การพัฒนาสมรรถนะอนุศาสนาจารย์ทหารบกไทยเชิงพุทธบูรณาการ
The Competency Development of The Royal Thai Army’s Chaplains Based on Buddhist Integration
พันเอก อัครินทร์ กำใจบุญ[1]
……………………..
บทคัดย่อ
บทความนี้เป็นบทความจากงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาสมรรถนะอนุศาสนาจารย์ทหารบกไทยเชิงพุทธบูรณาการ” ผลการวิจัยพบว่า ทฤษฎีที่เกี่ยวกับการพัฒนาสมรรถนะ คือ ทฤษฎีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทฤษฎีการพัฒนาสมรรถนะ และทฤษฎีวงจรการบริหารคุณภาพ PDCA ซึ่งสมรรถนะที่ต้องการพัฒนามี ๓ อย่าง คือ สมรรถนะทางกาย สมรรถนะทางจิตใจ และสมรรถนะทางปัญญา โดยมุ่งหวังผลคือการใช้สมรรถนะที่ได้รับการพัฒนาแล้วเหล่านี้เพื่อขับเคลื่อนการปฏิบัติภารกิจซึ่งเป็นบทบาทและหน้าที่ของอนุศาสนาจารย์ทหารบกไทยที่สำคัญ๔ ด้านคือ๑) การอบรมการสอนศีลธรรม ๒)การปฏิบัติธรรม ๓) การปฏิบัติศาสนพิธี และ ๔) การเยี่ยมไข้การพัฒนาสมรรถนะสามารถนำหลักพุทธธรรมมาบูรณาการคือ ๑) อิทธิบาท ๔,๒)พรหมวิหาร ๔,๓) ภาวนา ๔,๔)กัลยาณมิตรธรรม ๗, ๕) ธรรมเทสกธรรม ๕, ๖) เทศนาวิธี ๔, และ ๗) อนุศาสนีปาฏิหาริย์
การนำหลักธรรมมาผสมผสานเข้าเป็นวิถีการดำเนินชีวิต แนวทางการพัฒนาสมรรถนะอนุศาสนาจารย์ทหารบกไทยเชิงพุทธบูรณาการ เรียกว่า PACKED MODEL ประกอบด้วย P = Planning การวางแผนเตรียมการเพื่อการปฏิบัติ A = Army’s Goal เป้าหมายของกองทัพบกหรือผลที่ต้องการบรรลุถึง C = Cooperation ความร่วมมือกันทั้งทางด้านกายภาพจิตใจและสติปัญญา มีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิด K = Kick-off คือการเริ่มต้นลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง E = Elation อนุศาสนาจารย์มีความภาคภูมิใจในบทบาทและหน้าที่ของตนเอง D = Dharma คือ หลักธรรมะ อนุศาสนาจารย์นำหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนาดังกล่าวแล้วมาประยุกต์ใช้ เพื่อนำไปสู่ความมีคุณภาพแห่งสมรรถนะทางกายทางจิตใจและทางปัญญา
คำสำคัญ: การพัฒนาสมรรถนะ อนุศาสนาจารย์ทหารบกไทย พุทธบูรณาการ
Abstract
This article from the dissertation entitled ‘The Competency Development of The Royal Thai Army’s Chaplains Based on Buddhist Integration’. This is a qualitative research done by studying documentaries, in-depth interview and focus group discussion. In the research, it was clearly found that the theories concerning with the competencies refer to the theories of human resource development, theory of competency, and theory of PDCA wherein the desirable competencies are primarily of three aspects: physical, mental and intellectual competency; each theory is purposely assigned to utilize the developed competency to effectively drive the Royal Thai Army’s chaplains’ roles and duty into the following four categories: 1) teaching and training of morality, 2) practicing Dhamma, 3) performing religious rites, and 4) attending of sick person. In these matters, the Buddhist integrated development of competencies are actualized through: 1) four paths of accomplishment, 2) four sublime states of mind, 3) four kinds of development, 4) seven qualities of a good friend, 5) five qualities of a preacher, 6) four Buddhist styles of teaching, and 7) marvel on teaching.
In the application of the integrated Buddhist teachings into ways of life, it showed that the guidelines to develop the Royal Thai Army’s chaplains’ competencies are called PACKED MODEL comprising of P meaning Planning to perform, A meaning Army’s Goal referring to the Royal Thai Army’ s goal or expected result, C meaning Cooperation where physical, mental and intellectual cooperation are closely given, K meaning Kicking-off referring to making an effort in doing what is assigned, E meaning Elation whereby all chaplains are proud of their roles an duty, D meaning Dhamma by which all chaplains put the Buddhist teachings into their practice in order to get the physical, mental and intellectual competencies respectively.
Keywords:Competency Development,The Royal Thai Army’s Chaplains, Buddhist Integration.
