วัตถุประสงค์
๑. เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของไทย
๒. เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่คู่สมรส
๓. เพื่อให้การเตรียมการและการปฏิบัติพิธีมงคลสมรสมีความถูกต้องและเป็นไปในทางเดียวกัน
กำหนดการ
เวลา ๐๖.๐๙ น. พิธีสู่ขอ พิธียกขันหมาก และพิธีหมั้น ในกรณีทำก่อนวันแต่ง
เวลา ๐๗.๐๙ น. พิธีเจริญพระพุทธมนต์
เวลา ๐๘.๐๙ น. พิธียกขันหมาก และพิธีหมั้น ในกรณีทำในวันเดียวกัน
เวลา ๐๙.๐๙ น. พิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์และประสาทพร
เวลา ๑๐.๓๙ น. พิธีไหว้ผู้ใหญ่
เวลา ๑๑.๐๙ น. พิธีส่งตัวเข้าเรือนหอ ถ้ามี
เวลา ๑๒.๐๐ น. เชิญผู้มีเกียรติรับประทานอาหารกลางวัน
เวลา ๑๘.๐๐ น. พิธีเลี้ยงฉลองมงคลสมรส
เวลา ๒๒.๓๙ น. พิธีส่งตัวเข้าเรือนหอ หรือจะทำในช่วงเช้าก็ได้
หมายเหตุ : พิธีสู่ขอ ในบางครั้งทำหลังพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และพิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ ในบางครั้งก็ทำหลังพิธีไหว้ผู้ใหญ่ ปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม
พิธีสู่ขอ ในกรณีทำก่อนวันแต่ง
การเตรียมการ
ขันหมากประกอบด้วย
– ขันที่ ๑ บรรจุหมาก ๘ คู่ ก้านทาด้วยชาดแดง พลู ๘ เรียง เรียงละ ๘ ใบ ก้านทาด้วยชาดแดง ใบพลูวางรอบขัน หันปลายพลูขึ้นปากขันหมากวางไว้ตรงกลาง บางตำราบอกว่าหมากพลูใช้เท่าไรก็ได้ แต่ขอให้เป็นคู่ๆ
– ขันที่ ๒ บรรจุขนมจีน ๘ จับ และห่อหมก ๘ ห่อ บางตำราว่าขันนี้ไม่จำเป็นต้องจัดก็ได้
– ขันที่ ๓ บรรจุดอกรัก ๗ ดอก, ดอกบานไม่รู้โรย ๗ ดอก, ดอกดาวเรือง ๗ ดอก, ยอดใบเงินใบทองอย่างละ ๓ ยอด, ข้าวเปลือก ๑ ถุง, ถั่วเขียว ๑ ถุง, งาดำ ๑ ถุง ถุงเล็ก ๆ พองาม และแหวน ทองหมั้น วางบนของเหล่านั้น คลุมปากขันด้วยผ้าสีชมพูหรือแดง
ฝ่ายชาย
– ผู้ใหญ่ฝ่ายชายจะเป็นมารดาหรือญาติผู้ใหญ่ พร้อมทั้งตัวเจ้าบ่าวเองต้องไปทำการนัดหมายและตกลงกันในรายละเอียดขั้นตอนการปฏิบัติที่บ้านฝ่ายหญิง เพื่อดูสถานที่และทำความตกลงให้เห็นพ้องต้องกันทั้งสองฝ่ายเพื่อให้พิธีมงคลสมรสครั้งนี้บรรลุเป้าหมายและเรียบร้อยที่สุด
– ญาติฝ่ายชายพร้อมทั้งขบวนขันมากต้องเรียบร้อย ก่อนที่จะออกเดินทางไปยังบ้านฝ่ายหญิง เพื่อให้ทันตามฤกษ์
– ขบวนขันหมากมาถึงบ้านฝ่ายหญิง ฝ่ายชายจะต้องเตรียมเงินใส่ซองสีชมพูตามความเหมาะสม จำนวน ๗ ซอง เมื่อมีการกั้นประตูตามประเพณีเล็กน้อย ประมาณ ๒-๓ ประตู ประตูละ ๒ ซอง และไว้สำหรับเด็กพรหมจารีล้างเท้าเจ้าบ่าวพอเป็นพิธี ๑ ซอง
– ผู้แทนฝ่ายชายกล่าวทำพิธีแบบกันเองง่าย ๆ และสั้น ๆ เมื่อฝ่ายหญิงตอบไม่ขัดข้องตกลงเรียบร้อยแล้ว ให้เริ่มทำพิธีขอหมั้นต่อเนื่องกันเลย ฝ่ายหญิงไม่ขัดข้องก็ทำพิธีสวมแหวนหมั้นหรือสร้อยคอที่ได้ตกลงกันไว้เสร็จแล้วฝ่ายชายเริ่มขอแต่งงานต่อเนื่องกันทันที ฝ่ายหญิงตอบไม่ขัดข้องพระสงฆ์จะมาถึงบริเวณพิธีพอดีคู่บ่าวสาวเข้าประจำที่
