คู่มือการปฏิบัติศาสนพิธี

คู่มือการปฏิบัติศาสนพิธี

บทนำ

          พิธี คือ แนวทางหรือข้อเสนอแนะการปฏิบัติงานที่เป็นรูปแบบ เป็นต้นว่า งานใดสมควรจะดำเนินการอย่างไร เมื่อได้ดำเนินการตามแนวทางหรือข้อเสนอแนะนั้นแล้วงานเหล่านั้นจะดำเนินไปด้วยความราบรื่น รวดเร็ว เรียบร้อย ถูกต้องตามขนบธรรมเนียมประเพณี สำเร็จลุล่วงตามจุดมุ่งหมายของงาน ไม่ขัดข้องหรือวุ่นวาย พิธีเป็นวัฒนธรรมประเพณีของชาติ เป็นวิถีชีวิตของประชาชน ในแต่ละสังคมจะมีพิธีการที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาตามความเชื่อของคนในสังคมนั้น ๆ ด้วยเหตุนี้ พิธีจึงมีรูปแบบการปฏิบัติหลากหลาย แม้ในปัจจุบันก็มีรูปแบบการปฏิบัติพิธีแตกออกไปตามความเห็นของแต่ละสำนัก ทำให้มีข้อถกเถียงกันเสมอ เพื่อจุดมุ่งหมายที่จะให้การปฏิบัติพิธีมีรูปแบบและแนวทางการปฏิบัติเป็นแนวเดียวกัน จึงได้รวบรวมแนวปฏิบัติพิธีที่เป็นแนวกลาง ๆ มาแสดงไว้พอเป็นข้อสังเกต

          ในการจัดงานศาสนพิธี คือการประกอบพิธีทางศาสนา จะมีบุคคลประเภทหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องพิธี มีชื่อเรียกกันหลากหลาย เช่น มรรคนายก อุบาสก เจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงาน แต่ในที่นี้จะขอเรียกบุคคลนี้ว่า ศาสนพิธีกร แปลว่า ผู้ดำเนินการพิธีทางศาสนา ศาสนพิธีกรนี้มีหน้าที่ควบคุม ปฏิบัติ จัดการ ตลอดถึงให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษาในการจัดพิธีการทางพระพุทธศาสนา ศาสนพิธีกรที่ดีจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติหลายประการ เป็นต้นว่า

          ๑. มีความรอบรู้ในเรื่องศาสนพิธีอย่างกว้างขวาง ละเอียด ลึกซึ้ง

          ๒. มีความสามารถในการปฏิบัติงาน ไม่เคอะเขิน งันงก ตกประหม่า

          ๓. มีความรอบคอบ ละเอียดถี่ถ้วนในเรื่องอุปกรณ์ และลำดับพิธี ไม่ประมาท

          ๔. มีกิริยา วาจา และมารยาทเรียบร้อย การแต่งกาย การวางตนเหมาะสม

          ๕. มีการตัดสินใจที่ฉับไวและถูกต้อง สามารถแก้ไขข้อขัดข้องที่เกิดขึ้นในพิธีได้ทันการณ์