๑. บทนำ
การทหารมีไว้ทั้งเพื่อการสงครามและมิใช่สงครามคือทั้งการรบและมิใช่การรบ และส่วนอันสำคัญที่มิใช่การรบก็คือการพัฒนาประเทศการปฏิบัติการทางทหารด้านการรบ ปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จแห่งชัยชนะซึ่งถือว่าเป็นพลังอำนาจทางการทหาร ประกอบด้วย ๒ ส่วน คือ พลังอำนาจกำลังรบที่มีตัวตน เช่น กำลังพล ยานพาหนะ และอาวุธยุทโธปกรณ์ และพลังอำนาจกำลังรบที่ไม่มีตัวตน (Intangible) เช่น ความกล้าหาญ ความเสียสละ ความอดทน เห็นได้ว่าคนเป็นได้ทั้งกำลังรบที่มีตัวตนและไม่มีตัวตน[1]ขึ้นชื่อว่าสงครามแม้จะพยายามลดโทษให้น้อยลงเท่าไหร่แล้วก็ตาม ก็ยังเป็นที่สยดสยองแก่มวลมนุษย์ชาติอย่างเหลือที่จะพรรณนาอยู่นั่นเอง ซึ่งสิ่งที่ดีที่สุด คือ สันติภาพ ความสงบเป็นสิ่งอันประเสริฐ หนทางที่จะบรรเทาความร้ายกาจของสงครามที่เชื่อกันว่าได้ผลมากก็คือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development : HRD) ด้วยการให้การศึกษา เพราะการศึกษาจะกระทำให้บุคคลเป็นอารยะชน และในที่สุดก็จะมีหิริและโอตตัปปะ[2]
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คือ การทำให้มนุษย์เจริญขึ้นมีสมรรถนะมากขึ้นจนกลายเป็นทรัพยากรที่มีค่าในสังคมและในประเทศ กระบวนการที่ส่งเสริมให้บุคคลเพิ่มพูนความรู้และทักษะมีพฤติกรรมการทำงานที่เหมาะสมกับงานที่รับผิดชอบ ซึ่งเป็นการเพิ่มสมรรถนะของบุคลากรให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพการพัฒนาสมรรถนะของมนุษย์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญในกระบวนการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ เพราะมนุษย์เป็นทรัพยากรที่มีค่ายิ่งกว่าทรัพยากรธรรมชาติใดๆ รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มากยิ่งขึ้นเพราะได้เล็งเห็นแล้วว่า แม้จะมีทรัพยากรธรรมชาติจำกัด แต่ถ้าพลเมืองในประเทศมีคุณภาพมีสมรรถนะดีมีการศึกษามีความสำนึกดีในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ประเทศชาติย่อมมีความเจริญก้าวหน้า ในทำนองเดียวกัน ถ้าประเทศใดประกอบด้วยพลเมืองที่ไร้คุณภาพ แม้จะมีทรัพยากรธรรมชาติอย่างอุดมสมบูรณ์เพียงใด ก็ไม่สามารถรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่และใช้ทรัพยากรนั้นให้คุ้มค่าได้
การจะพัฒนาบุคลากรขององค์กร จำเป็นจะต้องมีการประเมินความสามารถของบุคลากรในองค์กรให้รู้ว่า มีจุดแข็งอะไรที่ต้องส่งเสริมสนับสนุน และมีจุดอ่อนอะไรที่ต้องปรับปรุงแก้ไข การพัฒนาที่สำคัญ คือ ต้องให้รู้เท่าทันความเป็นไปของความเปลี่ยนแปลงและตอบรับความต้องการของโลกในอนาคต ทรัพยากรมนุษย์เป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งขององค์กร เพราะจะเป็นผู้นำเอาทรัพยากรด้านอื่นๆ ขององค์กรในการที่มีอยู่อย่างจำกัดมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่องค์กรให้มากที่สุด ทั้งยังเป็นผู้จัดการหรือดำเนินงานให้แก่องค์กรในการที่จะแสวงหาทรัพยากรอื่นๆ ที่จำเป็นให้แก่องค์กรด้วย หากบุคลากรเป็นผู้ขาดประสิทธิภาพ ทรัพยากรต่างๆ เหล่านั้น ก็จะถูกนำไปใช้สอยอย่างไร้ประสิทธิภาพ ดังนั้น การพัฒนาบุคลากรเป็นสิ่งจำเป็นต่อประสิทธิภาพงานเป็นอย่างมาก จำเป็นต้องมีการอบรมแนะนำแก่ผู้เข้าทำงานใหม่ หรือแม้ผู้ที่ได้เข้าทำงานมานานแล้วก็ควรมีการอบรมเพื่อพัฒนาสมรรถนะให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา[3]
