บทที่ ๑๒ ตำนานอนุศาสนาจารย์กรมราชทัณฑ์

          กรมราชทัณฑ์ กระทรวงมหาดไทย ได้พิจารณาปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการใหม่ โดยเพิ่มแผนกอนุศาสนาจารย์ขึ้นอีกแผนกหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗ แต่ยังไม่มี         ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนก ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ กรมราชทัณฑ์ได้หารือไปยังกองอนุศาสนาจารย์กองทัพบก เพื่อให้ช่วยเลือกเฟ้นจัดหาอนุศาสนาจารย์กองทัพบก      ผู้มีความรู้ความสามารถ มีคุณวุฒิเหมาะสมให้ เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกอนุศาสนาจารย์กรมราชทัณฑ์ กองอนุศาสนาจารย์กองทัพบกจึงได้พิจารณาจัดส่ง     ร.อ. วิเชาวน์  ทิพยมณฑล ให้

การบริหารงานของอนุศาสนาจารย์กรมราชทัณฑ์

          งานอนุศาสนาจารย์มีหน้าที่รับผิดชอบในการวางแผนงานอบรมศีลธรรมเพื่อฟื้นฟูแก้ไขจิตใจผู้ต้องขัง มุ่งปลูกฝังศีลธรรม จรรยา และวัฒนธรรม เพื่อให้ผู้ต้องขังนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติกลับตนเป็นพลเมืองดี

          งานอบรมศีลธรรมที่จัดทำอยู่ในยุคที่มีแผนกอนุศาสนาจารย์ มีดังนี้

          ๑. จัดอบรมผู้ต้องขังเข้าใหม่ (แรกรับ) เพื่อให้ทราบระเบียบข้อบังคับให้รู้จักปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมภายในเรือนจำ ให้รู้สิทธิและหน้าที่ ประโยชน์ที่จะได้รับเพื่อเป็นการบำรุงขวัญและเป็นประโยชน์แก่การปกครองเรือนจำ

          ๒. ประชุมอบรมผู้ต้องขังเป็นประจำทุกวัน อย่างน้อยสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง

          ๓. จัดอบรมผู้ต้องขังเป็นกลุ่มตามประเภทโทษ เช่น กลุ่มประทุษร้ายต่อชีวิต กลุ่มประทุษร้ายต่อทรัพย์ กลุ่มยาเสพติดให้โทษ กลุ่มวัยหนุ่ม เป็นต้น โดยจัดอบรมเป็นประจำทุกวัน หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ               ๑ ครั้ง

          ๔. จัดอบรมผู้ต้องขังเป็นรายตัว สำหรับผู้ต้องขังที่มีปัญหาพิเศษ มีประวัติน่าสนใจ เพื่อแก้ไขความประพฤติเป็นรายบุคคลทุกๆ วัน

          ๕. ก่อนที่ผู้ต้องขังจะพ้นโทษ โดยเหลือโทษจำอยู่ ๗ วัน จัดอบรมให้เข้าใจในหน้าที่พลเมืองดี เบญจศีล เบญจธรรม ตลอดจนวัฒนธรรมและจารีตประเพณีอันดีงามของไทย เพื่อจะได้เป็นข้อปฏิบัติเมื่อใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสังคมภายนอก

          ๖. จัดนิมนต์พระสงฆ์แสดงธรรมอบรม ประชุมผู้ต้องขังฟังธรรมโดยพร้อมเพรียงกันทุกวันเสาร์หรือวันอาทิตย์

          ๗. จัดให้ผู้ต้องขังฟังพระธรรมเทศนาทางวิทยุกระจายเสียงเป็นประจำทุกรายการ

          ๘. จัดนิมนต์พระหน่วยพัฒนาการทางจิต พระธรรมทูต พระธรรมจาริก เข้าอบรมผู้ต้องขังตามโอกาส

          ๙. จัดให้ผู้ต้องขังเข้าอบรมธรรมศึกษาตรี โท เอก ตามหลักสูตรของคณะสงฆ์ และจัดสอบไล่รับประกาศนียบัตรเป็นประจำทุกปี

          ๑๐. จัดประกอบพิธีทำบุญในเรือนจำและประชุมอบรมผู้ต้องขังในวันสำคัญของทางราชการและวันสำคัญทางศาสนาทุกครั้ง

          ๑๑. จัดผู้ทรงคุณวุฒิของพุทธสมาคมทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดเข้าอบรมผู้ต้องขังเป็นประจำ โดยเฉพาะการอบรมของผู้ทรงคุณวุฒิจากพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์นั้น งานอนุศาสนาจารย์จัดพาหนะรับ–ส่ง  เป็นประจำตลอดมา

