ประวัติพระพุทธสิงห์ชัยมงคล

       พระพุทธสิงห์ชัยมงคล ต้นแบบพระพุทธรูปบูชาประจำหน่วยทหาร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยเชียงแสน แบบสิงห์ ๑ หน้าตักกว้าง ๒๔ นิ้ว เนื้อสัมฤทธิ์

       พระพุทธรูปองค์นี้เป็นสมบัติของ พลตรี พระยาพิชัยสงคราม (แก๊ป สรโยธิน) ดำรงตำแหน่งรักษาราชการ ผบ.ทบ. และอดีตเจ้ากรมยุทธศาสตร์ทหารบก เมื่อ ๑๙ มิถุนายน ๒๔๗๖ เมื่อท่านได้ออกจากราชกการ จึงได้มอบพระพุทธรูปองค์นี้แก่กองทัพบกและได้อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ หอประชุมกองทัพบก ในสมัยของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จนกระทั่งกองทัพบกได้สร้างศาสนสถานกลางของกองทัพบก ในบริเวณกรมยุทธศึกษาทหารบก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐ จอมพล ประภาส จารุเสถียร จึงได้สั่งการให้ อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปประจำศาสนสถานกลางกองทัพบก เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๑๑ พร้อมกับถวายพระนามว่า “พระพุทธสิงห์ชัยมงคล”

       การสร้างพระพุทธรูปประจำหน่วยทหารนี้ ได้เคยจำลองสร้างจากพระพุทธสิงห์ชัยมงคลมาครั้งหนึ่ง เพื่อมอบให้แก่หน่วยทหารในกองทัพบก จำนวน ๘๕๙ องค์ ในสมัย จอมพล ประภาส  จารุเสถียร ซึ่งประกอบพิธี ณ วัดชนะสงคราม กรุงเทพฯ เมื่อ ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๒

รายละเอียด อนุมัติ และคำสั่ง

ในการดำเนินการจัดสร้างพระพุทธรูปบูชาประจำหน่วยทหาร

       ๑. มูลเหตุ เนื่องจากหน่วยต่าง ๆ ใน ทบ. ยังไม่มีพระพุทธรูปบูชาสำหรับการประกอบศาสนพิธีจำนวนมาก โดยเฉพาะหน่วยที่ตั้งขึ้นใหม่ และบางหน่วยที่มีอยู่ก็ไม่เหมือนกัน ทำให้พระพุทธรูปในหน่วยทหารที่มีหลายแบบหลายชนิด จึงสมควรที่ ทบ. จะได้จัดสร้างเป็นส่วนรวมให้เป็นแบบเดียวกันทั่วทั้งกองทัพบก

       ๒. วัตถุประสงค์ เพื่อให้หน่วยทหารได้มีพระพุทธรูปบูชาที่จำลองมาจากพระพุทธรูปองค์เดียวกัน สำหรับการประกอบศาสนพิธี เพื่อเป็นการบำรุงขวัญและเสริมสร้างคุณธรรม ตามหลักของพระพุทธศาสนา ให้แก่กำลังพลในกองทัพ

       ๓. แบบของพระพุทธรูปที่สร้าง  จำลองจากพระพุทธสิงห์ชัยมงคล ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน (สิงห์ ๑) สร้างด้วยโลหะผสมสีลงหิน มีขนาด ๗ นิ้ว ๙ นิ้ว ๑๕ นิ้ว และ ๑๙ นิ้ว ที่ด้านหน้า จะได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอันเชิญพระปรมาภิไธยย่อ “ภปร” ประดับที่ผ้าทิพย์ ที่ด้านหลังตรงกึ่งกลางพระแท่น จะมีตรากองทัพบกอยู่เหนือข้อความซึ่งจารึกไว้ดังนี้ “กองทัพบก สร้างน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะทรงดำรงตำแหน่ง จอมทัพไทย เพื่อพระราชทานให้แก่หน่วยทหารในกองทัพบกเมื่อ………..” และด้านล่างมีเลขที่กำกับไว้ เพื่อใช้ในการควบคุมการแจกจ่ายว่า ทบ………..

