๑. ภารกิจและบทบาทอนุศาสนาจารย์ตามระเบียบกรมยุทธศึกษาทหารบก ว่าด้วยการอบรมศีลธรรมวัฒนธรรมทหาร (ยามปกติ) พ.ศ. ๒๕๔๙
ตามระเบียบฯ ดังกล่าว กำหนดให้หน่วยและอนุศาสนาจารย์ปฏิบัติดังนี้
๑.๑ อนุศาสนาจารย์ต้องให้การบรรยายอบรมแก่บุคคล ดังนี้
๑.๑.๑ นายทหารสัญญาบัตร และข้าราชการกลาโหมพลเรือนชั้นสัญญาบัตร
๑.๑.๒ นายทหารประทวน ข้าราชการกลาโหมพลเรือนชั้นประทวน และลูกจ้าง
๑.๑.๓ พลทหารกองประจำการ พลอาสาสมัคร และอาสาสมัครทหารพราน
๑.๑.๔ ผู้ต้องขัง
๑.๑.๕ ครอบครัว
การจัดการอบรมแต่ละครั้ง หน่วยสามารถจัดการอบรมแยกประเภทหรือรวมการก็ได้ ตามความเหมาะสม
๑.๒ ให้หน่วยจัดการอบรมแก่บุคคล ตามข้อ ๑ อย่างน้อยเดือนละ ๑ ครั้ง
๑.๓ การออกคำสั่งกำหนดการอบรมศีลธรรมวัฒนธรรมทหาร ให้ทำเป็นรายเดือน
๑.๔ ในการจัดการอบรม ให้ดำเนินการดังนี้
๑.๔.๑ ประธานในที่ประชุมจุดธูปเทียน ณ ที่บูชาแล้วกราบพระรัตนตรัยด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง เคารพธงชาติและพระบรมฉายาลักษณ์ เสร็จแล้วกลับมายืนประนมมือ ณ ที่ของประธาน
๑.๔.๒ อนุศาสนาจารย์ นำกล่าวคำนมัสการพระรัตนตรัย จบแล้วกราบพระรัตนตรัย เคารพธงชาติและพระบรมฉายาลักษณ์ และดำเนินการอบรม
๑.๔.๓ เมื่ออนุศาสนาจารย์ทำการอบรมจบแล้ว นำกล่าวคำแผ่เมตตา กราบพระรัตนตรัย เคารพธงชาติและพระบรมฉายาลักษณ์ เสร็จแล้วกลับที่เดิม
๑.๔.๔ ประธานฯ กราบพระรัตนตรัย เคารพธงชาติและพระบรมฉายาลักษณ์ เป็นอันเสร็จการอบรม
๑.๕ การปฏิบัติของผู้รับการอบรม
๑.๕.๑ ตลอดเวลานับตั้งแต่ประธานฯ เริ่มจุดธูปเทียนและกราบพระรัตนตรัย ให้ผู้รับการอบรมทั้งหมดยืนประนมมือรำลึกถึงคุณพระรัตนตรัย และให้ลดมือลงเมื่อประธานฯ เคารพธงชาติ และพระบรมฉายาลักษณ์
๑.๕.๒ ตลอดเวลานับตั้งแต่อนุศาสนาจารย์นำกล่าวคำนมัสการพระรัตนตรัย และกราบพระรัตนตรัย ให้ผู้รับการอบรมทั้งหมดยืนประนมมือ ให้ลดมือลงเมื่ออนุศาสนาจารย์เคารพธงชาติและพระบรมฉายาลักษณ์
ในกรณีการอบรมพลทหาร เมื่อจะเริ่มการอบรม ให้อนุศาสนาจารย์สั่งพลทหาร คนใดคนหนึ่งในที่ประชุมนั้นเป็นผู้แทนจุดธูปเทียนและกราบพระรัตนตรัย เคารพธงชาติและพระบรมฉายาลักษณ์
๑.๖ บทนมัสการพระรัตนตรัยและบทแผ่เมตตาให้ใช้ตาม ผนวก ตามระเบียบฯ ข้างต้น
๑.๗ ทุกครั้งที่มีการอบรม ให้หน่วยรับการอบรมส่งยอดผู้เข้ารับการอบรมแก่อนุศาสนาจารย์
๑.๘ ผู้ทำการอบรม
๑.๘.๑ อนุศาสนาจารย์