– คู่บ่าวสาวเริ่มจุดเทียนแล้วกราบพระ ๓ ครั้ง เข้านั่งประจำที่ พระสงฆ์จะเจริญพระพุทธมนต์ประมาณ ๓ บท คู่บ่าวสาวจะจุดเทียนน้ำมนต์และประเคนบาตรน้ำมนต์ เมื่อพระสงฆ์สวดถึง พาหุง มงคล ๘ คู่บ่าวสาวเริ่มตักบาตรเสร็จแล้วเข้านั่งที่เดิม เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบ ถวายภัตตาหาร
– คู่บ่าวสาวถวายจัตุปัจจัยและเครื่องไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนา คู่บ่าวสาวกรวดน้ำรับพร เสร็จแล้วรับพรจนจบแล้วกราบพระ ๓ ครั้ง เป็นอันว่าเสร็จพิธีสงฆ์
ฝ่ายหญิง
– พิธีกรและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องควรจัดสถานที่ให้เรียบร้อยทุกอย่าง เช่น โต๊ะหมู่บูชา อาสน์สงฆ์ที่รับและวางขันหมากต้องให้เพียงพอกับญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย ที่รดน้ำแก่คู่บ่าวสาว ที่พระฉัน เต็นท์และโต๊ะเก้าอี้สำหรับแขกฟังพระและรับประทานอาหาร
– พิธีกรตรวจความเรียบร้อยเกี่ยวกับโต๊ะหมู่บูชา อาสน์สงฆ์ บาตรน้ำมนต์ ที่พรมน้ำมนต์ ดอกไม้ธูปเทียน สถานที่รับและวางขันหมาก และตั่งรดน้ำ ฯลฯ ให้เรียบร้อย
– จัดผู้แทนเชิญขันหมาก พร้อมด้วยพานบุหรี่ หมากพลูตามประเพณี เมื่อกล่าวเชิญเรียบร้อยแล้วจัดผู้แทนฝ่ายหญิงที่ทำการสมรสแล้วที่เป็นครอบครัวที่อยู่ดีมีสุข จำนวน ๒ คน พร้อมด้วยผ้าหรือสไบสีชมพูหมดคลุมเตรียมรับขันหมาก เมื่อรับแล้วให้วาง ตามสถานที่ที่กำหนด ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายเข้านั่งประจำที่ ผู้แทนฝ่ายชายเป็นผู้กล่าวพิธีขอ พิธีหมั้นและพิธีแต่ง ฝ่ายหญิงเพียงตอบไม่ขัดข้องและยินดีเพียงสั้น ๆ เมื่อพิธีขอเสร็จ ก็เริ่มพิธีหมั้น โดยฝ่ายชาย เจ้าบ่าว สวมแหวนหรือทองหมั้น เมื่อเสร็จพิธีหมั้น ฝ่ายชายขอแต่งทันที ผู้แทนฝ่ายหญิงตอบไม่ขัดข้องก็เริ่มเปิดขันหมาก ขันแต่ง ที่ใส่เงินสินสอดมาทำพิธีตรวจและเรียงเป็นรูปวงกลม เพื่อให้ญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายโปรยข้าวเปลือก ถั่วงา งาดำ เป็นการอวยชัยให้พรแก่คู่บ่าวสาว อยู่ดีมีสุขมีความสุขความเจริญตลอดชีวิตสมรส เสร็จเรียบร้อยแล้ว ช่างภาพถ่ายภาพไว้ดูเป็นสักขีพยานและเป็นที่ระลึกทุกขั้นตอน พิธีกรจะทำพิธีรวบผ้าห่อเงินและของส่งให้เจ้าบ่าวเพื่อมอบให้กับมารดาของฝ่ายเจ้าสาวเป็นค่าตอบแทนค่าน้ำนมและค่าเลี้ยงดู มิใช่มอบให้ตัวเจ้าสาวหรือพ่อตา มารดาฝ่ายหญิงรับแล้วนำไปเก็บเป็นอันเสร็จพิธีตามประเพณีของขันหมาก ฝ่ายหญิงต้องเตรียมเงินใส่ซองไว้สำหรับถ่ายขันหมั้นและขันหมากตามประเพณี
– ลำดับพิธีและขั้นตอนการปฏิบัติคงปฏิบัติเช่นเดียวกับคำชี้แจงของฝ่ายชาย โดยพิธีกรจะเป็นผู้กำกับและชี้แนะเป็นขั้นตอนจนกว่าจะเสร็จพิธี
– ฝ่ายหญิงคงปฏิบัติเช่นเดียวกับฝ่ายชาย
– ญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย พร้อมทั้งแขกผู้ใหญ่ที่ยังไม่กลับทำพิธีผูกแขนอวยชัยให้พรคู่บ่าวสาวถ้ายังไม่ได้มอบซองช่วยในตอนต้นให้มอบซองให้คู่บ่าวสาวในตอนรับไหว้ แต่ถ้ามอบซองให้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องมอบซองเงินให้อีก เพียงแต่ผูกแขนแก่คู่บ่าวสาวและอวยชัยให้พรเท่านั้นพอแล้วการรับไหว้ฝ่ายหญิงควรจัดของชำร่วยสำหรับ เถ้าแก่ บิดามารดาของทั้งสองฝ่าย และญาติผู้ใหญ่แต่ไม่จำเป็นต้องครบจำนวนผู้รับไหว้ทั้งหมดทุกคน อันนี้สุดแล้วแต่จะพิจารณาตามความเหมาะสมของรับไหว้ ถ้าบิดามารดาและญาติผู้ใหญ่เฉพาะราย ควรเป็นผ้าตัดชุด หรือผ้าสำเร็จรูป เช่นกางเกงแพรสำหรับผู้ชายฯ นอกนั้นเป็นผ้าเช็ดตัวขนาดต่าง ๆ ตามความเหมาะสม การปฏิบัติคู่บ่าวสาวต้องมีพานธูปแพ เทียนแพส่งให้ผู้ใหญ่รับ ก่อนส่งพานให้กราบผู้ใหญ่ ๑ ครั้ง แล้วยื่นมือให้ผู้ใหญ่ผูกแขนทั้งสองคน เมื่อผูกแขนเสร็จผู้ใหญ่อาจจะมีซองเงิน, แก้วแหวนเงินทอง หรืออาจจะเพราะได้ให้ไว้ก่อนแล้ว ผู้ใหญ่จะส่งพานคืน ทั้งคู่จะต้องยกมือรับพร้อมกัน เสร็จแล้วกราบอีก ๑ ครั้ง ให้กระทำเช่นนี้ทุกคน
– ฝ่ายหญิงต้องเตรียมห้องหอสำหรับพิธีส่งตัว เมื่อถึงเวลาผู้ใหญ่ที่ทำพิธีปูที่นอนและทำพิธีส่งตัวและให้คำแนะนำวิธีการครองเรือนของชีวิตคู่ บางท่านอาจจะให้คู่บ่าวสาวกระทำตามคำสั่งของท่าน เพื่อเอาเป็นเคล็ด หรือเป็นมงคลเป็นแนวทางในการครองเรือน เพื่อความสุขความเจริญของคู่บ่าวสาวเอง เมื่อทำพิธีเสร็จเรียบร้อยแล้วให้คู่บ่าวสาวอยู่ในห้องชั่วช้างสะบัดหู ประมาณ ๓ – ๕ นาที ก็ออกมาทำธุรกิจส่วนตัวได้ เช่นส่งแขกและขอบคุณแขกผู้ใหญ่ที่อยู่ในพิธีส่งตัว
การปฏิบัติ พิธียกขันหมาก หรือแห่ขันหมาก และพิธีสู่ขอ
– เชิญเจ้าบ่าว, บิดามารดาเจ้าบ่าว, ญาติพี่น้อง ตลอดจนเพื่อน ๆ ของเจ้าบ่าว ตั้งขบวน ขันหมาก ณ จุดตามที่กำหนดไว้
– เถ้าแก่ฝ่ายเจ้าบ่าวเป็นผู้นำขบวนขันหมากสู่บ้านเจ้าสาว
– ขบวนขันหมากเคลื่อนขบวนถึงบ้านเจ้าสาว ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวออกไปต้อนรับ พร้อมกับให้เด็กถือพานหมากออกไปด้วย เมื่อขบวนขันหมากมาถึงก็เอ่ยถามไปว่า “วันนี้ฤกษ์งามยามดี พวกท่านมาดีหรือมาร้าย ใคร่ขอทราบ ” ผู้ใหญ่ฝ่ายชายก็ตอบไปว่า “ วันนี้ฤกษ์งามยามดี ท่านเศรษฐีผู้ใหญ่ ท่านจะเอาแก้วเข้ามาเกย จะเอาเขยเข้ามาฝาก จะเอาขันหมากเข้ามาให้ ถ้าไม่ขัดข้องขอให้รับไว้ด้วย ” แล้วเดินผ่านประตู ๓ ประตู คือ ประตูเงิน ประตูนาก และประตูทอง เถ้าแก่ฝ่ายเจ้าบ่าว เป็นผู้เจรจาให้ขบวนขันหมากผ่าน เมื่อให้ซองรางวัลแก่ผู้กั้นประตูแต่ละประตูทุกคนแล้ว ก็ผ่านเข้าไปด้านใน (ผู้กั้นประตู) : บ้านนี้เป็นบ้านใหญ่บ้านโตมีผู้คนมากมาย การจะผ่านเข้า ผ่านออกจะต้องแจ้งให้นายประตูทราบก่อน จึงจะผ่านเข้าไปได้
– ขบวนขันหมากถึงห้องทำพิธีสู่ขอ เถ้าแก่ฝ่ายหญิง กล่าวต้อนรับ จัดคนถือพานมาลัยมอบให้แก่เถ้าแก่ฝ่ายชายท่านละ ๑ พวง ใช้พวงมาลัย ๒ พวง
– เถ้าแก่ฝ่ายชายรับพวงมาลัย แล้วมอบซองรางวัลให้ผู้ถือพาน
– มอบพวงมาลัยให้บิดา – มารดาของเจ้าบ่าว พวงมาลัย ๒ พวง
