พิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ

วัตถุประสงค์

        ๑. เพื่อส่งเสริมให้ผู้มาใหม่เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอันจะเป็นทางชักจูงให้เข้าใจซาบซึ้งในศีลธรรมจรรยายิ่ง ๆ ขึ้น อันเป็นผลดีแก่หมู่คณะและประเทศชาติ

        ๒. เพื่อให้ผู้ที่ประสงค์ จะเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนาได้ปฏิญาณตนยอมรับนับถือพระรัตนตรัยว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกตลอดชีวิต

        ๓. เพื่อปลูกฝังค่านิยม คุณธรรมและจริยธรรมให้ผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศได้ปฏิญาณตนนับถือพระพุทธศาสนา อันเป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจยามอยู่ห่างไกลจากพระพุทธศาสนา อีกทั้งเป็นเกราะป้องกันภัยให้แก่พุทธศาสนิกชนอีกด้วย

การเตรียมการ

        – โต๊ะหมู่บูชา

        – สถานที่ตามความเหมาะสมกับจำนวนผู้ร่วมพิธี

        – อาสน์สงฆ์

        – ธูปเทียนแพ

        – ปัจจัยไทยธรรมตามจำนวนพระสงฆ์

การปฏิบัติการ

        – ผู้ร่วมพิธีพร้อม

        – พระสงฆ์พร้อม ณ อาสน์สงฆ์

        – ประธานเดินทางถึงบริเวณพิธี

        – ประธานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย

        – ทหารใหม่ กล่าวบทกราบพระ (ถวายเครื่องสักการะ)

        – บทบูชาพระรัตนตรัย, คำปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ

        – ประธานสงฆ์ให้โอวาท

        – ทหารใหม่สมาทานศีล

        – ประธานและตัวแทนทหารใหม่ ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม

        – พระสงฆ์อนุโมทนา / ประธานกรวดน้ำรับพร

        – ประธานกราบลาพระรัตนตรัย

        – พระสงฆ์กลับ

        – ประธานให้โอวาททหารใหม่

. คำชี้แจง

          บิดามารดาหรือผู้ใหญ่ในสกุล ปรารถนาจะให้บุตรหลานของตนเป็นพุทธมามกะ คือ ผู้รับพระพุทธเจ้าเป็นที่นับถือของตนโดยหลักฐานพึงแนะนำให้เขาน้อมใจเชื่อในพระพุทธเจ้า ผู้เป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา จนยอมรับเอาเป็นที่นับถือของตนได้แล้ว พึงแจ้งความนั้นแก่พระเถระที่จะถือเอาเป็นพระอาจารย์ในการนั้น ขอความอนุเคราะห์ของท่าน เพื่อเป็นผู้อำนวยการนั้น เมื่อถึงวันเวลากำหนดนัด ท่านผู้อำนวยการพึงประชุมสงฆ์ตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ฝ่ายกุลบดีพึงพาบุตรหลานของตนไปสู่อาราม พร้อมด้วยญาติพวกพ้องให้ผลัดเครื่องนุ่งห่มขาวแล้วพาเข้าในอุโบสถ ผู้ปฏิญาณพึงเข้าไปที่พุทธอาสน์ บูชาพระรัตนตรัย กราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ๓ หนแล้ว พึงเข้าไปสู่ที่ประชุมสงฆ์ ถวายเครื่องสักการะแก่พระอาจารย์แล้ว กราบพระอาจารย์และพระสงฆ์ด้วยอาการอย่างนั้น ๓ หน แล้วนั่งคุกเข่า ประนมมือลั่นวาจาเป็นคำบาลี ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ คือ ผู้รับเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่นับถือของตนตามระเบียบ แล้วนั่งราบ

          ในลำดับนั้น พระอาจารย์พึงให้โอวาท เพื่อรู้หัวข้อแห่งพระพุทธศาสนาจบแล้ว พึงให้ผู้นั้น นั่งคุกเข่า ว่าเบญจศีล ให้สมาทานตามทีละสิกขาบท จบแล้วผู้นั้นพึงกราบ ๓ หน แล้วนั่งราบ ถ้ามีสักการะหรือไทยธรรมสำหรับพระสงฆ์พึงถวายในเวลานั้น