๑.๘.๒ ผู้ช่วยอนุศาสนาจารย์ ในกรณีอบรมพลทหาร
๑.๘.๓ พระสงฆ์ หรือผู้ทรงคุณวุฒิ
การอบรมเป็นหน้าที่ของอนุศาสนาจารย์ แต่หากอนุศาสนาจารย์เห็นเป็นการสมควรจะนิมนต์พระสงฆ์ หรือเชิญผู้ทรงคุณวุฒิทำการอบรมแทนก็ได้ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชาและต้องอบรมเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับศีลธรรมและวัฒนธรรมเท่านั้น
๑.๙ ในที่ตั้งหน่วยทหารแห่งหนึ่ง ให้มีสถานที่อบรมไว้เป็นส่วนรวม ๑ แห่ง มีความสงบและเหมาะสมที่จะใช้อบรมศีลธรรมทางศาสนา โดยจัดให้มีอุปกรณ์ที่จำเป็น ดังนี้
๑.๙.๑ โต๊ะหมู่บูชาพร้อมด้วยพระพุทธรูป แจกัน เชิงเทียน กระถางธูป ธงชาติ และพระบรมฉายาลักษณ์ รวมเป็น ๑ ชุด ขนาดพอเหมาะกับสถานที่
๑.๙.๒ แท่นสำหรับยืนบรรยาย และเครื่องอุปกรณ์การบรรยายตามความเหมาะสม
๑.๙.๓ เก้าอี้ หรือม้านั่ง สำหรับผู้ฟังการบรรยาย
๑.๙.๔ อุปกรณ์อื่นๆ ตามความจำเป็น
สถานที่อบรมดังกล่าวและการจัดสถานที่อบรมอยู่ในความควบคุมของหน่วยหรืออนุศาสนาจารย์ประจำหน่วย และหน่วยที่ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน อาจให้ผู้รับการอบรมไปรับการอบรมในสถานที่เดียวกันได้
๑.๑๐ การปฏิบัติในกรณีพิเศษ
๑.๑๐.๑ เมื่อผู้บังคับบัญชาหน่วยใดเห็นว่าทหารคนใดมีความประพฤตินิสัยใจคอเป็นไปในทางอาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียแก่ราชการ แก่ตนเอง และครอบครัวของบุคคลผู้นั้น หากอนุศาสนาจารย์ได้ช่วยแก้ปัญหาทางจิตใจให้แล้วจะเป็นผลดี ให้ส่งตัวไปให้อนุศาสนาจารย์ ให้การแนะนำทางใจ เป็นรายบุคคล หรือส่งอนุศาสนาจารย์ไปพบปะเยี่ยมเยียน แล้วแต่ความเหมาะสม ในการให้คำแนะนำทางใจนั้น เมื่ออนุศาสนาจารย์ได้ทราบความผิดพลาดหรือความบกพร่องใดๆ ของผู้รับ การอบรมแล้ว จะต้องรักษาไว้เป็นความลับส่วนบุคคล
๑.๑๐.๒ หากมีทหารหรือครอบครัวประสบเคราะห์กรรมต้องโทษ เจ็บป่วยหรือเสียชีวิต อนุศาสนาจารย์ควรไปเยี่ยมเยียนผู้นั้น และกล่าวปลุกปลอบบำรุงขวัญ หรือให้คำแนะนำตามสมควร
ในกรณีที่ทหารต้องประสบอุปัทวเหตุบาดเจ็บหรือเสียชีวิต หากมีอนุศาสนาจารย์อยู่ในที่ไม่ห่างไกลเกินไป ผู้บังคับบัญชาของผู้ได้รับเคราะห์กรรมนั้น ควรจะได้ติดต่อให้อนุศาสนาจารย์ทราบ เพื่ออนุศาสนาจารย์จะได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านขวัญและจิตใจ ในการเยี่ยมเยียนเพื่อบำรุงขวัญ และให้คำแนะนำดังกล่าว อนุศาสนาจารย์อาจส่งหนังสือไปแทนตนก็ได้
