๑. กล่าวทั่วไป
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ได้บัญญัติหลักการเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพในการนับถือศาสนาของชนชาวไทยไว้ในมาตรา ๓๘ ความว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนบัญญัติหรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตนเมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองและไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ในการใช้เสรีภาพดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้รัฐกระทำการใดๆ อันเป็นการรอนสิทธิหรือเสียประโยชน์อันควรมีควรได้เพราะเหตุที่ถือศาสนา นิกายของศาสนา ลัทธินิยมในทางศาสนาหรือปฏิบัติตามศาสนบัญญัติหรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือ แตกต่างจากบุคคลอื่น”
เสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนาหรือความเชื่อ ในที่นี้นั้นหมายรวมถึงเสรีภาพในการยึดมั่นศรัทธาหรือมีความเชื่อที่แตกต่างจากบุคคลอื่นในหลักการทางศาสนาหรือความเชื่อใดๆ หรือเสรีภาพที่จะไม่นับถือศาสนาใดๆ เสรีภาพในการนับถือศาสนาจำเป็นต้องมีเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนา สิทธิที่จะคงไว้ในความเชื่อถือศรัทธา จึงไม่มีบุคคลใดที่จะถูกบังคับให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่เสรีภาพในการเลือกถือศาสนาด้วยมาตรการใดๆ หรือให้นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
เสรีภาพในการนับถือศาสนาในประเทศไทย มีลักษณะเช่นเดียวกันกับเสรีภาพในเรื่องอื่นๆ ตามที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติรับรองไว้ กล่าวคือ เสรีภาพในการนับถือศาสนา โดยเนื้อหาของการใช้เสรีภาพแล้วเป็นเสรีภาพที่สมบูรณ์และไม่อนุญาตให้มีการจำกัดใดๆ ได้เลย รัฐหรือหน่วยงานของรัฐไม่มีอำนาจแทรกแซงเสรีภาพในการถือศาสนา
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติขยายความหมายเสรีภาพในศาสนาในรัฐธรรมนูญให้มีรายละเอียดชัดเจนขึ้น ส่งผลให้รัฐต้องอำนวยประโยชน์ให้บุคคลได้รับประโยชน์สมดังสิทธิที่ได้รับรองไว้ และหลักการอีกประการหนึ่งคือ การใช้เสรีภาพจะต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมือง และไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนด้วย หากมีการใช้เสรีภาพที่ ไม่ชอบย่อมจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้รัฐธรรมนูญยังได้วางหลักไว้ว่าบุคคล จะไม่นับถือศาสนาใดๆ เลยก็ได้ รัฐจะบังคับให้ราษฎรนับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งก็ไม่ได้ และยังได้วางหลักประกันความเป็นธรรมต่อบุคคลที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติอย่างได้เปรียบหรือเสียเปรียบอันเนื่องมาจากความเชื่อทางศาสนาของตน โดยตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐานสองประการ คือ
