การปลูกฝังและสร้างเสริมอุดมการณ์ทหารด้านการพัฒนาคุณธรรมของกองทัพบก

๑. กล่าวทั่วไป

               กองทัพบกได้กำหนดคำขวัญอันมีลักษณะเป็นอุดมการณ์กองทัพบก เพื่อให้ทุกหน่วยปฏิบัติยึดมั่นไปในแนวทางเดียวกน คือ “เพื่อชาติ  ศาสน์ กษัตริย์และประชาชน”  สำหรับกำลังพล ทุกระดับชั้น  นอกจากจะต้องยึดถืออุดมการณ์ของกองทัพบกแล้ว  ยังต้องยึดมั่นต่อคำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพลและน้อมนำพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศทหาร  อันมีข้อความที่เป็นพระบรมราโชวาทปรากฏไว้ทุกฉบับ  ความว่า  “ให้ฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตน  และรักษาวินัยโดยเคร่งครัด  จงเว้นการควรเว้น หมั่นประพฤติการควรประพฤติ  ให้ต้องตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและแบบธรรมเนียมทุกประการ

               การที่จะทำให้กำลังพลของกองทัพบกตระหนัก ยึดมั่นอุดมการณ์ของกองทัพบก และ  พระบรมราโชวาทดังกล่าวนั้น หน่วยทุกระดับของกองทัพบกต้องยึดถือ  กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ สายการบังคับบัญชา  และฝึกอบรมกำลังพลให้เป็นผู้มีกำลังกายแข็งแรง  มีขวัญกำลังใจเข้มแข็ง  มีระเบียบวินัย  มีความรู้ความเข้าใจ ยึดมั่นในอุดมการณ์รักชาติ มีคุณธรรมจริยธรรม และมีจิตวิญญาณการเป็นทหารอาชีพ ที่สำคัญกำลังพลทุกคนจะต้องมีความเสียสละและยึดมั่นหลักการทำงานในแนวทางเดียวกัน โดยอุทิศตน เพื่อชาติ  ศาสนา และพระมหากษัตริย์ อย่างแท้จริง

               กองทัพบกได้เห็นความสำคัญการปลูกฝังและสร้างเสริมอุดมการณ์ให้กำลังพลมีอุดมการณ์เป็นไปในแนวทางเดียวกัน   จึงได้ออกคำสั่ง ทบ. ที่ ๖๖/๒๕๕๑         ลง  ๒๕ ก.พ.๕๑  และคำสั่ง คณะกรรมการปลูกฝังและสร้างเสริมอุดมการณ์ทหารของกองทัพบก ที่ ๑/๒๕๕๑  ลง ๑๘ ส.ค.๕๑  โดยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการปลูกฝังและสร้างเสริมอุดมการณ์ทหารของกองทัพบก  และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการปลูกฝังและสร้างเสริมอุดมการณ์ทหารของกองทัพบก  เพื่อรับผิดชอบงานที่ได้รับ  การแบ่งมอบจากคณะกรรมการปลูกฝังและสร้างเสริมอุดมการณ์ทหารของกองทัพบก ๕ คณะอนุกรรมการ  ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการปลูกฝังและสร้างเสริมอุดมการณ์ทหาร คณะอนุกรรมการพัฒนารักษาขวัญ  คณะอนุกรรมการรักษาวินัย  คณะอนุกรรมการพัฒนาคุณธรรม  และคณะอนุกรรมการประเมินผล

               กองทัพบกได้กำหนดมาตรการปลูกฝังและสร้างเสริมอุดมการณ์ทหารของกองทัพบก ซึ่งประกอบด้วย ๑ มาตรการหลัก เพื่อดำเนินการปลูกฝังและสร้างเสริมอุดมการณ์ทหารโดยตรง ด้วยวิธีการต่างๆ กับกำลังพลกลุ่มเป้าหมาย และ ๓ มาตรการเสริม เพื่อดำเนินการด้านการพัฒนารักษาขวัญ  ด้านการรักษาวินัย และด้านการพัฒนาคุณธรรม  เพื่อเสริมการปฏิบัติตามมาตรการหลัก

               สำหรับมาตรการเสริมด้านการพัฒนาคุณธรรม กองทัพบกได้มอบให้กรมยุทธศึกษาทหารบก เป็นหน่วยรับผิดชอบดำเนินการด้านการพัฒนาคุณธรรม  โดยมีรองเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก เป็นประธานอนุกรรมการ และ ผู้อำนวยการ   กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารบก เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ  เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติ อำนวยการ ประสานงาน กำกับดูแล ในเรื่องการพัฒนาคุณธรรม ให้กับกำลังพล ของกองทัพบกทุกนายยึดหลักคุณธรรมในด้านต่างๆ มาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสม สร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นกับตนเอง ครอบครัว  สังคม  หน่วยงานและประเทศชาติ  และเกิดจิตสำนึกในการเทิดทูนและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ  ตลอดจนดำรงรักษาไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์  มิให้ผู้ใดล่วงละเมิดได้  และมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และแสดงออกให้เป็นที่ปรากฏในทุกโอกาสอันควร โดยยึดถือนโยบายการปลูกฝังและสร้างเสริมอุดมการณ์ทหารของกองทัพบก พ.ศ.๒๕๕๑  หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา  และแบบสรุปผลการประเมินการปลูกฝังและสร้างเสริมอุดมการณ์ทหารของกองทัพบก ด้านการพัฒนาคุณธรรม ตามหนังสือ ยศ.ทบ.ที่ กห ๐๔๖๑/๒๖๓๙  ลง  ๒๖ พ.ค.๕๓  เป็นแนวทางหลักในการดำเนินการพัฒนาคุณธรรมทหาร