๑.๑๐.๓ เพื่อผลการอบรมทางจิตใจให้หน่วยอำนวยความสะดวกแก่อนุศาสนาจารย์ทำการพบปะเยี่ยมเยียนทหารได้ตลอดเวลา และหากทหารประสงค์จะพบปะกับอนุศาสนาจารย์ เป็นการส่วนตัว ก็ให้อำนวยความสะดวกด้วย ผู้บังคับบัญชาพึงเข้าใจว่า อนุศาสนาจารย์คือผู้ที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ตนในการปกครองทหาร มิใช่ผู้คอยจับผิด
๑.๑๐.๔ บุคคลพลเรือนที่พำนักอยู่ในหน่วยทหาร หากผู้บังคับบัญชาหน่วยนั้น เห็นเป็นการสมควรจะจัดให้ได้รับการอบรมจากอนุศาสนาจารย์เป็นส่วนรวม ก็สามารถดำเนินการได้
๑.๑๐.๕ การอบรมนายทหารสัญญาบัตร นายทหารประทวน พลทหาร ลูกจ้าง และบุคคลอื่นๆ หากผู้บังคับบัญชาหน่วยนั้นประสงค์จะให้อนุศาสนาจารย์ช่วยอบรมชี้แจงในเรื่องใดเป็นกรณีพิเศษ สามารถให้อนุศาสนาจารย์รับพิจารณาอบรมได้ ถ้าไม่ผิดศีลธรรม
๑.๑๑ การอบรมหมายถึง
๑.๑๑.๑ การบรรยาย
๑.๑๑.๒ การพบปะเยี่ยมเยียน
๑.๑๑.๓ การแนะนำ
๑.๑๑.๔ การให้การศึกษา
๑.๑๒ การส่งยอดผู้เข้ารับฟังการบรรยาย
๑.๑๒.๑ หน่วยและส่วนราชการที่ส่งกำลังพลเข้าฟังการบรรยายอบรม มอบให้ผู้ควบคุมส่งยอดให้แก่อนุศาสนาจารย์เมื่อไปถึงสถานที่อบรม
๑.๑๒.๒ การส่งยอดใช้ใบส่งยอดแบบใบส่งยอด ทบ.๓๔๑ – ๐๐๒ โดยลงยอดเต็ม และยอดรับการอบรมของกำลังพลที่เข้าฟังการบรรยายอบรมด้วยทุกครั้ง เพื่อสะดวกในการคิดเป็นร้อยละ เมื่อรายงานผู้บังคับบัญชาและหน่วยเหนือ
๑.๑๒.๓ ยอดเต็มของผู้เข้าฟังการบรรยายอบรม หมายถึงยอดกำลังพลประจำวัน มิได้หมายถึงยอดบรรจุจริง
๑.๑๓ การบันทึกเรื่องที่อบรม
๑.๑๓.๑ อนุศาสนาจารย์ผู้อบรม ต้องบันทึกเรื่องที่อบรมแต่ละครั้งและความเห็น ลงในสมุด ทบ.๓๔๑ – ๐๐๓ ด้วยทุกครั้ง
๑.๑๓.๒ กรณีที่เชิญวิทยากรภายนอกมาบรรยาย หรือนิมนต์พระสงฆ์แสดงธรรมหรือบรรยายจะขอให้วิทยากรและพระสงฆ์บันทึกเรื่องและความเห็นด้วยตนเอง หรืออนุศาสนาจารย์ จะบันทึกเรื่องและความเห็นลงในสมุด ทบ.๓๔๑ – ๐๐๓ ให้ก็ได้
๑.๑๔ การแสดงธรรม การบรรยายของพระสงฆ์
๑.๑๔.๑ อนุศาสนาจารย์จะนำผู้ฟังการบรรยายอบรม รับศีลก่อนการฟังบรรยายและให้รับพรเมื่อประธานได้ถวายเครื่องไทยธรรมแล้วก็ได้ หรือจะให้ฟังการบรรยายโดยไม่รับศีลก็ได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เหมาะสม
๑.๑๔.๒ กรณีพระสงฆ์แสดงธรรมตามรูปแบบ จะต้องมีการรับศีล มีการอาราธนาธรรม ตามแบบของการแสดงธรรม
