งานหนึ่งที่เกี่ยวพันอยู่กับการหน้าที่ของอนุศาสนาจารย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือการให้คำแนะนำโดยพื้นฐานเดิม อนุศาสนาจารย์ ไม่ได้ศึกษาวิชาการให้คำแนะนำโดยตรง แม้จะศึกษาการแก้ปัญหารายบุคคลในหลักสูตรนายทหารอนุศาสนาจารย์ชั้นต้น และชั้นสูงมาบ้าง ก็เป็นการศึกษาภาพรวม ไม่ได้เจาะลึกในทฤษฎีและกฎเกณฑ์อย่างแท้จริง อีกส่วนหนึ่ง อนุศาสนาจารย์ย่อมได้ศึกษามาบ้างในหลักสูตรทางด้านวิชาครู เกี่ยวกับการแนะแนว การสัมภาษณ์ ซึ่งมีส่วนใช้เกื้อกูลกันได้ในการให้คำแนะนำ
คุณวุฒิของผู้ที่จะเข้ามารับราชการเป็นอนุศาสนาจารย์ กำหนดผู้สำเร็จการศึกษาเปรียญธรรม ๙ ประโยค หรือจบปริญญาทางศาสนาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ ซึ่งเป็นผู้ได้คุณวุฒิเปรียญตั้งแต่ ๔ – ๙ ประโยค ย่อมถือว่ามีคุณวุฒิเพียงพอที่จะให้คำแนะนำได้ อีกประการหนึ่ง หลักคำสอนในพุทธศาสนาเพียบพร้อมไปด้วยคำแนะนำ และการให้คำแนะนำที่พระพุทธองค์และพระสงฆ์สาวกในอดีตได้กระทำเป็นตัวอย่างไว้แล้วในหนังสือพุทธประวัติเล่ม ๑-๓ หนังสือพุทธานุพุทธประวัติ (อนุพุทธะ ๘๐ องค์) และในหนังสือธัมมปทัฏฐกถา ๘ ภาค เช่น เริ่มต้นตั้งแต่การให้คำแนะนำแก่พระยสกุลบุตร ภัททวัคคีย์ ๓๐ คน เป็นต้น ล้วนเป็นการยืนยันได้ว่าอนุศาสนาจารย์ย่อมเป็นผู้ให้คำแนะนำได้
๑. คุณสมบัติสำคัญของอนุศาสนาจารย์ผู้ให้คำแนะนำ คือ
๑.๑ ต้องมีความรู้ จิตวิทยามูลฐาน หรือจิตวิทยาทั่วไป
๑.๒ ต้องมีความรู้ทางสังคมวิทยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับสถาบันทางสังคม
๑.๓ ต้องเข้าใจการจัดหน่วย การบังคับบัญชา สายการบังคับบัญชาของหน่วยนั้นๆ
๑.๔ มีบุคลิกภาพในการรับฟังผู้อื่นและมีความสนใจในผู้อื่น
๑.๕ มีพลังทางศีลธรรมในตนสูง
๑.๖ มีศรัทธามั่นคงต่องานและภารกิจ
๑.๗ เป็นผู้ที่สามารถรอคอยและยืดหยุ่นได้
๑.๘ เป็นผู้มีอารมณ์ขัน
๑.๙ เป็นผู้มีลักษณะเชื่อมประสานและกลมกลืนกับผู้อื่นได้
๑.๑๐ เป็นผู้มีข้อมูล และปัจจัยต้นเหตุของข้อมูล
๑.๑๑ มีวุฒิภาวะในการแยกแยะ
๑.๑๒ มีจิตเมตตาปรารถนาดีเป็นพื้นฐาน
๑.๑๓ มีวิสัยทัศน์ในการคาดการณ์ และสิ่งบอกเหตุ
๑.๑๔ เป็นผู้สามารถดำรงคุณธรรมและมโนธรรมของตนได้
๒. วัตถุประสงค์ของการให้คำแนะนำ
๒.๑ เพื่อพัฒนาทัศนคติของผู้รับคำแนะนำ
๒.๒ เพื่อให้ผู้รับคำแนะนำเชื่อมั่นในศักยภาพของตน
๒.๓ เพื่อให้ผู้รับคำแนะนำได้รับความพึงพอใจ
๒.๔ เพื่อป้องกันปัญหาทางลบในตัวบุคคล