ประการแรกเสรีภาพในการนับถือศาสนาเป็นสิทธิธรรมชาติจะล่วงละเมิดไม่ได้ และเป็นสิทธิศักดิ์สิทธิ์ของมนุษย์ทุกคนต้องให้การรับรองและคุ้มครอง
ประการที่สองเป็นหลักความจริงว่าเสรีภาพในศาสนาไม่มีใครจะใช้เสรีภาพอยู่เหนือผู้อื่น ทุกคนมีสิทธิและหน้าที่เท่าเทียมกัน โดยรัฐจะต้องทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของสังคมโดยรวม ถึงต้องเข้ามาจัดระเบียบการใช้เสรีภาพในทางศาสนาของประชาชนและป้องกันไม่ให้การใช้เสรีภาพของประชาชนคนหนึ่งกระทบกระเทือนต่อเสรีภาพของผู้อื่น โดยรัฐจะไปจำกัดหรือแทรกแซงเสรีภาพในศาสนาของประชาชนจนเกินขอบเขตจากเงื่อนไขที่กำหนดไว้ไม่ได้ หากแต่จะต้องกำหนดไว้ให้ชัดเจน เนื่องจากเรื่องสิทธิและเสรีภาพในการนับถือศาสนามีบทบาทสำคัญทางสังคม การจัดระเบียบความสงบเรียบร้อยของประชาชนและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐจะช่วยให้เกิดความเข้าใจกันระหว่างศาสนา หากไม่ได้รับความใส่ใจจากภาครัฐแล้ว ปัญหาดังกล่าวอาจจะทำให้เกิดข้อขัดแย้งระหว่างศาสนาได้
กองทัพบกได้ตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาของกำลังพล และเปิดโอกาสให้กำลังพลที่นับถือศาสนานั้นๆ ได้ปฏิบัติศาสนกิจตามหลักศาสนาของตนอย่างเท่าเทียมเสมอกัน
อนุศาสนาจารย์ มีหน้าที่โดยตรงในฐานะเป็นผู้ปฏิบัติการ อำนวยการเกี่ยวกับการศาสนา และให้คำแนะนำแก่ผู้บังคับบัญชา ในปัญหาทั้งปวงเกี่ยวกับศาสนาและขวัญ ซึ่งต้องปฏิบัติการเกี่ยวกับการบริการทางศาสนา และวางโครงการให้ทหารมีโอกาสได้ปฏิบัติศาสนกิจ ทั้งนี้รวมทั้งการอำนวยการให้ทหารที่นับถือศาสนาต่างๆ ได้ปฏิบัติศาสนกิจตามหลักศาสนาของตน
๒. การปฏิบัติศาสนกิจประจำวันของทหารมุสลิม
เนื่องด้วยประชาชนส่วนมากในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับถือศาสนาอิสลาม ผู้ที่เข้ามารับราชการทหาร สมควรได้รับการช่วยเหลือให้ได้ประกอบพิธีไหว้พระสวดมนต์ประจำวัน ตามประเพณีนิยมในศาสนาของตน เพราะฉะนั้น หน่วยในกองทัพบก โดยเฉพาะหน่วยในจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงได้จัดให้ทหารมุสลิมได้ปฏิบัติศาสนกิจประจำวันนั้น โดยปฏิบัติตามคำสั่ง ทบ. (คำสั่งชี้แจง) ที่ ๑๓/๘๑๗๓ เรื่อง การไหว้พระสวดมนต์ประจำวันของทหารมุสลิม ลง ๑๔ เม.ย. ๐๑ ดังนี้
