ศาสนพิธีเบื้องต้น

         ศาสนพิธี คือ พิธีทางศาสนา ในที่นี้หมายถึง ศาสนาพุทธ แบ่งลักษณะ รูปแบบ ประเภท ออกไปได้มากมาย เช่น พิธีงานมงคล พิธีงานอวมงคล พิธีงานราษฎร์ พิธีงานหลวง พิธีงานทางราชการ พิธีงานชาวบ้าน ฯลฯ หนังสือศาสนพิธีฉบับกรมการศาสนาได้รวบรวมพิธีเหล่านั้นไว้เป็น ๔ ประเภท คือ

          ๑. กุศลพิธี ได้แก่ พิธีที่ประกอบขึ้นเพื่อความดี เพื่อสิริมงคลเฉพาะตน เช่น พิธีอุปสมบท พิธีรักษาอุโบสถ พิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ เป็นต้น

          ๒. บุญพิธี ได้แก่ พิธีที่ประกอบขึ้นเพื่อบุญกุศล และความเป็นสิริมงคลแก่ตน ครอบครัว ญาติมิตร ผู้ที่เคารพรักใคร่ นับถือ แก่สถานที่ หรือเพื่อบุคคลที่ล่วงลับใด ๆ ที่ประสงค์จะอุทิศผลบุญไปให้

          ๓. ทานพิธี ได้แก่ พิธีถวายสิ่งของต่าง ๆ ทั้งที่เป็นการถวายแก่ส่วนรวม เช่น สังฆทาน กฐินทาน หรือถวายเฉพาะบุคคล เช่น ถวายยารักษาโรค ถวายอาหาร ถวายไทยธรรม เป็นต้น

          ๔. ปกิณกพิธี ได้แก่ พิธีเบ็ดเตล็ดที่ไม่อยู่ใน ๓ ประเภทข้างต้น เช่น พิธีพุทธาภิเษก พิธีมังคลาภิเษก พิธีวางศิลาฤกษ์ พิธียกช่อฟ้า เป็นต้น

          ในพิธีทั้ง ๔ ประเภทนั้น ถ้าจะกล่าวให้สั้นลง คงได้ ๒ ประเภท คืองานมงคล ได้แก่ พิธีที่ประกอบเพื่อความดี ความสุข ความเจริญ บุญกุศล สิริมงคล ทั้งแก่ตน สถานที่ และผู้อื่น กับงานอวมงคล ได้แก่ พิธีประกอบเพื่อถวายหรืออุทิศบุญกุศลให้ผู้อื่น รวมความว่า งานศาสนพิธีต่าง ๆ ที่จัดกันทั่ว ๆ ไป มีจุดมุ่งหมายเพียง ๒ ประการนี้เท่านั้น ศาสนพิธีกรที่จะปฏิบัติพิธีต่าง ๆ พึงศึกษาหลักการของศาสนพิธีทั้ง ๒ ประเภทนั้น การจัดพิธีดังกล่าวมีรูปแบบการจัดเป็น ๒ ลักษณะ คือ พิธีที่ชาวบ้านจัดกันตามประเพณีนิยม การจัดลักษณะนี้ไม่มีรูปแบบที่แน่นอน ต่างปฏิบัติตามความเชื่อที่ถือปฏิบัติกันสืบ ๆ มาจนเคยชิน เคยปฏิบัติมาเช่นไร ก็ปฏิบัติไปเช่นนั้นตามแบบของวัด ตามแบบของหมู่บ้านหรือของสังคมนั้น ๆ วัดหนึ่ง หมู่บ้านหนึ่ง สังคมหนึ่ง ก็จัดกันไปตามแบบของตน ลักษณะนี้ขอเรียกว่า พิธีแบบชาวบ้านหรือพิธีท้องถิ่น และพิธีที่ส่วนราชการต่าง ๆ จัดขึ้น มีรูปแบบ ขั้นตอน มีกำหนดเวลา ไม่ว่าจะจัดที่ตำบล อำเภอ จังหวัดอะไร ก็จะปฏิบัติเหมือน ๆ กัน การจัดพิธีลักษณะเช่นนี้เรียกว่า พิธีแบบทางราชการ การจัดพิธีทั้ง ๒ ลักษณะนั้น มีลำดับขั้นตอนใหญ่ ๆ คือ