๒. คณะอนุกรรมการพัฒนาคุณธรรม

          ๒.๑ รอง จก.ยศ.ทบ.               ประธานอนุกรรมการ

          ๒.๒ เสธ.ยศ.ทบ.                    รองประธานอนุกรรมการ

          ๒.๓ ผู้แทน ทภ.๑                  อนุกรรมการ

          ๒.๔ ผู้แทน ทภ.๒                  อนุกรรมการ

          ๒.๕ ผู้แทน ทภ.๓                  อนุกรรมการ

          ๒.๖ ผู้แทน ทภ.๔                  อนุกรรมการ

          ๒.๗ ผู้แทน นสศ.                   อนุกรรมการ

          ๒.๘ ผู้แทน พล.ปตอ.              อนุกรรมการ

          ๒.๙ ผู้แทน พล.ร.๑๑              อนุกรรมการ

          ๒.๑๐ ผู้แทน พล.ม.๒ รอ.         อนุกรรมการ

          ๒.๑๑ ผู้แทน พล.ป.                อนุกรรมการ

          ๒.๑๒ ผู้แทน ขกท.                 อนุกรรมการ

          ๒.๑๓ ผอ.กอศจ.ยศ.ทบ.          อนุกรรมการและเลขานุการ

          ๒.๑๔ รอง ผอ.กอศจ.ยศ.ทบ.    อนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

๓. หน้าที่และความรับผิดชอบของคณะอนุกรรมการพัฒนาคุณธรรม

          ๓.๑ กำหนดแนวทางการปฏิบัติ อำนวยการ และประสานงาน

          ๓.๒ กำกับการในเรื่องการพัฒนาคุณธรรม ให้กำลังพลทุกนายยึดหลักคุณธรรมในด้านต่างๆ มาเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตทั้งในด้านส่วนตัวและหน้าที่การงาน

๔. วัตถุประสงค์การพัฒนาคุณธรรมของกองทัพบก

          ๔.๑ เพื่อให้ส่วนราชการของ ทบ. ตั้งแต่ระดับกองพันขึ้นไป และ นขต.ทบ. มีแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจนในการปลูกฝังและสร้างเสริมอุดมการณ์ทหาร ด้านการพัฒนาคุณธรรมให้กับกำลังพลในสังกัด

          ๔.๒ เพื่อให้กำลังพลทุกนายยึดมั่นในอุดมการณ์ความเป็นทหารอาชีพและยึดหลักคุณธรรม ๘ ประการ มาเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตทั้งในด้านส่วนตัว หน้าที่การงาน และปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง ที่ดีต่อส่วนรวม เพื่อสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นกับตนเอง ครอบครัว ชุมชน หน่วยงาน กองทัพ และประเทศชาติในที่สุด

          ๔.๓ เพื่อให้กองทัพบกเป็นสถาบันหลักที่สร้างศรัทธาและเชื่อมั่นแก่ประชาชน และปลูกจิตสำนึกในการเทิดทูนและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ ตลอดจนดำรงรักษาไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์มิให้ผู้ใดล่วงละเมิดได้  มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และแสดงออกให้เป็นที่ปรากฏในทุกโอกาส

๕. กลุ่มเป้าหมาย

          ๕.๑ บุคคลที่เตรียมเข้ามาปฏิบัติราชการใน ทบ.

          ๕.๒ กำลังพลที่แรกเริ่มเข้ามาปฏิบัติราชการใน ทบ.

          ๕.๓ กำลังพลที่เข้ามาปฏิบัติราชการใน ทบ. แล้ว

          ๕.๔ บุคคลอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือสนับสนุนการปฏิบัติราชการใน ทบ.

๖. แนวทางการพัฒนาคุณธรรม

      คณะอนุกรรมการพัฒนาคุณธรรม  ได้ใช้แนวทางการพัฒนาคุณธรรมตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ๘ ประการ และตามนโยบายที่กองทัพบกกำหนดมาเป็นหลักในการดำเนินการ โดยยึดถือแผนการปลูกฝังและสร้างเสริมอุดมการณ์ทหารของ ทบ. ประจำปี ๒๕๕๕  ตามที่ ผบ.ทบ. อนุมัติท้ายหนังสือ กพ.ทบ. ที่ กห ๐๔๐๑/๓๘๒๐  ลง  ๒๗  ธ.ค. ๕๔  เรื่อง รายงานผลการดำเนินการ ตามนโยบายการปลูกฝังและ
สร้างเสริมอุดมการณ์ทหารของ ทบ. ดังนี้

      ๖.๑ ความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

      ๖.๒ ความเสียสละ

      ๖.๓ ความรับผิดชอบต่อหน้าที่

      ๖.๔ ความพอเพียง

      ๖.๕ ความสามัคคี

      ๖.๖ ความสุขของผู้ครองเรือน

      ๖.๗ การอบรมศีลธรรมวัฒนธรรมทหาร

      ๖.๘ การปฏิบัติธรรม (จิตภาวนา)

