พิธีวางศิลาฤกษ์

         พิธีวางศิลาฤกษ์ คือพิธีวางแผ่นศิลาจารึกเวลา วัน เดือน ปี อันเป็นมงคล ที่ เรียกว่า ดวงฤกษ์ แห่งการก่อสร้าง ไว้ ณ บริเวณสถานที่ก่อสร้างอาคารถาวรต่าง ๆ เช่น อาคารทางศาสนา มีโบสถ์ ศาลาการเปรียญ เป็นต้น อาคารของทางการ มีศาลากลาง จังหวัด ศาลาเทศบาล อาคารกองบังคับการของหน่วยทหาร เป็นต้น อาคารของเอกชน มีธนาคาร ภัตตาคาร เป็นต้น

วัตถุประสงค์

          ๑. เพื่อเป็นสิริมงคลต่อการอยู่อาศัย มีความเจริญรุ่งเรือง มั่งคั่ง มั่นคงและอยู่เย็นเป็นสุขตลอดไปตามประเพณีโบราณ

          ๒. เพื่อให้เจ้าภาพและญาติมิตรได้ร่วมประกอบพิธีศาสนาที่ตนเคารพนับถืออันจะเป็นการส่งเสริมความสามัคคีและเพิ่มพูนบุญกุศลต่อไป

การเตรียมการ   (นอกจากพิธีสงฆ์และเครื่องบวงสรวงสังเวย)

          – แผ่นศิลาฤกษ์ (ที่วางดวงฤกษ์เรียบร้อยแล้ว) จำนวน ๑ หรือ ๒ แผ่น

          – ไม้มงคล ๙ ชนิด ได้แก่

          ๑. ไม้ชัยพฤกษ์ หมายถึง การมีโชคลาภ วาสนาที่ดี

          ๒. ไม้ราชพฤกษ์ หมายถึง การมีบุญวาสนา จะได้เป็นใหญ่เป็นโต มีคนเคารพ ยกย่อง นับถือ

          ๓. ไม้ทองหลาง หมายถึง การมีเงินทองอุดมสมบรูณ์

          ๔. ไม้ไผ่ศรีสุก หมายถึง จะมีความสุขกาย สุขใจ

          ๕. ไม้กันเกรา หมายถึง จะมีเครื่องคุ้มครองป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ

          ๖. ไม้ทรงบาดาล หมายถึง การดลบันดาลให้สิ่งดี ๆ บังเกิดขึ้น

          ๗. ไม้สักทอง หมายถึง การมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองให้มั่นคงตลอดไป

          ๘. ไม้พยุง หมายถึง การพยุงฐานะให้มั่นคง

          ๙. ไม้ขนุน หมายถึง จะได้รับการอุดหนุนจุนเจือที่ดี

          – ค้อนตอกไม้มงคล

          – อิฐ เงิน ทอง นาก อย่างละ ๓ แผ่น (รวม ๙ แผ่น)

          – แป้งเจิม ๑ ที่

          – ทองคำเปลวปิดศิลาฤกษ์ ๓ แผ่น พร้อมขี้ผึ้งหรือกระเทียมทาปิดทอง

          – ทรายเสก พอสมควร

          – น้ำพระพุทธมนต์ พอสมควร

          – ปูนผสม พอสมควร

          – ข้าวตอกดอกไม้ พอสมควร

          – เหรียญเงิน เหรียญทอง พอสมควร

          – กล่องอัญมณี (พลอย ๙ สี) ๑ กล่อง

การปฏิบัติ

พระสงฆ์         

          – ปิดทองแผ่นศิลาฤกษ์ พรมน้ำพระพุทธมนต์ และโปรยทรายเสกที่หลุมศิลาฤกษ์

ประธานในพิธี  

          – ไปที่หลุมศิลาฤกษ์ เจิมแผ่นศิลาฤกษ์

          – เจิมแผ่นอิฐเงิน ทอง นาก และไม้มงคล

          – ยืนหรือนั่งหันหน้าไปทางทิศที่เป็นศรีของวันประกอบพิธี (ดูผนวก ก)

          – รับค้อนตอกไม้มงคล (ดูผนวก ข) พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ดนตรีบรรเลงเพลงมหาฤกษ์ พราหมณ์เป่าสังข์ แกว่งบัณเฑาะว์ ลั่นฆ้อง (ถ้ามี)

          – รับเกรียงตักปูนที่พิธีกรเตรียมไว้ หยอดหลักไม้มงคล จนครบ ๙ ต้น

          – รับอิฐเงิน ทอง นาก แล้ววางเป็นรูปวงกลม ตามคำแนะนำ ของพิธีกร (ดูผนวก ค)

          – รับเกรียงตักปูนที่พิธีกรเตรียมไว้ หยอดบนแผ่นอิฐเงิน ทอง นาก จนครบทุกแผ่น

          – รับแผ่นศิลาฤกษ์วางบนแผ่นอิฐเงิน ทอง นาก ให้ได้ ศูนย์กลางพอดี

          – วางกล่องอัญมณีที่หัวแผ่นศิลาฤกษ์

          – โปรยข้าวตอกดอกไม้ลงบนแผ่นศิลาฤกษ์ตามสมควร

ผู้เข้าร่วมพิธี    

          – โปรยข้าวตอกดอกไม้ที่หลุมศิลาฤกษ์จนหมด

          – เสร็จพิธี

หมายเหตุ บางครั้งพระสงฆ์จะเป็นผู้เจิม ปิดทองแผ่นศิลาฤกษ์ แผ่นอิฐเงิน ทอง นาก และไม้มงคลก่อนที่พิธีสงฆ์จะเริ่มขึ้น

ผนวก ก

ทิศที่เป็นศรีของวัน

ผนวก ข

การปักไม้มงคล  ๙  ชนิด

รูปแบบที่ ๑

รูปแบบที่ ๒

ผนวก ค

การวางอิฐ  เงิน  ทอง  นาก  ๙  แผ่น