          ๑. เตรียมการ   ปฏิบัติก่อนจะจัดงานพิธี

          ๒. ปฏิบัติการ   ปฏิบัติก่อนพิธีและระหว่างพิธี

          ๓. สรุปงาน      ปฏิบัติหลังเสร็จพิธี

ข้อปฏิบัติทั่วไปในศาสนพิธี

         พิธีทำบุญในที่นี้ จะพูดถึงพิธีทำบุญทั่ว ๆ ไป ซึ่งเป็นกิจเบื้องต้นที่พุทธศาสนิกชนจะพึงทราบ และนำไปปฏิบัติได้ ส่วนจะผิดแผกแตกต่างกันไปบ้างนั้น ก็สุดแต่ความนิยมของแต่ละท้องถิ่น พิธีทำบุญในศาสนาพุทธ สรุปแล้วมี ๒ พิธี คือ

          ก. พิธีทำบุญในงานมงคล เป็นการทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคล ความสุข ความเจริญ เช่น พิธีแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ และวันเกิด เป็นต้น

          ข. พิธีทำบุญในงานอวมงคล เป็นการทำบุญเพื่อปัดเป่าความชั่วร้ายให้หมดไป โดยปรารภถึงเหตุที่มาไม่ดี หรือเหตุที่ก่อให้เกิดความทุกข์โศก เช่น พิธีศพ พิธีทำบุญในการที่แร้งจับบ้าน รุ้งกินน้ำในบ้าน เป็นต้น ทั้ง ๒ พิธี มีพิธีกรรมที่จะต้องปฏิบัติโดยย่อ ๆ ดังนี้

          ๑. จัดสถานที่ ก่อนถึงวันพิธีจะต้องตกแต่งสถานที่รับรองพระที่จะเจริญพระพุทธมนต์ และแขกที่จะมาในงาน ตลอดจนเครื่องใช้แต่ละแผนกให้เรียบร้อย

          โดยเฉพาะที่พระสงฆ์ ต้องจัดให้อยู่ในฐานะที่น่าเคารพเสมอ โดยจัดที่บูชาไว้ทางขวามือของพระสงฆ์ที่จะสวดมนต์ และให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก (ถ้าที่จำกัดก็เว้นได้) และอาสนะพระนั้นต้องจัดให้เป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากฆราวาส โดยเฉพาะผู้หญิงแล้วตั้งกระโถน ภาชนะน้ำ พานหมากพลูไว้ทางขวามือของพระสงฆ์ โดยตั้งกระโถนไว้ข้างในแล้วเรียงออกมาตามลำดับ

          ๒. เครื่องสักการะ หมายถึง โต๊ะหมู่หรือที่บูชาอื่นใดตามฐานะ อันประกอบด้วย พระพุทธรูป ๑ องค์, แจกัน ๑ คู่, เชิงเทียน ๑ คู่, กระถางธูป ๑ ที่ เป็นอย่างน้อย อย่างมากจะจัดให้เต็มที่ตามรูปแบบการจัดของโต๊ะหมู่ ๕, ๗ หรือ ๙ เป็นต้น ก็ได้

          ๓. ด้ายสายสิญจน์, บาตรน้ำมนต์ ในงานมงคลทุกชนิดนิยมวงด้ายสายสิญจน์รอบบ้านหรือสถานที่ แต่จะย่อลงมาแค่ที่พระสวดมนต์ก็ได้ การวงด้ายสายสิญจน์ให้ถือเวียนขวาไว้เสมอ ถ้าจะวงรอบบ้านด้วย ก็ให้เริ่มต้นที่โต๊ะหมู่บูชาแล้วเวียนออกไปที่รั้วบ้านหรือตัวบ้านทางขวามือ (เวียนแบบเลข ๑ ไทย) เมื่อวงรอบแล้วกลับมาวงรอบที่ฐานพระพุทธรูป วงไว้กับฐานพระพุทธรูป (ระหว่างเข่ากับฐานแล้วมาวงที่บาตรน้ำมนต์) เสร็จแล้วหาพานวางด้ายสายสิญจน์ที่เหลือไว้ใกล้ ๆ บาตรน้ำมนต์นั้น เพื่อให้พะสงฆ์ใช้ประกอบการเจริญพระพุทธมนต์ต่อไป (พระมหาเถระไม่นิยมวงสายสิญจน์ที่บาตรน้ำมนต์ไว้ก่อน)