๗. วิธีดำเนินการด้านการพัฒนาคุณธรรม

      ๗.๑ ความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

          ๗.๑.๑ การจัดให้มีการศึกษาอบรมและเพิ่มพูนความรู้ ด้านประวัติศาสตร์ชาติไทยประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา พระราชประวัติพระมหากษัตริย์ไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน เช่น การอบรม การจัดทัศนศึกษา การจัดนิทรรศการ การจัดฉายภาพยนตร์ การจัดทำเว็บไซต์ทางอินเตอร์เน็ต เป็นต้น เพื่อปลูกฝังและสร้างเสริมอุดมการณ์ให้เกิดความรัก เคารพ เทิดทูน และรู้ซึ้งถึงคุณค่ายิ่งของสถาบันหลักของชาติที่มิอาจแยกออกจากกันได้

          ๗.๑.๒ การจัดโครงการหรือกิจกรรมเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์  เพื่อให้กำลังพลและครอบครัวแสดงออกถึงความจงรักภักดีและเกิดจิตสำนึกในการปกป้อง พิทักษ์ และรักษาไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติด้วยเลือดเนื้อและชีวิตของตน ดังนี้

               ๗.๑.๒.๑ ความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ

                    ๗.๑.๒.๑.๑ การจัดห้องเกียรติศักดิ์หรือห้องพิพิธภัณฑ์ของหน่วย

                    ๗.๑.๒.๑.๒ การสืบสานและอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมไทยและเอกลักษณ์ของชาติไทย  เช่น ประเพณีสงกรานต์ เข้าพรรษา ลอยกระทง การใช้ภาษาไทย เป็นต้น

                    ๗.๑.๒.๑.๓ การร้องเพลงชาติ  การปฏิญาณตนหลังเคารพธงชาติ การร้องเพลง ในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับชีวิตการเป็นทหารอาชีพหรือร้องเพลงปลุกใจรักชาติต่างๆ

                    ๗.๑.๒.๑.๔ การกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล และการปฏิบัติตนตามคำปฏิญาณต่อธงชัยเฉลิมพลอย่างต่อเนื่อง ด้วยวิธีการต่างๆ ให้กับกำลังพลทุกระดับ

                    ๗.๑.๒.๑.๕ การจัดป้ายข้อความและสื่อต่างๆ เพื่อรณรงค์และปลุกจิตสำนึกรักชาติ และพร้อมที่จะปกป้อง พิทักษ์และรักษาไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ

                    ๗.๑.๒.๑.๖ การประดับธงชาติ ธงธรรมจักร และธงสัญลักษณ์ เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

               ๗.๑.๒.๒ ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระพุทธศาสนา

                    ๗.๑.๒.๒.๑ การสอนวิชาการศาสนาและศีลธรรมในหลักสูตรตามแนวทางการรับราชการของ ทบ. และ กอศจ.ยศ.ทบ.

                    ๗.๑.๒.๒.๒ การจัดกิจกรรมวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่นทำบุญตักบาตร  รักษาศีล ปฏิบัติธรรม เวียนเทียนประทักษิณ  ปฏิบัติศาสนพิธี  ประดับธงธรรมจักร  จัดนิทรรศการ ประกวดโต๊ะหมู่บูชาและการสวดมนต์สรรเสริญพระรัตนตรัย การเข้าค่ายคุณธรรม เป็นต้น

                    ๗.๑.๒.๒.๓ การถวายความอุปถัมภ์และทำนุบำรุง เช่น บริจาคเงินเพื่อการกุศลผ้าป่า/กฐินฯ กิจกรรม ๑ กองพัน ๑ วัด พัฒนาจิต เป็นต้น

                    ๗.๑.๒.๒.๔ การสืบต่ออายุของพระพุทธศาสนา ด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของความเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี  และสนับสนุนส่งเสริมด้านปริยัติธรรม  ปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนาของกำลังพลและครอบครัว เช่น การจัดการเรียนการสอนและสอบธรรมสนามหลวง  โรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ บวชเนกขัมมะ/บวชชีพราหมณ์  การบรรพชาและอุปสมบท เป็นต้น

               ๗.๑.๒.๓ ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

                    ๗.๑.๒.๓.๑ การปฏิบัติธรรมและการบรรพชาอุปสมบทเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี

                    ๗.๑.๒.๓.๒ การจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ เช่น การทำบุญตักบาตร ไหว้พระสวดมนต์ ปฏิบัติธรรมถวายเป็น  พระราชกุศล, การลงนามถวายพระพรชัยมงคล, การปฏิญาณตนเป็นข้าราชการที่ดีและเป็นพลังแผ่นดิน, ปลูกต้นไม้ตามโครงการพลิกฟื้นผืนป่าด้วยพระบารมี, การบริจาคโลหิต, การจัดทำสื่อเผยแผ่พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ, การเดิน-วิ่งเฉลิมพระเกียรติ เป็นต้น

                    ๗.๑.๒.๓.๓ การจัดที่บูชาประจำกองร้อย ให้ถูกต้องเหมาะสมตามที่ ทบ. กำหนด เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศล

                    ๗.๑.๒.๓.๔ การไหว้พระสวดมนต์อธิษฐานจิต ถวายเป็นพระราชกุศล วันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี   ทุกวันราชการ เวลา ๐๘๓๐  ตลอดเดือนพระราชสมภพของทุกปี

                    ๗.๑.๒.๓.๕ การปฏิบัติธรรมถวายเป็นพระราชกุศล ของพลทหารกองประจำการ  หลังจากไหว้พระสวดมนต์ประจำวัน  ทุกคืน เวลา ๒๐๓๐