๒. ภารกิจและบทบาทอนุศาสนาจารย์ตามระเบียบ ยศ.ทบ. ว่าด้วยการอบรมศีลธรรมวัฒนธรรมทหาร (ยามสงคราม) พ.ศ. ๒๕๐๕ และบทบาทของหน่วยที่เกี่ยวข้อง
๒.๑ ในที่ตั้งหน่วยนั้นๆ จัดให้มีสิ่งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการอบรม คือ
๒.๑.๑ เต็นท์
๒.๑.๒ พระพุทธรูปขนาดหน้าตักไม่เล็กกว่า ๕ นิ้ว
๒.๑.๓ ธงชาติและพระบรมฉายาลักษณ์
๒.๑.๔ แจกันดอกไม้ เชิงเทียน กระถางธูป
๒.๒ ความมุ่งหมายในการอบรมยามสงคราม
๒.๒.๑ ให้ทหารมีน้ำใจเสียสละ พร้อมที่จะทำการสู้รบเพื่อรักษาประเทศชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์
๒.๒.๒ ให้ทหารมีขวัญดี เคร่งครัดในระเบียบวินัย เชื่อถือ เชื่อมั่น ในรัฐบาลและผู้บังคับบัญชาของตน
๒.๒.๓ ให้ทหารมีศีลธรรมวัฒนธรรม สมานสามัคคีระหว่างหน่วย ระหว่างบุคคลและระหว่างทหารกับประชาชน
๒.๒.๔ ให้ทหารมีความองอาจกล้าหาญ เสียสละและไม่ประมาทในการปฏิบัติหน้าที่
๒.๒.๕ ให้รู้จักปลูกความนิยมทหารในหมู่ประชาชนในด้านจริยธรรม
๒.๓ หน้าที่และบทบาทของกรมยุทธศึกษาทหารบก
๒.๓.๑ สนับสนุนหน่วยที่ไม่มีอนุศาสนาจารย์ให้ได้รับการอบรมศีลธรรมวัฒนธรรม
๒.๓.๒ สอดส่อง ตรวจ ให้คำแนะนำแก่หน่วยในปัญหาเรื่องขวัญกำลังใจและศีลธรรม
๒.๓.๓ สรุปรายงานของหน่วย เสนอกองทัพบกเป็นครั้งคราว
๒.๔ หน้าที่และบทบาทหน่วยขึ้นตรงกองทัพบกที่มีอนุศาสนาจารย์
๒.๔.๑ จัดอนุศาสนาจารย์อบรมจิตใจทหาร นำประกอบพิธีทางศาสนา พบปะ เยี่ยมเยียน เป็นรายหน่วย หรือเป็นบุคคลตามแต่กรณี
๒.๔.๒ จัดให้มีการประชุมฟังการบรรยายอบรมจากอนุศาสนาจารย์เป็นครั้งคราว
๒.๔.๓ ถ้าเคลื่อนหน่วยเข้าไปใกล้หน่วยที่มีอนุศาสนาจารย์ประจำทำงานอยู่ ให้หาโอกาสพบปะกับผู้บังคับหน่วยและอนุศาสนาจารย์ของหน่วยนั้น เพื่อแสวงหาการบริการทางศาสนา, ศาสนสถานและทางจิตใจ
๒.๔.๔ ถ้าส่งทหารไปปฏิบัติการนอกที่ตั้ง ตั้งแต่ ๑ หมวดขึ้นไป ควรส่งอนุศาสนาจารย์ ของหน่วยไปเยี่ยมและให้การอบรม
๒.๔.๕ ให้ความช่วยเหลือหน่วยที่ไม่มีอนุศาสนาจารย์ซึ่งอยู่ใกล้ ในด้านการอบรมจิตใจทหาร
๒.๔.๖ มอบหมายให้อนุศาสนาจารย์ติดต่อกับพระสงฆ์ หรือหัวหน้างานทางศาสนา ประจำท้องถิ่น
๒.๔.๗ แจ้งผลการดำเนินการด้านขวัญกำลังใจของทหารมายังกรมยุทธศึกษาทหารบก เป็นครั้งคราว
๒.๕ หน้าที่และบทบาทอนุศาสนาจารย์ในสนาม
๒.๕.๑ เสนอแนะแก่หน่วย ให้จัดชุดสิ่งอุปกรณ์บำรุงขวัญและสิ่งอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบ การบรรยายอบรมจิตใจทหาร และเป็นสิ่งอุปกรณ์ที่มีความคล่องตัวในการเคลื่อนย้ายไปกับหน่วยตามกรณี