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเลื่อมใสและใฝ่พระราชศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในทางปริยัติและทางปฏิบัติ ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเกี่ยวกับธรรมะไว้เป็นจำนวนมาก กับได้ทรงริเริ่มให้มี “อนุศาสนาจารย์” เกิดขึ้นเป็นครั้งในกองทัพบก เพื่อเป็นที่ปรึกษาและเป็นผู้ปลุกปลอมใจแก่บรรดาทหารหาญ[4]ดังพระราชปรารภเมื่อคราวที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงกลาโหมจัดส่งกองทหารอาสาไปช่วยราชสัมพันธมิตรในงานราชการสงคราม โดยมีกระแสพระราชปรารภ ใจความว่า “ทหารที่จากบ้านเมืองไปคราวนี้ต้องไปอยู่ในถิ่นไกล ไม่ได้พบเห็นพระเหมือนอยู่ในบ้านเมืองของตน จิตใจจะเหินห่างจากธรรมะ ถึงยามคะนองก็จะฮึกเหิมเกินไป เป็นเหตุให้เสื่อมเสีย ไม่มีใครจะคอยให้โอวาทตักเตือน ถึงคราวทุกข์ร้อน ก็อาดูรระส่ำระสาย ไม่มีใครจะช่วยปลดเปลื้องบรรเทาให้ ดูเป็นการว้าเหว่น่าอนาถ ถ้ามีอนุศาสนาจารย์ออกไป จะได้คอยอนุศาสน์พร่ำสอนและปลอบโยนปลดเปลื้องในยามทุกข์”[5] คำว่า “อนุศาสนาจารย์” จึงเป็นพระราชมติที่ทรงเริ่มบัญญัติขึ้นในราชการคราวนั้นเป็นครั้งแรก
การให้การศึกษาด้านการพระศาสนาในหน่วยงานทหารเพื่อให้บรรลุผลตามที่ต้องการ ผู้ที่ถ่ายทอดต้องใช้ความรู้ความสามรถและความพยายามเป็นอย่างมาก และถึงแม้จะมีอุปสรรคขัดขวาง ก็ควรต้องใช้ความพยายามขจัดสิ้นไปให้จงได้ จึงจะได้ผลสำเร็จ นั่นคือ ทหารของชาติยึดมั่นอยู่ในความประพฤติดี มีศีลธรรมจรรยางดงาม คู่ควรแก่ศักดิ์ศรีแก่การเป็นรั้วของชาติ และรักษาความมั่นคงของชาติให้ยั่งยืนตลอดไป โดยสภาพบรรยากาศของกองทัพนั้น สายการบังคับบัญชา ทำให้คนที่มีอำนาจโดยเฉพาะผู้ที่ขึ้นสู่อำนาจโดยวิถีที่ไม่ถูกต้องตามระบบ รู้สึกโดดเดี่ยว ว้าเหว่ ไม่ปลอดภัย เกิดความกลัว ไม่มั่นใจ หวาดระแวงว่าอำนาจจะลดลง จึงพยายามที่หาเวทย์มนต์คาถา การสะเดาะเคราะห์ การสืบชะตามาช่วย ปรากฏการณ์เช่นนี้บ่งบอกถึงความไม่มั่นใจในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา[6]
บทบาทหรือภารกิจของอนุศาสนาจารย์ในปัจจุบันตามที่ได้รับมอบหมายจากกองทัพบกมีหน้าที่ความปรากฏตามหมายเลขชำนาญการทางทหาร (ชกท.) ๕๓๑๐ ความว่า อนุศาสนาจารย์หน้าที่ทั่วไป ปฏิบัติการหรืออำนวยการเกี่ยวกับการศาสนาและให้คำแนะนำแก่ผู้บังคับบัญชาในปัญหาทั้งปวงเกี่ยวศาสนาและขวัญ หน้าที่เฉพาะปฏิบัติการเกี่ยวการบริการทางศาสนาและวางโครงการให้ทหารมีโอกาสได้ปฏิบัติศาสนกิจ เยี่ยมเยียนผู้เจ็บป่วยและนักโทษทหาร ช่วยเหลือและประสานงานในการดำเนินการให้ทหารมีขวัญดี มีส่วนในการอบรมผู้คัดเลือกเข้ามาเป็นทหารและทำการบรรยายอบรมทหารเกี่ยวกับศาสนา ติดต่อประสานงานกับองค์การสงเคราะห์ต่างๆ เช่น สภากาชาด หรือวัดในท้องถิ่นรับและแจกจ่ายเอกสารเกี่ยวกับศาสนา และรายงานการปฏิบัติของตน[7]
การปฏิบัติในภารกิจของอนุศาสนาจารย์ตามที่ได้รับมอบหมายจากกองทัพบกนั้น สามารถสรุปได้เป็น ๔ ด้าน คือ๑. การอบรมการสอนศีลธรรม ๒. การปฏิบัติธรรมเจริญจิตภาวนา ๓. การปฏิบัติศาสนพิธี และ ๔. การเยี่ยมไข้ ซึ่งบทบาทของอนุศาสนาจารย์นั้น เป็นบทบาทของผู้ชี้นำทางด้านความคิดและการปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างเป็นแบบอย่างที่ดีแก่กำลังพลของหน่วย การปฏิบัติภารกิจทั้ง ๔ ด้านของอนุศาสนาจารย์ตามที่กล่าวมานั้น พบว่า อนุศาสนาจารย์ยังมิได้ใช้สมรรถนะของตนเองในการปฏิบัติภารกิจทั้ง ๔ ด้านอย่างเต็มที่ จึงทำให้ผู้บังคับบัญชาส่วนใหญ่ในหน่วยทหารมิได้มองอนุศาสนาจารย์ในฐานะเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ซึ่งมิได้ตรงกับเจตนารมณ์หลักของการก่อเกิดกำเนิดอนุศาสนาจารย์ตามที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปรารภให้มีอนุศาสนาจารย์ และอนุศาสนาจารย์ยังขาดทักษะในการสอน การอบรม การนำกำลังพลเข้าปฏิบัติธรรมเนื่องจากขาดองค์ความรู้และความเข้าใจ รวมถึงขาดหลักวิธีคิดและอุดมการณ์ในความเป็นอนุศาสนาจารย์[8]
