อาจริยพจน์ พล.ต.ชอบ อินทฤทธิ์

อาจริยพจน์ พล.ต.ชอบ  อินทฤทธิ์[1]

“ชีวิตที่เหมือนฝัน”


        เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๘ ประมาณเดือนพฤษภาคม เด็กน้อยคนหนึ่งอายุได้ ๑๒ ปี เดินตามแม่ นางเงิน อินทฤทธิ์ และ ลุง  นายปั้น หมื่นเดช ไปตามทางรถไฟ            สาย กรุงเทพฯ – อรัญประเทศ มุ่งสู่วัดโยธาราษฎร์ศรัทธาธรรม ตำบลดงพระราม อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ห่างจากบ้านประมาณ ๕ กิโลเมตร เมื่อถึงวัดแล้ว ท่านทั้งสองได้พาไปพบกับท่านสมภารคือท่านพระครูใบฎีกาสถิตย์ วณฺณรํสิโย (ต่อมาได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นโท ในราชทินนามที่พระครู        วาทีวรคุณ) และได้มอบเด็กชายคนดังกล่าว คือ เด็กชายชอบ  อินทฤทธิ์ ให้กับท่านสมภารแล้วท่านทั้งสองก็ลากลับบ้าน

        ก่อนเข้าพรรษาในปีนั้น เด็กชายชอบ อินทฤทธิ์ ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร จำได้ว่าที่บวชพร้อมกันในวันนั้น มีบวชพระ ๒ รูป สามเณร ๓ รูป หลวงพ่อพระครูดำ        (ชื่อเดิมของท่านสมภาร) เป็นคนเข้มงวดเอาใจใส่ดูแลพระเณรในปกครองอย่างจริงจัง ทั้งในด้านจริยาวัตร และการศึกษา พระเณรรูปใดไม่เรียบร้อยท่านจะตำหนิอย่างรุนแรง ส่วนการศึกษาท่านก็ส่งเสริมเต็มที่ โดยตั้งกฎเพื่อเป็นแรงจูงใจว่าใครสอบได้นักธรรมโท จะส่งไปเรียนต่อในกรุงเทพฯ แล้วท่านก็ทำตามสัญญา ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ โดยส่งสามเณรชอบ อินทฤทธิ์ และ สามเณรสมพงษ์ ใจอุ่น ไปอยู่ที่วัดบวรมงคล สามเณรวิโรจน์  อำนรรฆ ไปอยู่วัดบรมนิวาส

        ณ วัดบวรมงคล (ชาวบ้านมักเรียกว่าวัดลิงขบ) นี่เอง คือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญจุดที่สอง ทำให้ข้าพเจ้าได้พัฒนาตัวเองขึ้นอย่างมากมาย ด้านความรู้ ได้นักธรรมเอก เปรียญธรรม ๗ ประโยค ปริญญาศาสนศาสตร์บัณฑิต ด้านประสบการณ์ชีวิตมีมากมายสามารถนำไปใช้ได้อย่างดี เมื่อลาสิกขาออกมาเป็นผู้ครองเรือน

        ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ กุศลกรรมส่งให้ได้เข้ารับราชการทหารในตำแหน่งอนุศาสนาจารย์ สังกัดกองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารบก ซึ่งมีท่านอาจารย์    พ.อ.ปาน จันทรานุตร เป็นหัวหน้ากองฯ ต่อมาได้ย้ายไปรับราชการในหน่วยต่างๆ ดังนี้ พ.ศ.๒๕๑๕ จังหวัดทหารบกลพบุรี พ.ศ.๒๕๒๔ ศูนย์สงครามพิเศษ พ.ศ.๒๕๒๖  โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า พ.ศ.๒๕๓๘ กองทัพภาคที่ ๑ พ.ศ.๒๕๔๐ กลับคืนสู่            กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารบก ในตำแหน่งหัวหน้าแผนกอบรม              รองผู้อำนวยการกองฯ และผู้อำนวยการกองฯ ในที่สุด ก่อนจะเกษียณอายุรับราชการใน พ.ศ.๒๕๔๕ (เกษียณก่อนกำหนด ๑ ปี) นับเป็นบุญอย่างยิ่งของข้าพเจ้าที่ได้มีโอกาสปฏิบัติงานในหน่วยต่างๆ ดังกล่าวที่มิใช่หน่วยกำลังรบซึ่งมันตรงกับอุปนิสัยของข้าพเจ้าที่ชอบความเรียบง่าย ไม่ชอบความโลดโผน ทำให้การปฏิบัติงานเกิดผลดีแก่ตนเองและหน่วยตามสมควร สำหรับผลงานที่เป็นรูปธรรมควรแก่การจารึกจดจำ ของอนุศาสนาจารย์      รุ่นหลังๆ ได้บ้างคือ