๒.๕.๒ ทำบัญชีทหารแยกตามศาสนา เพื่อสะดวกในการให้คำแนะนำ การนำประกอบศาสนกิจ และการทำพิธีกรรมทางศาสนา
๒.๕.๓ จัดทำบัญชีทหาร ระบุยศ ชื่อ นามสกุล ภูมิลำเนา ของทหารที่ถือศาสนา ส่วนน้อยและแยกตามนิกาย ทั้งนี้ เพื่อให้บริการทางศาสนาได้สะดวกในชีวิตประจำวัน และแม้ในยามที่มีการสูญเสียกำลังพล
๒.๕.๔ จัดทำบัญชี วัด สุเหร่า โรงสวด สุสาน โบสถ์ ศาสนสถาน และบุคลากรสำคัญของแต่ละศาสนาในพื้นที่ใกล้บริเวณที่ตั้งหน่วย เพื่อประสานในการกระทำพิธีกรรมทางศาสนาวัฒนธรรมประเพณี เมื่อจำเป็น
๒.๕.๕ ประสานการปฏิบัติร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับฝ่ายกำลังพล ทางด้านงานปกติ การบำรุงขวัญ และพิธีกรรม และใกล้ชิดกับฝ่ายกิจการพลเรือน (ถ้ามี) ทางด้านสังคมจิตวิทยา
๒.๕.๖ เสนอความเห็นแก่ผู้บังคับหน่วย ผู้บังคับบัญชา ในเรื่องการอบรมศีลธรรม การอบรมจิตใจทหาร ขวัญกำลังใจ วัฒนธรรมประเพณี ตลอดจนให้ทหารได้มีโอกาสปฏิบัติศาสนกิจและได้รับการบำรุงรักษาขวัญตามสมควร
๒.๕.๗ เอาใจใส่ดูแลศาสนสถานภายในหน่วยให้มีความน่าศรัทธาเลื่อมใส
๒.๕.๘ หาโอกาสพบปะเยี่ยมทหารที่ออกปฏิบัติงานนอกที่ตั้งปลุกปลอบบำรุงขวัญและเสริมสร้างกำลังใจทหารป่วยเจ็บ หรือทหารที่ได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจเนื่องจากการคร่ำเคร่งในการปฏิบัติหน้าที่ ให้กลับมีจิตใจรุกรบ อาจหาญ มีพลังใจพร้อม
๒.๕.๙ เข้าร่วมกิจกรรมบรรเทาสาธารณภัยกับฝ่ายพลเรือนหรือหน่วยในพื้นที่ เช่น กรณีช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และอัคคีภัย เป็นต้น
๒.๕.๑๐ ดำเนินการร่วมกับนายทหารฝ่ายการศพ ในกรณีทหารเสียชีวิต
๒.๕.๑๑ แสวงหาความร่วมมือจากบุคคลและองค์กรในท้องถิ่นเกี่ยวกับการบำรุงขวัญทหาร
๒.๕.๑๒ ศึกษาคำสอน พิธีกรรม ของศาสนาต่างๆ ให้เข้าใจเพื่อสะดวกในการให้คำแนะนำการนำปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาและประเพณี
๒.๕.๑๓ สังเกต จดบันทึก ทำบัญชีทหารที่มีพฤติกรรมล่อแหลมในด้านวินัย ความเชื่อฟัง การหมกมุ่นในสิ่งอบายมุข การมีลักษณะเฉื่อยชา และเข้าใกล้ชิดกับผู้มีปัญหาดังกล่าว
๒.๕.๑๔ ไม่เป็นผู้เกียจคร้าน ท้อแท้ ท้อถอย และฝึกพลังจิตของตนเสมอ
๒.๕.๑๕ หาโอกาสพบปะสนทนากับผู้บังคับหน่วยและผู้บังคับบัญชาเสมอ เพื่อรับทราบ ปัญหา เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติภารกิจหน้าที่อนุศาสนาจารย์