ดังนั้น อนุศาสนาจารย์ซึ่งเป็นบุคลากรของกองทัพ มีหน้าที่อันสำคัญ คือ การปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมในหน่วยงานทหารการนำพากำลังพลปฏิบัติธรรมเจริญจิตภาวนา การปฏิบัติศาสนพิธีและการเยี่ยมบำรุงขวัญกำลังพลผู้เจ็บป่วย จึงควรมีการพัฒนาสมรรถนะเพื่อความสำเร็จในภารกิจและหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย ถ้าขาดสมรรถนะความรู้ความสามารถก็จะเป็นปัญหาต่อการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม การปฏิบัติธรรมเจริญจิตภาวนา การปฏิบัติศาสนพิธี และขวัญกำลังใจของกำลังพลในกองทัพอันจะมีผลกระทบต่อความเจริญก้าวหน้าด้านคุณธรรมจริยธรรมของกำลังพลในกองทัพได้ผู้วิจัยเห็นว่า การพัฒนาสมรรถนะอนุศาสนาจารย์ทหารบกไทย โดยนำหลักพุทธธรรมเข้ามาบูรณาการมีความสำคัญยิ่ง ซึ่งจะนำไปสู่ความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการปฏิบัติภารกิจอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษาเรื่อง “การพัฒนาสมรรถนะอนุศาสนาจารย์ทหารบกไทยเชิงพุทธบูรณาการ” องค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้ ผู้บริหารสายวิทยาการอนุศาสนาจารย์ทหารบกไทยและอนุศาสนาจารย์ทหารบกไทยสามารถนำไปเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาเพื่อการปฏิบัติงานให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาสมรรถนะอนุศาสนาจารย์ทหารบกไทย ให้มีความรู้ความชำนาญและถึงความเจริญรุ่งเรืองในสายวิทยาการอนุศาสนาจารย์ทหารบกไทยต่อไป
๒. วัตถุประสงค์ของการวิจัย
๒.๑ เพื่อศึกษาแนวคิดและทฤษฎีการพัฒนาสมรรถนะตามศาสตร์สมัยใหม่ และหลักพุทธธรรมของอนุศาสนาจารย์ทหารบกไทย
๒.๒ เพื่อศึกษาบทบาท ภารกิจ สภาพปัญหา และสมรรถนะของอนุศาสนาจารย์ทหารบกไทย
๒.๓ เพื่อเสนอแนวทางการพัฒนาสมรรถนะอนุศาสนาจารย์ทหารบกไทยเชิงพุทธบูรณาการ
๓. วิธีดำเนินการวิจัย
วิธีดำเนินการวิจัย เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยมีวิธีการเก็บข้อมูลเชิงเอกสาร (Doccumentary Research)การสัมภาษณ์เชิงลึก(an in-depth interview) และการสนทนากลุ่มย่อย (Focus Group Discussion) แบ่งเป็น ๔ ขั้นตอนใหญ่ ดังนี้
ขั้นตอนที่ ๑ ศึกษาค้นคว้าจากเอกสาร (Document Study) โดยศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับแนวคิด ทฤษฎี หลักการพัฒนาสมรรถนะของบุคคลตามศาสตร์สมัยใหม่ รวบรวมข้อมูลจากหนังสือ ตำรา บทความ งานวิจัย ที่เกี่ยวกับการพัฒนาสมรรถนะของบุคคล ศึกษาหลักพุทธธรรมที่สอดคล้องเหมาะสมกับการพัฒนาสมรรถนะ การศึกษาบทบาท ภารกิจ สภาพปัญหา จากข้อมูลปฐมภูมิและทุติยภูมิ เช่น พระไตรปิฎก อรรถกถา และเอกสารหนังสือที่เกี่ยวข้อง และสมรรถนะของอนุศาสนาจารย์ทหารบกไทยที่พึงประสงค์ รวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึก
ขั้นตอนที่ ๒ เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้สร้างแบบสัมภาษณ์ เพื่อนำไปสัมภาษณ์ประชากรกลุ่มตัวอย่าง โดยปรึกษากับอาจารย์ที่ปรึกษา และให้ผู้เชี่ยวชาญดำเนินการตรวจสอบแก้ไข ปรับปรุงเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาวิจัย เพื่อให้มีความครบถ้วนถูกต้องสมบูรณ์
ขั้นตอนที่ ๓ ลงพื้นที่เพื่อทำการสัมภาษณ์เชิงลึกประชากรกลุ่มตัวอย่าง โดยประชากรที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นพระสงฆ์ที่มีความรู้และเข้าใจบทบาทของอนุศาสนาจารย์ โดยมีลักษณะของการได้รู้จักและการปฏิบัติภารกิจหรือการร่วมงานกันบ่อยๆ พร้อมด้วยผู้บังคับบัญชาที่มีความเกี่ยวข้องกับอนุศาสนาจารย์โดยสายการบังคับบัญชา ทั้งในอดีตและปัจจุบัน และอนุศาสนาจารย์ชั้นผู้ใหญ่ในฐานะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งที่เป็นอดีตและปัจจุบัน