          ๑๒. จัดอนุศาสนาจารย์ ๓ เหล่าทัพ เข้าอบรมผู้ต้องขังเป็นประจำทุกเดือน

          ๑๓. จัดผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นนักเผยแผ่จริยธรรมอาสาสมัครเข้าอบรมผู้ต้องขังตามโอกาส

          ๑๔. จัดให้อนุศาสนาจารย์กรมฯ หมุนเวียนกันออกไปอบรมผู้ต้องขังและประสานงานการอบรมตามเรือนจำและทัณฑสถานเป็นประจำ เดือนละ ๒ คน

          ๑๕. จัดหาอุปกรณ์การอบรมจิตใจ เช่น พระพุทธรูป โต๊ะหมู่บูชาพร้อมเครื่องตั้ง ธงชาติ พระบรมฉายาลักษณ์ หนังสือหลักสูตรและคู่มือธรรมศึกษา โต๊ะเรียนพร้อมเก้าอี้ อุปกรณ์ทางการศึกษา โดยการขอตั้งงบประมาณจัดซื้อเป็นปีๆ ไป

          ๑๖. จัดให้มีการอุปสมบทผู้พ้นโทษที่ประสงค์จะอุปสมบทและขอความอุปการะมายังกรมราชทัณฑ์ โดยกรมฯ จะจัดหาเครื่องอัฐบริขารให้

          ๑๗. จัดให้มีผู้ทรงคุณวุฒิทางศาสนาอิสลาม เข้าอบรมผู้ต้องขังมุสลิมและเข้าประกอบพิธีทางศาสนาทุกวันศุกร์และวันสำคัญทางศาสนา

          ๑๘. จัดให้บาทหลวงหรือศาสนาจารย์เข้าอบรมผู้ต้องขังที่นับถือศาสนาคริสต์และประกอบพิธีทางศาสนาตามลัทธิตามโอกาส

          ๑๙. จัดทำสถิติผลการอบรมธรรมศึกษา สถิติผู้ต้องขังกระทำผิดต่อปูชนียวัตถุทางศาสนา สถิติผู้ผ่านการอบรมธรรมศึกษาแล้วพ้นโทษไป แล้วกลับมาต้องโทษซ้ำอีก เพื่อดำเนินการให้การอบรมที่เหมาะสม

          ๒๐. จัดทำสถิติการที่บุคคลภายนอกบริจาคอาหารและสิ่งของแก่ผู้ต้องขัง  จัดตอบขอบคุณ ประกาศอนุโมทนา และทำข่าวการบริจาคส่งไปโฆษณาทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย

          ๒๑. รับบริจาคหนังสือธรรมและสารคดีจากบุคคลภายนอกแล้วดำเนินการจัดส่งให้เรือนจำ เพื่อให้ผู้ต้องขังอ่าน

          ๒๒. ร่วมมือกับกรมการศาสนา จัดอบรมจริยธรรมนักเรียนตามที่กรมการศาสนาขอความร่วมมือมา

          ๒๓. ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเยาวชน กระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการหาทางพัฒนาผู้ต้องขังวัยหนุ่ม(เยาวชน) ทางศีลธรรมและจิตใจ

          ๒๔.´เป็นเจ้าหน้าที่พิธีเกี่ยวกับการกุศลของกรมฯ เสนอแนะวิธีดำเนินงานและขออนุมัติจ่ายเงินเพื่อการกุศลนั้นๆ         

ข้าราชการกรมราชทัณฑ์ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกอนุศาสนาจารย์

          ๑. ร.อ. วิเชาวน์ ทิพยมณฑล ป.ธ. ๖ พ.ศ. ๒๔๙๘-๒๕๐๕

          ๒. นายอรุณ ฤทธิมัต                    พ.ศ. ๒๕๐๕-๒๕๐๖

          ๓. นายพนม นาควิเวก ป.ธ.๘            พ.ศ. ๒๕๐๖-๒๕๐๙ และ  ๒๕๑๒ – ๑๕๑๓

          ๔. นายไสว ภักดีพรหมมา ป.ธ.๙ รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าแผนกอนุศาสนาจารย์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๐-๒๕๑๑ และดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกอนุศาสนาจารย์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๔-๒๕๒๑

          ๕. นายมงคล พรพลทอง ป.ธ. ๙ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้างานอนุศาสนาจารย์ ตั้งแต่วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๒๑-๒๕๒๒