๒.๕ เพื่อให้ผู้รับคำแนะนำแก้ปัญหาด้วยตนเองตลอดไป
๓. ปัญหาที่อนุศาสนาจารย์จะต้องพบในกระบวนการการให้คำแนะนำ
๓.๑ ปัญหาทางศีลธรรม
๓.๒ ปัญหาเกี่ยวกับเสถียรภาพทางอารมณ์
๓.๓ ปัญหาเกี่ยวกับความผิดหวังในงานและอาชีพ
๓.๔ ปัญหาความถดถอยด้านขวัญและกำลังใจ
๓.๕ ปัญหาทางกายภาพและจิตภาพ
๓.๖ ปัญหาความคับแค้นขมขื่นอันเนื่องมาจากความอยุติธรรม
๓.๗ ปัญหาการปรับตัวเข้ากับระเบียบวินัยไม่ได้
๓.๘ ปัญหาความวิตกกังวลและระแวงในความผิดที่ตนกระทำ
๓.๙ ปัญหาส่วนตัว ปัญหาครอบครัว ปัญหาการงาน ปัญหาการเงิน และปัญหาสังคม
๔. ความซับซ้อนของปัญหาที่อนุศาสนาจารย์ต้องเผชิญในกระบวนการการให้คำแนะนำ
๔.๑ มาตรฐานรายได้ของบุคคล ไม่สามารถจะนำมาเป็นเครื่องกำหนดกับสถานภาพของบุคคลได้เสมอไป เช่น บุคคลมีสถานภาพทางยศเป็นจ่าสิบเอก น่าจะจับจ่ายใช้สอยอย่างจ่าสิบเอก แต่ในความเป็นจริงอาจมีปัจจัยอื่นเป็นตัวแปร ให้เขาใช้จ่ายมากกว่าฐานะของจ่าสิบเอก เพราะมีปริมาณบุคคลในครอบครัวมากเกินไป เช่น มีบุตรธิดา ๗ คน มีมารดาบิดาแก่ชราต้องเลี้ยงดู มีน้องภรรยาหรือน้องของสามีมาอยู่ในอุปการะ
๔.๒ เกณฑ์อายุของบุคคลในครอบครัวก็เป็นสาเหตุให้ใช้จ่ายต่างกัน แม้ปริมาณบุคคลเท่ากัน สมาชิกของครอบครัวกำลังศึกษาในสถานศึกษาระดับอนุบาล ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา และอุดมศึกษา ย่อมมีความแตกต่างในการใช้จ่าย
๔.๓ แม้ที่ตั้งของที่อยู่อาศัย กับที่ตั้งของสถานศึกษา ที่ตั้งของสำนักงานที่ใกล้และไกลต่างกันก็เป็นปัจจัยแห่งการใช้จ่ายที่ต่างกัน
๔.๔ การเจ็บป่วยของสมาชิกภายในครอบครัว ที่แตกต่างกัน แม้มีปริมาณที่เท่ากันและ มีสถานภาพทางสังคมเท่ากัน ก็เป็นปัจจัยแห่งการใช้จ่ายที่แตกต่าง การใช้จ่ายที่แตกต่างย่อมนำไปสู่ปัญหาที่แตกต่างและมากน้อยกว่ากัน
๔.๕ สถานะเดิมของครอบครัวในด้านทรัพย์สิน เป็นปัจจัยสำคัญมีผลกระทบต่อครอบครัวแต่ละครอบครัว แม้สถานภาพของหัวหน้าครอบครัวจะเท่ากัน (คือการมาจากครอบครัวที่มีความแตกต่างในทางเศรษฐกิจ)
๔.๖ อาชีพของสมาชิกในครอบครัว และรวมทั้งรายได้ของสมาชิกอื่น ๆ ในครอบครัวก็เป็นปัจจัยให้เกิดความแตกต่างในด้านความเพียงพอและความขาดแคลนของครอบครัวได้อีกส่วนหนึ่ง
๔.๗ ความรัก ความซื่อสัตย์ ความไว้วางใจ ความหวาดระแวง ความมั่นคง ความไม่มั่นคงทางอารมณ์และรายได้ ความขัดแย้งและทะเลาะวิวาท ของสมาชิกในครอบครัวมีส่วนเป็นตัวเสริม และตัวทำลายความมั่นคง ความไม่มั่นคง ความมีพลัง และความขาดพลังของครอบครัวได้ทั้งนั้น