ขั้นตอนที่ ๔ เก็บรวบรวมข้อมูลในการสัมภาษณ์จากการลงพื้นที่ด้วยตนเอง โดยมีการจดบันทึกและทำการบันทึกเสียง พร้อมทั้งการบันทึกภาพการสัมภาษณ์ จัดการประชุมกลุ่มย่อย แล้วนำข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ และข้อมูลจากการประชุมกลุ่มย่อย มาสู่การวิเคราะห์ การสังเคราะห์เพื่อให้ได้คำตอบตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ แล้วนำมาเป็นกรอบในการอธิบายและแสดงทัศนะของผู้วิจัย เพื่อนำเสนอแนวทางการพัฒนาสมรรถนะอนุศาสนาจารย์ทหารบกไทยเชิงพุทธบูรณาการ
๔. ผลการวิจัย
พระพุทธศาสนามีลักษณะสำคัญอย่างหนึ่ง คือยืนยันในความมีสมรรถนะสูงสุดของมนุษย์[9]ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจและปัญญา ซึ่งเป็นความสามารถที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ เกิดมีขึ้นแต่กำเนิดหรือการฝึกฝนอบรมพัฒนาสมรรถนะในตัวมนุษย์แบ่งออกเป็น ๓ ด้าน คือ สมรรถนะทางกาย สมรรถนะทางจิตใจ และสมรรถนะทางปัญญาซึ่งการพัฒนาสมรรถนะหรือขีดความสามารถจะเริ่มต้นที่หลักการของการศึกษาเพราะการพัฒนาหรือภาวนานั้นเป็นสิ่งเดียวกับการศึกษาหรือสิกขา ซึ่งสิ่งที่ต้องศึกษาหรือพัฒนาแยกออกไปเป็น ๓ ด้านใหญ่ๆ โดยสอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่มี ๓ ด้าน คือพฤติกรรมทางกายวาจา จิตใจ และปัญญา[10]โดยพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงหลักการศึกษาไว้๓ประการ เรียกว่า ไตรสิกขา คืออธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา
มนุษย์อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ในแต่ละกลุ่มจึงต้องมีผู้นำ รวมทั้งมีการควบคุมกำกับดูแลหรือจัดระเบียบกันภายในกลุ่ม ซึ่งอาจเรียกว่า “การบริหาร” หรือ “การพัฒนา” เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ด้วยเหตุผลนี้มนุษย์จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงการพัฒนาได้ และอาจกล่าวได้ว่า “ที่ใดมีกลุ่ม ที่นั้นย่อมมีการพัฒนา”
คำว่า “การพัฒนา”ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า Development มีความหมายว่า การเปลี่ยนแปลงที่ละเล็กละน้อยอย่างมีกระบวนการ โดยมีจุดมุ่งหมายโดยผ่านลำดับขั้นตอนต่างๆ ไปสู่ระดับที่สามารถขยายตัวขึ้นเติบโตขึ้นมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นและเหมาะสมกว่าเดิมหรืออาจก้าวหน้าไปถึงขั้นที่อุดมสมบูรณ์เป็นที่น่าพอใจ[11] ส่วนความหมายจากรูปศัพท์ในภาษาไทยนั้นหมายถึง การทำความเจริญการเปลี่ยนแปลงในทางที่เจริญขึ้นการคลี่คลายไปในทางที่ดีการพัฒนาซึ่งเข้าใจกันโดยทั่วไปหมายถึงการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากสภาพหนึ่งไปสู่อีกสภาพหนึ่งที่ดีกว่าเดิมอย่างเป็นระบบหรือการทำให้ดีขึ้นกว่าสภาพเดิมที่เป็นอยู่อย่างเป็นระบบ[12]
คำว่า “สมรรถนะ”(Competency)นี้ ได้มีนักวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้คำแปลและคำจำกัดความไว้แตกต่างกันมากมายตามความเข้าใจและความเชื่อของแต่ละบุคคล หรือแต่ละสถาบัน บางท่านอาจแปลว่า “ศักยภาพ” หรือ “ความสามารถ” หรือ “ขีดความสามารถ” หรือ “ความสามารถเชิงสมรรถนะ” หรือ “สมัตถิยะ” หรือ “สมรรถนะ”หรือ บางท่านบอกว่าไม่จำเป็นต้องแปล เรียกทับศัพท์ไปเลยคือ “คอมพี่เทนซี่”[13]
การพัฒนาสมรรถนะ หมายถึง การนำเอาคุณลักษณะพื้นฐาน (Underlying Characteristic)ของบุคคล ได้แก่ แรงจูงใจ (Motive) อุปนิสัย (Trait) ทักษะ (Skill) จินตภาพส่วนตน (Self-Image)บทบาททางสังคม (Social Role) องค์ความรู้ (Body of Knowledge) ซึ่งเป็นความสามารถที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในตัวบุคคล นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างมีกระบวนการ นอกจากนี้ เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าสมรรถนะ (Competency) คือความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะที่จำเป็นของบุคคลในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ มีผลงานได้ตามเกณฑ์หรือมาตรฐานที่กำหนดหรือสูงกว่าซึ่งต้องมีการประเมินเพื่อนำใช้ต่อกับงานทรัพยากรบุคคลด้านอื่นๆ