      ๗.๒ ความเสียสละ

          ๗.๒.๑ การบริจาคเงินและสิ่งของเพื่อสาธารณกุศลให้กับวัด บ้าน โรงเรียน หน่วยงานและองค์กรการกุศลต่างๆ เช่น ผ้าป่าฯ/กฐินฯ อุปกรณ์การศึกษา/กีฬา การพัฒนาสิ่งแวดล้อมและบำเพ็ญ สาธารณประโยชน์  เป็นต้น เพื่อกำจัดความเห็นแก่ตัว  ปลูกฝังความเสียสละและเสริมสร้างความรู้รักสามัคคีต่อกัน

          ๗.๒.๒ การช่วยเหลือและบำบัดทุกข์ผู้ประสบภัยพิบัติต่างๆ เช่น  อุทกภัย  วาตภัยอัคคีภัย ภัยแล้ง อุบัติเหตุ เป็นต้น เพื่อปลูกฝังความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากหรือผู้ที่ด้อยโอกาส  เพื่อให้กองทัพบกเป็นที่ยอมรับ เชื่อมั่นของประชาชน

          ๗.๒.๓ การพัฒนาหน่วย เขตสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อม ด้วยความเสียสละตามที่ได้รับการแบ่งมอบพื้นที่ให้ดำเนินการ  เพื่อให้เห็นถึงความรับผิดชอบและเสียสละต่อส่วนรวมของกำลังพล

          ๗.๒.๔ การบริจาคโลหิตเพื่อสภากาชาดไทย การอุทิศร่างกายและชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่  เพื่อพิทักษ์รักษาอธิปไตยและเอกราชของชาติไทย  ตลอดจนปลูกฝังให้เห็นคุณค่าของความเสียสละ และเกิดความภาคภูมิใจในการเสียสละสิ่งที่มีคุณค่าน้อยเพื่อรักษาไว้ซึ่งสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่า

          ๗.๒.๕ การจัดสวัสดิการและบำรุงขวัญของหน่วย  เช่น  พบปะเยี่ยมเยียน  มอบทุน การศึกษา ค่ารักษาพยาบาล มอบของขวัญรางวัล/โล่/เกียรติบัตร การจัดหางานให้พลทหารกองประจำการ เป็นต้น  เพื่อให้เห็นถึงความเสียสละและการเอาใจใส่ดูแลของผู้บังคับหน่วย ที่มีต่อกำลังพลและครอบครัวของหน่วย

      ๗.๓ ความรับผิดชอบต่อหน้าที่

          ๗.๓.๑ จัดกำลังพลเข้ารับการฝึกศึกษาตามวงรอบ และตามที่หน่วยมีความคิดริเริ่มอย่างเพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่  เพื่อให้กำลังพลเป็นผู้ที่มีทักษะความรู้มีความริเริ่มและมีการตัดสินใจที่ถูกต้องรวดเร็วมีคุณธรรมจริยธรรมและจิตวิญญาณการเป็นทหารอาชีพ  มีเกียรติยศและศักดิ์ศรี   มีความรู้ความสามารถทั้งในงานตามหน้าที่และก้าวทันวิทยาการที่ทันสมัย มีความตระหนักในความเป็นทหารของชาติและเป็นทหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เช่น การฝึก ชกท. การเพิ่มพูนวิทยฐานะการจัดการเรียนการสอนเฉพาะหน้าที่ภายในหน่วย (Unit school) การฝึกตามวงรอบหน่วย เป็นต้น

          ๗.๓.๒ การจัดทำห้องเกียรติศักดิ์หรือห้องพิพิธภัณฑ์ และบันทึกประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับ วีรกรรมของกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละและกล้าหาญ เพื่อเป็นสถานที่รวบรวมประวัติศาสตร์ที่นำมาซึ่งความภาคภูมิใจของกำลังพลและครอบครัว และประกาศเกียรติคุณให้เป็นที่ปรากฏต่อสาธารณชน  ยกย่องเทิดทูน และเป็นที่เคารพของบุคคลทั่วไป

          ๗.๓.๓ การคัดเลือกและยกย่องกำลังพลดีเด่น ด้านการฝึกศึกษาและปฏิบัติหน้าที่  ในที่ตั้งปกติและปฏิบัติราชการสนามให้เป็นที่ปรากฏต่อกำลังพลและครอบครัว ตลอดจนประชาชนทั่วไปเช่น ประกาศยกย่อง มอบใบประกาศเกียรติคุณ มอบของขวัญรางวัล บำเหน็จความดีความชอบ เป็นต้น เพื่อกระตุ้นให้กำลังพลมีความมุ่งมั่น และเกิดขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่จนเกิดความสำเร็จลุล่วงและเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานและส่วนรวม

          ๗.๓.๔ จัดทำสถิติทหารกระทำความผิดและปฏิบัติหน้าที่ย่อหย่อน บกพร่อง ละทิ้ง หรือทุจริตต่อหน้าที่ เช่น ดื้อรั้น ผิดวินัย ขาดหนี  การทำผิดกฎหมาย  ประพฤติทุจริตและคอร์รัปชั่น เป็นต้น  สำหรับเป็นข้อมูลให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการควบคุม กำกับดูแลและหาแนวทางปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมหรือลงโทษตามฐานของความผิด  เพื่อป้องกันมิให้กำลังพลกระทำผิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และปฏิบัติตนเป็นข้าราชการที่ดีของแผ่นดิน  ตลอดจนลงโทษกำลังพลที่กระทำผิดร้ายแรงมิให้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนกระทำความเสียหายต่อหน่วยและส่วนรวมต่อไป อันเป็นการป้องกันมิให้คนชั่วมีอำนาจและส่งเสริมคนดีให้มีโอกาสทำหน้าที่ทดแทนต่อไป