          ๔. บาตรน้ำมนต์ ให้ใส่น้ำพอควร และใส่ใบเงิน ใบทอง ใบนาก หญ้าแพรก ฝักส้มป่อย ผิวมะกรูด ฯลฯ ก็ได้ สุดแต่จะนิยม ไม่ใส่อะไรเลยก็ได้ เพราะพระพุทธมนต์ที่พระสวดเป็นของประเสริฐอยู่แล้ว และตั้งไว้ทางขวามือของพระสงฆ์ที่เป็นประธานติดเทียนน้ำมนต์ไว้ที่ขอบบาตร ๑ เล่ม จะหนัก ๑ บาท หรือ ๒ บาท ก็ได้ แต่ควรให้ไส้ใหญ่ ๆ ไว้ เพื่อกันลมพัดดับด้วย และเมื่อพระสงฆ์ดับเทียนน้ำมนต์แล้ว ห้ามจุดอีกต่อไป ซึ่งถือว่าเป็นการดับเสนียดจัญไรไปหมดแล้ว มิให้เกิดขึ้นมาอีก

          ส่วนในพิธีศพ ตั้งแต่ถึงแก่กรรมจนกระทั่งเผา ไม่มีการวงด้ายสายสิญจน์และตั้งบาตรน้ำมนต์ หลังจากเผาศพเสร็จแล้วจะทำบุญอัฐิจึงกระทำได้

          ๕. การนิมนต์พระ เจ้าภาพจะต้องแจ้งวัน เดือน ปี  และพิธีที่จะกระทำให้พระสงฆ์ทราบเสมอ เพราะบทสวดมนต์จะมีเพิ่มเติมตามโอกาสที่ทำบุญไม่เหมือนกัน ส่วนจำนวนพระสงฆ์นั้นมีแน่นอนเฉพาะพระสวดพระอภิธรรม สวดรับเทศน์ และสวดหน้าไฟเท่านั้น คือ ๔ รูป นอกนั้นแล้ว ถ้าเป็นงานมงคลพระสงฆ์ที่สวดมนต์ (เจริญพระพุทธมนต์) ก็นิยม ๕ รูป, ๗ รูป, ๙ รูป, ๑๐ รูป โดยเหตุผลว่า ถ้าเป็นงานแต่งงานซึ่งนิยมคู่ จะนิยมพระ ๕ รูป, ๗ รูป, ๙ รูป โดยรวมพระพุทธรูปเข้าอีก ๑ องค์ เป็น ๖ รูป, ๘ รูป และ ๑๐ รูป ก็ได้เหมือนกัน ส่วนพิธีหลวงใช้ ๑๐ รูปเสมอ สำหรับพิธีสดับปกรณ์มาติกา – บังสุกุล ก็เพิ่มจำนวนพระสงฆ์มากขั้นอีกเป็น ๑๐, ๑๕ , ๒๐, ๒๕, รูป หรือจนถึง ๘๐ รูป หรือ ๑๐๐ รูป ก็สุดแต่จะศรัทธา ไม่จำกัดจำนวน การนิยมพระเพื่อฉันหรือรับอาหารบิณฑบาต อย่าระบุชื่ออาหาร ๕ ชนิด คือข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลาเนื้อ สรุปแล้วระบุไม่ได้ทุกชนิด จะเป็นขนมจีน หมี่กรอบ ไม่ได้ทั้งนั้น ให้ใช้คำรวมว่า “รับอาหารบิณฑบาตเช้า – เพล” หรือ “ฉันเช้า ฉันเพล” ก็พอแล้ว