แนวทางหลักในการพัฒนาสมรรถนะ ประกอบด้วย ๓ แนวทาง คือ๑) Trainingการฝึกอบรมหมายถึง การเรียนรู้ซึ่งเน้นงานปัจจุบัน[14] อย่างเป็นระบบเพื่อสร้างหรือเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ ความสามารถ และพฤติกรรมในการทำงาน[15] ของบุคคล สำหรับการปฏิบัติงานในเรื่องหนึ่งเรื่องใดในทางที่ถูกที่ควรของหน่วยงาน เพื่อช่วยให้การปฏิบัติงานและภาระ หน้าที่ต่าง ๆในปัจจุบันและอนาคตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น การฝึกอบรมจึงเป็นโครงการที่ถูกจัดขึ้นมาเพื่อช่วยให้บุคคลมีคุณสมบัติในการทำงานสูงขึ้นการฝึกอบรมเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้มีความรู้ ความเข้าใจ ความสามารถ และเกิดทักษะ จากประสบการณ์ตลอดจนเกิดเจตคติที่ดีและถูกต้องต่อกิจกรรมต่างๆ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของงาน๒) Education การศึกษา คือ การเรียนรู้ซึ่งเน้นงานในอนาคตเป็นการเตรียมบุคลากรสำหรับการเลื่อนตำแหน่งการโยกย้ายการพัฒนาสายชีพโดยการศึกษาเป็นระบบที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาขีดความสามารถทางปัญญาแนวคิดความเข้าใจสังคมและผลการปฏิบัติงานผ่านกระบวนการเรียนรู้[16]เป็นการดำเนินการด้วยกระบวนการทุกอย่าง ที่ทำให้บุคคลพัฒนาความสามารถด้านต่างๆ รวมทั้งทัศนคติและพฤติกรรมอื่นๆ ตามค่านิยมและคุณธรรม เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคมโดยการถ่ายทอดความรู้ การสืบสานทางวัฒนธรรมการสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพ แวดล้อมสังคม การเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องนอกจากนั้น การศึกษาอาจหมายถึง การส่งเสริมให้มีการดูงานหรือศึกษาต่อซึ่งเป็นกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มคุณวุฒิของบุคคลให้มีความรู้ที่ดีขึ้นหรือได้รับความรู้ใหม่ๆ[17] และยังหมายรวมถึงศิลปะในการถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ในอดีตซึ่งรวบรวมไว้อย่างเป็นระบบสำหรับคนรุ่นใหม่๓) Development การพัฒนาเป็นการมองระยะยาวในการเตรียมบุคลากรให้พร้อมต่อความเปลี่ยนแปลงและการเจริญเติมโตขององค์การในอนาคต เป็นกระบวนการของการเกี่ยวข้องเชื่อมโยงจากวุฒิภาวะขั้นหนึ่งไปสู่วุฒิภาวะอีกขั้นหนึ่ง เช่น จากผลการปฏิบัติงานระดับทั่วไปสู่ผลการปฏิบัติงานระดับดีและพัฒนาสู่ระดับดีเยี่ยม มุ่งขยายโลกทัศน์ของผู้ปฏิบัติงาน เป็นการดำเนินการด้านวิธีการต่างๆ เพื่อเพิ่มและขยายโลกทัศน์สำหรับการปฏิบัติงานและการปฏิบัติตน
บทบาทและภารกิจของอนุศาสนาจารย์ทหารบกไทยประกอบด้วยภารกิจหลัก ๔ ด้าน คือ ๑) การอบรมและสอนศีลธรรม เป็นการดำเนินการอบรมและการสอนศีลธรรมวัฒนธรรมแก่ทหาร และบุคคลในสังกัดกองทัพบกให้มีความประพฤติและอัธยาศัยดีงามดำเนินการสอนวิชาการศาสนาและศีลธรรมในโรงเรียนเหล่าและสายวิทยาการต่างๆ ของโรงเรียนหน่วยงานทหาร๒) การปฏิบัติธรรม/การเจริญจิตภาวนา ดำเนินการนำกำลังพลปฏิบัติธรรมในโอกาสต่างๆสร้างสรรค์อุดมธรรมของพระพุทธศาสนาแก่กำลังพลทั้งในเวลาราชการและนอกเวลาราชการทั้งในที่ตั้งปกติและในสนามรบ๓) การปฏิบัติศาสนพิธีดำเนินการในด้านศาสนพิธีและให้การบริการทางศาสนาปฏิบัติการเกี่ยวกับพิธีการรวมถึงการวางโครงการให้ทหารมีโอกาสได้ปฏิบัติศาสนกิจ๔) การเยี่ยมไข้ ดำเนินการในเรื่องบำรุงรักษาขวัญและกำลังใจของทหารให้ทหารมีขวัญและกำลังใจเข้มแข็งพบปะเยี่ยมเยียนกำลังพลผู้เจ็บป่วยผู้ถูกคุมขังและผู้มีปัญหาเพื่อปลุกปลอบขวัญและให้กำลังใจทั้งในยามปกติและยามสงคราม
