๑. สำนึกในการครองตน ครองคน ครองงาน
อนุศาสนาจารย์ มีงานและภารกิจหลายอย่างที่จะต้องครุ่นคิดและดำรงความสำนึกในใจ เฉพาะที่สำคัญๆ มีดังต่อไปนี้
๑.๑ ปัจจัยเวลา มีความสำคัญสำหรับการปฏิบัติภารกิจหน้าที่ของอนุศาสนาจารย์
๑.๒ ต้องสามารถปฏิบัติภารกิจหน้าที่ในเวลาราชการ นอกเวลาราชการ ในวันราชการและวันหยุดราชการ งานที่เหมาะสมที่จะปฏิบัตินอกเวลาราชการได้ เช่น
๑.๒.๑ การสอนอบรมพลทหาร
๑.๒.๒ การฝึกซ้อมและการไหว้พระสวดมนต์ร่วมกับทหาร
๑.๒.๓ การเยี่ยมพบปะครอบครัว
๑.๒.๔ การติดต่อนิมนต์พระสงฆ์
๑.๒.๕ การปฏิบัติพิธีของหน่วยและของกำลังพลเป็นครั้งคราว
๑.๒.๖ การบันทึกรายการวิทยุ (กรณีบันทึกด้วยเครื่องบันทึกของตนเอง)
๑.๒.๗ การค้นคว้าเตรียมการ ศึกษาฝึกฝนตนอยู่เสมอ
๑.๒.๘ การวางแผนเพื่อจะไปพบปะปรึกษาหารือกับผู้บังคับหน่วยของกำลังพลที่มีปัญหา (ถ้าจำเป็น ) เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาร่วมกัน
๑.๒.๙ การวางแผนพิจารณาหาเหตุผลประกอบอื่นๆ ในการที่จะแก้ปัญหากำลังพลที่มีปัญหา ว่าควรจะดำเนินการอย่างไร เมื่อใด
๑.๓ อนุศาสนาจารย์พึงตระหนักว่า ตนเป็นมิตรกับกำลังพลที่มีปัญหาได้ทุกประเภท คือ เป็นมิตรผู้แนะประโยชน์ โดยไม่แสดงอาการรังเกียจด้วยประการใดๆ
๑.๔ กำลังพลบางนายคบกับคนอื่น เข้ากับผู้อื่นไม่ได้ มีแต่ผู้รังเกียจและตำหนิ แม้ผู้เช่นนี้ อนุศาสนาจารย์ต้องมีจิตเมตตา และมีกรุณาจิตตามหลักพรหมวิหาร ด้วยวิธีหาโอกาสพบปะเยี่ยมเยียนเป็นการส่วนตัวทั้งที่บ้าน หรือสถานที่ตามความเหมาะสม ด้วยวิธีการเช่นนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมกำลังพลผู้นั้นในทางบวก
๑.๕ ต้องถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะรักษาความลับของกำลังพลและครอบครัวซึ่งมีปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ไม่ควรเปิดเผย ซึ่งล่อแหลมที่จะก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย
๑.๖ อนุศาสนาจารย์ต้องฝึกฝนบำเพ็ญจิตภาวนาเป็นการส่วนตัวทุกวัน เพื่อดำรงเสถียรภาพความเป็นอนุศาสนาจารย์และรักษาพลังใจในตนให้มีความมั่นคงหนักแน่น
๑.๗ ต้องมีวินัยเป็นแบบอย่างของทหาร และมีความเคารพเชื่อฟังอนุศาสนาจารย์ที่อาวุโสกว่า ตามสายการบังคับบัญชา และคณะกรรมการอนุศาสนาจารย์อย่างเคร่งครัด
๑.๘ ในกรณีไม่สามารถดำรงอยู่ในภาวะของอนุศาสนาจารย์ได้ ต้องมีความตระหนักในระบบเกียรติยศด้วยตนเอง โดยการปฏิบัติต่อคำสัตย์ปฏิญาณที่ให้ไว้ต่อคณะอนุศาสนาจารย์เป็นลายลักษณ์- อักษร ถ้าให้คณะกรรมการอนุศาสนาจารย์เป็นผู้ดำเนินการให้อาจเกิดความเสียหายแก่อนุศาสนาจารย์ผู้นั้น