       ๔. ขนาดและจำนวนที่สร้าง สร้างให้แก่หน่วยต่าง ๆ ใน ทบ. ตั้งแต่ระดับ กองทัพภาค ถึงระดับกองร้อย ในขนาดต่าง ๆ ดังนี้

              ๔.๑ หน่วยระดับกองร้อย สร้างขนาด ๗ นิ้ว  จำนวน ๑,๖๒๒ องค์

              ๔.๒ หน่วยระดับกองพัน  สร้างขนาด ๙ นิ้ว จำนวน ๓๒๗ องค์

              ๔.๓ หน่วยระดับกรม, กองพล สร้างขนาด ๑๕ นิ้ว   จำนวน  ๒๑๓ องค์

              ๔.๔ หน่วยระดับกองทัพภาค สร้างขนาด ๑๙ นิ้ว    จำนวน   ๕  องค์

       ๕. ช่างที่สร้าง

              ๕.๑ ปฏิมากร นายสุกิจ  ลายเดช มีตัวอย่างในการสร้างพระและอนุสาวรีย์

                    ๕.๑.๑ พระพุทธมณฑล ปี ๒๕๐๐ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญกรมศิลปากร

                    ๕.๑.๒ พระมงคลนิมิต สำหรับพระราชทานให้กับสภามหามกุฎราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงฆ์ วัดบวรนิเวศวิหาร

                    ๕.๑.๓ พระประธานวัดชัยมงคล จังหวัดลำปาง

                    ๕.๑.๔ อนุสาวรีย์สุนทรภู่ จังหวัดระยอง

                    ๕.๑.๕ อนุสาวรีย์ชาวบ้านบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี

              ๕.๒ ช่างหล่อ นายสัมพันธ์ สุขะวรรณะ มีผลงานในการจัดสร้างพระอนุสาวรีย์ประจำรัชกาลกรุงรัตนโกสินทร์ ร.๖, ร.๗, ร.๘ และ ร.๙ (หนังสือรับรองกรมศิลปากร เลขที่ ๓/๒๕๒๕) สร้างพระพุทธอภัยมงคลสามัคคี สำหรับพระราชทานเป็นพระประจำจังหวัด เป็นต้น

       ๖. ขั้นตอนของการจัดงาน  ประกอบด้วยพิธีสำคัญ ๔ พิธี ด้วยกัน คือ

              ๖.๑ พิธีจารึกแผ่นทอง นาก เงิน ให้กองทัพภาคที่ ๑, ๒, ๓ และ ๔ นำไปประกอบพิธีในพื้นที่ของแต่ละกองทัพภาค ในห้วงเดือน ก.พ. – มี.ค. ๒๙ แล้วนำมาเททองรวมกันที่กรุงเทพมหานคร

              ๖.๒ พิธีเททอง ประกอบพิธีที่วัดบวรนิเวศวิหารในห้วงเดือน เม.ย. – พ.ค. ๒๙

              ๖.๓ พิธีพุทธาภิเษก ประกอบพิธีที่กรุงเทพมหานคร ในห้วงเดือน ส.ค. ๒๙

              ๖.๔ พิธีสมโภช จัดหลังจากพิธีพุทธาภิเษกแล้ว ที่กรุงเทพมหานคร

       ๗. งบประมาณ ใช้งบประมาณจาก ทบ.

       ๘. คณะกรรมการอำนวยการจัดสร้างพระพุทธรูปบูชา  ตามคำสั่งกองทัพบก (เฉพาะ) ที่ ๒๕๔๒/๒๘

ขั้นตอนการดำเนินการ

ในการดำเนินการจัดสร้างพระพุทธรูปบูชา ประจำหน่วยทหาร

แบ่งการดำเนินการออกเป็น ๔ ขั้นตอน ดังนี้

        ๑. พิธีลงอักขระจารึก แผ่นทอง นาก เงิน

        ๒. พิธีเททองพระพุทธรูป

        ๓. พิธีพุทธาภิเษก

        ๔. พิธีพระราชทานพระพุทธรูป

ขั้นตอนที่ ๑ พิธีลงอักขระจารึก แผ่นทอง นาก เงิน

        การดำเนินการในขั้นตอนที่ ๑ กองทัพภาคต่าง ๆ ได้ดำเนินการทำพิธีลงอักขระจารึกแผ่นทอง นาก เงิน โดยเกจิอาจารย์ในแต่ละพื้นที่ของกองทัพภาค ดังนี้

        กองทัพภาคที่ ๑ ทำพิธีในวันที่ ๒๐ มี.ค.๒๙ เวลา ๑๖๐๐ น.  ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ

        กองทัพภาคที่ ๒ ทำพิธีในวันที่ ๒๔ มี.ค.๒๙ เวลา ๑๙๓๐ น. ณ วัดพระนารายณ์มหาราช จังหวัดนครราชสีมา

        กองทัพภาคที่ ๓ ทำพิธีในวันที่ ๒๐ มี.ค.๒๙ เวลา ๑๗๓๐ น. ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก

        กองทัพภาคที่ ๔ ทำพิธีในวันที่ ๑๘ มี.ค.๒๙ เวลา ๑๓๓๐ น. ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

ขั้นตอนที่ ๒ พิธีเททองพระพุทธรูป

        การดำเนินการในขั้นตอนที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช   ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้ โปรดเกล้าฯ ทรงรับเชิญเสด็จพระราชดำเนินเททองพระพุทธรูปบูชาประจำหน่วยทหารในกองทัพบก ในวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๒๙ เวลา ๑๕๐๐ น. ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ เป็นปฐมมหามงคลฤกษ์

ขั้นตอนที่ ๓ พิธีพุทธาภิเษกพระพุทธรูป

        การดำเนินการในขั้นตอนที่ ๓ พิธีพุทธาภิเษกดำเนินการในวันที่ ๑๔ ส.ค.๒๙ ณ วัดชนะสงคราม ถนนจักรพงษ์ ตำบลบางลำพู อำเภอพระนคร กรุงเทพฯ ตามเวลาฤกษ์ ๑๗๔๙ น. โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในพิธีพุทธาภิเษก สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสมเด็จพระสังฆราชเสด็จมาเป็นองค์ประธาน ในพิธีจุดเทียนชัยใน ๑๕ ส.ค.๒๙

ขั้นตอนที่ ๔ พิธีพระราชทาน

        การดำเนินการในขั้นต้นที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ผู้บังคับหน่วยทหารเข้ารับพระราชทานพระพุทธสิงห์ชัยมงคล ในวันพฤหัสบดีที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๒๙ เวลา ๑๖๓๐ น. ณ พระราชตำหนักจิตรลดารโหฐาน

การบำรุงรักษาพระพุทธรูปประจำหน่วยทหาร

        เนื่องจาก พระพุทธสิงห์ชัยมงคล เป็นพระพุทธรูปบูชาที่ทรงพระราชทานแก่หน่วยทหาร      มีลักษณะรมดำเป็นสีขันลงหิน สีขันลงหินนี้มักจะหมองได้ง่ายเมื่อถูกจับต้องและฝุ่นละออง แต่เนื่องจากพระพุทธรูปบูชาที่พระราชทานมานี้เพื่อวัตถุประสงค์ให้หน่วยได้บูชาและใช้ในพิธีทางศาสนา จึงเป็นเรื่อง       ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากการถูกจับต้องและฝุ่นละอองได้ เพื่อให้พระพุทธรูปบูชานี้มีลักษณะสวยงาม        และสดใสอยู่เสมอจึงขอแนะนำวิธีการบำรุงรักษาเพื่อให้หน่วยได้ใช้ประโยชน์ ดังนี้

การบำรุงรักษาพระพุทธรูป

        ๑. การทำความสะอาด ควรใช้ผ้าสะอาดเช็ดรอยนิ้วมือและปัดฝุ่นละออง เป็นประจำและทุกครั้งที่ใช้

        ๒. ถ้าสีหมองคล้ำไปมากแล้ว ถ้าต้องการให้สีมันเงา ควรใช้สำลีชุบน้ำมันมะกอก

ข้อควรระมัดระวัง

        ๑. ห้ามมิให้ใช้บรัสโซ, ทราย , กระดาษทราย , หรือสิ่งที่กัดสี นำมาขัดโดยเด็ดขาดเพราะจะทำให้สีเดิมหมดไป

        ๒. เวลาขัดด้วยกีวี ห้ามมิให้ลงยาที่พระเกศา, บริเวณพระปรมาภิไธยย่อ, บริเวณเครื่องหมายกองทัพบก และตัวอักษรที่จารึกไว้ด้านหลัง

        ๓. ให้ระมัดระวัง อย่าให้ยาขัดไปโดนที่ตรงพระเนตร

        ๔. ในการทำความสะอาด และขัดเงา ให้ระมัดระวังมิให้ผู้ขัดไปถูกต้องหรือ เช็ดถูบริเวณพระเนตรโดยเด็ดขาด

        ๕. ในกรณีที่นำไปใช้ในพิธีสรงน้ำพระ ห้ามมิให้มีการขัดถู เมื่อเสร็จพิธีแล้วควรใช้ผ้าสะอาดเช็ดให้แห้ง และขัดเงาด้วยกีวี ตามข้อ ๒. ของการบำรุงรักษา

        ๖. ในการเคลื่อนย้าย อย่าให้ส่วนใดส่วนหนึ่งขององค์พระไปกระแทกกับของแข็ง

การอันเชิญพระพุทธรูปบูชา

        ในโอกาสที่หน่วยต่าง ๆ ในกองทัพบก ได้รับพระราชทานพระพุทธสิงห์ชัยมงคลเป็นพระพุทธรูปบูชาประจำหน่วยทหารนั้น ก่อนที่จะอัญเชิญพระพุทธรูปบูชาไปประดิษฐานบนโต๊ะหมู่บูชาหรืออาสนะที่เตรียมไว้ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่หน่วยและกำลังพลของหน่วยจึงสมควรที่จะได้จัดพิธีอัญเชิญให้เป็นแบบเป็นแผนที่ก่อให้เกิดความเชื่อมันศรัทธา เป็นระเบียบเรียบร้อยตามแนวทางที่กองทัพบกได้ปฏิบัติมาแล้ว ดังนี้

