วัตถุประสงค์
๑. เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีชีวิตอยู่ได้บำเพ็ญบุญกุศลให้แด่ผู้วายชนม์
๒. เพื่อเป็นการบำรุงขวัญและกำลังใจแก่ผู้มีชีวิตอยู่
๓. เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งประเพณี วัฒนธรรมทางศาสนา
๔. เพื่อให้ผู้ศึกษาได้รู้เข้าใจและสามารถปฏิบัติพิธีศพได้อย่างถูกต้อง
การอาบน้ำชำระร่างกายศพ
เป็นเรื่องภายในครอบครัวระหว่างญาติสนิท ไม่ต้องเชิญคนภายนอก เป็นการอาบน้ำชำระร่างกายศพจริง โดยอาบน้ำอุ่นก่อน แล้วล้างด้วยน้ำเย็น ฟอกสบู่ขัดถูร่างกายศพให้สะอาด (แพทย์จะใช้สำลีอุดจมูกศพกันน้ำเหลืองไหลออก และกันแมลงไต่ตอมไว้ให้เรียบร้อย (จะฉีดยาป้องกันกลิ่นศพหรือไม่ สุดแต่ทางญาติ (ทายาท) จะประสงค์)
อาบน้ำเสร็จแล้ว ใช้ขมิ้นทาทั่วร่างกายศพ และประพรมน้ำหอม ใช้ผ้าขาวซับรอยหน้าฝ่ามือทั้งสอง แล้วมอบแก่ลูกหลานเก็บไว้บูชา
– อาบน้ำชำระร่างกายศพแล้ว แต่งตัวศพตามฐานะของผู้ตาย โดยใช้เสื้อผ้าสะอาดและใหม่ที่สุดเท่าทีมีอยู่ ศพข้าราชการให้แต่งเครื่องแบบชุดขาวเต็มยศ ไม่ต้องมีผ้าคลุมใด ๆ ทั้งสิ้น
การเตรียมการ
– จัดตั้งเตียงรองศพสำหรับรดน้ำศพ ณ สถานที่อันเหมาะสมภายในศาลาบำเพ็ญกุศล
– ตั้งศพหันด้านขวามือศพ หรือด้านปลายเท้าศพให้อยู่ทางผู้ที่มาแสดงความเคารพศพ
– จัดร่างศพให้นอนหงายเหยียดยาว จัดมือขวาให้เหยียดออกห่างจากตัวศพเล็กน้อย โดยให้วางมือแบบเหยียดออกคอยรับการรดน้ำ
– ใช้ผ้าใหม่ ๆ (โดยมากใช้ผ้าแพรห่มนอน) คลุมตลอดร่างศพ เปิดเฉพาะหน้า และมือขวาของศพเท่านั้น แต่ศพที่ร่างกายประสบอุบัติเหตุ ซึ่งอวัยวะฉีกขาดไม่อยู่ในสภาพที่ให้ดูได้ หรือไม่น่าดู ให้โยงสายสิญจน์จากร่างหรือหีบศพไปยังภาชนะรองรับการรดน้ำ และประกอบพิธีรดน้ำ ที่สายสิญจน์นั้น โดยไม่ต้องเปิดผ้าคลุมศพเมื่อจะประกอบพิธีรดน้ำศพ
– จัดเตรียมขันน้ำพานรองขนาดใหญ่พอสมควร ตั้งไว้รองรับน้ำที่รดศพแล้วนั้น พร้อมทั้งเตรียมน้ำอบ น้ำหอม และภาชนะเล็ก ๆ สำหรับตักให้แก่ผู้มารดน้ำศพ
– จัดบุคคลผู้ใกล้ชิดกับผู้ตายหรือลูกหลาน คอยส่งภาชนะสำหรับแขกที่มารดน้ำศพ
การปฏิบัติ (ลำดับพิธี)
– เจ้าภาพเชิญผู้มีอาวุโสสูงสุด ณ ที่นั้นเป็นประธาน จุดธูปเทียนด้านเหนือศีรษะของศพ เคารพศพ แล้วทำการรดน้ำศพเป็นคนแรก
– ลูกหลานส่งน้ำรดศพให้ประธานฯ และผู้ร่วมพิธี
– ผู้ร่วมพิธีเข้าร่วมรดน้ำศพจนครบทุกคน
– เสร็จพิธี
หมายเหตุ
ในพิธีทางราชการ เมื่อประกอบพิธีรดน้ำศพ (อาบน้ำศพ) และตั้งศพยังที่ตั้งเรียบร้อยแล้ว เจ้าภาพจะนิมนต์พระสงฆ์ ๑๐ – ๒๐ รูป บังสุกุล จบแล้ว ถวายไทยธรรม แล้วกรวดน้ำ – รับพร หรือนิมนต์พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม ก่อนการบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมประจำคืนด้วยก็ได้
พิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ
การเตรียมการ
– การเตรียมการเบื้องต้นเหมือนกับพิธีรดน้ำศพ
– จัดโต๊ะ ๑ ตัว ปูผ้าขาวสำหรับตั้งน้ำหลวงพระราชทานไว้ด้านเหนือศีรษะของศพ
การปฏิบัติ (ลำดับพิธี)