– ญาติฝ่ายเจ้าสาวรับพานขันหมากจากขบวน และนำไปวางยังที่ที่จัดไว้
– เชิญบิดามารดาฝ่ายเจ้าบ่าวและฝ่ายเจ้าสาว, ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าวและฝ่าย เจ้าสาว, เถ้าแก่ฝ่ายเจ้าบ่าวและฝ่ายเจ้าสาว นั่งตามที่ที่จัดไว้
– เชิญเจ้าสาวเข้าสู่บริเวณพิธี ฯ นั่งด้านซ้ายเจ้าบ่าว น้อมไหว้คุณพ่อ คุณแม่ – เจ้าบ่าว
– เถ้าแก่ฝ่ายชาย กล่าวคำสู่ขอ “ วันนี้ ฤกษ์งามยามดี อยากจะมาสู่ขอ………………. ซึ่งเป็นกุลสตรี ไปเป็นแม่ศรีเรือนให้กับ………………”และมอบพานขันหมาก, พานสินสอด และ พานแหวน,ทองหมั้น ให้แก่เถ้าแก่ฝ่ายหญิง
– เถ้าแก่ฝ่ายหญิง กล่าวรับขันหมาก “ถ้าผู้ใหญ่ฝ่ายชายเห็นว่า………………..เหมาะสมที่จะเป็นแม่บ้านแม่เรือนได้ ก็ไม่ขัดข้อง และขอฝากให้ฝ่ายชาย ช่วยว่ากล่าวตักเตือนด้วย” แล้วเชิญเถ้าแก่ฝ่ายชาย, คุณพ่อคุณแม่ฝ่ายเจ้าบ่าว และเจ้าสาวร่วมกันเปิดขันหมาก ขันสินสอด ขันแหวนหมั้น
– เถ้าแก่ฝ่ายชายทำการเปิดขันหมากทั้งสามขัน โดยปูผ้าห่อขันหมากที่พื้นหยิบใบเงิน ใบทอง ใบนาก เรียงบนผ้าก่อน แล้ววางสินสอด ถั่ว งา ข้าวเปลือก ข้าวตอก ไว้ข้างบน ขณะนับเงินสินสอดก็ให้พูดแต่คำที่เป็นสิริมงคล เช่น ข้าวตอกที่เบ่งบาน แสดงว่าจะมีฐานะใหญ่โต, ถั่วเขียว งาดำ หมายถึงความงอกงาม, ใบเงิน ใบทอง ใบนาก หมายถึงแก้วแหวนเงินทอง, พลูเรียง หมายถึงต่อไปนี้จะเป็นญาติเรียงพี่เรียงน้องกัน, หมากมีรสฝาด มีคุณสมบัติในการ ประสานแผล หมายความว่า เมื่อมีการผิดพลาดล่วงเกินกัน ก็ขออภัยให้กัน
การปฏิบัติ พิธีหมั้น
– เจ้าบ่าวสวมแหวนหมั้นให้เจ้าสาว เจ้าสาวยกมือไหว้เจ้าบ่าว แล้วยกมือซ้าย ให้เจ้าบ่าวสวมแหวนหมั้น
– เจ้าบ่าว – เจ้าสาว กราบคุณพ่อคุณแม่ของเจ้าสาว แล้วกราบคุณพ่อคุณแม่ของเจ้าบ่าวตามลำดับ
– เถ้าแก่ฝ่ายเจ้าสาว ผูกผ้าห่อสินสอดให้เรียบร้อยและมอบให้คุณแม่เจ้าสาวเก็บไว้
– ถ่ายรูปร่วมกัน
– เสร็จพิธีสู่ขอ
การเซ่นไหว้บรรพบุรุษ
๑. เครื่องเซ่นไหว้บรรพบุรุษ
– ธูปเทียน เวลาจะไหว้ใช้ ธูป ๕ ดอก
– เครื่องเซ่นไหว้มี มะพร้าวอ่อน ๑ คู่ กล้วยน้ำว้า ๑ คู่ ไก่ต้ม ๑ ตัว ปลาแป๊ะซะ ๑ ตัว และ หมูนอนตอง
– ผ้าขาว ๑ พับ ประมาณ ๔ ศอก หรือ ๒ เมตร
๒. การเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ถ้าในงานนี้มีพิธีสงฆ์ด้วย ให้ทำการเซ่นไหว้ในขณะที่พระสงฆ์กำลังฉันภัตตาหาร เมื่อเจ้าบ่าวเจ้าสาวประเคนภัตตาหารเสร็จแล้ว ก็ไปทำพิธีเซ่นไหว้ เครื่องเซ่นไหว้บรรพบุรุษนิยมตั้งในที่กลางแจ้ง จัดตั้งโต๊ะเอาผ้าขาวปูวางเครื่องเซ่นไหว้เตรียมไว้ พอได้เวลาเจ้าบ่าว – เจ้าสาวไปจุดเทียนธูปทำพิธีเซ่นไหว้