          เมื่อพระสงฆ์ที่มาสวดมนต์ถึงบ้านแล้ว กิจที่จะต้องทำอีกอย่างหนึ่งก็คือ ควรจัดหาน้ำล้างเท้าและทำให้เสร็จ เพราะถ้าพระสงฆ์ล้างเอง น้ำมีตัวสัตว์ พระสงฆ์ก็เป็นอาบัติ และถ้าปล่อยให้เท้าเปียกน้ำแล้วเหยียบอาสนะ พระสงฆ์ก็เป็นอาบัติอีก จึงต้องทำให้ท่าน แต่สมัยนี้ การไปมาสะดวกด้วยยานพาหนะ เท้าพระสงฆ์ไม่เปรอะเปื้อนจึงไม่มีการล้างเท้าพระสงฆ์เป็นส่วนมาก

          ๖. ลำดับพิธี โดยทั่วไปพิธีมงคลจะเริ่มด้วยประธาน หรือเจ้าภาพจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ธูปไม่ควรเกิน ๓ ดอก หรืออย่างมากไม่เกิน ๕ ดอก เทียน ๒ เล่ม และจุดให้ติดจริง จุดแล้วอธิษฐานจิต กราบพระ ๓ หน แล้วอาราธนาศีล อาราธนาพระปริตร ฟังพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เมื่อพระสงฆ์สวดถึงบท “อเสวนา จ พาลานัง” ให้เจ้าภาพจุดเทียนน้ำมนต์ และเมื่อพระสงฆ์สวดถึงบทว่า “นิพพันติ ธีรา ยถา ยัมปทีโป” ท่านดับเทียนตรงคำว่า “นิพ” โดยจุ่มเทียนน้ำมนต์ลงในบาตรน้ำมนต์ (การดับเทียนอาจจะผิดแผกไปจากนี้บ้างก็เป็นเรื่องของพระสงฆ์) พระสงฆ์สวดมนต์จบแล้ว ถ้าเป็นพิธีสวดมนต์ในวันเดียวซึ่งนิยมทำในตอนเช้าหรือเพลก็ถวายภัตตาหาร พระสงฆ์ฉันเสร็จ ถวายไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนา เจ้าภาพกรวดน้ำ ก็นับว่าเสร็จพิธี แต่ถ้าทำบุญ ๒ วัน วันแรกนิยมสวดมนต์เย็นแบบนี้ เมื่อสวดมนต์เย็นเสร็จก็นับว่าเสร็จไปตอนหนึ่ง รุ่งขึ้นจะเช้าหรือเพล พระสงฆ์มาถึงก็ทำกิจเบื้องต้น มีจุดธูปเทียน อาราธนศีล รับศีลเสร็จแล้ว พระสงฆ์สวดถวายพรพระ ไม่มีอาราธนาพระปริตร จบแล้วถวายภัตตาหาร ถวายไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนา เจ้าภาพกรวดน้ำ จึงเสร็จพิธี

          ๗. การกรวดน้ำ เมื่อพระสงฆ์เริ่มอนุโมทนา คือ รูปหัวหน้าว่า “ยถา..” ก็ให้เจ้าภาพกรวดน้ำทันที พอจบ “ ยถา..” พระสงฆ์รูปที่สองขึ้นบทอนุโมทนา “สัพพี..” พระสงฆ์นอกนั้นสวดรับต่อพร้อมกัน ก็ให้เจ้าภาพเทน้ำให้หมด แล้วนั่งประนมมือฟังพระสงฆ์ให้พรต่อไป จบแล้วกราบ ๓ หน

          ๘. การประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ให้กระทำหลังจากพระสงฆ์อนุโมทนา (ยถา สัพพี) จบแล้ว จะนิมนต์ให้พระสงฆ์ประพรมใครหรือที่ใดก็นิมนต์ท่านตามประสงค์

          ๙. การเทศน์ การนิมนต์พระสงฆ์ให้แสดงพระธรรมเทศนาด้วย ในกรณีที่มีสวดมนต์ก่อน แล้วก็มีเทศน์ติดต่อกันไป การอาราธนาตอนพระสวดมนต์ให้อาราธนาพระปริตร ยังไม่ต้องรับศีลต่อ เมื่อถึงเวลาเทศน์นิมนต์พระสงฆ์ขึ้นธรรมาสน์แล้วจึงอาราธนาศีล รับศีลเสร็จ อาราธนาธรรมต่อ พระสงฆ์เทศน์จบ ถ้าไม่มีพระสวดรับเทศน์พระท่านจะอนุโมทนาบนธรรมาสน์เลย ท่านลงมาแล้วจึงถวายไทยธรรม (เครื่องกัณฑ์) แต่ถ้ามีพระสวดรับเทศน์ เช่น ในกรณีทำบุญหน้าศพ เป็นต้น พระเทศน์จบ พระสงฆ์สวดรับเทศน์ต่อ (ระหว่างนี้พระเทศน์จะลงมานั่งข้างล่างตรงต้นแถวพระสวด) จบแล้ว เจ้าภาพจึงถวายไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนา เจ้าภาพกรวดน้ำเป็นเสร็จพิธี