๑.๙ ต้องตระหนักอยู่เสมอว่า กำลังพลและครอบครัวภายในหน่วย มีทรรศนะต่ออนุศาสนาจารย์ว่าเป็นผู้เป็นแบบอย่างทางศีลธรรมจรรยา หากอนุศาสนาจารย์ประพฤติบกพร่องในส่วนนี้ จะมีผลกระทบต่อการอบรมศีลธรรมวัฒนธรรม การปฏิบัติพิธี การให้คำแนะนำเป็นอย่างมาก คือมากกว่ากำลังพลอื่นๆ ที่ปฏิบัติบกพร่องในเรื่องเดียวกัน และจะนำไปสู่การคลายศรัทธา
๑.๑๐ ต้องมีอัธยาศัยขยัน แสดงความกระตือรือร้นที่จะทำงานและมีความเอื้อเฟื้อต่องานอยู่เสมอ เพราะการเกียจคร้านทำการงานเป็นอบายมุขข้อหนึ่งในจำนวนหลาย ๆ ข้อ
๒. วินัยหรือจรรยาบรรณของอนุศาสนาจารย์
อนุศาสนาจารย์ใหม่ทุกนาย เมื่อบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งอนุศาสนาจารย์แล้ว จะต้องเข้าสู่พิธีรับเข้าหมู่คณะของอนุศาสนาจารย์ทหารบก ในคราวอบรมเพิ่มเติมความรู้ประจำปี สายวิทยาการ อศจ.ทบ. โดยมีพิธีการดังนี้
– ผู้ร่วมพิธีพร้อม
– อศจ.ใหม่ เข้าประจำจุดสำหรับประกอบพิธี
– ผอ.กอศจ.ยศ.ทบ.เดินทางถึงห้องประชุมพระพุทธสิงห์ชัยมงคล
– หน.กำลังพลฯ บอกแสดงความเคารพ
– ผอ.กอศจ.ยศ.ทบ.จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย, กราบพระ, เคารพธงชาติและพระบรมฉายาลักษณ์ นั่ง ณ ที่รับรอง
– หน.กำลังพลฯ กล่าวรายงานเบิกตัว อศจ.ใหม่กระทำพิธีรับเข้าหมู่คณะ และเรียนเชิญ ผอ.กอศจ.ยศ.ทบ.ประกอบพิธีฯ
– อศจ.ใหม่เดินขึ้นเวทีทีละนาย (หันหน้าไปทาง ผอ.กอศจ.ยศ.ทบ.) จนครบ
– คนหลังสุดสั่ง ซ้ายหัน , สั่งคุกเข่า กราบ ๓ ครั้ง
– ผู้นำ กล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย ( อรหัง สัมมาสัมพุทโธ ภควาฯ ) ที่เหลือว่าตาม
– อาราธนาศีล/กล่าวบท นะโม /สมาทานศีล (กล่าวพร้อมกัน)
– กล่าวคำสัตย์ปฏิญาณ และวินัย อศจ. เป็นวรรค ๆ เบื้องหน้า พระพุทธสิงห์ชัยงคล (จบแล้วกราบ ๓ ครั้ง)
– คนสุดท้ายสั่ง (ลุก…..ขวา.. หัน)
– เดินมามอบคำสัตย์ปฏิญาณและวินัย อศจ. ให้ ผอ.กอศจ.ยศ.ทบ. (โค้ง…/..ยืน../..กึ่งขวาหัน…/..ยื่นแขนซ้ายรับปลอกแขน../ ยืนตรง/..รับน้ำมนต์มาดื่ม../คืนแก้ว../สัมผัสมือ/..โค้ง.)
– เดินกลับไปกราบพระ เคารพธงชาติ พระบรมฉายาลักษณ์ (จนครบทุกคนแล้ว)
– ผอ.กอศจ.ยศ.ทบ.ให้โอวาท จบแล้ว (หน.กำลังพลสั่ง “ตรง”)
– เดินลงมายืนด้านหน้าเวทีรับการแสดงความยินดีจาก คณะ อศจ.
– เสร็จพิธี
๒.๑ คำสัตย์ปฏิญาณตนของอนุศาสนาจารย์
คำสัตย์ปฏิญาณ อศจ.ทบ.
…………………………….