๒.๕.๑๖ ต้องตระหนักว่า ในสนามกระทำการอบรมเป็นกลุ่มก้อนได้น้อย แต่กระทำการพบปะเยี่ยมเยียนได้มาก
๒.๕.๑๗ ประสานให้เกิดความเข้าใจ ขวัญ จริยธรรม ของกำลังพลในสนาม และครอบครัวของกำลังพลนั้นๆ
๒.๕.๑๘ กรณีประกอบพิธีศพผู้เสียชีวิตในสนาม ณ วัดหรือศาสนสถานของศาสนาอื่นในพื้นที่การดำเนินการพิธีศพ ในการกล่าวสดุดีวีรกรรมขอให้เพิ่มการกล่าวธรรมสังเวชที่เขียนโดยอนุศาสนาจารย์เข้าไปด้วย
๒.๕.๑๙ พิธีสำคัญในทางพระพุทธศาสนา ที่ปฏิบัติในหน่วยในที่ตั้งปกติ เช่น พิธีวิสาขบูชา เป็นต้น แม้ในสนามอนุศาสนาจารย์สามารถเสนอแนะ และปรึกษาผู้บังคับบัญชาให้จัดขึ้นได้ทั้งในวัดใกล้หน่วย และภายในหน่วย ทั้งนี้ ย่อมขึ้นอยู่กับสถานการณ์
๒.๖ หัวข้อที่ควรใช้อบรมเน้นย้ำในสนาม
๒.๖.๑ วินัยและความเชื่อถือ
๒.๖.๒ ความสามัคคี
๒.๖.๓ ความเสียสละ
๒.๖.๔ ความอดทน
๒.๖.๕ สังคหวัตถุ
๒.๖.๖ อบายมุข
๒.๖.๗ พระรัตนตรัย
๒.๖.๘ วัฒนธรรมประเพณีในพื้นที่
การอบรมทางสื่อ
๑. สื่อที่อนุศาสนาจารย์ใช้ในการอบรมปัจจุบัน ได้แก่ .-
๑.๑ เสียงทางสายของหน่วย
๑.๒ เคเบิลทีวี
๑.๓ สถานีวิทยุ
๑.๔ วิทยุ เทป
๑.๕ ภาพเขียน ภาพวาด แผ่นชาร์ต
๑.๖ E-learning หรือ Social Network
บทบาทในการดำเนินการอบรมด้วยการใช้สื่อ สามารถกระทำได้โดยปฏิบัติทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน ตามวันที่กำหนด ในวันสำคัญที่เกี่ยวข้องทางด้านศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี ที่เวียนมาถึง และสามารถดำเนินรายการสด หรือบันทึกรายการไว้ล่วงหน้าก็ได้
๒. ข้อที่อนุศาสนาจารย์ ควรวางแผนปฏิบัติ
๒.๑ กลุ่มบุคคลเป้าหมายซึ่งมีหลายระดับ
๒.๒ เนื้อหาสาระของเรื่อง และหมวดธรรมที่จะต้องบรรยาย
๒.๓ นโยบายของหน่วย และนโยบายของผู้บังคับบัญชา
๒.๔ แต่ละเรื่องจะบรรยายครั้งเดียว หรือจะแบ่งการบรรยายไปตามลำดับ
๒.๕ จะบันทึกให้ทันเวลา และเตรียมไว้ล่วงหน้าอย่างไร
๒.๖ วัตถุประสงค์ของเรื่องนั้นเพื่ออะไร เน้นเรื่องใด
๒.๗ ควรเป็นเรื่องใหม่ เรื่องใหญ่ และเป็นเรื่องใกล้ตัว
๓. อุปกรณ์ที่สายวิทยาการอนุศาสนาจารย์ ใช้ในการเตรียมข้อมูลและใช้ประกอบในการอบรม การบรรยาย ได้แก่
๓.๑ เครื่องคอมพิวเตอร์
๓.๒ เครื่องฉายโปรเจคเตอร์
๓.๓ จอภาพขนาดตามความเหมาะสม
๓.๔ กล้องบันทึกวีดิโอ
๓.๕ กล้องบันทึกภาพนิ่ง
การกวดขันการอบรม