๒.๑ หน่วยใดมีทหารมุสลิมจำนวนมากก็ให้ทหารมุสลิมแยกไหว้พระสวดมนต์ประจำวันต่างหาก และเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและถูกต้องตามประเพณีของศาสนาอิสลามให้ปฏิบัติดังนี้
๒.๑.๑ จัดให้มีห้องทำละหมาดของทหารมุสลิม โดยกำหนดเอาห้องใดห้องหนึ่ง ในโรงที่อยู่ของทหาร หรือสถานที่ตามสมควร และจัดให้มีลักษณะดังนี้
– สะอาดปราศจากสิ่งโสโครก
– ไม่ประดิษฐานรูปเคารพใดๆ
– ถ้าจะประดับด้วยภาพอักษรคติธรรมมุสลิมตามความเหมาะสมก็ได้
– มีแผ่นป้ายบอกว่า “ ห้องละหมาดทหารมุสลิม ”
๒.๑.๒ เมื่อถึงเวลาไหว้พระสวดมนต์ของทหารประจำวัน ซึ่งโดยปกติเวลา ๒๐๓๐ ตรงกับเวลาละหมาดอิซาร์ของมุสลิม ให้บรรดาทหารมุสลิมเข้าไปทำละหมาด (ละหมาดอิซาร์) ในห้องละหมาดทหารอิสลาม แทนการไหว้พระสวดมนต์ตามระเบียบการไหว้พระสวดมนต์ของทหารที่ปฏิบัติอยู่ก่อน
๒.๑.๓ การไหว้พระสวดมนต์ประจำวันของทหารมุสลิม ให้กระทำตามลำดับดังนี้
– ทหารละหมาดตามลำพัง
– กล่าวบทปลงใจ
– ร้องเพลงชาติ
– ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี
๒.๒ พิธีทำละหมาด
พระบัญญัติของศาสนาอิสลาม กำหนดให้มุสลิมทำละหมาดวันละ ๕ ครั้ง (อัส – ซอละฮ์) แต่ละครั้งต้องกระทำภายในเวลาที่กำหนดไว้ในพระคัมภีร์กุระอาน ละหมาด ๕ ครั้งนั้น เฉพาะครั้งสุดท้ายของวันเรียกว่า ละหมาด อิซาร์ กำหนดให้ทำในระหว่างเวลาตั้งแต่สิ้นแสงดวงอาทิตย์บนท้องฟ้า จนเห็นแสงทองจับขอบฟ้าในวันใหม่ โดยปกติแล้ว การทำละหมาดแต่ละครั้งใช้เวลาเพียงเล็กน้อย และทำตามลำพัง ณ ที่อยู่ของตน ผู้ทำยืนบ่ายหน้าไปทางทิศ กิบลัด คือทิศที่ตั้งวิหาร กาบะห์ นครมักกะห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย
เมื่อมีสัญญาณให้ทหารมุสลิมประชุมไหว้พระสวดมนต์ประจำวัน ซึ่งตามปกติตรงกับเวลาละหมาดอิซาร์ของมุสลิมอยู่แล้ว ให้ทหารมุสลิมรีบเข้าประชุมในห้องละหมาดแล้วปฏิบัติดังต่อไปนี้
๑. เมื่อเข้าไปในห้องละหมาดแล้ว ต้องสำรวมกิริยาวาจารำลึกถึงองค์พระอัลเลาะห์ ทำละหมาดอิซาร์ตามลัทธิศาสนาของตนโดยต่างคนต่างทำ ผู้ใดทำเสร็จแล้วให้รออยู่ก่อน จนกว่าคนอื่นจะทำละหมาดเสร็จ
๒. กล่าวบทปลงใจ ผู้เป็นหัวหน้าบอกทหารให้อยู่ในท่าตรงแล้วว่านำกล่าวบทปลงใจ ทั้งหมดว่าตาม โดยใช้เสียงให้หนักแน่น แต่มิใช่ตะโกนด้วยความคะนอง การนำให้นำเป็นบทๆ ดังนี้
“ ชาติของเรา, เป็นไทยอยู่ได้, จนถึงตัวเราคนหนึ่งนี้, เพราะบรรพบุรุษของเรา, เอาเลือด, เอาเนื้อ, เอาชีวิต, และความลำบากยากเข็ญเข้าแลกไว้, เราต้องรักษาชาติ, เราต้องบำรุงชาติ, เราต้องสละชีพเพื่อชาติ ”
๓. ร้องเพลงชาติ ผู้เป็นหัวหน้าร้องนำ ทั้งหมดร้องรับ แล้วร้องต่อไปจนจบ
๔. ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ผู้เป็นหัวหน้าร้องนำ ทั้งหมดร้องรับ แล้วร้องต่อไปจนจบเมื่อจบเพลงสรรเสริญพระบารมีแล้ว ผู้เป็นหัวหน้าบอกพักและเลิกประชุม
๓. ข้อควรทราบสำหรับการติดต่อประสานงานกับมุสลิม
๓.๑ พิธีทางศาสนา มุสลิมไม่พึงประสงค์ให้คนนอกศาสนาไปแตะต้องพิธีกรรมของเขา พิธีบางอย่างถ้ามีคนนอกศาสนาเข้าไปในบริเวณพิธี ขณะกำลังทำพิธีจะทำให้พิธีเขาเสีย เรียกว่า กรรมวิบัติ
๓.๒ การแต่งงาน (วะลีมะห์) ต้องทำตามพิธีทางศาสนาให้ถูกต้อง คนต่างศาสนาไปเป็นแขกในงานได้
๓.๓ คัมภีร์อัล-กุระอาน มุสลิมทั้งเคารพทั้งกลัวเกรง ห้ามคนต่างศาสนา แตะต้องเป็นอันขาด แม้มุสลิมเองจะแตะต้องก็ต้องทำความสะอาดร่างกายก่อน ผู้ที่เคร่งแม้เพียงได้ยินเสียงอ่านพระคัมภีร์ ถ้ากำลังเดินก็หยุดรำลึกก่อน การสาบานตัวต่อพระคัมภีร์ เป็นสิ่งที่มุสลิมกลัว และต้องสัตย์ซื่อ เมื่อสาบานแล้ว
๓.๔ ท่าเคารพ (สุยูส) มุสลิมต้องทำต่อพระอัลเลาะห์แต่ผู้เดียว จะทำอย่างนั้นหรือที่คล้ายๆ กับท่าเคารพนั้น ต่อคนอื่น สิ่งอื่น หรือแม้แต่ทำเล่นก็ไม่ได้
๓.๕ มัสยิด คือโรงสวด เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย คนต่างศาสนาจะเข้าไป ก็ได้ แต่ต้องอยู่ใน อาการเคารพ ห้ามสวมรองเท้าเข้าไป
๓.๖ วันศุกร์ เป็นวันพระของมุสลิม จะมีการชุมนุมตามมัสยิด ใช้เวลาทำพิธีราว ๔๐ นาทีระหว่างเที่ยงวันถึงบ่าย ๒ โมง การประชุมดังกล่าวต้องมีคน ๔๐ คน จึงจะครบองค์
๓.๗ วันตรุษ มีปีละ ๒ ครั้ง คือ ตรุษรายอออกปอซอ ๓ วัน ในเดือนเชาวาล และตรุษรายอหะยี ๓ วัน ในเดือน ซุลฮิจญะห์ มุสลิมจำเป็นอย่างยิ่งต้องไปชุมนุม
๓.๘ หญิงมุสลิม หญิงมุสลิมตั้งแต่อายุ ๙ ขวบ ขึ้นไป จะถูกห้ามมิให้อยู่ปะปนกับผู้ชาย การล่วงเกินทางชู้สาวกับหญิงอิสลาม เป็นการเหยียบย่ำทำลายจิตใจมุสลิม แม้เรื่องหยาบโลนทางเมถุน มุสลิมก็รังเกียจ
ศาสนาเท่านั้นจะบังคับให้หญิงมุสลิมเปิดผ้าคลุมศีรษะ ผู้อื่นไม่ควรทำการบังคับ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม
๓.๙ สุกร – สุรา พระบัญญัติห้ามมิให้มุสลิม กิน หรือ แตะต้องสุกรและสุราเป็นอันขาดการบังคับให้เขากิน หรือแตะต้องยกย้ายสิ่งทั้งสองนี้ไม่ควรทำ
๓.๑๐ พิธีศพ (การญะนาซะห์) เมื่อมุสลิมตายลง มีพิธีสำคัญ ๔ ข้อ คือ
๓.๑๐.๑ อาบน้ำศพ ชำระศพให้สะอาด อาบน้ำถูให้ทั่ว ๓ ครั้ง ๕ ครั้ง หรือ ๗ ครั้ง โดยเริ่มด้วยน้ำใบพุทรา จบลงด้วยน้ำผสมการบูร
๓.๑๐.๒ ตราสัง (กาฟั่น) ห่อศพด้วยด้วยผ้าขาว ๓ ชั้น ให้ใช้ผ้าราคาถูก มีเสื้อผ้าหนึ่งชุด ให้ศพนอนหงาย