          ๑๐. การตั้งเครื่องบูชาหน้าศพ ถ้าเป็นพิธีอาบน้ำศพ จะต้องมีเทียน (ประทีป) ๑ เล่มตามไว้ข้างศพเหนือศีรษะด้วย และประทีปนี้จะตามไว้ตลอดเวลา เมื่อนำศพลงหีบแล้ว ก็ตามไว้ข้างหีบ ด้านเท้าของผู้ตาย ซึ่งถือว่าผู้ตายจะได้จุดส่องทางไป

          ถ้าเป็นพิธีทำบุญหน้าศพ ๗ วัน ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน หรือวันเผาก็ตาม ด้านหน้าศพ จะมีที่จุดธูปไว้ให้ผู้ที่เคารพนับถือบูชา ๑ ที่ และนอกจากนี้ เวลาประกอบพิธีทุกครั้ง นิยมจัดเครื่องทองน้อยไว้เบื้องหน้าศพอีก ๑ ที่ ซึ่งประกอบด้วย กรวยปักดอกไม้ ๓ กรวย, เทียน ๑ เล่ม, ธูป ๑ ดอก, เครื่องทองน้อยนี้ตั้งไว้หน้าศพ เพื่อให้ศพบูชาธรรมโดยเจ้าภาพจุดให้ และการตั้งให้ตั้งดอกไม้ไว้ข้างนอก ตั้งธูปเทียนไว้ข้างใน (หันธูปเทียนไว้ทางศพ) (บางวัด ให้ตั้งเครื่องทองน้อยอีกชนิดหนึ่งสำหรับเจ้าภาพในเวลาฟังธรรมระหว่างพระสงฆ์กับเจ้าภาพ การตั้งหันธูปเทียนไว้ทางเจ้าภาพ)

          ๑๑. การจุดธูปเทียน การจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยหรืออื่นใดก็ตาม จะต้องจุดเทียนก่อนเสมอ แล้วจึงจุดธูป เพราะถือว่าเทียนสูงกว่าธูป และอีกประการหนึ่ง การจุดเทียนก่อน หากเทียนเกิดดับขึ้นระหว่างกลางคัน ก็จะได้ต่อติดกันสะดวกยิ่งขึ้น

          ๑๒. ผ้าภูษาโยง พิธีศพ เวลาพระท่านจะบังสุกุล จะมีผ้าภูษาโยงซึ่งเชื่อมโยงมาจากศพเสมอ การทอดผ้าบนผ้าภูษาโยงนี้ให้ทอดตามขวาง เพื่อพระจับชักบังสุกุล ถ้าไม่มีผ้าทอด พระสงฆ์ก็จับเฉพาะผ้าภูษาโยง หากไม่มีผ้าภูษาโยง จะใช้ด้ายสายสิญจน์แทนก็ได้และห้ามข้ามเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นมือหรือเท้าก็ตาม ถือว่าไม่เคารพศพ สำหรับศพหลวง ผ้าภูษาโยงจะถูกนำเชื่อมกับผ้าหรือด้ายสายสิญจน์ที่ต่อมาจากศพจากนั้นเจ้าภาพจึงทอดผ้า

          ๑๓. ใบปวารณา ในการทำบุญ มักจะมีเงินถวายพระสงฆ์เสมอ เพื่อให้ท่านนำไปใช้จ่าย แต่พระสงฆ์ท่านจับต้องเงินไม่ได้ จึงใช้ใบปวารณาแทน และใช้คำว่าจตุปัจจัย (ปัจจัย ๔ คือ เครื่องนุ่งห่ม, อาหาร, ที่อยู่อาศัย, ยารักษาโรค ) แทนคำว่า เงิน