โดยปกติการกวดขันการอบรมมิใช่กิจหน้าที่ของอนุศาสนาจารย์ แม้กระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ ที่อนุศาสนาจารย์จะเคลื่อนไหวให้กำลังพลของหน่วยได้เข้ารับการอบรมในระดับที่น่าพอใจ ด้วยการประสาน การเข้าเยี่ยมพบปะกับผู้บังคับบัญชาทุกระดับ และกับหัวหน้าส่วนราชการนั้น และที่สำคัญก็คือ พยายามคิดค้นวิธีบรรยาย และเรื่องที่จะบรรยายให้น่าสนใจมากขึ้น ตลอดทั้งสรรหาวิทยากรที่จะดึงดูดความสนใจมาบรรยายเป็นครั้งคราว สรุปบทบาทของอนุศาสนาจารย์ในส่วนนี้ ก็คือ
๑. ประสานกับผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้น
๒. ตรวจสอบดูวันที่เหมาะสมสำหรับการอบรมในหน่วยนั้นๆ
๓. คิดค้นวิธีบรรยายให้น่าสนใจ
๔. สร้างแนวบรรยายและเรื่องที่จะบรรยายให้น่าสนใจ
๕. บรรยายในเรื่องที่อยู่ในความสนใจของหน่วย
๖. บรรยายในเรื่องที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่กำลังพลสนใจ
๗. บรรยายในเรื่องที่สอดคล้องกับนโยบายของผู้บังคับหน่วย, ผู้บังคับบัญชาหน่วยเหนือ และผู้บังคับบัญชาหน่วยรอง
๘. แสวงหาสื่อการบรรยายไว้ประกอบการบรรยายของตน
๙. รับผิดชอบเสนอขออนุมัติจัดหาวิทยากรภายนอกที่สามารถมาบรรยายเป็นครั้งคราว และดำเนินการประชาสัมพันธ์
๑๐. ประสานกับฝ่ายอำนวยการที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนการอบรมร่วมกัน
๑๑. เสนอแนะผู้บังคับบัญชา เพื่อกำหนดมาตรการในการจัดกำลังพลเข้ารับการอบรม และให้มีการกำกับดูแล ตามคำสั่งกองทัพบก (คำสั่งชี้แจง) ที่ ๑๕๐/๒๒๒๙๐ เรื่องให้กวดขันการอบรมศีลธรรม ลง ๑๙ ต.ค. ๙๗ กองทัพบกเน้นความสำคัญและบทบาทการจัดกำลังพลให้เข้ารับการอบรมให้มากไปที่ผู้บังคับบัญชาทุกระดับและชี้แจงเหตุผลว่า
กองทัพบกมีความประสงค์อย่างแท้จริงที่จะให้นายทหาร นายสิบ พลทหาร นักเรียนทหาร ข้าราชการและคนงาน ตลอดถึงครอบครัว ได้รับการอบรมศีลธรรม จรรยามารยาทโดยสม่ำเสมอและทั่วถึง
– หน่วยมักจะอ้างเหตุต่างๆ นานาในการที่จะไม่นำกำลังพลเข้ารับการอบรม
– บางหน่วยไม่พยายามหมุนเวียนทหารเข้ารับการอบรมให้ทั่วถึง เพียงแต่จัดทหารจำนวนหนึ่งให้เข้ารับการอบรมพอให้มียอดส่งรายงานเท่านั้น
– บางหน่วยทหารเข้าประจำการเกือบปีแล้ว ยังไม่เคยได้รับการอบรมก็มี
– บางหน่วยครอบครัวอยู่เป็นกลุ่มก้อน แต่ก็ไม่จัดให้มีการอบรมครอบครัว