การที่อนุศาสนาจารย์จะปฏิบัติภารกิจทั้ง ๔ ด้าน ให้ได้ผลดีเป็นที่ยอมรับ รวมถึงเป็นที่เชื่อถือเชื่อมือเป็นที่ไว้วางใจของผู้บังคับบัญชาตลอดถึงกำลังพลและครอบครัวพร้อมทั้งประชาชนโดยทั่วไปอนุศาสนาจารย์ทหารบกไทยควรพัฒนาสมรรถนะคือขีดความสามารถทั้ง ๓ อย่าง คือสมรรถนะทางกาย สมรรถนะทางจิตใจ และสมรรถนะทางปัญญา ดังนี้
๑) สมรรถนะทางกาย เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้และหายไปได้การที่ร่างกายอ่อนแอสุขภาพไม่สมบูรณ์และร่างกายไม่มีความเข้มแข็งทนทานก็เพราะขาดสมรรถนะทางกาย การที่เราจะรักษาร่างกายให้มีสมรรถนะมีสุขภาพแข็งแรงคงสภาพอยู่เสมอนั้นอนุศาสนาจารย์ทหารบกไทยจำเป็นต้องมีการออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อให้มีสมรรถนะทางกายที่คงสภาพและเป็นการสร้างเสริมสมรรถนะทางกายให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปอีกด้วยนอกจากนี้แล้วยังเป็นประโยชน์ในการป้องกันโรคภัยเบียดเบียนอนุศาสนาจารย์ต้องมีเป้าหมายการพัฒนาสมรรถนะทางกายอย่างเป็นระบบดูแลร่างกายของตนเองให้สมบูรณ์แข็งแรงตลอดเวลา ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน พัฒนากายภาพในทุกส่วนความสมส่วนของร่างกาย เกี่ยวกับการแต่งกายที่ยังไม่สมบูรณ์ แก้ไขด้วยให้ความสำคัญในเรื่องการแต่งกายที่สะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย การรักษาการแต่งกายให้ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการซึ่งเกี่ยวข้องกับทางกายทั้งสิ้น เกี่ยวกับการขาดทักษะหรือไม่มีความชำนาญด้านเทคโนโลยีหรือการปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ แก้ไขด้วยให้มีความใส่ใจในการฝึกฝนขีดความสามารถทางกาย สร้างความชำนาญคือการทำบ่อยๆ ทำแล้วทำอีกให้เวลาและเตรียมตัวทำให้สมบูรณ์ที่สุดคือเตรียมตัวพร้อมซักซ้อมดีแสดงความกระฉับกระเฉง พร้อมให้สร้างสุนทรียภาพขึ้นทางเสียง น้ำเสียงให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง เช่น การอาราธนาศีลอย่าให้พลาด การออกเสียงชัดเจนมีการฝึกฝนการใช้เสียงเพื่อให้เกิดความเหมาะสมและพอดี
๒) สมรรถนะทางจิตใจปัญหาแต่ละปัญหานั้นเป็นสิ่งที่สามารถปรับปรุงแก้ไขได้การพัฒนาสมรรถนะทางจิตใจประการแรก อนุศาสนาจารย์ต้องมีความตั้งใจในการที่จะดำเนินการแก้ไข ประการต่อมาคือการฝึกฝนอย่างจริงจังการลงมือปฏิบัติเพื่อให้เกิดความชำนาญสิ่งใดก็ตามแต่เมื่อทำอยู่บ่อยๆ ก็จะทำให้เกิดความชำนาญเกิดความเคยชินการฝึกฝนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ มีการฝึกฝนทางด้านการคิด มีเป้าหมายในการปรับปรุงแก้ไขพัฒนา อนุศาสนาจารย์ต้องหมั่นเจริญจิตตภาวนาที่เรียกว่ากรรมฐานจะเป็นสมถะกรรมฐานหรือวิปัสสนากรรมฐานก็ดีทั้งนั้นเพราะจะทำให้มีจิตใจที่มั่นคงเกี่ยวกับความขัดแย้งหรือความสับสนภายในจิตใจต้องแก้ไขด้วยการฝึกฝนการคิดด้วยการคิดเป็นระบบ การคิดวิเคราะห์การคิดสังเคราะห์การคิดอย่างสร้างสรรค์และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ เกี่ยวกับทุกข์ทางจิตใจต้องแก้ไขด้วยหลักคุณธรรม มีความมุ่งมั่นและยึดมั่นในหลักคุณธรรม มีหลักคุณธรรมประจำใจ การปฏิบัติธรรมซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสุขภาพจิตที่ดีทำจิตใจให้มีความสุข