๓. ตัวอย่างคำกล่าวในพิธีเซ่นไหว้ “วันนี้เป็นวันฤกษ์งามยามดี ลูกหลานทั้งสองจะได้ประกอบพิธีมงคลสมรส พร้อมนี้ลูกหลานได้จัดตกแต่งข้าวปลาอาหาร ส้มสุกลูกไม้ขนมนมเนยล้วนแต่ของประณีตมีรสเลิศนำมาเซ่นไหว้ ขอเชิญผีบรรพบุรุษทั้งหลาย ผีบ้านผีเรือน พระภูมิเจ้าที่ พระแม่ธรณี คงคา เทพยดาอารักษ์ ได้โปรดมาพร้อมกัน ณ สถานที่นี้ และรับเครื่องเซ่นกระยาบวชของข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอให้ชีวิตสมรสของข้าพเจ้าทั้งสองมีความร่มเย็นเป็นสุข เป็นชีวิตคู่ที่มั่นคงมีความเจริญก้าวหน้า ขอให้มีบุตรธิดาที่มีบุญวาสนามาเกิด มีสติปัญญา เป็นลูกที่ว่านอนสอนง่าย เป็นอภิชาตบุตร ”
๔. ผ้าขาว เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ให้นำไปถวายพระหรือนางชี ส่วนเครื่องเซ่นไหว้ให้แบ่งเฉลี่ยกันรับประทาน
พิธีเจริญพระพุทธมนต์
การเตรียมการพิธีสงฆ์
– โต๊ะหมู่บูชา/ที่รองกราบแบบคุกเข่า ๒ ชุด หรือหมอนรองกราบ ๒ ใบ
– พานดอกไม้สด ๕ พาน/ กระถางธูป/ เทียนเกลียว ๑๒ นิ้ว ๑ คู่
– เชิงเทียนชนวน/ เทียนเกลียว ประดับดอกไม้ ๑ ชุด
– อาสนะพิง ๙ ที่
– ของใช้พิธีสงฆ์ครบ
– กี๋น้ำชา/ น้ำชา/ เครื่องดื่มถวายพระ ๙ ชุด
– โต๊ะวางเครื่องไทยธรรม
– โต๊ะสำหรับใส่บาตร พร้อมผ้าระบาย
– อาหารสำหรับเจ้าบ่าว/เจ้าสาวใส่บาตร พร้อมขันและทัพพี
– บาตร ๙ ใบ หรือภาชนะอื่น เช่น จานใบใหญ่พอสมควร แทนบาตรก็ได้
– โซฟาสำหรับประธาน ๑ ชุด/ เก้าอี้เจ้าบ่าว/เจ้าสาว ๑ ชุด
– ดอกไม้ประดับโต๊ะประธาน ๑ ชุด/ โต๊ะด้านหน้าเจ้าบ่าว/เจ้าสาว ๑ ชุด
– โตกข้าวพระพุทธ ๑ ชุด
การปฏิบัติ ลำดับพิธี
– เจ้าบ่าว เจ้าสาว พร้อมด้วยคุณพ่อ คุณแม่ ญาติ และแขกผู้มีเกียรติ พร้อม ณ สถานที่ประกอบพิธีสงฆ์ หญิงซ้ายชายขวา
– เจ้าบ่าว- เจ้าสาว จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย โดยรับเทียนชนวนจากพิธีกร ถือเทียนชนวนด้วยกัน จุดเทียนเล่มซ้ายมือก่อน แล้วจุดเล่มขวามือ ต่อจากนั้น จุดธูปเรียงจากดอกซ้ายมือไปหาดอกขวามือ แล้วส่งเทียนชนวนคืนให้พิธีกร พนมมือ กล่าวคำบูชาอธิษฐานว่า “ข้าพเจ้าขอน้อมสักการะบูชาคุณพระศรีรัตนตรัย ด้วยเครื่องสักการะนี้ ข้าพเจ้าทั้งสองจะซื่อสัตย์ต่อกันอย่างมั่นคง จะดำรงชีวิต ด้วยความถูกต้องดีงามทุกประการ ด้วยอำนาจสัจวาจานี้ ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย ได้โปรดบันดาลประทานพรให้ข้าพเจ้าทั้งสอง ประสบแต่ความสุขความเจริญ ความก้าวหน้าในชีวิตยิ่ง ๆ ขึ้นไปเทอญ ” แล้วกราบพระพุทธรูปที่โต๊ะหมู่บูชา ๓ ครั้ง แล้วหันไปทางพระสงฆ์ กราบพระสงฆ์ ๓ ครั้ง
– พิธีกรอาราธนาศีล, พระสงฆ์ให้ศีล, เจ้าบ่าว-เจ้าสาว และผู้ร่วมพิธีฯ รับศีล
– พิธีกรอาราธนาพระปริตร, พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
– เจ้าบ่าว – เจ้าสาว และผู้ร่วมพิธี ฯ รับฟังพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
– พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ถึงบท อะเสวะนา จะ พาลานัง………….พิธีกรเชิญ
– เจ้าบ่าวและเจ้าสาวจุดเทียนน้ำมนต์ โดยเจ้าบ่าว – เจ้าสาว ถือเทียนชนวนด้วยกัน จุดเทียนน้ำมนต์แล้วส่งเทียนชนวนให้พิธีกร ยกขัน ครอบ,บาตรน้ำมนต์ ถวายประธานสงฆ์ เสร็จแล้วกลับมานั่งที่เดิม
– พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ถึงบท “พาหุง” พิธีกรเชิญเจ้าบ่าวเจ้าสาวใส่บาตรร่วมกัน เสร็จแล้วกลับไปนั่งที่เดิม และรับฟังพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
– พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบ พิธีกรเชิญเจ้าบ่าว – เจ้าสาว ถวายข้าวพระพุทธ, ถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว
– พิธีกรเชิญเจ้าบ่าว – เจ้าสาว ถวายเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์
– พระสงฆ์กล่าวให้โอวาท และอนุโมทนา
– เจ้าบ่าว เจ้าสาวกรวดน้ำ เสร็จแล้วรับฟังพระสงฆ์อนุโมทนาไปจนจบ
– เจ้าบ่าว เจ้าสาวรับการประพรมน้ำพระพุทธมนต์จากพระสงฆ์ทีละรูป จนครบทั้ง ๙ รูป
– เจ้าบ่าว เจ้าสาวกราบพระสงฆ์ ๓ ครั้ง และเข้าไปกราบพระพุทธรูปที่โต๊ะหมู่บูชา ๓ ครั้ง เสร็จแล้ว ลุกไปยืนรอส่งพระสงฆ์
– เสร็จพิธี
พิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ หลั่งน้ำสังข์
เตรียมการพิธีหลั่งน้ำสังข์
– โต๊ะหมู่บูชา ใช้ชุดเดิม
– โต๊ะตั้งสังข์ ๑ ชุด
– ฉากกั้นด้านหลัง พร้อมผ้าระบาย
– ติดตัวหนังสือ ชื่อเจ้าบ่าว/เจ้าสาว
– ดอกไม้รับน้ำสังข์ ๒ พาน
– ดอกไม้ประดับต้นเชิงเทียน ๒ ต้น
– พวงมาลัยเจ้าบ่าว/เจ้าสาว ๒ พวง
– ด้ายมงคลแฝด ๑ คู่
– แป้งเจิม ๑ ชุด
– ของชำร่วยสำหรับแขกผู้มาหลั่งน้ำสังข์
– โต๊ะวางของชำร่วย ๑ ตัว/ พานโตก ๒ ใบ/ ผู้มอบ ๒ ท่าน
– เพื่อนเจ้าบ่าว/ เจ้าสาว
การปฏิบัติ ลำดับพิธี
– เจ้าบ่าว เจ้าสาว และผู้มีเกียรติพร้อมที่ห้องพิธี ฯ พิธีกรเชิญประธาน ฯ จุดเทียนธูปบูชา พระรัตนตรัย กราบ ๓ ครั้ง
– เจ้าบ่าว เจ้าสาว กราบพระรัตนตรัย ๓ ครั้ง แล้วเข้านั่งประจำที่ ณ ตั่งรองรับน้ำสังข์
– เพื่อนเจ้าบ่าว – เจ้าสาว เข้ายืนประจำที่ ณ จุดที่กำหนด
– ประธาน ฯ คล้องมาลัยมงคล มาลัย ๒ ชาย แก่เจ้าบ่าว เจ้าสาว
– เจ้าบ่าว เจ้าสาวพนมมือรับการคล้องมาลัยจากประธาน ฯ
– ประธาน ฯ สวมด้ายมงคลแฝดแก่เจ้าบ่าว – เจ้าสาว, เจิมแป้งมงคลที่หน้าผาก ของเจ้าบ่าว เจ้าสาว เสร็จแล้วหลั่งน้ำสังข์ประสาทพรแก่เจ้าบ่าว เจ้าสาว
– เจ้าหน้าที่มอบของที่ระลึกแก่ประธาน ฯ
– คุณพ่อ คุณแม่, ญาติผู้ใหญ่ และผู้มีเกียรติ เข้าหลั่งน้ำสังข์ ฯ ตามลำดับ
– เสร็จแล้ว ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกร่วมกัน
– ประธาน ฯ ถอดด้ายมงคลแฝด มอบให้เจ้าบ่าว เจ้าสาว
– เจ้าบ่าว เจ้าสาว แบมือรับด้ายมงคลแฝดด้วยกัน แล้วเก็บไว้เป็นสิริมงคล
– ประธาน ฯ กราบพระรัตนตรัย ๓ ครั้ง
– เจ้าบ่าว เจ้าสาว กราบพระที่โต๊ะหมู่บูชา ๓ ครั้ง เสร็จพิธี ฯ
พิธีไหว้ผู้ใหญ่
การเตรียมการและไหว้ผู้ใหญ่
– ปูพรมลายใหญ่ ๑ ผืน
– โซฟาสำหรับประธาน ๑ ชุด
– เก้าอี้สำหรับแขก
– จัดพานดอกไม้ธูปเทียนแพไหว้ผู้ใหญ่ ๑ ชุด
– จัดพานแหวนหมั้น ๑ พาน
– จัดของชำร่วยสำหรับไหว้ผู้ใหญ่ ตามจำนวนที่กำหนด
– จัดสายสิญจน์สำหรับผูกข้อมือรับขวัญ ตามจำนวนที่กำหนด
