ตามระเบียบกรมยุทธศึกษาทหารบก ว่าด้วยการอบรมศีลธรรมวัฒนธรรมทหาร (ยามปกติ) พ.ศ. ๒๕๔๙ กองอนุศาสนาจารย์ซึ่งเป็นหัวหน้าเหล่าสายวิทยาการอนุศาสนาจารย์ จะต้องจัดส่งอนุศาสนาจารย์ ไปตรวจและให้คำแนะนำกิจการอนุศาสนาจารย์แก่หน่วยขึ้นตรงกองทัพบกและหน่วยรอง เป็นประจำทุกปี เพียงแต่ในแต่ละปีไม่สามารถจะตรวจได้ครบทุกหน่วย โดยตรวจเกี่ยวกับ
๑. การอบรมศีลธรรมวัฒนธรรมทหาร
๒. การปลูกฝังและสร้างเสริมอุดมการณ์ทหาร ด้านการพัฒนาคุณธรรม
๓. การจัดที่บูชาประจำกองร้อย
๔. การไหว้พระสวดมนต์ของทหาร
๕. เอกสารหลักฐานในสายงานอนุศาสนาจารย์
๖. การปฏิบัติงานของอนุศาสนาจารย์ประจำหน่วย
ตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ เป็นต้นมา กองทัพบก ได้มีนโยบายการปลูกฝังและสร้างเสริมอุดมการณ์ทหารของกองทัพบก และมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการปลูกฝังและสร้างเสริมอุดมการณ์ทหารของกองทัพบก และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการปลูกฝังและสร้างเสริมอุดมการณ์ทหารของกองทัพบก เพื่อรับผิดชอบงานที่ได้รับการแบ่งมอบจากคณะกรรมการปลูกฝังและสร้างเสริมอุดมการณ์ทหารของกองทัพบก ๕ คณะอนุกรรมการ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการปลูกฝังและสร้างเสริมอุดมการณ์ทหาร คณะอนุกรรมการพัฒนารักษาขวัญ คณะอนุกรรมการรักษาวินัย คณะอนุกรรมการพัฒนาคุณธรรม และคณะอนุกรรมการประเมินผล โดยกำหนดให้หน่วยตั้งแต่ระดับกองพันและเทียบเท่าขึ้นไป ต้องออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการปลูกฝังและสร้างเสริมอุดมการณ์ทหารของหน่วย รวมทั้งให้จัดทำแผนงานและโครงการพัฒนา กับทั้งได้กำหนดหัวข้อให้หน่วยรายงานกองทัพบก ปีละ ๒ ครั้ง ตามห้วงเวลาที่กองทัพบกกำหนด
อนุศาสนาจารย์ มีหน้าที่และบทบาทในการปลูกฝังและสร้างเสริมอุดมการณ์ทหาร ด้านการพัฒนาคุณธรรม แก่กำลังพล เพื่อสนองตอบนโยบายของกองทัพบก เพราะฉะนั้น จึงได้กำหนดหัวข้อในการตรวจกิจการอนุศาสนาจารย์ เพิ่มขึ้นอีก ๑ หัวข้อ คือ การปลูกฝังและสร้างเสริมอุดมการณ์ทหาร ด้านการพัฒนาคุณธรรม
บทบาทของอนุศาสนาจารย์ที่จะดำเนินการ
ก. บทบาทของกองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารบก
๑. วางแผนการตรวจกิจการอนุศาสนาจารย์ประจำปี โดยออกคำสั่งกรมยุทธศึกษาทหารบก
๒. เสนอของบประมาณการตรวจ
๓. ประชุมปรึกษาหารือในเรื่องที่จะตรวจ
๔. กำหนดเน้นประเด็นสำคัญที่จะตรวจในเรื่องเดียวกันทุกสายที่ไปตรวจ
๕. จัดทำข้อมูลว่าการตรวจหน่วยแต่ละหน่วย ได้พบข้อดีและข้อบกพร่องในเรื่องใดบ้าง
๖. นำข้อดีและข้อบกพร่องที่ตรวจพบตามข้อ ๕ ไปเป็นข้อมูลในการตรวจครั้งต่อไปว่ามีการปรับปรุงและพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างไร
๗. กำหนดหัวข้อบรรยายแก่กำลังพลของหน่วยที่รับการตรวจ โดยดูความเหมาะสมกับสถานการณ์และการใช้หัวข้อธรรมที่เกื้อกูลกันอย่างไร
๘. บันทึกผลการตรวจไว้เป็นหลักฐานที่หน่วยนั้นๆ
๙. ประชุมชี้แจงอนุศาสนาจารย์ในพื้นที่ ในเรื่องข้อดีและข้อบกพร่องเพื่อให้เร่งรัดการปฏิบัติงานในส่วนของอนุศาสนาจารย์ต่อไป
๑๐. สรุปรายงานผลการตรวจไปยังกองทัพบก
ข. บทบาทของอนุศาสนาจารย์ประจำหน่วย
๑. ตรวจให้คำแนะนำแก่หน่วยของตน ในหัวข้อที่จะตรวจ ก่อนการรับการตรวจ
๒. เตรียมเอกสาร และเรื่องที่จะตรวจไว้รับการตรวจให้พร้อม
๓. ประสานกับหน่วยได้ดำเนินการในสายงานอนุศาสนาจารย์ เพื่อความสะดวกแก่ชุดตรวจ
๔. สรุปเรื่องที่หน่วยได้ดำเนินการในสายงานอนุศาสนาจารย์ เพื่อความสะดวกแก่ชุดตรวจ
๕. ส่งตารางการตรวจให้ชุดตรวจทราบล่วงหน้า
๖. ประสานให้มีผู้นำตรวจ และติดตามคณะชุดตรวจในการตรวจหน่วยของตน
๗. ประสานการใช้ยานพาหนะนำตรวจและส่งชุดตรวจ
๘. ประสานกับอนุศาสนาจารย์อื่น ตามที่เกี่ยวข้อง