          ในลำดับนั้น พระสงฆ์ พึงสวดอำนวยพร ด้วยคำบาลีว่า โส อัตถะลัทโธ หรือ เต อัตถะลัทธาฯ

          โดยสมควรแก่จำนวนผู้เข้ามาปฏิญาณ ผู้นั่งพึงประนมมือรับพรจบแล้วพึงนั่งคุกเข่ากราบอีก ๓ หน ถอยจากที่ประชุมสงฆ์เป็นเสร็จพิธีเพียงเท่านี้

. การทำโดยตนเอง

          คนผู้ใหญ่ผู้ปรารถนาจะปฏิญญาอย่างนั้นตามลำพังตนเองพึงขออนุเคราะห์ต่อพระเถระ และพึงไปสู่อารามด้วยตนเอง ไม่ต้องมีผู้พา แต่นั้นพึงปฏิบัติโดยอาการอันกล่าวแล้ว

          เทียบการแสดงตนเป็นอุบาสิกา หญิงจักปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกาบ้างก็ได้เหมือนกัน เป็นแต่เมื่อแสดง พึงอยู่เฉพาะหน้าสงฆ์ห่างจากหัตถบาส

. เบญจางคประดิษฐ์ คือ

          ให้หน้าผาก ๑ ให้ฝ่ามือ ๒ ให้เข่าทั้ง ๒ รวมเป็น ๕ จดพื้น เมื่อกราบอย่างนั้น พึงนั่งคุกเข่า เป็นอันว่าเข่าทั้ง ๒ จดพื้น พึงหมอบลงทอดฝ่ามือที่พื้นแหวกช่องให้ห่างสักหน่อย พึงก้มศีรษะลงตรงช่องนั้น ให้หน้าผากจดพื้น นี้เรียกว่า “การกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ หรือการกราบประกอบด้วยองค์ห้า”

. คำบูชาพระรัตนตรัย

          เมื่อจุดธูปเทียนบูชาพระเสร็จแล้ว พึงพร้อมกันนั่งคุกเข่าประนมมือหัวหน้านำกราบพระรัตนตรัยแล้ว ให้ว่าตามเป็นวรรค ๆ ดังนี้

. บทกราบพระ

          อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา, พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ กราบหนหนึ่ง

          สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม, ธัมมัง นะมัสสามิ กราบหนสอง

          สุปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สังฆัง นะมามิ กราบหนสาม

. บทบูชาพระรัตนตรัย

(หัวหน้าว่าคนเดียว)

          ยะมัมหะ โข มะยัง ภะคะวันตัง สะระณัง คะตา, โย โน ภะคะวา สัตถา, ยัสสะ จะ มะยัง ภะคะวะโต ธัมมัง โรเจมะ เอเตหิ  สักกาเรหิ ตัง ภะคะวันตัง สะสัทธัมมัง สะสาวะกะสังฆัง อะภิปูชะยามะ ถ้าคนเดียวเปลี่ยนคำว่า

          – มะยัง เป็น อะหัง

          – คะตา เป็น คะโต

          – โน เป็น เม

          – โรเจมะ เป็น โรเจมิ

          – อะภิปูชะยามะ เป็น อะภิปูชะยามิ)

. คำปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ

          เอสาหัง ภันเต, สุจิระปะรินิพพุตัมปิ, ตัง ภะคะวันตัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัญจะ ภิกขุสังฆัญจะ พุทธะมามะโกติ มัง สังโฆ ธาเรตุ (นี้สำหรับคนเดียว) ถ้าหลายคนว่าดังนี้

          เอเต มะยัง ภันเต สุจิระปะรินิพพุตัมปิ, ตัง ภะคะวันตัง สะระณัง คัจฉามะ ธัมมัญจะ ภิกขุสังฆัญจะ พุทธะมามกาติ โน สังโฆ ธาเรตุฯ ถ้าเป็นหญิงให้เปลี่ยนคำว่า

          – เอเต เป็น เอตา

          – พุทธะมามกาติ เป็น พุทธมามิกาติ

คำแปลเป็นไทย

          ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้า ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น แม้ปรินิพพานมานานแล้ว พร้อมพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ (คือที่ระลึกนับถือ) ขอพระสงฆ์จงจำข้าพเจ้าไว้ว่า “เป็นผู้รับเอาพระพุทธเจ้า” ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป