ความคิดเห็นบางอย่าง
ผมได้ทราบว่ากองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารบก จะสถาปนากิจการวิปัสสนากรรมฐานตามหลักสติปัฏฐานในหลักการทางพระพุทธศาสนา ผมรู้สึกดีใจพอใจเป็นอย่างมาก และขอสรรเสริญความคิดในทางสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์แก่กิจการอนุศาสนาจารย์อย่างแท้จริง กิจการอนุศาสนาจารย์จะเจริญไปไม่ได้ หากจะมัวแต่ปฏิบัติตามประเพณีการปฏิบัติต่าง ๆ ตามที่เคยปฏิบัติมา พวกเราคงจะเคยเห็นและชินกับการปฏิบัติเดิมๆ เช่นการอบรมศีลธรรมแก่กำลังพลของหน่วยเดือนละ ๑-๒ ครั้ง ตามจำนวนหน่วยที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน โดยอบรมไปแล้วก็อย่างนั้นๆ ไม่เห็นมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ภายในหน่วย เคยทำความผิดใดๆ ก็ทำความผิดนั้นๆ ซ้ำๆ ซากๆ ธรรมะที่ใช้สอนอบรมก็เป็นหัวข้อเดิมๆ ซ้ำซากตามแต่อนุศาสนาจารย์นั้นจะนำมาสอน เพราะอนุศาสนาจารย์ประจำหน่วยจะมีเพียง ๑-๒ คนเท่านั้น แต่ละคนก็ต้องประจำหน่วยนั้นคนละหลายปี แม้จะนิมนต์พระสงฆ์หรือเชิญบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิมาอบรมแทนตนบ้างเป็นบางครั้ง ก็สักแต่เพียงรับฟังเป็นพิธีเพียงเท่านั้น ไม่เห็นมีผลอะไรเท่าที่ควร แต่หากแต่จะจัดหาวิธีการใหม่ๆ โดยใช้การอบรมตามแนววิปัสสนากรรมฐาน อย่างที่เราคิดกันอยู่ คิดว่าผลคงจะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่เราอย่าไปเล็งผลเลิศในการบรรลุมรรคผลนิพานใดๆ ทั้งสิ้น เอาแต่เพียงสร้างให้คนเป็นคนดี อยู่ในศีลในธรรมก็เพียงพอ นอกจากนั้นเราอย่าลืมเยาวชนและบุคคลภายนอกด้วย อย่างหวังแต่เพียงเอาเฉพาะกำลังพลที่เป็นทหารเท่านั้น ในระยะปิดเทอมเราต้องสร้างหลักสูตรสั้นๆ สำหรับเยาวชนและครอบครัวทหารและประชาชนทั่วไป เราอย่าลืมนิมนต์พระสงฆ์ที่ชำนาญในทางเจริญวิปัสสนากรรมฐานมาบรรยาย เพื่อดึงดูดบุคคลให้มาฟัง หรือมิฉะนั้นก็อาจจะส่งอนุศาสนาจารย์ที่มีจริตนิสัย ไปอบรมกรรมฐานในสำนักที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นับถือของประชาชนทั่วไปเป็นรุ่นๆ แล้วกลับมาช่วยกันเป็นอาจารย์สอน คงจะได้ผลบ้างไม่มากก็น้อย สมัยนี้ประชาชนสนใจในการเจริญวิปัสสนากรรมฐานมาก ผมเห็นสมัยหนึ่งเมื่อครั้งหลวงพ่อพิมลธรรม (อาจ อาสภมหาเถร) เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ได้จัดตั้งกองการวิปัสสนาขึ้นในวัดมหาธาตุโดยใช้โบสถ์และวิหารเป็นสถานที่อบรม และจัดบริเวณวิหารคตสำหรับพระภิกษุและสามเณร