ช่อฟ้านี้จะใช้ประดับเฉพาะพระราชวัง โบสถ์ (รูป ๔๙) วิหาร ศาลาการเปรียญและสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ บางประเภทในวัดเท่านั้น โดยที่จริงช่อฟ้าเป็นสิ่งที่แปลกประหลาด เพราะไม่มีใครสามารถอธิบายที่มาได้ ทั้งรูปร่างหน้าตาของ ช่อฟ้าก็มีต่าง ๆ กันแล้วแต่ว่าเป็นของภูมิภาคใด ๆ เช่น บางแห่งอาจปั้นเป็นรูปสัตว์ธรรมดาหรือสัตว์หิมพานต์ก็ได้ โบสถ์หรือวิหารเมื่อถอดเครื่องประดับออกไปจนหมดสิ้น คงเหลือไว้แต่เพียงผนังสี่ด้านกับหลังคาเปล่า ๆ สมมติว่าลองใส่เครื่องประดับคืนเกลับเข้าไปทีละชิ้น ๆ จากข้างล่างไปสู่ข้างบน จนกระทั่งในที่สุดยกช่อฟ้ากลับขึ้นไปตั้งบนหลังคา ในทันทีที่ช่อฟ้ากลับเข้าสู่ที่เดิมเราจะรู้สึกว่าสมบูรณ์แบบได้กลับคืนมาทันที เสมือนหนึ่งช่อฟ้านี้เป็นจุดรวมแห่งความศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมด ในสถาปัตยกรรมไทยแม่บท
วัตถุประสงค์
๑. เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้ร่วมในการประกอบพิธียกช่อฟ้าอันถือเป็นศาสนวัตถุที่สำคัญที่สุดของอุโบสถ
๒. เพื่อเป็นการประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่าอุโบสถ วิหาร ได้สร้างเสร็จสมบูรณ์
๓. เพื่อร่วมกันทำนุบำรุงพระศาสนาให้มั่นคงถาวรสืบต่อไป
การเตรียมการ (นอกจากพิธีสงฆ์)
– บาตรน้ำมนต์ พร้อมหญ้าคา ๑ กำ
– แป้งเจิม ๑ ที่
– ทองคำเปลว ๓ แผ่น พร้อมขี้ผึ้งหรือกระเทียมทาปิดทอง
– ผ้าสีชมพู ๑ ผืน (หรือตามต้องการ)
– พวงมาลัย ๒ ชาย ๑ พวง
– ด้ายสายสิญจน์ ๑ ม้วน
การปฏิบัติ (เมื่อถึงเวลากำหนด)
ประธานในพิธี
– จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย กราบพระ ๓ ครั้ง
– รับศีล
พิธีกร
– นิมนต์พระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ช่อฟ้าแล้วผูกด้ายสายสิญจน์
ประธาน
– ฟังการกล่าวรายงาน จากผู้แทนของวัด
– ออกจากปะรำพิธีไปยังแท่นที่ตั้งช่อฟ้า เมื่อได้รับเชิญ
– เจิมช่อฟ้า ตรงฐานช่อฟ้า
– ปิดทอง ๓ แผ่น ตรงฐานช่อฟ้า
– ผูกผ้าสีชมพู ๑ ผืน ตรงระหว่างกลางหรือส่วนโค้งของช่อฟ้า โดยผูกแล้วทิ้งชายหรือผูกเป็นเงื่อนรูปโบว์
– คล้องพวงมาลัย ๒ ชาย ตรงส่วนที่คล้องแล้วจะไม่หลุด
– ถือด้ายสายสิญจน์เพื่อยกช่อฟ้าขึ้น โดยผ่อนตามช่อฟ้าไปเรื่อย ๆ จนช่อฟ้าถึงที่ประดิษฐาน (ขณะนั้น พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ดนตรีบรรเลงเพลงมหาฤกษ์)
– กลับเข้าสู่ปะรำพิธี
– ประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์
– กรวดน้ำ รับพร
– เสร็จพิธี
หมายเหตุ
บางงานมีการเจริญพระพุทธมนต์ย่อ ๆ แล้วจึงประกอบพิธียกช่อฟ้า