– พาน/ขัน สำหรับรับของไหว้ ๑ ใบ
การปฏิบัติ
– เจ้าหน้าที่จัดเตรียมสถานที่ ฯ และสิ่งของรับไหว้ไว้พร้อม
– พิธีกรเชิญคุณพ่อคุณแม่และญาติผู้ใหญ่ของเจ้าบ่าว เจ้าสาว เข้าประจำที่ ณ จุดที่กำหนด
– เจ้าบ่าว – เจ้าสาว นำพานธูปเทียนแพ วางด้านหน้าคุณพ่อ คุณแม่ กราบ ๑ ครั้ง ไม่แบมือ เปิดกรวยดอกไม้บนธูปเทียนแพ ยกพานธูปเทียนแพขึ้น มอบให้คุณพ่อ คุณแม่
– คุณพ่อ คุณแม่ รับพานธูปเทียนแพ กล่าวให้พรแก่เจ้าบ่าว – เจ้าสาวแล้วมอบพาน พร้อมของขวัญ ถ้ามี แก่เจ้าบ่าว – เจ้าสาว
– เจ้าบ่าว – เจ้าสาว รับพานธูปเทียนแพวางไว้ด้านหน้า ข้างขวา มอบของรับไหว้ แก่คุณพ่อ คุณแม่ แล้วกราบ ๑ ครั้ง ไม่แบมือ
– การไหว้ญาติผู้ใหญ่ หรือผู้มีเกียรติอื่นๆ ปฏิบัติเช่นเดียวกับไหว้คุณพ่อคุณแม่ จนครบทุกท่าน เสร็จพิธี ฯ
พิธีจดทะเบียนสมรส
– จัดคนประสานงาน ต้อนรับเจ้าหน้าที่เขต/อำเภอ ที่จะมาทำการจดทะเบียนสมรส
– จัดโต๊ะที่นั่งสำหรับจดทะเบียนสมรส
– จัดเตรียมปากกาพร้อมฐานรองที่เหมาะสม
– เชิญเจ้าบ่าว – เจ้าสาว พร้อมคุณพ่อ คุณแม่ และญาติผู้ใหญ่ของเจ้าบ่าว – เจ้าสาว ร่วมเป็นสักขีพยาน
– เจ้าหน้าที่เขต/อำเภอ กล่าวแนะนำเรื่องการจดทะเบียนแก่เจ้าบ่าว – เจ้าสาว แล้ว เชิญ เจ้าบ่าว – เจ้าสาว ลงนามไว้เป็นหลักฐานการสมรส ฯ
– เสร็จพิธี ฯ
พิธีส่งตัวเจ้าสาว
– เจ้าหน้าที่เตรียมสถานที่, ที่บูชา และอุปกรณ์การส่งตัวเจ้าสาว ฯ ไว้พร้อม
– เจ้าบ่าว – เจ้าสาว, คุณพ่อ คุณแม่ ญาติผู้ใหญ่ ฯ พร้อม
– พิธีกรเชิญคุณพ่อ – คุณแม่ ฯ ญาติผู้ใหญ่ ฯ ปูที่นอนให้เจ้าบ่าว – เจ้าสาว
– พิธีกรเชิญเจ้าบ่าว – เจ้าสาวจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย และกราบพระ
– พิธีกรเชิญคุณพ่อ คุณแม่ ฯ ญาติผู้ใหญ่ ฯ โปรยดอกไม้มงคลและเงิน – ทองบนที่นอนที่ปูไว้แล้ว แล้วเข้านอนบนที่นอนนั้น
– ได้เวลาที่กำหนด คุณพ่อ คุณแม่ ฯ ญาติผู้ใหญ่ ฯ ลุกจากที่นอนและร่วมกันเก็บดอกไม้มงคลพร้อมเงิน-ทองบนที่นอน ฯ แล้วมอบให้แก่เจ้าบ่าว – เจ้าสาว ขั้นตอนนี้ บางแห่งให้เจ้าบ่าว-เจ้าสาว เป็นผู้ปฏิบัติ
– พิธีกรแนะนำอุปกรณ์ที่ใช้ในการส่งตัวเจ้าสาว และวิธีการครองชีวิตสมรส
– เสร็จพิธี ฯ
พิธีส่งตัวเจ้าสาว อีกแบบหนึ่ง
– เจ้าบ่าว – เจ้าสาว, คุณพ่อ – คุณแม่ ญาติผู้ใหญ่ พร้อม
– เจ้าบ่าว – เจ้าสาว จุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย และกราบพระ ๓ ครั้ง
– คุณพ่อ คุณแม่ ญาติผู้ใหญ่ เชิญผู้ใหญ่ที่มีความสุขในการครองเรือนเป็นผู้ปูที่นอน ก่อนปูร้องถามกันว่า นายอยู่ นายยืน นายมั่น นายคง มาหรือยัง ให้มีผู้ตอบว่า มาแล้ว จึงเริ่มปู ปูเสร็จแล้ว ผู้ปูลองนอนดู ชายพูดว่า “แหม ที่นอนนี้ดี จริง ใครได้นอนคงอยู่เย็นเป็นสุขสบาย ” ฝ่ายหญิงก็พูดเสริมว่า “ เราคงมีแต่ความสุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป ” แล้วจึงลุกขึ้นจากที่นอน
– คุณพ่อ – คุณแม่ ญาติผู้ใหญ่ ประพรมน้ำพระพุทธมนต์บนที่นอน และโปรยดอกไม้มงคลและเงิน – ทอง บนที่นอน