      ๗.๔ ความพอเพียง

          ๗.๔.๑ การจัดกำลังพลและครอบครัวเข้ารับการอบรม ศึกษาดูงาน และฝึกปฏิบัติตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงทั้งในที่ตั้งหน่วยและนอกหน่วยเพื่อให้กำลังพลและครอบครัวมีความรู้ความเข้าใจและเกิดแรงจูงใจในการนำแนวความคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติ  และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของตนได้ต่อไป

          ๗.๔.๒ การจัดโครงการและกิจกรรมสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ปรากฏผลเป็นรูปธรรม เช่น ปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกพืชเศรษฐกิจ  ไร่นาสวนผสม เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

          ๗.๔.๓ การรณรงค์ลด ละ เลิก อบายมุข เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายเหลือและ   เพื่อสุขภาพที่ดี มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของกำลังพลและครอบครัว ตลอดจนเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติหน้าที่และดำเนินชีวิตด้วยความสุขและประสบความสำเร็จในชีวิต เช่น การฝึกอบรมเพิ่มเติมความรู้ให้เห็นโทษและพิษภัยของอบายมุข การควบคุมกำกับดูแลเกี่ยวกับการจำหน่วยบุหรี่,สุราให้เป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบของหน่วย  การรณรงค์ลด ละ เลิก บุหรี่เหล้าเข้าพรรษา การกวดขันมิให้เล่นการพนันและกระทำสิ่งผิดกฎหมาย การบำบัดและฟื้นฟูสุขภาพผู้ติดยาเสพติด เป็นต้น

          ๗.๔.๔ การจัดผลกำไรของกองทุนชุมชนหรืองบประมาณของหน่วยให้การสนับสนุนและส่งเสริมด้านการฝึกวิชาชีพ การศึกษาและพัฒนาชุมชนทหารภายในหน่วย เพื่อให้สมาชิกได้มีส่วนร่วมและสร้างความเจริญรุ่งเรืองภายในชุมชนของตน

      ๗.๕ ความสามัคคี

          ๗.๕.๑ การรณรงค์สร้างความสามัคคีและความปรองดองของคนในชาติ การสร้างจิตสำนึกอุดมการณ์รักชาติ และยึดมั่นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข  ด้วยการจัดกิจกรรมสร้างความเข้าใจและทัศนคติที่ดีให้เกิดความสำนึกในหน้าที่ในการให้การสนับสนุนความร่วมมือร่วมใจและรู้จักให้อภัยกัน   เพื่อความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ  เช่น การรณรงค์ให้ปฏิบัติตามแนว
พระราชดำรัส “รู้รักสามัคคี” เป็นต้น

          ๗.๕.๒ จัดโครงการและกิจกรรมสนับสนุนและส่งเสริมให้กำลังพล ครอบครัว และชุมชนทั่วไปเกิดความรักสามัคคีและพร้อมที่จะดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขและให้อภัยต่อกัน เช่น แข่งขันกีฬา  พบปะเยี่ยมเยียน  ทัศนศึกษาและการบันเทิง การจัดสวัสดิการ เป็นต้น

          ๗.๕.๓ การประชุมประจำเดือนของหน่วยและเข้าร่วมประชุมกับหน่วยงานอื่น  เพื่อความเข้าใจอันดีต่อกันและรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการส่งเสริมให้เกิดความสามัคคีมีความสมานฉันท์ และร่วมกันหาแนวทางป้องกันและแก้ไขเหตุที่ก่อให้เกิดความแตกสามัคคี

          ๗.๕.๔ การสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชุมชนและจัดชุดเกาะติดสถานการณ์ เพื่อทำความเข้าใจและรณรงค์ให้กำลังพล ครอบครัว และประชาชน ได้มีส่วนร่วมและทำกิจกรรมเสริมสร้างความรักความสามัคคีร่วมกัน เช่น การมีส่วนร่วมอนุรักษ์และสืบสานประเพณีวัฒนธรรมไทย การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ การพัฒนาชุมชน การจัดชุดเกาะติดสถานการณ์ เป็นต้น

      ๗.๖ ความสุขของผู้ครองเรือน  คือความสุขอันชอบที่ผู้ครองเรือนควรมีและควรขวนขวายให้มีอยู่ในตนเสมอ มี ๔ ประการ ดังนี้

          ๗.๖.๑ สุขเกิดจากการมีทรัพย์ การจัดโครงการและจัดกิจกรรมสนับสนุนและส่งเสริมการประกอบอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้กำลังพลและครอบครัวในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน เช่น ตัดเย็บเสื้อผ้า ทำเครื่องประดับตกแต่ง ไม้ดอกไม้ประดับ  สินค้าและผลิตภัณฑ์ OTOP  เป็นต้น เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายเหลือ มีความเป็นอยู่ที่ดีและไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว

          ๗.๖.๒ สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์บริโภค  การจัดอบรมและรณรงค์ให้รู้จักประหยัดอดออมและบริหารทรัพย์ตามแนวคำสอนของพระพุทธศาสนาโดยยึดหลักโภคอาทิยธรรมคือประโยชน์ที่ควรถือเอาจากการใช้จ่ายโภคทรัพย์ ๕ ประการ คือ

            ๗.๖.๒.๑ เลี้ยงตน เลี้ยงมารดาบิดา เลี้ยงครอบครัว เลี้ยงผู้ใต้บังคับบัญชาให้เป็นสุข

            ๗.๖.๒.๒ เลี้ยงเพื่อนฝูงให้เป็นสุข

            ๗.๖.๒.๓ บำบัดป้องกันภยันตราย

            ๗.๖.๒.๔ ทำพลีกรรม (สละเพื่อช่วยเหลือหรือบูชา) ๕ อย่าง ดังนี้

                  ๗.๖.๒.๔.๑ การสงเคราะห์ญาติ

                  ๗.๖.๒.๔.๑ การต้อนรับแขก

                  ๗.๖.๒.๔.๑ การทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย

                  ๗.๖.๒.๔.๑ การเสียภาษีอากร

                  ๗.๖.๒.๔.๑ การทำบุญอุทิศให้เทวดา

            ๗.๖.๒.๕ ทำทานในสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติชอบ (การทำบุญตักบาตรพระสงฆ์  สนับสนุนและส่งเสริมบุคคลผู้ประพฤติดีมีศีลธรรม)

          ๗.๖.๓ สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้

            ๗.๖.๓.๑ การตรวจสอบการกู้เงินที่ก่อให้เกิดหนี้สินล้นพ้นตัวของกำลังพล จนอาจส่งผลกระทบและทำให้เกิดความเสียหายต่อการปฏิบัติหน้าที่และต่อหน่วย ในรูปแบบของการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกู้เงินของหน่วย เพื่อหาแนวทางแก้ไขและช่วยเหลือให้กำลังพลมี   หนี้สิ้นลดลงและหมดหนี้ในที่สุด เช่น การตรวจสอบการกู้เงินทั้งในระบบและนอกระบบ รวมทั้งความสามารถในการชำระหนี้ของกำลังพล  การจัดทำสถิติและประวัติของกำลังพลที่มีเงินเหลือไม่ถึงหนึ่งในสามของเงินรายได้ประจำเดือน การให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่กำลังพลผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เป็นต้น

            ๗.๖.๓.๒ การส่งเสริมให้กำลังพลและครอบครัวจัดทำบัญชีครัวเรือนของตนเพื่อตรวจสอบรายรับ-รายจ่าย และวางแผนในการใช้จ่ายทรัพย์มิให้เกินรายรับประจำเดือนของตนและป้องกันมิให้ใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยจนเกินฐานะและเป็นผู้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว

          ๗.๖.๔ สุขเกิดจากการประกอบการงานที่ปราศจากโทษ  จัดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้โทษ เพื่อควบคุมกำกับดูแลและจัดหามาตรการป้องกันมิให้กำลังพลและครอบครัวประพฤติทุจริตหรือเกี่ยวข้องกับสิ่งเสพติดให้โทษ  กระทำผิดกฎระเบียบของหน่วยและกฎหมายบ้านเมือง  เช่น  การอบรมชี้แจง  รายงานสถิติทหารกระทำผิดประจำเดือน  การจัดชุดระวังป้องกันการกระทำผิดการตรวจปัสสาวะหาสารเสพติด การบำบัดและการฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด การจัดตั้งหน่วยทหารสีขาว เป็นต้น

      ๗.๗ การอบรมศีลธรรมวัฒนธรรมทหาร  จัดโครงการและกิจกรรมส่งเสริมให้กำลังพลและครอบครัวมีโอกาสได้รับการศึกษาและอบรมในโอกาสสำคัญ เพื่อปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมในจิตใจ    ให้ละชั่ว กระทำความดี และฝึกจิตให้บริสุทธิ์ผ่องใส ดังนี้

          ๗.๗.๑ การอบรมศีลธรรมวัฒนธรรมทหาร (ยามปกติ) ประจำเดือน  หน่วยจัดให้มีการอบรมศีลธรรมวัฒนธรรมทหารประจำเดือนทุกเดือนๆ ละ ๑ ครั้ง โดยใช้หัวข้อธรรมที่ ยศ.ทบ. กำหนดให้ และปฏิบัติตามระเบียบกรมยุทธศึกษาทหารบก ว่าด้วยการอบรมศีลธรรมวัฒนธรรมทหาร(ยามปกติ) พ.ศ.๒๕๔๙  ลง ๒๒ ธ.ค.๔๙ อย่างต่อเนื่อง โดยให้หน่วยออกคำสั่งการอบรมศีลธรรมวัฒน-ธรรมทหาร  ส่งใบบันทึกยอดผู้เข้ารับการอบรม สมุดบันทึกการอบรม รายงานผลการอบรมศีลธรรมฯ และรายงานสถิติทหารกระทำความผิดประจำเดือนให้หน่วยเหนือทราบทุกเดือน

          ๗.๗.๒ การสอนวิชาการศาสนาและศีลธรรมในหลักสูตรตามแนวทางรับราชการ  การอบรมและเพิ่มพูนความรู้ด้านศาสนพิธี พิธีกร พิธีกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมไทยของ ทบ. และของหน่วย

