อาจริยพจน์ พันเอก (พิเศษ) วิสิทธิ์ วิไลวงศ์

อาจริยพจน์ พันเอก (พิเศษ) วิสิทธิ์  วิไลวงศ์[1]


        พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานกิจการอนุศาสนาจารย์ไทย จวบปัจจุบันครบ ๑๐๐ ปี โดยทรงเลือก รองอำมาตย์ตรี อยู่ อุดมศิลป์ (อำมาตย์ตรี พระธรรมนิเทศทวยหาญ) ซึ่งรับราชการอยู่ในกรมราชบัณฑิต กระทรวงธรรมการ ให้เป็นอนุศาสนาจารย์ตามกองทหารออกไปยังประเทศยุโรป โดยมีพระประสงค์ให้เป็นผู้สอนทหาร ช่วยรับธุระของพระองค์ในการสั่งการสอนทหารช่วยปลดเปลื้องบรรเทาความทุกข์ร้อน จะได้คอยอนุศาสน์พร่ำสอนและปลอบโยนปลดเปลื้องในยามทุกข์

        ฉะนั้นการบรรเทาความทุกข์ร้อน และการพร่ำสอนปลอบโยนปลดเปลื้องความทุกข์ของกำลังพล และครอบครัวพร้อมทั้งประชาชนทั่วไปจึงเป็นหน้าที่หลักของอนุศาสนาจารย์

        ธุระหน้าที่ในพระพุทธศาสนามี ๒ อย่าง คือ คันถธุระ กิจหน้าที่ด้านการศึกษาเล่าเรียน และวิปัสสนาธุระ กิจหน้าที่ด้านการเจริญวิปัสสนา ซึ่งศตวรรษแรกอนุศาสนาจารย์ ได้ทำหน้าที่โดยการอบรมศีลธรรมวัฒนธรรมหาร คือได้ทำหน้าที่โดยการให้การศึกษาอบรม การบรรยายธรรมเป็นส่วนใหญ่ กล่าวโดยรวมคือได้ทำหน้าที่ด้านปริยัติ

        เมื่อกาลมาถึงศตวรรษที่ ๒ ซึ่งเป็นยุคที่ชาวโลกได้หันมาสนใจพระพุทธศาสนา ด้วยการบำเพ็ญจิตภาวนาหรือเจริญกรรมฐาน อนุศาสนาจารย์จึงควรให้ความสำคัญกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ด้วยการนำตนเข้าสู่วิถีของการปฏิบัติวิปัสสนาตามหลัก    สติปัฏฐานสี่อันเป็นวิชาเอก เป็นทางสายเอก (มิใช่ทางสายโท หรือทางในตรอก        ซอก ซอย) ที่จะทำไปสู่ความพ้นทุกข์ หรือมีทุกข์น้อยลง เพื่อให้ตนเองได้รับรสแห่งพระธรรม ได้เห็นผลจากการปฏิบัติธรรมที่เกิดขึ้นกับตนเอง จนเกิดศรัทธาอย่างมั่นคง ด้วยผลแห่งการปฏิบัติธรรม และเกิดทักษะที่จะนำกำลังพลเข้าสู่วิถีแห่งการปฏิบัติธรรม เนื่องจากในยุคนี้  คนเรามีเวลาให้กับพระพุทธศาสนาน้อย เมื่อเขามีเวลาให้น้อยก็เปรียบเสมือนพระสงฆ์ที่มาบวชในตอนแก่ชราแล้ว ซึ่งพระพุทธองค์จะทรงให้ไปทำธุระที่ ๒ คือ วิปัสสนาธุระ ฉะนั้นการนำธรรมะมาพัฒนาคนที่มีเวลาน้อย จึงเป็นธรรมคือการนำปฏิบัติธรรม

        บทบาทหน้าที่ที่จะนำองค์กรของอนุศาสนาจารย์ให้มีชื่อเสียงในศตวรรษที่ ๒ นี้ จึงเป็นบทบาทหน้าที่ในการสอนการปฏิบัติธรรม จึงจะทำให้สายวิทยาการอนุศาสนาจารย์มีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

[1] ผอ.กอศจ.ยศ.ทบ. ลำดับที่ ๒๖ ( พ.ศ. ๒๕๕๙ – ปัจจุบัน )