๔.๘ ความซับซ้อนแห่งปัญหาของผู้ติดสุรา เหตุผลที่ทำให้ติดสุราก็มีมากหลาย เช่น ติดเพราะความกลัดกลุ้มผิดหวัง ติดเพราะความหลงระเริงมัวเมาติดเพราะจิตใจขาดความแข็งแรงทางศีลธรรม จริยธรรม เพราะความขัดแย้งในครอบครัว เป็นต้น
ในจำนวน ผู้ติดสุรา บางคนประเมินตัวเองว่าไม่สามารถเลิกได้ บางคนถ้าได้รับการชักชวนและเหตุผลประกอบ จะสามารถเลิกได้ บางคนได้รับผลกระทบจากการดื่มสุรา เช่น กระทบต่อความก้าวหน้าทางอาชีพ กระทบต่อค่าใช้จ่ายรายเดือน กระทบต่อสุขภาพ และต้องการจะเลิกดื่ม แต่ยังขาดกิจกรรม และมูลเหตุจูงใจที่จะเร่งเร้าให้หยุดการดื่ม บางคนกลัวการถูกลงโทษ ต้องการจะหยุด บางคนเห็นโทษของการดื่มสุราอย่างแท้จริง อนุศาสนาจารย์ต้องตระหนักอยู่เสมอว่า ผู้ที่งดเพราะกลัวถูกลงโทษ เพราะค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอนั้น เป็นการงดที่ไม่มั่นคง ถ้าไม่มีผู้ลงโทษ หรือถ้ามีรายได้เพิ่มขึ้นมาก็กลับดื่มสุราอีก สำหรับผู้ที่งดการดื่มสุรา เพราะพิจารณาเห็นประจักษ์ว่าสมควรที่ตนจะต้องหยุด และมองเห็นอิสรภาพความปลอดโปร่งทางจิตใจที่ไม่ต้องถูกครอบงำด้วยน้ำเมานั้นเป็นสิ่งที่ก่อประโยชน์โดยส่วนเดียว ย่อมเป็นผู้ที่ถูกคาดหวังว่าจะหยุดการดื่มสุราได้ถาวร
เหตุผลจากความซับซ้อนของปัญหาที่อนุศาสนาจารย์จะต้องเผชิญในกระบวนการ การให้คำแนะนำ ตามตัวอย่างที่กล่าวนี้ เป็นเครื่องเตือนให้อนุศาสนาจารย์ตระหนักเป็นหลักการว่า การให้คำแนะนำไม่สามารถจะมองปัญหาเป็นจุดใดจุดหนึ่งได้ตามลำพัง สมควรที่จะมองปัญหาเป็นภาพรวม ทุกกรณี แม้ปัญหาของผู้รับคำแนะนำเป็นปัญหาเดียวกัน ส่วนประกอบของปัญหา สาเหตุของปัญหา ความหนักเบาของปัญหา ย่อมมีความแตกต่างซับซ้อน และเกี่ยวโยงกับปัญหาอื่นไม่เท่ากัน
๕. การแสดงออกและบทบาทของอนุศาสนาจารย์เมื่อปฏิบัติการให้คำแนะนำ
๕.๑ แนวคิดพื้นฐานของอนุศาสนาจารย์ ต้องไม่กดดันให้ผู้รับคำแนะนำรู้สึกว่าตนมีปมด้อย
๕.๒ ไม่พึงสะกิดหรือกระทบจุดที่เป็นข้อบกพร่องของผู้รับคำแนะนำ
๕.๓ ให้ผู้รับคำแนะนำรู้สึกปลอดโปร่งเป็นอิสระขณะรับคำแนะนำ และสนทนา
๕.๔ ตั้งใจฟังปัญหาด้วยความเคารพ
๕.๕ ฉลาดในการให้ผู้รับการแนะนำเปิดเผยปัญหา และความรู้สึกอันแท้จริง
๕.๖ อย่าให้เขารู้สึกว่าถูกสอนอบรม
๕.๗ มีจิตหวังดี และมั่นใจเด็ดเดี่ยวที่จะช่วยแก้ปัญหา
๕.๘ พูดแนะนำในเชิงประเด็นว่าปัญหาของเขาเป็นสิ่งที่แก้ไขได้
