๑. งานที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและพิธีการต่างๆ
อนุศาสนาจารย์ จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในงานด้านศาสนาและพิธีการต่างๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบอย่างถูกต้อง และสามารถปฏิบัติได้อย่างดี งานดังกล่าวนี้จะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับภารกิจของหน่วย ตลอดจนระเบียบคำสั่งที่หน่วยเหนือได้กำหนดไว้และสามารถปรับให้เกิดความเหมาะสมกับกลุ่มหรือชุมชน, สภาวการณ์หรือสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ที่หน่วยตั้งอยู่
๒. ลักษณะการปฏิบัติพิธีของอนุศาสนาจารย์
ก. งานพิธีของหน่วย อนุศาสนาจารย์จะต้องให้ข้อเสนอแนะที่ถูกต้องเหมาะสมกับงานพิธีของหน่วยในระดับต่างๆ และสามารถเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพิธีกรได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งสามารถจัดบุคคลเข้าร่วมในการปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมด้วย
ข. งานพิธีของกำลังพลเป็นรายบุคคล ในฐานะที่อนุศาสนาจารย์เป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณของกำลังพลในกองทัพ การช่วยปฏิบัติพิธีต่างๆ ให้กำลังพล จึงเป็นการเสริมสร้างขวัญและกำลังใจได้อย่างดี ดังนั้น อนุศาสนาจารย์จะต้องว่างเสมอสำหรับงานในด้านนี้
ค. งานพิธีของญาติของกำลังพล สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้น ความสุขทุกข์ของญาติย่อมมีผลกระทบต่อสภาพจิตใจของกำลังพลอย่างมาก อนุศาสนาจารย์จึงต้องหาช่องทางเข้าร่วมกิจกรรมกับบุคคลเหล่านั้น โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวกับพิธีการทางด้านศาสนา ด้วยการให้ข้อแนะนำและปฏิบัติพิธีด้วยตนเอง
ง. งานพิธีของหน่วยงานหรือชุมชนอื่นๆ
กองทัพจะสามารถปฏิบัติภารกิจต่างๆ บรรลุจุดประสงค์ได้นั้น จำต้องอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานหรือชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงด้วย อนุศาสนาจารย์เป็นผู้หนึ่งที่สามารถสร้างความสัมพันธ์ และความรู้สึกที่ดีต่อกันระหว่างกองทัพกับประชาชน ดังนั้น อนุศาสนาจารย์จึงพร้อมเสมอที่จะเป็นผู้แทนหน่วย ในการสร้างสัมพันธ์กับหน่วยงานหรือชุมชนนอกหน่วยในกิจการด้านศาสนาและพิธีการทันทีที่มีการร้องขอจากหน่วยงานหรือชุมชนนั้นๆ
๓. งานพิธีที่อนุศาสนาจารย์ปฏิบัติ
๓.๑ งานพิธีของหน่วยทหาร
ก. พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล
ข. พิธีวันสถาปนาหน่วย
ค. พิธีในวันสำคัญทางศาสนา
ง. พิธีสงกรานต์
จ. พิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ
ฉ. พิธีไหว้ครู
ช. พิธีเปิด – ปิดการศึกษา
ซ. พิธีประดับยศ
ฌ. พิธีขอขมาลาอุปสมบท
ญ. พิธีไหว้พระสวดมนต์, ปฏิบัติธรรม
ฎ. พิธีถวายกฐิน, ผ้าป่า, สังฆทาน
ฏ. พิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหน่วย
ฐ. พิธีอำลาชีวิตราชการ
ฑ. พิธีพุทธาภิเษก, พิธีหล่อพระ
ฒ. พิธีศพทหาร
ณ. พิธีมงคลสมรส
๓.๒ งานพิธีทั่วไป
ก. การตั้งชื่อ
ข. พิธีทำบุญอายุ
ค. พิธีทำบุญสะเดาะเคราะห์
ง. พิธีวางศิลาฤกษ์, พิธียกเสาเอก
จ. พิธีทำบุญฉลองยศ, ฉลองเครื่องราชอิสริยาภรณ์
ฉ. พิธีเปิดอาคารสำนักงาน
ช. พิธีโกนจุก
ซ. พิธีทำบุญตักบาตร
ฌ. พิธีผูกพัทธสีมา
ญ. พิธียกช่อฟ้า
ฎ. พิธีฉลองพระพุทธรูป
ฏ. พิธีลอยกระทง