        ๑. มีส่วนผลักดันให้มีการสร้างศาสนสถานประจำโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก และยังได้รับพระเมตตาจากเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระพุทธชินสีห์ ภปร. ประดิษฐานเป็นพระพุทธปฎิมาประธานประจำศาสนสถานนี้ด้วย และเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเททองพระพุทธปฏิมาดังกล่าว           ด้วยพระองค์เอง ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

        ๒. จัดโครงการอุปสมบทหมู่นักเรียนนายร้อยในเวลาปิดภาคการศึกษาเดือนเมษายน ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๕ จนเป็นประเพณีปฏิบัติมาถึงทุกวันนี้ ซึ่งเป็นวิธีการอีกอย่างหนึ่งที่จะแทรกคุณธรรมเข้าในจิตใจของนักเรียนนายร้อยที่จะเป็นผู้นำสังคมต่อไป

        ๓. ปรับปรุงห้องทำงาน ๑ ห้อง ที่กองอนุศาสนาจารย์ให้เป็นห้องพระบารมี    เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดกิจการอนุศาสนาจารย์ และนับเป็นบุญของคณะอนุศาสนาจารย์เป็นอย่างยิ่งที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ได้เมตตามอบพระบรมรูปดังกล่าวให้กับกองอนุศาสนาจารย์

        ๔. เสนอเพิ่มกิจกรรมในการแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีต่อกิจการอนุศาสนาจารย์ ด้วยการจัดคณะอนุศาสนาจารย์นำพวงมาลาไปวาง ณ พระบรมราชานุสาวรีย์พระองค์ท่าน ณ สวนลุมพีนี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ในภาคเช้าของวันที่ ๒๕ พฤจิกายน จากเดิมที่มีแต่การบำเพ็ญกุศลน้อมอุทิศถวายในภาคกลางวันเพียงอย่างเดียว

        กิจการอนุศาสนาจาย์ได้ดำเนินมาจนครบ ๑๐๐ ปี ในวันนี้แล้ว ด้วยอาศัยการสืบต่อเจตนารมณ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ของครูบาอาจารย์รุ่นแล้ว     รุ่นเล่า และข้าพเจ้ามั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่ากิจการอันเป็นมหากุศลนี้จะยืนยงมั่นคงตลอดไป แต่ทั้งนั้นทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ ๒ ประการคือ ๑. การสนับสนุนของผู้บังคับบัญชา     ๒. การปฏิบัติตนและจิตวิญญาณของอนุศาสนาจารย์

        ในปัจจัย ๒ อย่างนี้ ปัจจัยที่ ๑ จะไม่กล่าวถึง ปัจจัยที่ ๒ เรื่องการปฏิบัติงาน เชื่อในความสามารถของอนุศาสนาจารย์ทุกท่านอยู่แล้ว แต่เรื่องจิตวิญญาณในการเป็นอนุศาสนาจารย์สำคัญมาก ถ้าจิตใจไม่มั่นคงในวิชาชีพนี้แล้ว กำลังพลในกองทัพก็จะพากันเสื่อมศรัทธา คุณความดีที่บุรพาจารย์ท่านสร้างสมมานั้น ก็จะเสื่อมสลายไปในที่สุด เพราะฉะนั้น เมื่อรักที่จะเป็นอนุศาสนาจารย์ ต้องเป็นให้ได้ทั้งกายและใจ เป็นแล้วเป็นเลย

        การทำงานของคนเรา บางคนประสบความสำเร็จ บางคนก็ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา จากประสบการณ์ที่ได้ทำงานมา ๓๐ ปีเศษ และคำชี้แนะของครูอาจารย์ พอจะประมวลได้ว่า คนประสบความสำเร็จในการทำงานต้องมีคุณ ๓ ประการ

        ๑. คุณวุฒิ          ความรู้

        ๒. คุณภาพ        ความสามารถ

        ๓. คุณธรรม        ความดี

        คุณวุฒิ ความรู้แบ่งเป็น ๒ คือ รอบรู้ กับ รู้รอบ รอบรู้ หมายรู้แจ้ง รู้จริงงานในหน้าที่ของตน เช่น เป็นอนุศาสนาจารย์ต้องแม่นยำในหลักธรรมเรื่องราวของคณะสงฆ์ เมื่อเกิดวิกฤตทางศาสนา ต้องให้ข้อเสนอแนะที่ถูกต้องกับผู้บังคับบัญชาได้ ส่วนรู้รอบนั้น เป็นการแสวงหาความรู้อื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อใช้ในการประสานในการปฏิบัติงาน หรือช่วยเหลือสังคมในด้านที่เป็นประโยชน์ต่างๆ เรื่องนี้ครูบาอาจารย์ท่านสร้างเครดิตไว้สูงมาก เช่นพระธรรมนิเทศทวยหาญ (อยู่ อุดมศิลป์) ปฐมอนุศาสนาจารย์ ท่านได้รับความไว้วางใจจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกให้เป็นผู้ตรวจสอบคำภาษาที่ใช้ให้ถูกต้องเหมาะสม พันเอก (พิเศษ) ปาน จันทรานุตร ได้รับตำแหน่งเป็นลูกขุน ตัดสินคดีพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์ เขียนหนังสือตอบบาทหลวง เมื่อมีการจาบจ้วงคำสอนในพระพุทธศาสนา เป็นต้น

        คุณภาพ หมายถึง ความสามารถในการทำงาน โดยเฉพาะงานในหน้าที่ของตนเอง ทำให้สุดความสามารถ ให้มีผลประจักษ์แก่ผู้บังคับบัญชาและกำลังพล อนุศาสนาจารย์บางท่านอาจจะพูดเก่ง พูดจนคนติดใจ มีงานที่ไหนต้องเห็นหน้าและได้ยินเสียงท่าน บางท่านปฏิบัติพิธีเก่ง งานพิธีทุกอย่างมีท่านแล้วเรียบร้อย ถ้าขาดท่านไปก็จะมีเสียงตามมาว่า ท่านอนุศาสน์หายไปไหน เก่งอย่างใดอย่างหนึ่งถือว่าใช้ได้ ถ้าเก่งทุกอย่างถือว่าสุดยอด

        คุณธรรม หมายถึง ความประพฤติที่ดีงามตามกรอบของหน่วยงานต่างๆ ที่ได้กำหนดไว้ สำหรับอนุศาสนาจารย์นอกจากจะต้องประพฤติตามกฎหมายบ้านเมือง ระเบียบวินัยของทหารแล้ว จะต้องปฏิบัติตนในกรอบจรรยาบรรณของอนุศาสนาจารย์ ๑๓ ข้อ อีกด้วย และเพราะจรรยาบรรณ ๑๓ ข้อนี้แหละ ทำให้กำลังพลในกองทัพเชื่อถือศรัทธาในตัวอนุศาสนาจารย์ถึงแม้จะมียศต่ำกว่าเขาก็ตาม

        การทำงานทุกอย่างมีทั้งศาสตร์และศิลป์ บางครั้งใช้ศาสตร์ บางครั้งใช้ศิลป์ บางครั้งใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในขณะนั้น ข้าพเจ้าเองไม่ได้เก่งอะไรมากมายนัก แต่เป็นคนโชคดี คือมีผู้บังคับบัญชาดี มีผู้ใต้บังคับบัญชาดี มีผู้ร่วมงานดี เข้าทำนองที่ว่า ผู้ใหญ่ดึง ผู้น้อยดัน จึงทำให้ประสบความสำเร็จทั้งในหน้าที่การงาน และยศตำแหน่ง ที่สุดของที่สุด ๑ ตุลาคม ๒๕๔๕ พระบาทสมเด็จพระปริมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร  มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พันเอกชอบ อินทฤทธิ์ เป็น พลตรี นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม หาที่สุดมิได้ ข้าพระพุทธเจ้า ขอเทิดทูนพระมหากรุณาธิคุณนี้ไว้ ตราบจนวันตาย นี่คือชีวิต จาก…..ดิน   สู่…..ดาว  ช่างเหมือนฝันจริงๆ

[1] ผอ.กอศจ.ยศ.ทบ. ลำดับที่ ๑๘ ( พ.ศ.๒๕๔๓ – ๒๕๔๕ )