– เจ้าภาพเชิญผู้มีอาวุโสสูงสุด ทำการรดน้ำศพเป็นคนแรก
– ผู้ร่วมพิธีฯ เข้ารดน้ำศพตามลำดับให้เสร็จสิ้นก่อนประกอบพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ
– พนักงานพระราชพิธี สำนักพระราชวัง เชิญน้ำหลวงพระราชทาน (น้ำ, น้ำหอม, น้ำขมิ้น) มาถึงสถานที่ประกอบพิธี
– คณะเจ้าภาพเข้าแถวรับน้ำหลวงพระราชทาน ณ ประตูทางเข้าสถานที่ประกอบพิธี
– พนักงานพระราชพิธีฯ เชิญน้ำหลวงพระราชทานไปตั้งที่โต๊ะด้านเหนือศีรษะของศพ
– ประธานในพิธีประกอบพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ
– พนักงานพระราชพิธีฯ ยกร่างศพขึ้นเฉพาะส่วนบน (ครึ่งลำตัวท่อนบนของศพ) เพื่อรับน้ำหลวงพระราชทานอาบศพ
– ประธานในพิธีประกอบพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ
– พนักงานพระราชพิธีฯ ยกร่างศพขึ้นเฉพาะส่วนบน (ครึ่งลำตัวท่อนบนของศพ) เพื่อรับน้ำหลวงพระราชทานอาบศพ
– ประธานฯ ยืนหันหน้าไปทางทิศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับฯ ณ วันนั้น ถวายคำนับ ๑ ครั้ง แล้วยืนหันหน้าไปทางศพ
– พนักงานพระราชพิธีฯ เชิญน้ำหลวง น้ำหอม และน้ำขมิ้น ส่งให้ประธานตามลำดับ
– ประธานฯ หลั่งน้ำหลวงพระราชทานที่ร่างศพ โดยหลั่งน้ำหลวง น้ำหอม และน้ำขมิ้น รดลงโดยเริ่มจากบ่าขวาของศพเฉียงลงไปตามร่องอกตามลำดับ เสร็จแล้วยืนหันหน้าตรงไปทางทิศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับฯ ณ วันนั้น แล้วถวายคำนับอีก ๑ ครั้ง
– ทายาทของผู้ถึงแก่กรรมหวีผมให้ศพ โดยหวีลงแล้วหวีขึ้น (หวีลงมีความหมายว่า “ตาย” หวีขึ้นมีความหมายว่า “ได้เกิดใหม่” จากนั้นหักหวีที่ใช้แล้วนั้นทิ้งไป)
– เจ้าหน้าที่ทำสุกกำศพ (มัดตราสัง) แล้วห่อร่างกายศพยกลงหีบ (โลง) หรือใส่โกศตามฐานะของศพ
– เสร็จพิธี
พิธีสวดพระอภิธรรม
การเตรียมการ
– จัดดอกไม้ประดับหน้าหีบศพ
– จัดกรอบภาพขนาดใหญ่พอสมควร โดยเขียนวัน-เดือน-ปีเกิด-ปีตาย ของผู้ตายไว้ใต้ภาพถ่ายนั้น (“เกิด” ใช้ว่า ชาตะ และ “ตาย” ใช้ว่า มตะ หรือ มรณะ) ตั้งกรอบภาพถ่ายบนขาตั้งไว้ทางด้านเท้าของศพ
– ผู้ตายเป็นข้าราชการ ให้นำเครื่องแบบที่ติดเครื่องหมายยศเรียบร้อยแล้วตั้งไว้เบื้องหน้าศพ (ด้านเท้าของศพ) โดยใช้โต๊ะขนาดเล็กรองรับให้สูงพอสมควร
– วางเครื่องราชอิสริยาภรณ์-เหรียญตรา (ถ้ามี) ติดกับหมอนรอง โดยใส่วางบนพานหรือโตกแล้ว ตั้งวางไว้เบื้องหน้าที่ตั้งศพ โดยใช้โต๊ะขนาดเล็กรองรับให้สูงพอสมควร
– กำหนดการสวดพระอภิธรรม ๓ คืน ๕ คืน ๗ คืน หรือ ๙ คืน แล้วแต่เจ้าภาพ
– เครื่องไทยธรรมสำหรับถวายพระสงฆ์คืนละ ๔ ชุด
– ผ้าบังสุกุลคืนละ ๔ ผืน
หมายเหตุ
๑. ศพที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์จะได้รับพระราชทานพระพิธีธรรมในพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสวดพระอภิธรรม
๒. ยานพาหนะรับ – ส่งพระพิธีธรรม, การจัดเครื่องจตุปัจจัยไทยธรรม และค่าใช้จ่ายในห้วงการบำเพ็ญ พระราชกุศลฯ นี้ สำนักพระราชวังจะเป็นฝ่ายดำเนินการเองทั้งหมด
การปฏิบัติ (ลำดับพิธี)
เวลา ๑๙.๐๐ น.
– พระสงฆ์สวดพระอภิธรรมพร้อม, ผู้ร่วมพิธีพร้อม
– ประธานในพิธีจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย (กราบ ๓ ครั้ง) จุดธูปเทียนที่หน้าตู้พระธรรม (ไหว้ ๑ ครั้ง) และจุดธูปเทียนหน้าศพ
– พิธีกรอาราธนาศีล
– พระสงฆ์ให้ศีล, ผู้ร่วมพิธีรับศีล
– พิธีบางวัดหรือบางแห่งอาจมีการอาราธนาธรรม ให้พิธีกรเรียนถามพระสงฆ์ก่อนการปฏิบัติ
– พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม ๔ จบ หรือตามนิยมของท้องถิ่นนั้น ๆ
– เจ้าหน้าที่เก็บตู้พระธรรมออกไปไว้ที่ท้ายอาสน์สงฆ์
– เจ้าหน้าที่เข้าเทียบเครื่องไทยธรรม
– ประธานฯ และผู้ร่วมพิธีถวายเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์
– เจ้าหน้าที่ลาดผ้าภูษาโยง
– ประธานฯ และผู้ร่วมพิธีทอดผ้าบังสุกุล พระสงฆ์พิจารณาผ้าบังสุกุล
– พระสงฆ์อนุโมทนา, ให้พร
– ประธานฯ กรวดน้ำ – รับพร
– ประธานฯ กราบพระรัตนตรัย, น้อมไหว้พระสงฆ์ และทำความเคารพศพ
– พระสงฆ์กลับ
– เสร็จพิธี
พิธีสวดพระอภิธรรม (พิธีหลวง)
– พระพิธีธรรมขึ้นนั่งบนอาสน์สงฆ์เรียบร้อยแล้ว
– เจ้าหน้าที่ศุภรัตน์ถวายน้ำดื่ม
– ประธานในพิธีจุดธูปเทียนที่เครื่องกระบะมุก แล้วกราบ ๓ ครั้ง (ธูปเทียนที่โต๊ะหมู่บูชา และเครื่องทองน้อยหน้าศพไม่ต้องจุด)
– พระพิธีธรรมเริ่มสวด (ไม่ต้องรับศีล)
– พระพิธีธรรมเริ่มสวด (ไม่ต้องรับศีล)
– พระพิธีธรรมสวดจบ
– ยกเครื่องกระบะมุกออก
– ลาดผ้าภูษาโยง
– ประธานฯ ทอดผ้าบังสุกุลพระราชทาน
– พระสงฆ์อนุโมทนา
– ประธานฯ กรวดน้ำ เสร็จพิธี
หมายเหตุ
๑. ศพที่อยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ (๓ วัน หรือ ๗ วัน) เป็นหน้าที่ของกองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง เป็นผู้ดำเนินการทุกอย่าง
๒. หากเจ้าภาพจะจัดเครื่องไทยธรรม, ดอกไม้ธูปเทียน และปัจจัยถวายเพิ่มเติมก็ได้
๓. เมื่อครบกำหนดในพระบรมราชานุเคราะห์แล้ว ก็ปฏิบัติตามปกติเหมือนพิธีสวดพระอภิธรรมทั่วไป
พิธีบรรจุศพ
การเตรียมการ
– ลูกดินขาว – ดำ ตามจำนวนของผู้ที่มาร่วมพิธี
– ช่อดอกกุหลาบตามจำนวนของผู้ที่มาร่วมพิธี
– ผ้าบังสุกุล ๑ ผืน
– แจกันจัดดอกไม้เรียบร้อย ๑ คู่
– กระถางธูป ๑ ใบ ปักธูป ๑ ดอก
การปฏิบัติ (ลำดับพิธี) หลังจากเสร็จจากการสวดพระอภิธรรมในคืนสุดท้ายแล้ว
– ประธานในพิธีทอดผ้าบังสุกุลหน้าหีบศพ
– พระสงฆ์พิจารณาผ้าบังสุกุล
– ประธานฯ ประกอบพิธีบรรจุศพ โดยวงลูกดินขาว – ดำ และดอกกุหลาบลงในพานรองรับหน้าหีบศพ
– ผู้ร่วมพิธีเข้าร่วมวางลูกดินขาว – ดำ และดอกกุหลาบ ประกอบพิธีบรรจุศพตามลำดับ เสร็จแล้ว
– นิมนต์พระสงฆ์ ๑ รูป เดินจูงศพไปยังสถานที่บรรจุศพ ญาติ ๆ เดินตาม
– เจ้าหน้าที่นำหีบศพบรรจุเข้าไปในช่องสำหรับบรรจุศพ
– เจ้าภาพทอดผ้าบังสุกุลที่ปากหีบศพ
– พระสงฆ์พิจารณาผ้าบังสุกุล
– ญาติ ๆ นำลูกดินขาว-ดำ และดอกไม้วางที่หีบศพ
– เจ้าหน้าที่นำแผ่นป้ายจารึกข้อความ ชาตะ และมรณะ มาวางปิดช่องบรรจุ และฉาบปูนปิด เสร็จแล้วตั้งแจกันดอกไม้ ๑ คู่ และกระถางธูป ๑ ใบ เพื่อทำการบูชาศพ
– เจ้าภาพและผู้ร่วมพิธีจุดธูปไหว้ศพปักที่กระถางธูปคนละ ๑ ดอก
– เสร็จพิธี
การบำเพ็ญกุศลเนื่องในการฌาปนกิจศพ หรือพระราชทานเพลิงศพ
การสวดพระอภิธรรม
การเตรียมการ
– เชิญศพขึ้นตั้งบนศาลาบำเพ็ญกุศลก่อนวันฌาปนกิจศพหรือพระราชทานเพลิงศพ ๑ วัน
– จัดดอกไม้ประดับหน้าหีบศพและจัดเครื่องตั้งหน้าศพ เช่นเดียวกับพิธีสวดพระอภิธรรมครั้งแรก
– จัดเตรียมเครื่องไทยธรรม ๔ ชุด และผ้าบังสุกุล ๔ ผืน
– นิมนต์พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม ๑ คืน
การปฏิบัติ (ลำดับพิธี)
– การปฏิบัติเช่นเดียวกับพิธีสวดพระอภิธรรมตามปกติ
การแสดงพระธรรมเทศนา, สวดพระพุทธมนต์, และมาติกาบังสุกุล
– นิมนต์พระสงฆ์แสดงพระธรรมเทศนา ๑ รูป
– นิมนต์พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ ๑๐ รูป
– กัณฑ์เทศน์สำหรับถวายพระสงฆ์แสดงพระธรรมเทศนา
– เครื่องไทยธรรมสำหรับถวายพระสวดพระพุทธมนต์ ๑๐ ชุด
– ผ้าบังสุกุล ๑๐ ผืน
การปฏิบัติ (ลำดับพิธี)
เวลา ๐๙๓๐ น.
– นิมนต์พระเทศน์ขึ้นสู่อาสน์สงฆ์
– เจ้าภาพจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย กราบ ๓ ครั้ง, จุดเทียนส่องธรรมและไหว้ ๑ ครั้ง และจุดเทียนที่หน้าหีบศพ
– พิธีกรอาราธนาศีล
– พระสงฆ์ให้ศีล ผู้ร่วมพิธีรับศีล
– พิธีกรอาราธนาธรรม
– พระสงฆ์แสดงพระธรรมเทศนา จบแล้วอนุโมทนา
– เจ้าภาพกรวดน้ำ – รับพร
– เจ้าภาพถวายกัณฑ์เทศน์แด่พระเทศน์
เวลา ๑๐๓๐ น.
– นิมนต์พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ขึ้นสู่อาสน์สงฆ์
– พิธีกรอาราธนาพระปริตร
– พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์
– ถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์
– พระสงฆ์สวดมาติกาบังสุกุล
– ถวายเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์
– ทอดผ้าบังสุกุล ๑๐ ผืน
– พระสงฆ์พิจารณาผ้าบังสุกุล
– พระสงฆ์อนุโมทนา
– เจ้าภาพกรวดน้ำ – รับพร
– เสร็จพิธี
พิธีฌาปนกิจศพ
การเตรียมการ
– นิมนต์พระสงฆ์นำศพเวียนเมรุ ๑ รูป
– นิมนต์พระสงฆ์สวดหน้าไฟ ๔ รูป
– นิมนต์พระสงฆ์พิจารณาผ้าบังสุกุลตามจำนวนผ้าที่จะทอด
– ผ้าบังสุกุลตามจำนวนของผู้ทอด
– ดอกไม้จันทน์
– หนังสือ หรือของชำร่วย
การปฏิบัติ (ลำดับพิธี)
เวลา……….น.
– เคลื่อนศพเวียนเมรุ ๓ รอบ (พระสงฆ์นำ ๑ รูป หรือมากกว่าก็ได้)
– เชิญศพขึ้นประดิษฐานบนจิตกาธาน
– ประธานและผู้ร่วมพิธีพร้อม
– ก่อนพิธีกรขึ้นแท่น ให้เคารพศพเป็นลำดับแรก แล้วเคารพประธานฯ
– หลังจากอ่านประวัติและคำไว้อาลัยจบ ก่อนลงจากแท่นให้เคารพประธานฯ แล้วเคารพศพ (เดินทางลงจากแท่นพิธีกร)
– แถวกองทหารเกียรติยศเข้าที่พร้อมหน้าเมรุ (กรณีที่เป็นศพที่ต้องจัดกองเกียรติยศ)
– พิธีกรเชิญแขกผู้ใหญ่ทอดผ้าบังสุกุล โดยจัดลำดับจากผู้มีอาวุโสน้อยไปหาผู้มีอาวุโสมาก และนิมนต์พระสงฆ์ขึ้นพิจารณาผ้าบังสุกุลควบคู่กันไปกับแขกผู้ใหญ่ ตามลำดับ โดยจัดลำดับจากพระสงฆ์ที่มีอาวุโสน้อยไปหาพระสงฆ์ที่มีอาวุโสมากเช่นเดียวกัน
– พิธีกรอ่านประวัติและคำไว้อาลัย จบแล้วเชิญยืนไว้อาลัย (หากเป็นศพที่มีกองทหารเกียรติยศ ไม่ต้องเชิญยืนไว้อาลัย)
– ประธานฯ ทอดผ้าบังสุกุล
– พระสงฆ์พิจารณาผ้าบังสุกุล
– ประธานฯ วางกระทงดอกไม้ (เครื่องขมา)
– เป่าแตรนอน ๑ จบ (กรณีจัดกองทหารเกียรติยศ)
– ประธานฯ ประกอบพิธีฌาปนกิจศพ (จุดดอกไม้จันทน์วางลงที่กลางฐานฟืนใต้หีบศพ)
– เป่าแตรเคารพ ๑ จบ (กรณีจัดกองทหารเกียรติยศ)
– พิธีกรนิมนต์พระสงฆ์ขึ้นวางดอกไม้จันทน์ก่อน (กรณีมีพระสงฆ์มาร่วมงาน) แล้วเชิญ
– ผู้ร่วมพิธีขึ้นวางดอกไม้จันทน์ ตามลำดับ
– เสร็จพิธี
พิธีพระราชทานเพลิงศพ
การเตรียมการ
– การเตรียมการทั่วไปเหมือนพิธีฌาปนกิจศพ
– จัดโต๊ะตัวสูงปูผ้าขาว ๑ ตัว ตั้งไว้ด้านศีรษะของศพ สำหรับวางโคมไฟหลวง และเครื่องขมาศพ และจัดโคมไฟสำหรับต่อเพลิงพระราชทานจากพนักงานพระราชพิธี นำไปรักษาไว้เพื่อใช้ในวาระ สุดท้ายของพิธีพระราชเพลิงศพ
การปฏิบัติ (ลำดับพิธี)
– ประธานและผู้ร่วมพิธีพร้อม