– คุณพ่อ – คุณแม่ ญาติผู้ใหญ่ ฝ่ายเจ้าสาวนำเจ้าสาวเข้ามา เจ้าสาวไหว้หรือกราบเจ้าบ่าว
– คุณพ่อ – คุณแม่ ญาติผู้ใหญ่ ฝ่ายเจ้าสาวกล่าวฝากฝังเจ้าสาวกับเจ้าบ่าว ให้ทั้งสองมีความซื่อสัตย์ต่อกันและรักกันมั่นคง อวยพรให้มีความสุขความเจริญ แล้วทุกคนออกจากห้อง
– เสร็จพิธี
หมายเหตุ : สิ่งของที่จัดในพิธีส่งตัวเจ้าสาว
๑. ของใช้สำหรับประกอบพิธี
๑.๑ ดอกไม้มงคล ดอกมะลิ ดอกพุทธรักษา ดอกบานชื่น ดอกดาวเรือง ดอกบัว ดอกรัก ดอกกุหลาบ ดอกสร้อยทอง ดอกบานไม่รู้โรย หรือเท่าที่หาได้
๑.๒ เหรียญเงิน ๙ เหรียญ
๑.๓ เหรียญทอง ๙ เหรียญ
๑.๔ จัดของทั้งหมดใส่รวมในพาน ดอกไม้ใช้เฉพาะกลีบดอก
๑.๕ ขันน้ำมนต์ ๑ ใบ พร้อมใบเงิน ใบทอง ใบมะยม สำหรับทำที่ประพรมน้ำพระพุทธมนต์
๒. สิ่งของสำหรับการส่งตัว ถ้าเจ้าภาพประสงค์จะจัด
๒.๑ หินบดยา ๑ ก้อน หมายถึง จิตใจหนักแน่น
๒.๒ ไม้เท้า ๑ อัน หมายถึง อายุยืน
๒.๓ ฟักเขียว ๑ ลูก หมายถึง ความเยือกเย็น อยู่เย็นเป็นสุข
๒.๔ ถั่วงาอย่างละ ๑ ถุง หมายถึง ความเจริญงอกงาม เพิ่มพูน
๒.๕ ภาชนะน้ำ ๑ ที่ หมายถึง ความสามัคคี กลมเกลียว เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
๒.๖ จัดของทั้งหมดใส่พานโตก หรือถาด วางไว้บนโต๊ะในเรือนหอ
งานเลี้ยงฉลองมงคลสมรส
การเตรียมการ
– ข้อมูล เจ้าบ่าว เจ้าสาว ประวัติ การศึกษา ตำแหน่งหน้าที่การงาน มูลเหตุแห่งความรักฯลฯ บิดา มารดา ประธานในพิธี
– ข้อมูล ร้านอาหาร วงดนตรี ประธาน ผู้ร่วมงาน
– เทียนชนวน สำหรับจุดเทียนมงคล แก้วน้ำ สำหรับประธาน เพื่อเชิญดื่มอวยพร
การปฏิบัติ ลำดับพิธี
๑. ประธานและแขกผู้มีเกียรติพร้อม ณ สถานที่จัดงานเลี้ยง เชิญเจ้าบ่าว-เจ้าสาว ขึ้นเวที
๒. เชิญประธาน หรือผู้ใหญ่ที่สุดในพิธี คล้องมาลัยมงคลแก่เจ้าบ่าว – เจ้าสาว ในกรณีที่ยังไม่คล้อง เจ้าบ่าว – เจ้าสาวออกไปรับแขกตามปกติ
๓. เริ่มงานเลี้ยงฉลองมงคลสมรส
๓.๑ เชิญเจ้าบ่าว เจ้าสาว จุดเทียนมงคล ถ้ามี
๓.๒ เชิญแขกผู้มีเกียรติรับประทานอาหาร ให้เจ้าบ่าว-เจ้าสาวตักอาหารหวานคาว ให้ประธานใน ในกรณีเลี้ยงบุฟเฟต์ ถ้าเลี้ยงโต๊ะจีน ให้เจ้าบ่าว – เจ้าสาว ไปที่โต๊ะประธาน เชิญประธานและ รับประทานอาหาร พอเป็นพิธี
๔. ดนตรีบรรเลง, เจ้าบ่าว – เจ้าสาว ถ่ายรูปภาพตามโต๊ะต่าง ๆ มอบของชำร่วย
๕. พิธีกรขึ้นสู่เวที
๕.๑ เชิญเจ้าบ่าวเจ้าสาวขึ้นเวทีและแนะนำเจ้าบ่าว – เจ้าสาว
๕.๒ เชิญประธานในพิธีฯ ให้โอวาท และอวยพรเจ้าบ่าว – เจ้าสาว
๕.๓ เชิญเจ้าบ่าว กล่าวขอบคุณ หรือกล่าวกับท่านผู้มีเกียรติ และเชิญเจ้าสาวกล่าวต่อ
๕.๔ พิธีกรกล่าวสรุป, กล่าวขอบคุณแขกผู้มาร่วมงานแทนเจ้าภาพ, และอวยพรแก่เจ้าบ่าว – เจ้าสาว ในนามแขกทุกท่าน
๕.๕ เชิญเจ้าบ่าว – เจ้าสาว ตัดเค้กมงคล ( ถ้ามี ) เสร็จแล้วให้เจ้าบ่าว-เจ้าสาวนำไป มอบให้ประธาน และผู้ใหญ่ในงาน อยู่โต๊ะเดียวกัน นอกนั้นเจ้าหน้าที่บริการให้เอง
——————-