โดยมีท่านเจ้าคุณโชดก ญาณสิทธิ เป็นอาจารย์สอน ปรากฏมีประชาชนไปปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก วันเสาร์-อาทิตย์และวันนักขัตฤกษ์ ภายในวัดมหาธาตุ แทบหาที่เดินไม่ได้ คนแน่นไปหมด แต่ต่อมาคนที่มาปฏิบัติก็น้อยลงกว่าสมัยที่ท่านเจ้าคุณโชดก ญาณสิทธิ เป็นพระอาจารย์สอน อนึ่งกิจการอนุศาสนาจารย์กองทัพบกไม่ใช่จะยุติเพียงแค่นี้ เราจะต้องจัดตั้งเป็น “เหล่า” ของตนเองให้ได้ จะชื่อว่า “เหล่าอนุศาสนาจารย์” หรืออื่นใดก็ได้ เราจะได้บริหารกิจการของเราด้วยตนเอง และทำเป็นนโยบายของเราโดยอิสระ ไม่ต้องไปพึ่งกรมสารบรรณทหารบกเป็นเหล่าอย่างเดี๋ยวนี้ ครั้งหนึ่งผมจำได้ว่าขณะผมมียศเป็น พันโท ผมได้ถูกส่งไปเรียนหลักสูตรนายทหารสารบรรณ/สัสดี ชั้นนายพันร่วมกับนายทหารเหล่าสารบรรณของหน่วยต่าง ๆ รู้สึกว่าจะเป็นรุ่นที่ ๒๑ ผมได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้านายทหารนักเรียนในรุ่นนั้นด้วย ผมได้ปกครองนายทหารนั้นมาได้โดยเรียบร้อย ขณะที่ผมศึกษาผมมองไม่เห็นเนื้อหาในหลักสูตรจะเกื้อกูลต่อกิจการอนุศาสนาจารย์เลย เมื่อผมเรียนจบหลักสูตรกลับมารับราชการต่อที่กองอนุศาสนาจารย์ ผมได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าแผนกวิชาการ ผมจึงได้คิดจัดตั้งหลักสูตรนายทหารอนุศาสนาจารย์ขึ้น โดยจัดเป็น ๒ หลักสูตร คือหลักสูตรนายทหารอนุศาสนาจารย์ชั้นต้น (เทียบเท่าชั้นนายร้อย) และหลักสูตรอนุศาสนาจารย์ชั้นสูง(เทียบเท่าชั้นนายพัน) ทั้ง ๒ หลักสูตร ผมคิด เขียน และพิมพ์ดีดด้วยตนเองทั้งสิ้น ได้ขออนุมัติจัดตั้งหลักสูตรจากกองทัพบกเป็นหลักสูตรหลักตามแนวทางรับราชการ ได้รับการอนุมัติหลักสูตรเรียบร้อย จึงได้ใช้เป็นหลักสูตรในสายวิทยาการอนุศาสนาจารย์จวบปัจจุบันนี้ ทั้งนี้ได้อาศัยใบบุญจากกรมสารบรรณทหารบกที่กรุณาให้เข้าศึกษาในโรงเรียนสารบรรณทหารบกเพียงปีละ ๑-๒ คนเท่านั้น ซึ่งกว่าที่นายทหารอนุศาสนาจารย์จะได้เรียนกันครบทุกนายจะต้องใช้เวลาเกือบ ๑๐๐ ปี เราจะเลื่อนยศอนุศาสนาจารย์ในแต่ละครั้งจะต้องอิงการศึกษาชั้นนายร้อย และชั้นนายพันด้วย เช่นนายร้อยจะติดยศร้อยเอก-พันตรีได้ ต้องผ่านการศึกษาหลักสูตรชั้นนายร้อย จะติดยศพันโทได้ ต้องผ่านการศึกษาหลักสูตรชั้นนายพัน เมื่อมีสองหลักสูตรแล้วเช่นนี้ เราก็สามารถขออนุมัติจัดตั้งโรงเรียนได้ เมื่อมีโรงเรียนแล้วเราก็สามารถจัดตั้งเป็น “เหล่า” ได้กิจการอนุศาสนาจารย์ก็ได้เจริญเติบโตยิ่งๆขึ้นไปได้ สมกับพระปณิธานของล้นเกล้ารัชการที่ ๖ สืบไป