– กองทัพบกถือว่าครอบครัวเป็นบุคคลกลุ่มหนึ่ง ที่อาจนำความดีงามหรือความเสื่อมมาสู่สามีหรือภรรยาของตน หรือของหน่วยได้
– ผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดทหาร ไม่ทราบความประสงค์อันแท้จริงของทางราชการในเรื่องการอบรมศีลธรรม
– ผู้บังคับบัญชาชั้นสูง ไม่สนใจตรวจผลการรับอบรมของหน่วยเท่าที่ควร
– ถ้าหน่วยใด หัวหน้าหน่วยเอาใจใส่ควบคุมการอบรมด้วยตนเอง หรือไปตรวจขณะทหารรับการอบรมเป็นครั้งคราว การอบรมมักจะได้ผลดี
– หน่วยใด หัวหน้าหน่วยหาวิธีชักจูงผู้อยู่ในปกครองให้สนใจรับการอบรม ก็ยิ่งได้ผลดีเป็นพิเศษ
ตามคำสั่งในเรื่องเดียวกันนี้ กองทัพบก ได้แนะนำให้หัวหน้าหน่วยปฏิบัติดังนี้
– ผู้บังคับบัญชาทหารทุกชั้น พยายามนำทหารเข้ารับอบรมให้ทั่วถึง ในกรณีที่ทหารติดราชการเวรยาม หรือจ่ายไปนอกกอง ก็ให้จัดผลัดหมุนเวียน ให้ทหารได้รับการอบรมโดยทั่วถึงกันและจัดครอบครัวภายในหน่วยให้ได้รับอบรมโดยนัยเดียวกัน
– การบรรยายธรรมทางสถานีวิทยุกระจายเสียงในเครือข่ายของกองทัพบกนับว่าได้ผลดีและประชาชนทั่วไปก็ติดตามรับฟังเป็นจำนวนมาก หน่วยที่มีสถานีวิทยุอยู่ในความรับผิดชอบ ควรจัดให้อนุศาสนาจารย์ได้ทำหน้าที่บรรยายธรรมทางสถานีวิทยุของหน่วยนั้นๆ ด้วย เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านการปลูกฝังอุดมการณ์ทหารด้านการพัฒนาคุณธรรม ตามนโยบายการปลูกฝังและสร้างเสริมอุดมการณ์ทหาร ด้านการพัฒนาคุณธรรมของกองทัพบก
– ผู้บังคับบัญชาที่รับรายงานเกี่ยวกับการอบรมของอนุศาสนาจารย์ ให้เพ่งเล็งถึงจำนวน ผู้เข้ารับอบรม ที่มีตัวจริงของแต่ละหน่วยด้วยว่ามีส่วนสัมพันธ์กันกับยอดเดิมเพียงใดหรือไม่
แม้ว่าการกวดขันให้มีผู้เข้ารับการอบรม ไม่ใช่หน้าที่และบทบาทของอนุศาสนาจารย์ก็จริงแต่อนุศาสนาจารย์ก็สามารถพิจารณาดำเนินการได้ เช่น เสนอแนะให้หน่วยดำเนินรายการบรรยายธรรมทางสถานทีวิทยุ หรือทางเสียงทางสายของหน่วย (ถ้ามี) หรือขออนุมัติต่อผู้บังคับหน่วย เพื่อดำเนินรายการ เสียงทางสายโดยอนุศาสนาจารย์ของหน่วยเป็นผู้บรรยาย ในส่วนของกองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารบก ซึ่งเป็นหัวหน้าเหล่าสายวิทยาการ ควรมีบทบาทในการเตรียมการเรื่องที่จะบรรยายธรรมทางสถานีวิทยุให้มีสาระที่น่าสนใจ โดยทำแผนงานและโครงการไว้ล่วงหน้า เพื่อให้เกิดผลดีต่อกำลังพลและครอบครัวของหน่วยและประชาชนทั่วไป ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของกองทัพบก