การสอนวิชาการศาสนาและศีลธรรม

          อนุศาสนาจารย์ ต้องรับผิดชอบในการสอนวิชาการศาสนาและศีลธรรมในหลักสูตรต่างๆ ดังนี้  

          ๑. หลักสูตรนายทหารอนุศาสนาจารย์ชั้นต้น

              เป็นหลักสูตรตามแนวทางรับราชการของนายทหารอนุศาสนาจารย์ (เทียบเท่าหลักสูตรชั้นนายร้อย) ระยะเวลาการศึกษา ๑๓ สัปดาห์ 

          ๒. หลักสูตรนายทหารอนุศาสนาจารย์ชั้นสูง

              เป็นหลักสูตรตามแนวทางรับราชการของนายทหารอนุศาสนาจารย์ (เทียบเท่าหลักสูตรชั้นนายพัน)  ระยะเวลาการศึกษา ๑๗ สัปดาห์ 

          กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารบก มีหน้าที่กำกับดูแลการเรียนการสอนของหลักสูตรตามแนวทางรับราชการของนายทหารอนุศาสนาจารย์ทั้ง ๒ หลักสูตร ให้เป็นไปตามระเบียบของกองทัพบก จัดอนุศาสนาจารย์เข้าสอนในวิชาหลัก และติดต่อขออาจารย์จากเหล่า/สายวิทยาการช่วยสอนในวิชาที่เหลือ

          ๓. หลักสูตรการปฐมนิเทศนายทหารอนุศาสนาจารย์บรรจุใหม่ 

              เป็นหลักสูตรอบรมเพิ่มเติมความรู้สำหรับนายทหารอนุศาสนาจารย์ที่บรรจุเข้ารับราชการครั้งแรก  ระยะเวลาการศึกษา ๔ สัปดาห์ 

          ๔. หลักสูตรการพัฒนาบุคลากรกองทัพบก

              ปีพุทธศักราช ๒๕๒๖ กรมยุทธศึกษาทหารบก ได้อนุมัติให้อนุศาสนาจารย์ทหารบก เข้าค่ายฝึกฝนพัฒนาทางจิต  จำนวนทั้งสิ้น ๓ รุ่นๆ ละ ๗ วัน  ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการการพัฒนาบุคลากรกองทัพบก  ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๒๘ ได้มีการจัดส่งกำลังพลเข้ารับการฝึกปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวัน  อำเภอพรหมบุรี  จังหวัดสิงห์บุรี  โดยการอนุมัติของผู้บัญชาการทหารบก  ในขณะนั้น การอบรมตามโครงการพัฒนาบุคลากรกองทัพบกจึงได้พัฒนามาตามลำดับ

              ปีพุทธศักราช ๒๕๓๖ กองทัพบก ได้อนุมัติให้หลักสูตรการพัฒนาบุคลากรกองทัพบกเป็นหลักสูตรทางการศึกษาอบรมของกองทัพบก หมายเลขหลักสูตร ๑๖ – ข – ฉ.๒  และได้เป็นหลักสูตรทางการศึกษาอบรมมาจนถึงปัจจุบัน

              กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารบก มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดบุคลากร ของกองทัพบกทุกระดับชั้นยศให้เข้ารับการศึกษาอบรมในหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรกองทัพบก   ณ ศูนย์พัฒนาจิตใจกำลังพลกองทัพบก วัดอัมพวัน อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี  ตามอนุมัติของกองทัพบก เป็นปีๆ ไป  ดังนี้

              ๔.๑ ความมุ่งหมาย เพื่อให้ผู้เข้ารับการศึกษาอบรม ได้เรียนรู้หรือฝึกตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ สามารถประยุกต์คำสอนนั้น ๆ มาปรับปรุงใช้กับ การดำรงชีวิตประจำวันและการปฏิบัติงานในหน้าที่ราชการอย่างมีประสิทธิภาพ  ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เข้ารับการศึกษาอบรมเป็นกำลังพลที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น กับทั้งประพฤติตนให้เป็นประโยชน์แก่กองทัพบก สังคมและประเทศชาติ

                    ๔.๒ คุณสมบัติของผู้เข้ารับการศึกษาอบรม เป็นนายทหารสัญญาบัตร นายทหารประทวน  ในกองทัพบกทุกชั้นยศและลูกจ้าง ผู้มีความสมัครใจ หรือผู้ที่หน่วยคัดเลือกเข้ารับการศึกษาอบรม

                    ๔.๓ งบประมาณและจำนวนผู้เข้ารับการศึกษาอบรม ตามที่กองทัพบกอนุมัติในแต่ละปี

                    ๔.๔ การศึกษาอบรมในหลักสูตรดังกล่าว ประกอบด้วยภาคทฤษฎี ๑๕  ชั่วโมง, ภาคปฏิบัติ ๓๐ ชั่วโมง และเบ็ดเตล็ด ๔ ชั่วโมง

                    ๔.๕ ระยะเวลาในการศึกษาอบรม ๑ สัปดาห์  ๔๙ ชั่วโมง

          ๕. หลักสูตรวิชาการศาสนาและศีลธรรม

              กองพลที่ ๕ และมณฑลทหารบกที่ ๕  จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ออกคำสั่งให้นายสิบที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ และนักเรียนนายสิบที่สังกัดอยู่ที่สังกัดอยู่ทั้งสองหน่วยเข้ารับการศึกษาวิชาการศาสนาและศีลธรรม ประมาณ ๒๔ ชั่วโมง เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๙๙  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นายทหารประทวนมีศีลธรรมเป็นหลักปกครองตน  มีเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ และให้มีจรรยามารยาทประพฤติตนเหมาะสมกับหน้าที่และได้รายงานให้กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารบกทราบ

             พันเอก ปิ่น  มุทุกันต์   ขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกศึกษาอยู่  ได้พิจารณาเห็นว่ามีประโยชน์แก่นายทหารประทวนเป็นอย่างยิ่ง  ควรดำเนินการทุกหน่วย  จึงเรียนหารือกับหัวหน้ากองอนุศาสนาจารย์ (ตำแหน่งในขณะนั้น) พร้อมทั้งได้แนบคำสั่งของกองพลที่ ๕ และมณฑลทหารบกที่ ๕ เสนอไปยังกองทัพบก 

             กองทัพบก ได้เห็นความสำคัญและกำหนดให้หน่วยในกองทัพบกดำเนินการให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันตามมาตรฐานการศึกษาวิชานี้ และให้กรมยุทธศึกษาทหารบกดำเนินการเปิดหลักสูตรวิชาการศาสนาและศีลธรรม ส่วนกลางขึ้น

             กรมยุทธศึกษาทหารบก  ได้ดำเนินการเปิดการสอนวิชาการศาสนาและศีลธรรมขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๐๐  ตามคำสั่งกองทัพบก ที่ ๑๕๒/๑๓๒๐๙  ลง ๑๑ ก.ค.๒๕๐๐  เรื่อง ให้นายสิบรับการศึกษาวิชาการศาสนาและศีลธรรม  การศึกษาได้รับการพัฒนาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา  และกองทัพบกได้อนุมัติให้มีการปรับปรุงหลักสูตร โดยต่อเนื่องทุก ๕ ปี

          ๖. การอบรมพิธีกรด้านศาสนา ประเพณี และวัฒนธรรมไทย

                    เนื่องจากหน่วยในกองทัพบกระดับกองพันลงมาขาดแคลนอนุศาสนาจารย์ และบางหน่วยมีที่ตั้งอยู่ห่างไกล ทำให้การจัดพิธีทางศาสนาไม่เป็นระเบียบแบบแผนเดียวกัน กองทัพบกจึงให้กรมยุทธศึกษาทหารบก จัดการอบรมนายทหารประทวนหน่วยต่างๆ เพื่อปฏิบัติหน้าที่พิธีกรด้านศาสนา โดยได้ทำการเปิดการอบรมตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ จนถึงปัจจุบัน ตามอนุมัติ ผบ.ทบ. ท้ายหนังสือ กพ.ทบ. ที่ กห ๐๔๐๑/๒๐๖๔๒    ลง ๒๕ ก.ค.๔๙

          ๗. หลักสูตรตามแนวทางรับราชการของโรงเรียนเหล่า สายวิทยาการ

                    การกำหนดให้มีการสอนวิชาการศาสนาและศีลธรรม  ในหลักสูตรต่างๆ ของ รร.เหล่าสายวิทยาการกองทัพบกนั้น  ย่อมจะเป็นผลดีในด้านการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมให้แก่กำลังพลของกองทัพบก ซึ่งเป็นการสอดคล้องกับนโยบายของผู้บัญชาการทหารบก  ที่ต้องการสร้างสรรค์คุณธรรมให้เกิดขึ้นในจิตใจของข้าราชการทุกนายในกองทัพบก ดังนั้น กองทัพบกจึงให้ รร.เหล่าสายวิทยาการ กองทัพบกบรรจุวิชาการศาสนาและศีลธรรมในหลักสูตรต่างๆ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๓๑ เป็นต้นมา  ดังนี้

                    ๗.๑ หลักสูตรนักเรียนนายสิบ

                    ๗.๒ หลักสูตรนายสิบชั้นต้น

                    ๗.๓ หลักสูตรนายสิบอาวุโส

                    ๗.๔ หลักสูตรการปฐมนิเทศนายทหารใหม่

                    ๗.๕ หลักสูตรชั้นนายร้อย

                    ๗.๖ หลักสูตรชั้นนายพัน

          ให้หน่วยที่มีอัตราอนุศาสนาจารย์ ให้ความร่วมมือส่งอนุศาสนาจารย์ไปสนับสนุนการสอนวิชาการศาสนาและศีลธรรม  ตามที่หน่วยเปิดการศึกษาร้องขอ

          ๘. หลักสูตรพิเศษต่าง ๆ

                    อนุศาสนาจารย์ จะต้องให้การสนับสนุนการสอนวิชาศีลธรรม, วิชาทางด้านพระพุทธศาสนา แก่หน่วยงาน, วัด เป็นต้น ที่ขอรับการสนับสนุน และเป็นวิทยากรบรรยายถวายความรู้แก่พระสังฆาธิการ และพระนวกะในพรรษา เป็นต้น เพื่อเป็นการประสานสัมพันธ์ความร่วมมือกับองค์กรทางพระพุทธศาสนา

          ๙. ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์

              เพื่อส่งเสริมบุตรข้าราชการทหารในหน่วย และประชาชนใกล้เคียงหน่วยได้รับความรู้และมีความใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนา หน่วยทหารบางหน่วยได้เปิดให้มีการสอนพิเศษในรูปของศูนย์-ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้น อนุศาสนาจารย์จะเป็นกำลังหลักในการเรียนการสอนตามศูนย์ต่างๆ เหล่านั้น   โดยเฉพาะวิชาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และติดต่อประสานขอความร่วมมือกับสถานศึกษาใกล้เคียงหน่วยช่วยจัดอาจารย์สอนวิชาประกอบ เช่น วิชาภาษาอังกฤษ, คณิตศาสตร์, นาฏศิลป์ เป็นต้น