          ๗.๗.๓ การอบรมคุณธรรมทหารใหม่  การประกอบพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะของทหารใหม่ และอบรมครูฝึกทหารใหม่  หน่วยออกคำสั่ง  ดำเนินการ และรายงานผลการอบรมคุณธรรมทหารใหม่ การประกอบพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะสำหรับทหารใหม่ และอบรมคุณธรรมครูฝึกทหารใหม่ให้หน่วยเหนือทราบทุกผลัด

          ๗.๗.๔ การจัดกิจกรรมธรรมสัญจรของอนุศาสนาจารย์ และการอบรมชี้แจงพลทหารกองประจำการ   หน่วยออกคำสั่งและจัดอนุศาสนาจารย์บรรยายธรรมหรือพบปะเยี่ยมเยียนกำลังพล  ณ ที่รวมพลหน้าแถว หน่วยงานและชุมชนทหาร ตลอดจนจัดผู้บังคับบัญชาอบรมพลทหารกองประจำการ ก่อนการไหว้พระสวดมนต์ก่อนนอนตาม รปจ.

          ๗.๗.๕ การจัดโครงการหรือกิจกรรมพบกันวันพระ  เช่น การไหว้พระสวดมนต์ทำบุญตักบาตร ปฏิบัติธรรม ประดับธงธรรมจักร – ธงชาติ – ธงตราสัญลักษณ์ เป็นต้น

          ๗.๗.๖ การจัดทำสื่อธรรมะและติดตั้งป้ายข้อความสำหรับเผยแผ่และส่งเสริมให้กำลังพลและครอบครัวได้รับความรู้ความเข้าใจและสามารถนำไปประยุกต์ในชีวิตประจำวันได้ เช่น พุทธศาสน-สุภาษิต  ข้อคิดคติธรรม  พระราชดำรัส  พระบรมราโชวาท  นิทรรศการ  เสียงตามสาย  สถานีวิทยุและโทรทัศน์  เป็นต้น

          ๗.๗.๗ การจัดทำสมุดบันทึกความดี หน่วยส่งเสริมให้กำลังพลบันทึกความดีที่ได้เข้าร่วมโครงการหรือกิจกรรมด้านการพัฒนาคุณธรรม ๘ ประการ โดยเริ่มที่พลทหารกองประจำการทุกนายและขยายผลถึงกำลังพลและครอบครัวในโอกาสต่อไป

      ๗.๘ การปฏิบัติธรรม หน่วยจัดให้กำลังพลและครอบครัวได้มีโอกาสปฏิบัติธรรม ตามแนวการปฎิบัติธรรมสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานทางพระพุทธศาสนาตามที่ ทบ. หรือหน่วยจัดดำเนินการ เพื่อพัฒนาและยกระดับจิตใจให้เกิดความสะอาด สว่าง สงบ  และเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงตามสัจธรรมของพระพุทธเจ้า และสามารถกำจัดทุกข์และแก้ไขปัญหาชีวิตด้วยสติปัญญาของตนได้อย่างเหมาะสมถูกต้อง ดังนี้

          ๗.๘.๑ การปฏิบัติธรรมในหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรของ ทบ.

          ๗.๘.๒ การปฏิบัติธรรมในโครงการปฏิบัติธรรมในเทศกาลเข้าพรรษาของ ทบ.

          ๗.๘.๓ การปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติของ ทบ. เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา  ๑๒ สิงหามหาราชินี และ ๕ ธันวามหาราช  และในโอกาสอื่นๆ

          ๗.๘.๔ การปฏิบัติธรรมของหน่วย หน่วยเหนือหรือร่วมกับหน่วยงานและองค์กรอื่นๆ

          ๗.๘.๕ การเข้าร่วมโครงการบรรพชาอุปสมบทของ ทบ. หน่วยเหนือ

          ๗.๘.๖ การไหว้พระสวดมนต์และปฏิบัติธรรมก่อนปฏิบัติงาน ณ หน้าแถว
ที่รวมพลของหน่วย

          ๗.๘.๗ การไหว้พระสวดมนต์ก่อนนอนและการปฏิบัติธรรม ของพลทหาร   กองประจำการ  หลังจากการไหว้พระสวดมนต์ก่อนนอนประจำวัน

๘. การรายงานผลด้านการพัฒนาคุณธรรม 

    ให้คณะอนุกรรมการพัฒนาคุณธรรมของหน่วยรายงานผลตามนโยบายการปลูกฝังและสร้างเสริมอุดมการณ์ทหารของ ทบ. ด้านการพัฒนาคุณธรรม  โดยผ่านอนุกรรมการพัฒนาคุณธรรม  ตามสายการบังคับบัญชา  ปีงบประมาณละ ๒ ห้วง ดังนี้

    ๘.๑ หน่วยระดับ กองพัน  รายงานภายใน วันที่ ๒๕ มี.ค. และ ๒๕ ก.ย. ของทุกปี

    ๘.๒ หน่วยระดับ กรม  รายงานภายใน วันที่ ๑ เม.ย. และ ๑ ต.ค. ของทุกปี

     ๘.๓ หน่วยระดับ กองพล รายงานภายใน วันที่ ๕ เม.ย. และ ๕ ต.ค. ของทุกปี

    ๘.๔ หน่วยระดับ กองทัพภาค และ นขต.ทบ.  รวบรวมและรายงานถึง  ยศ.ทบ.  (ผ่านกอศจ.ยศ.ทบ.) ภายในวันที่ ๑๐ เม.ย. และ ๑๐ ต.ค. ของทุกปี