        ๑. เมื่อหน่วยได้รับพระราชทานพระพุทธรูปมาแล้ว ให้อัญเชิญไปประดิษฐานบนโต๊ะหมู่บูชา หรืออาสนะที่เตรียมไว้ (ควรเป็นโต๊ะขนาดพอเหมาะปูรองด้วยผ้าขาว อาจอยู่นอกหรือภายในอาคารก็ได้) หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ หรือทิศตะวันออก (เว้นทิศตะวันตก)

        ๒. เมื่อใกล้เวลาที่จะอัญเชิญ ให้กำลังพลเข้าแถวหันหน้าเข้าหาพระพุทธรูปเมื่อประธานมาถึง พิธีกรส่งพานพุ่มเทียนแพให้ประธานถือพนมมือระหว่างอก (เปิดกรวยครอบกระทงดอกไม้) กำลังพลในแถวประนมมือ ประธานกล่าวคำอัญเชิญพระพุทธรูป (ทั้งภาษาบาลีและภาษาไทย) ดังนี้

        นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (ว่า ๓ หน)

        เอตัง โข อาสะนัง ภันเต ปัญญัตตัง โว อะนุจฉะวิง นิสินนา อาสะเน โหถะ ฑีฆะรัตตัง หิตายะ โนฯ

        ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ, อาสนะนั้น, ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย, จัดแต่งไว้เรียบร้อยแล้ว,  ให้เป็นของสมควรแก่พระองค์, ขออัญเชิญพระองค์, จงประทับบนอาสนะนั้น, เพื่อเป็นมิ่งมงคล, แก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนานเทอญฯ

        ๓. เมื่อกล่าวคำอัญเชิญเสร็จแล้ว ในกรณีที่พระพุทธรูปมีขนาดเล็ก ประธานจะส่งพานพุ่มเทียนแพให้พิธีกรถือไว้ แล้วเข้าไปอุ้มองค์พระนำไปประดิษฐานบนโต๊ะหมู่บูชาหรืออาสนะใดที่เตรียมไว้แล้ว (มีดอกไม้ ธูปเทียนพร้อม) เมื่อประดิษฐานพระพุทธรูปแล้วนำพวงมาลัยดอกไม้สดมาคล้องที่ฐานพระ (ห้ามสวมทางพระเกศ) รับพานพุ่มเทียนแพมาวาง จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แล้วนั่งคุกเข่ากล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย ดังนี้

        อิมินา สักกาเรนะ พุทธัง สะธัมมัง สะสังฆัง อะภิปูชะยามิฯ อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา, พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ ฯ (กราบ)

        สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม, ธัมมัง นะมัสสามิ ฯ (กราบ)

        สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สังฆัง นะมามิ ฯ (กราบ)

        เมื่อกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยแล้ว ยืนประนมมือกล่าวคำอธิษฐานขอพรพระดังนี้

        นัตถิ เม สะระณัง อัญญัง พุทโธ ธัมโม สังโฆ เม สะระณัง วะรัง เอเตนะ  สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เม โหตุ สัพพะทาฯ

        (คำแปล) ที่พึ่งอย่างอื่นของข้าพระพุทธเจ้าไม่มี, นอกจากพระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้า, พระธรรม, พระสงฆ์, พระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งอย่างประเสริฐของข้าพเจ้า ด้วยอำนาจสัจวาจานี้, ขอความสุขสวัสดี, จงบังเกิดแก่ข้าพเจ้า, พร้อมด้วยเหล่าทวยหาญ, ในทุกสถานที่, ตลอดกาลทุกเมื่อเทอญฯ

(จบแล้วน้อมไหว้ เสร็จพิธีฯ)

        ในกรณีที่พระพุทธรูปมีขนาดใหญ่ ประธานไม่สามารถอุ้มได้ ให้จัดกำลังพล ๑ – ๒ นาย เป็นผู้ยกองค์พระ ประธานถือพานพุ่มเทียนแพเดินตาม เมื่อถึงโต๊ะหมู่บูชาหรืออาสนะที่เตรียมไว้ ประธานส่งพานพุ่มเทียนแพให้พิธีกรถือไว้ แล้วเข้าไปประคององค์พระประดิษฐานบนโต๊ะหมู่บูชา คล้องพวงมาลัยดอกไม้สดที่ฐานพระ วางพุ่มเทียนแพ จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แล้วดำเนินการตามที่กล่าวมาข้างต้น