โดยหนังสือฉบับนี้ ข้าพเจ้า……………………………………………..ขอให้คำสัตย์ปฏิญาณ/ ไว้ต่อหน้าพระพุทธสิงห์ชัยมงคล/ และคณะอนุศาสนาจารย์กองทัพบก/ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ / ข้าพเจ้า/ จักปฏิบัติตามคำสั่ง/ และโอวาท/ ของหัวหน้าอนุศาสนาจารย์/ ทุกประการโดยเคร่งครัด/
ข้อ ๒ / ข้าพเจ้า/ จักปฏิบัติตาม/ กฎ/ ข้อบังคับ / คำสั่ง / ระเบียบ /และแบบธรรมเนียมของทางราชการ/ทุกประการโดยเคร่งครัด/
ข้อ ๓ / ข้าพเจ้า/ จักปฏิบัติหน้าที่ราชการ/ จนสุดความสามารถ/ ด้วยความเต็มใจ/ โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากลำบาก/ แต่ประการใด
ข้อ ๔ / ข้าพเจ้า/ จักไม่ประพฤติตน/ ให้เป็นที่รังเกียจของคณะ/ ด้วยประการใด ประการหนึ่ง/ จักประพฤติตน/ ให้เหมาะสมกับฐานะ/ ที่เป็นอนุศาสนาจารย์ทุกประการ /
ข้อ ๕ / ถ้าข้าพเจ้า/ ไม่กระทำตามคำสัตย์ปฏิญาณ / ที่ให้ไว้นี้ / หรือทำตนให้เป็นที่รังเกียจของคณะ/ ด้วยประการใดประการหนึ่งก็ตาม / ข้าพเจ้าจักไม่เห็นแก่ตัว / จนทางราชการสั่งให้ออก / จักขอลาออกโดยดี / ด้วยตนเอง / ทีเดียว /
คำสัตย์ปฏิญาณนี้ / ให้ไว้ / ณ วันที่ ………..เดือน……………..พ.ศ………..
ลงชื่อ …………………………………………………
(…………………………………………..)
ผู้ให้คำสัตย์ปฏิญาณ
๒.๒ คำปฏิญญาจรรยาบรรณอนุศาสนาจารย์ทหารบก
คำปฏิญญาจรรยาบรรณอนุศาสนาจารย์ทหารบก
…………………………………
ข้าพเจ้า (ยศ,ชื่อ-สกุล)
ขอให้คำปฏิญญา/ ไว้ต่อหน้าพระพุทธสิงห์ชัยมงคล/ และพระบรมรูป/พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว/ องค์พระราชทาน/ กำเนิดกิจการอนุศาสนาจารย์กองทัพไทย/ ด้วยการปฏิบัติตามจรรยาบรรณ ๑๓ ข้อ/ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ /อนุศาสนาจารย์/ ต้องรักษาศีล ๕ เป็นนิตย์
ข้อ ๒ /อนุศาสนาจารย์/ ต้องตั้งอยู่ในธรรมของสัตบุรุษ/ และกุศลกรรมบถ ๑๐
ข้อ ๓ /อนุศาสนาจารย์/ ต้องมีภรรยาเพียงคนเดียว/ และต้องเลี้ยงดูครอบครัวโดยชอบธรรม
ข้อ ๔ / อนุศาสนาจารย์/ ต้องไม่เข้าไปมั่วสุมในสำนักหญิงแพศยา/ บ่อนการพนัน/ และสถานที่มีการเสพสิ่งเสพติด
ข้อ ๕ /อนุศาสนาจารย์/ ต้องงดเว้นการประกอบมิจฉาชีพ/ และรับประกอบกิจ/ อันวิญญูชนพิจารณาแล้วตำหนิติเตียนได้
ข้อ ๖ /อนุศาสนาจารย์/ เมื่อประสงค์จะร้องเรียน/ขอความเป็นธรรมจากผู้ใหญ่/ต้องไม่ใช้บัตรสนเท่ห์/หรือเขียนคำขอร้อง/ตลอดจนข้อความโจมตีผู้อื่นทางสื่อทุกชนิด
ข้อ ๗/ อนุศาสนาจารย์จะต้องไม่วิ่งเต้น/หรือร้องให้บุคคลภายนอกวงการอนุศาสนาจารย์/จำต้องโยกย้ายตน/ หรือยับยั้งการโยกย้ายตน /ในเมื่อการกระทำนั้นขัดกับแผนการโยกย้าย/ ของสายวิทยาการอนุศาสนาจารย์