๓.๑๐.๓ การสวดศพ มีการสวดนมัสการโดยญาติของผู้ตาย หรืออิหม่าม แล้วแต่กรณี
๓.๑๐.๔ การฝังศพ หลุมฝังศพต้องให้ลึก ป้องกันกลิ่นและสัตว์คุ้ยเขี่ยได้ ให้ศพนอนตะแคงขวา หันหน้าไปทางมักกะห์ แก้เชือกที่ผูกศพออกกาฟั่นออก ผู้ยกศพลงหลุมควรเป็นญาติผู้ตาย ถ้าศพเป็นหญิงมีสามีให้สามีเป็นผู้ยกศพ
๔. การปฏิบัติของอนุศาสนาจารย์ในการสนับสนุนกิจกรรมของศาสนาอื่น
๔.๑ อำนวยการให้ทหารที่นับถือศาสนาอื่นได้ปฏิบัติศาสนกิจตามหลักศาสนาของตน
๔.๒ จัดทำบัญชีทหารแยกตามศาสนา เพื่อสะดวกในการให้คำแนะนำ การนำประกอบศาสนกิจ และการทำพิธีกรรมทางศาสนา
๔.๓ จัดทำบัญชีทหาร ระบุยศ ชื่อ นามสกุล ภูมิลำเนา ของทหารที่ถือศาสนาส่วนน้อยและแยกตามนิกาย ทั้งนี้ เพื่อให้บริการทางศาสนาได้สะดวกในชีวิตประจำวัน และแม้ในยามที่มีการสูญเสียกำลังพล
๔.๔ จัดทำบัญชี วัด สุเหร่า โรงสวด สุสาน โบสถ์ ศาสนสถาน และบุคลากรสำคัญของแต่ละศาสนาในพื้นที่ใกล้บริเวณที่ตั้งหน่วย เพื่อประสานในการกระทำพิธีกรรมทางศาสนาวัฒนธรรมประเพณี
๔.๕ เสนอความเห็นแก่ผู้บังคับหน่วย ผู้บังคับบัญชา ในเรื่องการอบรมจริยธรรม การอบรมจิตใจทหาร ขวัญกำลังใจ วัฒนธรรมประเพณี แก่ทหารที่นับถือศาสนาอื่น ตลอดจนให้ทหารได้มีโอกาสปฏิบัติศาสนกิจตามหลักศาสนาของตนและได้รับการบำรุงรักษาขวัญตามสมควร
๔.๖ หาโอกาสพบปะเยี่ยมทหารทุกศาสนาที่ออกปฏิบัติงานนอกที่ตั้งปลุกปลอบบำรุงขวัญและเสริมสร้างกำลังใจทหารป่วยเจ็บ หรือทหารที่ได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจเนื่องจากการคร่ำเคร่งในการปฏิบัติหน้าที่ ให้กลับมีจิตใจรุกรบ อาจหาญ มีพลังใจพร้อม
๔.๗ ศึกษาคำสอน พิธีกรรม ของศาสนาต่างๆ ให้เข้าใจเพื่อสะดวกในการให้คำแนะนำการนำปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาและประเพณี
๔.๘ ประสานกับผู้นำศาสนาและผู้บังคับบัญชาในกรณีทหารเสียชีวิต
๔.๙ เป็นพิธีกรกำกับพิธีการให้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย เช่น เป็นผู้อ่านหมายรับสั่ง,อ่านสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ, อ่านประวัติและคำไว้อาลัยทหารที่เสียชีวิต ฯลฯ
๔.๑๐ กรณีประกอบพิธีศพผู้เสียชีวิตในสนาม ณ วัดหรือศาสนสถานของศาสนาอื่นในพื้นที่การดำเนินการพิธีศพ ในการกล่าวสดุดีวีรกรรมขอให้เพิ่มการกล่าวธรรมสังเวชที่เขียนโดยอนุศาสนาจารย์เข้าไปด้วย
๔.๑๑ ประสานกับบุคคลและองค์กรของศาสนาต่างๆ ในท้องถิ่น เพื่อสร้างความสัมพันธ์ และความร่วมมือในการดำเนินการกิจกรรมทางศาสนาให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยถูกต้อง และถือเป็นการสร้างความสามัคคีของบุคคลในชาติอีกด้วย