– แถวกองเกียรติยศเข้าที่พร้อมหน้าเมรุ (กรณีที่เป็นศพที่ต้องจัดทหารกองเกียรติยศ)
– พิธีกรเชิญแขกผู้ใหญ่ทอดผ้าบังสุกุล โดยจัดลำดับจากผู้มีอาวุโสน้อยไปหาผู้มีอาวุโสมาก และนิมนต์พระสงฆ์ขึ้นพิจารณาผ้าบังสุกุล ควบคู่กันไปกับแขกผู้ใหญ่ตามลำดับ โดยจัดลำดับจากพระสงฆ์ที่มีอาวุโสน้อยไปหาผู้มีอาวุโสมากเช่นเดียวกัน
– พิธีกรอ่านหมายรับสั่ง
– ผู้แทนเจ้าภาพหรือพิธีกรอ่านสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
– พิธีกรอ่านประวัติและคำไว้อาลัย เชิญยืนไว้อาลัย (หากเป็นศพที่มีทหารกองเกียรติยศไม่ต้องเชิญยืนไว้อาลัย)
– ประธานฯ ทอดผ้าบังสุกุล
– พระสงฆ์พิจารณาผ้าบังสุกุล
– ประธานฯ หันหน้าไปยังทิศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับฯ ถวายคำนับ ๑ ครั้ง วางกระทงข้าวตอก และกระทงดอกไม้ (เครื่องขมา) ที่ฐานฟืนหน้าหีบศพ ทำความเคารพศพ ๑ ครั้ง
– เป่าแตรนอน ๑ จบ (กรณีจัดทหารกองเกียรติยศ)
– ประธานฯ จุดดอกไม้จันทน์พระราชทานที่เพลิงหลวง แล้ววางที่กลางฐานฟืนใต้หีบศพ และรับดอกไม้จันทน์สำหรับประธานฯ วางลงที่ฐานฟื้นใต้หีบศพนั้น (โดยไม่วางทับหรือเทียบเทียมดอกไม้จันทน์พระราชทาน)
– เป่าแตรคำนับ ๑ จบ (กรณีจัดกองทหารเกียรติยศ)
– ประธานฯ ถวายคำนับยังทิศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับฯ อีก ๑ ครั้งแล้วลงจากเมรุ
– พิธีกรนิมนต์พระสงฆ์ขึ้นวางดอกไม้จันทน์ก่อน (กรณีมีพระสงฆ์มาร่วมงาน) แล้วเชิญผู้ร่วมพิธีขึ้นวางดอกไม้จันทน์ตามลำดับ
– เสร็จพิธี
การเก็บอัฐิ
เมื่อการฌาปนกิจเสร็จแล้ว การเก็บอัฐิ บางรายเก็บในตอนเย็นของวันเผาเลย ทั้งนี้ เพื่อจะทำบุญอัฐิให้เสร็จในคราวเดียวกัน โดยเก็บอัฐิในเวลาประมาณ ๑๙.๐๐ น. แล้วนำไปตั้งบำเพ็ญกุศลเช่นเดียวกับพิธีก่อนเผาในคืนวันนั้น เวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น. นิมนต์พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ รุ่งขึ้นถวายภัตตาหารเช้า แล้วนำอัฐิไปบรรจุหรือนำกลับไปเก็บไว้ที่บ้าน ก็เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี แต่ส่วนมากจะเก็บอัฐิในวันรุ่งขึ้นเช่นเดียวกับพิธีทางราชการ
สำหรับชนบทบางท้องที่นิยมเก็บในวันที่ ๗ จากวันเผา แล้วนำไปบำเพ็ญกุศลดังกล่าวมา
การเดินสามหาบ
การเดินสามหาบ ก็คือ พิธีเก็บอัฐินั่นเอง แต่เป็นพิธีเก็บอัฐิแบบเต็มหรือแบบพิเศษซึ่งก็มีอยู่หลายแบบ ที่จะกล่าวต่อไปนี้คือ
รุ่งขึ้นเช้า เจ้าภาพไปเก็บอัฐิเตรียมเครื่องบูชาและเครื่องสามหาบไปด้วย คือ เครื่องทองน้อย (ธูป ๑ เทียน ๑ ใส่เชิงเทียนเล็ก และดอกไม้ทำเป็น ๓ พุ่ม) ๑ ที่, สุหร่าย (ขวดโปรยน้ำ) ใส่น้ำอบไทย ๑ ขวด พานใส่เงิน (เศษสตางค์) ๑ พาน และโกศหรือผ้าขาวที่จะใส่อัฐิ ของเหล่านี้วางไว้ตรงข้างศีรษะอัฐิ
เมื่อพร้อมกันแล้ว ก็ตั้งต้นเดินสามหาบ คือ มีของไปถวายและเลี้ยงพระสงฆ์ ๓ ชุด ชุดที่ ๑ มีไตรครอง (เป็นประเภทเครื่องนุ่งห่ม) ชุดที่ ๒ มีสำรับคาว ๑ หวาน ๑ (เป็นประเภทเครื่องกิน) ชุดที่ ๓ มีหม้อข้าว เตาไฟ (เป็นประเภทเครื่องใช้)