ข้อ ๘ /อนุศาสนาจารย์จะต้องงดเว้นเด็ดขาด/ จาการแสดงตัวว่าเป็นคนมักได้/ ร่ำร้องขอบำเหน็จความชอบ/จากผู้ใหญ่เพื่อตนเอง
ข้อ ๙/ อนุศาสนาจารย์/ ไม่พึงพกอาวุธ
ข้อ ๑๐/ อนุศาสนาจารย์/ ไม่พึงเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด
ข้อ ๑๑/ อนุศาสนาจารย์/ ไม่พึงรำวง/ เต้นรำ ร้องเพลงโชว์/ ต่อยมวย/ แต่งแฟนซี /และออกปรากฏตัวในฐานะผู้แสดงลิเก ละคร
ข้อ ๑๒ / อนุศาสนาจารย์/ พึงตระหนักในการแต่งกายให้สุภาพ/ และ
๑๒.๑ ในเวลาปฏิบัติราชการ/ แต่งเครื่องแบบให้ครบถ้วน
๑๒.๒ ไม่ไว้ผมยาวหรือตัดผมแบบคาวบอย
๑๒.๓ เมื่อสวมเสื้อแขนยาว ต้องไม่พับแขน
๑๒.๔ เครื่องแต่งกายทุกส่วน ต้องไม่ใช้สีและลวดลายที่ฉูดฉาด
ข้อ ๑๓/ อนุศาสนาจารย์จะต้องไม่ประพฤติตน/ เป็นปฏิปักษ์ต่อคณะสงฆ์นิกายใดนิกายหนึ่ง/และเคารพเชิดชูโดยสม่ำเสมอกัน
ด้วยอำนาจแห่งคำปฏิญญานี้ ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย/โปรดอำนวยพรให้ข้าพเจ้า/ เจริญรุ่งเรืองในวิชาชีพอนุศาสนาจารย์/ การรับราชการและมีความสุขสวัสดี/ ตลอดกาลนานเทอญ ฯ
๓. ลักษณะการปฏิบัติงานของอนุศาสนาจารย์
๓.๑ ปฏิบัติตามแผนงานที่ทราบล่วงหน้า ทั้งในเวลาราชการและนอกเวลาราชการ
๓.๒ ปฏิบัติงานตามกรณีและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่มีแผนงานและไม่ทราบล่วงหน้าทั้งในวันเวลาราชการและนอกวันเวลาราชการ
๓.๓ ปฏิบัติงานภายนอกหน่วย เช่นการสอนอบรมและการปฏิบัติพิธีแก่หน่วยที่ไม่มีอนุศาสนาจารย์
๓.๔ ต้องปฏิบัติงานพิธีให้แก่ผู้บังคับบัญชาในส่วนบังคับบัญชาของกองทัพบก ตามที่สำนักงานเลขานุการกองทัพบกประสานโดยตรง
๓.๕ ต้องปฏิบัติพิธีของอดีตผู้บังคับบัญชา และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพบกที่เกษียณอายุราชการแล้ว เป็นครั้งคราวตามที่ได้รับการประสานโดยตรง
๓.๖ ต้องปฏิบัติงานให้ความร่วมมือแก่สถานศึกษา วัด องค์กรทางศาสนา และส่วนราชการ นอกกองทัพบกเป็นครั้งคราวตามที่ได้รับการประสาน เช่น การร่วมอภิปรายธรรมะ การบรรยายธรรมะการปฏิบัติพิธี การเป็นกรรมการตัดสินกิจกรรมทางศาสนาวัฒนธรรมประเพณี
๓.๗ ต้องปฏิบัติงานทางธุรการที่เกี่ยวข้องกับงานเอกสาร วารสาร จุลสารทางจริยธรรมและการบันทึกเทปรายการทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์ ที่เกี่ยวข้อง
๓.๘ ต้องปฏิบัติงานให้คำแนะนำด้านขวัญกำลังใจและจริยธรรม การเยี่ยมพบปะครอบครัวทหาร ทหารเจ็บป่วย การไหว้พระสวดมนต์ของทหารในเวลา ๒๐๓๐
๓.๙ ต้องปฏิบัติงานในการกำกับหลักสูตรของกองทัพบกที่เกี่ยวกับจริยธรรม ซึ่งเปิดทำการศึกษาในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด ต้องกำกับดูแลนอกวันราชการและนอกเวลาราชการ