    ๘.๕ ยศ.ทบ. (กอศจ.ยศ.ทบ.) รวบรวมและสรุปผลรายงานเพื่อนำเรียนประธานกรรมการปลูกฝังและสร้างเสริมอุดมการณ์ทหารของกองทัพบก (ผช.ผบ.ทบ.สายงานกำลังพล) ก่อนสรุปนำเรียนให้ ผบ.ทบ. ทราบต่อไป ภายใน ๒๐ เม.ย. และ ๒๐ ต.ค. ของทุกปี

     ๘.๖ ให้หน่วยจัดทำภาคผนวกรายละเอียดของกิจกรรมพร้อมภาพกิจกรรม รายงานเป็นรูปเล่มเอกสารและลงข้อมูลทั้งหมดในแผ่นซีดีรอมแนบกับภาคผนวกด้วย

    ๘.๗ ให้ผู้บังคับหน่วยเป็นผู้ลงนามในแบบรายงานผลการปลูกฝังและสร้างเสริมอุดมการณ์ทหารของ ทบ. ด้านการพัฒนาคุณธรรม

๙. การประเมินผล  ดำเนินการประเมินผลทั้งในระดับบุคคล หน่วยทหาร และ ทบ. ดังนี้

    ๙.๑ ระดับบุคคลและหน่วยทหาร ให้ดำเนินการประเมินตามสายการบังคับบัญชา และคณะอนุกรรมการประเมินผล (จบ.) จัดชุดตรวจสอบและประเมินผลหน่วยตั้งแต่ระดับกองพัน จนถึงระดับ นขต.ทบ. ปีงบประมาณละ ๑ ครั้ง

    ๙.๒ ระดับ ทบ. ให้ดำเนินการประเมินผล โดยที่กองทัพบกจะจัดคณะอนุกรรมการดำเนินการรับผิดชอบเป็นการเฉพาะ

๑๐. การปฏิบัติ

      ส่วนราชการของกองทัพบก ตั้งแต่หน่วยระดับกองพันขึ้นไปจนถึงระดับกองทัพภาค และ นขต.ทบ. ยึดถือและเร่งรัดการดำเนินการในส่วนที่รับผิดชอบให้บรรลุผลในการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว รวมทั้งให้จัดทำรายละเอียดในการดำเนินการตามนโยบายการปลูกฝังและสร้างเสริมอุดมการณ์ทหารของกองทัพบก มาตราที่ ๔ “ด้านการพัฒนาคุณธรรม” โดยกำหนด แผนงาน, โครงการ และกิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม ประกอบเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ ปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ และรายงานผลการปฏิบัติตามวงรอบ ๖ เดือน ของปีงบประมาณตามห้วงเวลาที่ ทบ. กำหนด

๑๑. วิธีดำเนินการ

      ๑๑.๑ นขต.ทบ.แต่งตั้งคณะกรรมการปลูกฝังและสร้างเสริมอุดมการณ์ทหารของหน่วย  ถึงระดับกองพัน (กองทัพภาค  กองพล  กรม  กองพัน)

      ๑๑.๒ คณะกรรมการปลูกฝังและสร้างเสริมอุดมการณ์ทหารของหน่วย ตามข้อ ๑๑.๑ ออกคำสั่ง  แต่งตั้งคณะอนุกรรมการปลูกฝังและสร้างเสริมอุดมการณ์ทหารของหน่วย  ด้านการพัฒนาคุณธรรม

      ๑๑.๓ จัดประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาคุณธรรมของหน่วย  เพื่อดำเนินการกำหนดแนวทาง การจัดโครงการ/กิจกรรม ด้านการพัฒนาคุณธรรมของหน่วย  ตามโครงการ/กิจกรรมสนับสนุนแผนงานการปลูกฝังและสร้างเสริมอุดมการณ์ทหารของกองทัพบก มาตรการที่ ๔  “ด้านการพัฒนาคุณธรรม” ให้ครบทั้ง ๘ ด้าน

      ๑๑.๔ ประชาสัมพันธ์และเชิญชวนให้กำลังพลและครอบครัว มีความเข้าใจและเห็นความสำคัญ ของการเข้าร่วมโครงการ/กิจกรรมด้านการพัฒนาคุณธรรมและดำเนินการจัดโครงการ/กิจกรรมต่างๆ ตามที่หน่วยกำหนด

      ๑๑.๕ หน่วยที่รับผิดชอบโครงการ/กิจกรรม ประสานงาน กำกับดูแลและรายงานผล  เมื่อจบกิจกรรม ให้คณะอนุกรรมการพัฒนาคุณธรรมของหน่วยทราบทุกครั้ง   

      ๑๑.๖ คณะอนุกรรมการพัฒนาคุณธรรมของหน่วย  รายงานผลการปฏิบัติตามสายการบังคับบัญชา และรวบรวมผลการดำเนินการรายงานให้ ทบ. (ยศ.ทบ.) ทราบ  ตามแบบรายงานการปลูกฝังและสร้างเสริมอุดมการณ์ทหารของ ทบ. ด้านการพัฒนาคุณธรรม ตามวงรอบ ๖ เดือน ปีงบประมาณละ ๒ ห้วง  ตามข้อ ๘

      ๑๑.๗ ดำเนินการประเมินผลและรายงานผลการประเมิน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์ ปรับปรุงและพัฒนาโครงการและกิจกรรม  ให้เกิดความสมบูรณ์และปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