หรือจะจัดสามหาบอีกแบบหนึ่งก็ได้คือ จัดให้มีหม้อข้าว เชิงกราน พริก หอม กระเทียม ฯลฯ อยู่ในสาแหรกข้างหนึ่ง มีของคาวและของหวานอยู่ในสาแหรกข้างหนึ่ง และจัดให้เหมือนกันอย่างนี้สามหาบ จัดให้บุตรหลาน หรือเครือญาติ ๓ คน เป็นผู้หาบ คนละหาบ หรือสามหาบอีกแบบหนึ่ง จัดคนขึ้น ๙ คน แบ่งเป็นชุดละ ๓ คน รวม ๓ ชุด ชุดหนึ่ง ๆ มีดังนี้ คือ ถือไตร ๑ คน, ถือจาน ช้อนส้อม และแก้วน้ำ ๑ คน, หาบสำรับคาวหวาน ๑ คน เดินเวียนเมรุคนละหรือชุดละ ๓ รอบ เวลาเดินให้ใช้เสียงกู่กันตามวิธีชาวป่าเรียกกันว่า ”วู้ ๆ ๆ” คนละ ๓ ครั้ง แล้วจึงนำเครื่องสามหาบขึ้นตั้งยังอาสน์สงฆ์
เมื่อเดินสามหาบแล้ว ก็ขึ้นไปเก็บอัฐิแล้วคลุมด้วยผ้าขาว วางผ้าไตร ๓ ไตรบนผ้าคลุมอัฐินั้น นิมนต์พระสงฆ์ขึ้นไปพิจารณาผ้าบังสุกุล จากนั้นจึงเปิดผ้าคลุมออกพรมน้ำอบและเก็บอัฐิใส่ที่ที่เตรียมไว้ แล้ววางอัฐิที่เก็บแล้วบนพาน ส่วนเถ้าถ่านคืออังคารให้รวบรวมใส่ผ้าขาวที่รองนั้นรวบชายขึ้น แล้วห่อใส่ในที่ใส่อังคารที่เตรียมไป แล้วเชิญอัฐิและอังคารกลับลงมาตั้งยังที่ทำบุญ เลี้ยงพระสามหาบ และบังสุกุลแล้วก็เป็นอันเสร็จงานหรือถ้าไม่มี ๓ หาบ ก็เก็บอัฐิและอังคารแล้วบังสุกุล ณ ที่นั้นเป็นอันเสร็จพิธี ตอนที่ลงจากเมรุแล้ว เมื่อกลับไปขึ้นบันไดที่บ้าน เจ้าภาพโปรยเศษสตางค์ เป็นการให้ทานด้วย
แปรธาตุ
ประเพณีเกี่ยวกับการเก็บอัฐิมีอยู่ว่า เมื่อถึงเวลาเก็บอัฐิ จะเป็นในวันเผาหรือในวันรุ่งขึ้น หรือ ๓ วัน, ๗ วัน หลังจากเผาเสร็จก็ตาม ครั้งแรกให้ทำกองกระดูกให้เป็นรูปคนนอนหงาย หันศีรษะไปทางทิศตะวันตก สมมติว่าตายแล้วนิมนต์พระสงฆ์มาพิจารณาบังสุกุล ตอนนี้เรียกว่า “บังสุกุลตาย” มีผ้าทอดก็ได้ หรือไม่มีก็ได้ พระสงฆ์จะพิจารณาว่า “อะนิจจา วะตะ สังขารา อุปปาทะวะยะธัมมิโน อุปปัชชิตตะวา นิรุชฌันติ เตสัง วูปะสะโม สุโข” เมื่อพระสงฆ์พิจารณาบังสุกุลจบแล้ว ก็ให้แปรรูปอัฐินั้นใหม่ เป็นรูปคนหันศีรษะไปทางทิศตะวันออก สมมติว่าเกิด นิมนต์พระสงฆ์พิจารณาบังสุกุลอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้เรียกว่า “บังสุกุลเป็น” พระสงฆ์พิจารณาบังสุกุลว่า “อะจิรัง วะตะยัง กาโย ปะฐะวิง อะธิเสสสะติ ฉุฑโฑ อะเปตะวิญญาโน นิรัตถัง วะ กะลิงคะรัง” แล้วทำการเก็บอัฐิ
เมื่อเก็บอัฐิตามต้องการแล้ว อัฐิที่เหลือ รวมทั้งเถ้าถ่านให้รวบรวมไปบรรจุลอยแม่น้ำหรือฝังในที่เหมาะสมต่อไป
ทำบุญอัฐิ (ออกทุกข์)
เมื่อเก็บอัฐิตอนเช้าและนำอัฐิไปถึงบ้านแล้ว จะทำบุญในวันนั้นทีเดียว หรือจะพัก ๓ วัน หรือ ๗ วัน จึงทำบุญอัฐิก็ได้ โดยนิมนต์พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ถวายภัตตาหาร และบังสุกุล มีการตั้งบาตรน้ำมนต์ วงสายสิญจน์ถือเป็นการทำบุญเรือนให้เป็นสิริมงคลแก่ผู้อยู่ข้างหลัง (ออกทุกข์) เจ้าภาพแต่งกายด้วยผ้าสีต่าง ๆ จาก สีขาว – ดำได้
พิธีลอยอังคาร
การลอยอังคารไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มต้นลอยอังคารมาตั้งแต่ในสมัยใด เป็นแต่เพียงสันนิษฐานว่าพิธีนี้ได้รับอิทธิพลมาจากชาวอินเดียซึ่งนับถือศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ความมุ่งหมายก็เพื่อให้ผู้ล่วงลับไปแล้วมีความร่มเย็นเป็นสุข แม้เกิดในภพใด ๆ ขอให้อยู่เป็นสุข เหมือนน้ำที่มีแต่ความชุ่มเย็น
การเตรียมการ
๑. ของใช้สำหรับบูชาแม่ย่านางเรือ
– ดอกไม้สด ๑ กำ หรือพวงมาลัย ๑ พวง
– ธูป ๙ ดอก เทียนหนัก ๑ บาท ๑ เล่ม
– พานเล็ก ๑ ใบ ใส่ดอกไม้ธูปเทียน ขณะบูชาแม่ย่านางเรือ
– เชือก ๑ เส้น สำหรับมัดธูป ดอกไม้ที่เสาหัวเรือ
๒. ของใช้สำหรับบูชาเจ้าแม่นที ท้าวสีทันดร
– กระทงดอกไม้ ๗ สี ๑ กระทง
– ธูป ๗ ดอก เทียนหนัก ๑ บาท ๑ เล่ม
– พานโตกขนาดกลาง ๑ ใบ สำหรับวางกระทงดอกไม้ ๗ สี
๓. ของใช้สำหรับไหว้อังคารบนเรือ
– ลุ้งใส่อังคาร และผ้าขาวสำหรับห่อลุ้ง
– ดอกไม้โปรย ๑ พาน สำหรับผู้ร่วมพิธีโรยบนอังคาร
– น้ำอบไทย ๑ ขวด
– ดอกกุหลาบเท่าจำนวนผู้ร่วมพิธี
– ธูปเทียนเครื่องทองน้อย ๑ ชุด หรือธูป ๑ ดอก เทียนหนัก ๑ บาท ๑ เล่ม พร้อมกระถางธูป เชิงเทียน ๑ ชุด
– สายสิญจน์ ๑ ม้วน
– พานโตกขนาดกลาง รองลุ้งอังคาร ๑ ใบ
– พานก้นตื้น ใส่เงินเหรียญ ๑ ใบ
การปฏิบัติ (ลำดับพิธี)
การบูชาแม่ย่านางเรือ
– คณะญาตินำอังคารไปสู่ท่าเทียบเรือ
– พิธีกรนำประธานในพิธี ญาติอาวุโส ลงเรือก่อน นอกนั้นรอบนท่าเทียบเรือ
– ประธานฯ นำดอกไม้ธูปเทียน ใส่รวมในพาน จุดบูชาแม่ย่านางที่หัวเรือ กล่าวบูชา และขออนุญาตแม่ย่านางเรือนำอัฐิและอังคารลงเรือ
– คณะญาตินำอังคารลงเรือ
– ออกเรือไปยังจุดที่จะลอยอังคาร
การไหว้อังคารบนเรือก่อนทำพิธีลอยลงน้ำ
– เมื่อเรือแล่นถึงจุดหมายแล้วให้หยุดเรือลอยลำ
– พิธีกรเปิดลุ้งอังคารจัดเครื่องไหว้อังคารให้ประธานฯ
– ประธานฯ จุดธูปเทียนไหว้อังคาร สรงด้วยน้ำอบไทย โรยดอกมะลิ กลีบกุหลาบ ดอกไม้อื่น ๆ
– คณะญาติไหว้อังคารต่อจากประธานฯ
– เมื่อทุกคนไหว้อังคารเสร็จแล้วพิธีกรห่อลุ้งอังคารด้วยผ้าขาว รวบมัดด้วยสายสิญจน์ ทำเป็นจุกข้างบน แล้วสวมพวงมาลัย
– พิธีกรแจกดอกกุหลาบให้คณะญาติคนละ ๑ ดอก
การบูชาเจ้าแม่นที – ท้าวสีทันดร
– พิธีกรจัดเครื่องบูชาเจ้าแม่นที ท้าวสีทันดรให้ประธานฯ
– ประธานฯ จุดเทียน ๑ เล่ม และธูป ๗ ดอก ที่กระทงดอกไม้ ๗ สี กล่าวบูชาและกล่าวฝากอังคารกับเจ้าแม่นทีสีทันดร
วิธีลอย
– เมื่อกล่าวบูชา/กล่าวฝากอังคารกับเจ้าแม่นที ท้าวสีทันดร เสร็จแล้วพิธีกรเชิญทุกคนยืนขึ้น ไว้อาลัยประมาณ ๑ นาที
– ประธานฯ โยนเงินเหรียญ ตามสมควร ลงทะเล เพื่อซื้อที่ตามธรรมเนียมแล้วลงบันไดเรือ ทางกาบซ้าย ลอยกระทงดอกไม้ ๗ สี โดยใช้มือประคองค่อย ๆ วางบนผิวน้ำโดยให้ผู้ร่วมพิธีทุกคนถือสายสิญจน์ด้วย
– หากกาบเรือสูงจากผิวน้ำมากเกินไป และไม่มีบันไดลงเรือ ให้ใช้สายสิญจน์ทำเป็นสาแหรก ๔ สาย จำนวน ๒ สาแหรก คือใส่กระทงดอกไม้ ๗ สี ๑ สาแหรก และใส่ห่อลุ้งอังคาร ๑ สาแหรก หย่อนลงไป ห้ามโยน
– เมื่อห่อลุ้งอังคารลงสู่ผิวน้ำแล้วให้โรยดอกกุหลาบ ธูปเทียน ตามลงไป และสิ่งของสำหรับไหว้ บูชาที่เหลือทั้งหมดก็ให้โรยตามลงไปด้วย
– เรือวนซ้าย ๓ รอบ
– เสร็จพิธี
คำกล่าวบูชาขออนุญาตแม่ย่านางเรือ
นะมัตถุ, นาวานิวาสินิยา, เทวะตายะ, อิมินา สักกาเรนะ, นาวานิวาสินิง, เทวะตัง, ปูเชมิ,
ข้าพเจ้า, ขอน้อมไหว้บูชาแม่ย่านางเรือ, ผู้คุ้มครองรักษาเรือลำนี้, ด้วยเครื่องสักการะเหล่านี้, ด้วยข้าพเจ้า, พร้อมด้วยญาติมิตร, ขออนุญาตนำอัฐิและอังคารของ……………..….ลงเรือลำนี้, ไปลอยในทะเล, ขอแม่ย่านางเรือ, ได้โปรดอนุญาต, ให้นำอัฐิและอังคารลงเรือได้, และได้โปรดคุ้มครองรักษา, ข้าพเจ้าและญาติมิตร, ให้กระทำพิธีลอยอัฐิและอังคาร, ด้วยความสะดวกและปลอดภัย, โดยประการทั้งปวง ด้วยเทอญฯ
คำกล่าวบูชาและกล่าวฝากอังคารกับเจ้าแม่นที ท้าวสีทันดร
นะโม ตัสสะ, ภะคะวะโต, อะระหะโต, สัมมาสัมพุทธัสสะ ๓ จบ
นะมัตถุ, อิมิสสัง, มะหานะทิยา, อะธิวัตถานัง, สุรักขันตานัง, สัพพะเทวานัง, อิมินา สักกาเรนะ, สัพพะเทเว, ปูเชมะ.
ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ขอน้อมไหว้บูชา, เจ้าแม่นที, ท้าวสีทันดร, และเทพยดาทั้งหลาย, ผู้สถิตคุ้มครองรักษาอยู่, ในทะเลนี้, ด้วยเครื่องสักการะนี้, ด้วยข้าพเจ้าทั้งหลาย, ได้ประกอบกุศลกิจ, อุทิศส่วนบุญ, แก่……………………………….……, ผู้วายชนม์, และกาลบัดนี้, จักได้ประกอบพิธี, ลอยอัฐิและอังคาร, ของ………………………………….., พร้อมกับขอฝากไว้, ในอภิบาล, ของเจ้าแม่นที, ท้าวสีทันดร, เจ้าแม่แห่งทะเล, และเหล่าทวยเทพทั้งปวง, ขอเจ้าแม่นที, ท้าวสีทันดร, แม่ย่านางเรือและเทพยดาทั้งหลาย, ได้โปรดอนุโมทนา, ดลบันดาลให้ดวงวิญญาณของ………………………………………………, จงเข้าถึงสุคติ, ในสัมปรายภพ, ประสบสุข, ในทิพยวิมาน, ชั่วนิรันดร์เทอญฯ
พิธีทำบุญ ๗ วัน ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน
การเตรียมการ
– การเตรียมการเหมือนกับพิธีทำบุญทั่วไป
– จัดโต๊ะตั้งอัฐิและตั้งเครื่องบูชา
การปฏิบัติ (ลำดับพิธี)
– พระสงฆ์และผู้ร่วมพิธีพร้อม
– เจ้าภาพจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย กราบ ๓ ครั้ง จุดธูปเทียน เบื้องหน้าอัฐิ หรือหน้ารูปภาพของผู้วายชนม์ ไหว้หรือกราบ ๑ ครั้ง แล้วกลับมานั่งที่เดิม
– พิธีกรนำกล่าวคำบูชาพระ กราบพระ และอาราธนาศีล
– พระสงฆ์ให้ศีล ผู้ร่วมพิธีรับศีล
– พิธีกรอาราธนาพระปริตร
– พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์
– พิธีกรนำกล่าวถวายสังฆทาน
– เจ้าภาพถวายภัตตาหารเพล
– เจ้าหน้าที่เทียบเครื่องไทยธรรม
– เจ้าภาพถวายเครื่องไทยธรรม
– พิธีกรนำกล่าวถวายสังฆทาน
– เจ้าภาพถวายภัตตาหารเพล
– เจ้าหน้าที่เทียบเครื่องไทยธรรม
– เจ้าภาพถวายเครื่องไทยธรรม
– พิธีกรลาดผ้าภูษาโยง
– เจ้าภาพทอดผ้าบังสุกุล
– พระสงฆ์พิจารณาผ้าบังสุกุล
– พระสงฆ์อนุโมทนา
– เจ้าภาพกรวดน้ำ – รับพร
– พระสงฆ์กลับ
– เสร็จพิธี