๓.๑๐ ต้องส่งอนุศาสนาจารย์ไปบรรยายอบรมทางศีลธรรมวัฒนธรรมและปฏิบัติพิธี แก่หน่วยที่ไม่มีอนุศาสนาจารย์
๓.๑๑ ต้องสอนในโรงเรียนเหล่าสายวิทยาการในวิชาการศาสนาและศีลธรรม ตามที่ได้รับการประสาน รวมทั้งการสอนในหลักสูตรที่กองอนุศาสนาจารย์รับผิดชอบโดยตรง
๓.๑๒ ต้องบรรยายอบรมทางศีลธรรมแก่นักโทษในเรือนจำของฝ่ายพลเรือนที่พุทธสมาคม แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ขอความช่วยเหลือ
๓.๑๓ ต้องสอนโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ตลอดห้วงเวลาของหลักสูตรในวันอาทิตย์
๓.๑๔ ต้องบรรยายอบรมแก่พระนวกะ ตามที่ทางคณะสงฆ์ ขอความร่วมมือในห้วงเวลาเข้าพรรษา
๓.๑๕ อนุศาสนาจารย์ผู้ใหญ่และผู้ติดตาม ต้องออกตรวจกิจการอนุศาสนาจารย์ประจำปีตามห้วงเวลาตลอดทั้งสี่กองทัพภาค
๔. การปฏิบัติภารกิจนอกเหนือจากภารกิจหลักของอนุศาสนาจารย์
ด้วยเหตุผลและความจำเป็นในการปฏิบัติภารกิจของอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษา-ทหารบก จึงได้มีหนังสือขอความร่วมมือไปยังหน่วยต่างๆ ไม่ให้มอบหมายภารกิจที่นอกเหนือจากภารกิจหน้าที่ของอนุศาสนาจารย์ ให้อนุศาสนาจารย์ปฏิบัติ (หนังสือ ยศ.ทบ. ที่ ๒๕๐๓/๐๓ ลง ๒๙ ก.พ.๐๓) ซึ่งนอกจากภารกิจบางอย่างไม่เหมาะสมกับภาวะอนุศาสนาจารย์แล้ว ยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อนุศาสนาจารย์ไม่มีเวลาเพียงพอที่จะปฏิบัติภารกิจหลักของตน เช่นการสอนบรรยายการพบปะเสนอแนะทางจริยธรรม การริเริ่มงานทางสายวิทยาการ การแก้ปัญหารายบุคคลของกำลังพลที่มีปัญหา การวางแผนป้องกันกำลังพลที่ไม่มีปัญหาไม่ให้มีปัญหา เป็นต้น ให้เรียบร้อยได้ทันเวลา ทั้งไม่มีเวลาที่จะค้นคว้าเตรียมการสำหรับการสอน การบรรยายของตนด้วย ภารกิจที่กรมยุทธศึกษาทหารบก ขอความร่วมมือไปยังหน่วยต่าง ๆ ไม่ให้มอบให้อนุศาสนาจารย์ปฏิบัติ คือ
๔.๑ การเป็นผู้จัดการโรงเรียนบุตร ทบ.
๔.๒ การเป็นผู้ควบคุมรถนักเรียนและผู้โดยสาร
๔.๓ การเป็นกรรมการจัดซื้อจัดขายสิ่งของ
๔.๔ การเป็นกรรมการประกวดราคา
๔.๕ การเป็นกรรมการตรวจรับสิ่งของประจำเดือน
๔.๖ การเป็นกรรมการสอบสวนลงโทษผู้กระทำผิด
๔.๗ การเป็นเจ้าหน้าที่เหรัญญิกหรือผู้เก็บรักษาเงิน
อนึ่ง นอกจากภารกิจที่กรมยุทธศึกษาทหารบกได้ขอความร่วมมือดังกล่าวนั้นแล้ว ยังมีภารกิจอื่น ๆ ที่หน่วยไม่ควรมอบหมายให้อนุศาสนาจารย์ปฏิบัติ เช่น
๑) การเข้าเวรยาม ( ถ้ากรณีมีพิธีศพของข้าราชการ อศจ. จะละทิ้งเวรยามไม่ได้)
๒) การเข้าร่วมเป็นกรรมการตัดสินการแข่งขันที่มีการปฏิบัติต่อเนื่อง เช่น การเป็นกรรมการตัดสินการแข่งขันกีฬา ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการปฏิบัติภารกิจโดยตรงของอนุศาสนาจารย์