราธนาศีล และรับศีลพร้อมกัน
– พิธีกร อาราธนาพระปริตร
– พระสงฆ์ ๙ รูป เจริญพระพุทธมนต์
– ประธานในพิธีและท่านผู้มีเกียรติ ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม
– ประธานในพิธีกรวดน้ำ
– พระสงฆ์อนุโมทนาให้พร
พิธีจุดเทียนชัย
– นิมนต์พระสงฆ์สวดพุทธาภิเษก ๔ รูป และพระเกจิอาจารย์นั่งปรกประจำ ณ อาสนะ
– ประธานสงฆ์และประธานในพิธีพร้อม ณ สถานที่จัดพิธี
– ประธานสงฆ์เจิมเทียนชัย เทียนพุทธาภิเษกและเทียนมงคล จากนั้นจุดเทียนชัยเมื่อถึงเวลาฤกษ์
– พระสงฆ์ ๔ รูป สวดคาถาจุดเทียนชัย
– ประธานในพิธี จุดเทียนมงคล และเทียนนวหรคุณ เมื่อจบบท “นะโม” จะเริ่มบทสรณคมน์
– จุดธูปอย่างละ ๑ เรื่อยไปในระหว่างที่พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จนครบ ๑๐๘
– จุดเทียน ณ ที่สวดพุทธาภิเษก เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบ
– จุดเทียนพุทธาภิเษกทั้ง ๒ เล่มข้างเทียนชัย
– พระสงฆ์ ๔ รูป สวดพุทธาภิเษกเรื่อยไป อาจเปลี่ยนกันสวดเป็นสำรับ ๆ ก็ได้จนกว่าเทียนจะหมดเล่ม อาจสวดตลอดคืนหรือตามเวลาที่คณะเจ้าภาพกำหนด
– พระนั่งปรกนั่งขัดสมาธิบริกรรมภาวนา พร้อมกับพระสงฆ์สวดพุทธาภิเษก
พิธีดับเทียนชัย
– ประธานสงฆ์ดับเทียนชัยโดยใช้ใบพลู ๗ ใบที่เตรียมไว้ประกบไส้หัวเทียนให้ดับ
– พระสงฆ์สวดคาถาดับเทียนชัย
– ประธานในพิธีและท่านผู้มีเกียรติ ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม
– ประธานในพิธี กรวดน้ำ
– พระสงฆ์อนุโมทนาให้พร
– เสร็จพิธี