๕.๙ แนะนำเสริมและให้หลักปฏิบัติที่ดี
๕.๑๐ ดูความเหมาะสมและโอกาสที่เอื้ออำนวยที่จะให้คำแนะนำ
๕.๑๑ เมื่อผู้รับคำแนะนำแสดงทรรศนะถูกต้องและริเริ่มให้รีบสนับสนุน เพื่อให้เขาได้ใช้พลังเช่นนั้นต่อเนื่องไป และจำความริเริ่มของเขานี้ให้นาน เพื่อนำมาเป็นปัจจัยกระตุ้นต่อไป
๕.๑๒ หมั่นพบปะกับผู้นั้นบ่อย ๆ หรือในสถานการณ์ที่เอื้ออำนวย
๕.๑๓ แม้เทคนิคทางโหราศาสตร์ก็นำมาเป็นปัจจัยเกื้อกูลต่อการให้คำแนะนำ แต่ต้องไม่ใช่ประเด็นที่จะให้เกิดความงมงาย หรือความหวังในความสำเร็จที่ปราศจากการกระทำ
๕.๑๔ แม้การใช้ตำราดูพระเครื่องก็นำมาเป็นสื่อในการให้คำแนะนำได้
๕.๑๕ หาโอกาสให้ผู้รับคำแนะนำเกิดจินตนาการ และเกิดความเชื่อมั่นใจตนเองสูง ซึ่งเป็นตัวหลักที่จะแก้ปัญหาได้จริง และยั่งยืน
๕.๑๖ ยอมรับในเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
๕.๑๗ ให้เขาได้มีโอกาสปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาด้วยตนเอง เช่น การปฏิบัติกรรมฐาน เป็นต้น
๕.๑๘ ตระหนักว่า ความเพียงพอและความต่อเนื่องของการพบปะ ย่อมช่วยอนุรักษ์พฤติกรรมและหล่อเลี้ยงพฤติกรรมที่ดีของเขา
๕.๑๙ ชักชวนเขาในกิจกรรมที่เขาจะได้พิจารณาตัวเอง
๕.๒๐ อนุศาสนาจารย์ต้องปฏิบัติตนและดำรงความเป็นแบบอย่างใน เรื่องที่แนะนำ
๕.๒๑ อนุศาสนาจารย์ต้องไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ และไม่พึงรับสิ่งตอบแทน
๕.๒๒ พึงรักษาบุคลิกภาพของตนให้ดีต่อเนื่อง
๕.๒๓ ไม่ควรตำหนิขณะให้คำแนะนำ
๕.๒๔ ต้องวิเคราะห์ความแตกต่างที่เกิดขึ้นตลอดเวลา
๕.๒๕ ต้องไม่ตั้งคำถามรุกต่อผู้รับคำแนะนำ
๕.๒๖ ต้องไม่ยึดมั่นว่าปัญหาอย่างเดียวกันต้องแนะนำอย่างเดียวกัน และมิได้หมายความว่าห้ามแนะนำอย่างเดียวกัน
๕.๒๗ อนุศาสนาจารย์ต้องตระหนักเสมอว่า ตนไม่ใช่ผู้พิพากษาที่จะตัดสินผู้ที่รับคำแนะนำ ว่าดีหรือชั่ว ผิดหรือถูก แต่ควรถือว่าเป็นผู้ร่วมวางแผนปฏิบัติ บางสิ่งบางอย่าง เมื่อคุ้นเคยนับถือกันแล้วอาจพูดกันตรงไปตรงมา
๕.๒๘ พึงกระตุ้นให้เขาค้นพบความสามารถในตัวเขาเอง
๕.๒๙ ความสำเร็จแห่งการปฏิบัติการร่วมกัน ต้องเป็นของผู้รับคำแนะนำ มิใช่เป็นของอนุศาสนาจารย์ ๕.๓๐ การให้คำแนะนำโดยปกติกระทำหลายครั้งต่อหนึ่งกรณี ปัจจัยเวลาจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งอนุศาสนาจารย์ยังต้องพะรุงพะรังอยู่กับพิธีต่างๆ ซึ่งแม้ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด แต่ก็เป็นสิ่งที่ละทิ้งไปไม่ได้