๓) สมรรถนะทางปัญญา ปัญญาเป็นสิ่งสำคัญในการปฏิบัติภารกิจหรือการทำหน้าที่ทั้ง ๔ ด้านของอนุศาสนาจารย์ การมีปัญญาจะช่วยให้สามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง หรือเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นปัญญาก็จะช่วยในการแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ ปัญญายังช่วยในการพัฒนาองค์กรในการสร้างความเจริญก้าวหน้า ถ้าขาดปัญญาขาดความรู้ก็จะทำให้การทำงานติดขัด การทำงานไม่ลื่นไหล อนุศาสนาจารย์เป็นผู้อยู่ในฐานะเป็นครูอาจารย์ ต้องเป็นผู้นำทางด้านความรู้ ต้องหมั่นแสวงหาความรู้ทั้งคดีโลกและคดีธรรมอนุศาสนาจารย์ต้องขวนขวายศึกษาแสวงหาความรู้อยู่เสมอไม่นิ่งอยู่กับที่ ต้องหมั่นแสวงหาความรู้ทั้งคดีโลกและคดีธรรมสิ่งสำคัญก็คือความตั้งใจในการที่จะแสวงหาความรู้เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลาไม่หยุดนิ่งอยู่กับความรู้เดิมๆ ที่มีอยู่แล้ว เกี่ยวกับที่มาของความรู้หรือวิธีแสวงหาความรู้ ต้องแก้ไขด้วยการแสวงหาความรู้ด้วยวิธีการที่หลากหลาย จากผู้เชี่ยวชาญ จากการอบรม จากการพูดคุย หรือแสวงหาความรู้ด้วยตัวเองเกี่ยวกับองค์ความรู้ที่ล้าหลัง ต้องแก้ไขด้วยความรู้ที่ทันสมัยทันโลกแล้วก็ทันเหตุการณ์เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอนุศาสนาจารย์นอกจากจะมีความรู้ด้านศาสนาอย่างท่องแท้แล้วยังต้องมีความรู้และความสามารถในการใช้เทคโนโลยีอนุศาสนาจารย์มีความเป็นพหูสูตคือต้องศึกษาให้มากทั้งคดีโลกและคดีธรรม มีความแตกฉานในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาได้ดีมีความรู้ที่ชัดเจนสามารถอธิบายได้ว่าทำไมต้องปฏิบัติแบบนี้ ต้องมีความรอบรู้ในหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหลัก สามารถอธิบายธรรมะให้เข้าใจง่ายและชวนฟัง น่านำไปปฏิบัติ มีการเพิ่มพูนความรู้อยู่เสมอทั้งความรู้ทางศาสนาความรู้ทางโลกความรู้ทางเทคโนโลยีและการสื่อสารสามารถประยุกต์ความรู้ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพความรอบรู้ในหัวข้อหลักธรรมต่างๆทั้งในแนวลึกและแนวกว้าง
หลักธรรมที่สามารถนำมาบูรณาการเพื่อส่งเสริมและพัฒนาแนวทางการพัฒนาสมรรถนะอนุศาสนาจารย์ทหารบกไทยเชิงพุทธบูรณาการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลนั้นผู้วิจัยสามารถสรุปหลักธรรมที่สำคัญคือ
๑) หลักอิทธิบาท ๔ มีอยู่ ๔ ประการ คือ ๑) ฉันทะ คือความพอใจรักใคร่ในเป้าหมายในการพัฒนาสมรรถนะทางกายทางจิตใจและทางปัญญา ด้วยความเต็มใจไม่เบื่อหน่ายที่จะทำ เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญทำให้เกิดคุณธรรมข้อต่อไปทุกข้อ๒) วิริยะ คือมีความพากเพียรมีความพยายามในการพัฒนาสมรรถนะทางกายทางจิตใจและทางปัญญา ทำด้วยความขยันหมั่นเพียรและมีมานะอุตสาหะไม่ทอดทิ้งจนกว่าจะประสบผลสำเร็จ๓) จิตตะ คืออนุศาสนาจารย์ก็มีความเอาใจจดจ่อ ไม่วางธุระ ต้องเอาใจใส่ในการพัฒนาสมรรถนะทางกายทางจิตใจและทางปัญญา ทำสิ่งที่เป็นเป้าหมายตามต้องการหรือวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้แล้วให้อยู่ในใจเสมอ ๔) วิมังสา คือคิดพัฒนาสมรรถนะทางกายทางจิตใจและทางปัญญา ก็ทำด้วยความรู้จักไตร่ตรองรู้จักพิจารณาใคร่ครวญรู้จักพินิจพิเคราะห์ทดลองทดสอบ ตรวจหาสาเหตุด้วยความรอบคอบ เมื่อเกิดปัญหาด้านสมรรถนะทางกายทางใจและทางปัญญา การนำหลักอิทธิบาท ๔ มาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหา เพื่อให้ประสบความสำเร็จที่มุ่งหวังไว้
๒) หลักพรหมวิหาร ๔ เป็นธรรมเครื่องอยู่อย่างประเสริฐประกอบด้วย ๑) เมตตา คือ ความรักใคร่ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข ๒) กรุณา คือ ความสงสาร คิดช่วยเหลือให้พ้นจากความยุ่งยากเดือดร้อน ๓) มุทิตา คือ ความยินดี คิดส่งเสริมให้กำลังใจในเมื่อเขาประสบความสำเร็จ ๔) อุเบกขา คือ ความวางเฉย วางใจเป็นกลาง หลักธรรมข้อนี้นับว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอนุศาสนาจารย์ ผู้ทำหน้าที่ให้การอบรมหรือการสอนศีลธรรมการปฏิบัติธรรมการปฏิบัติศาสนพิธีและการเยี่ยมไข้ นำพรหมวิหาร ๔ มาปรับใช้หรือบูรณาการใช้ในการแก้ไขปัญหาสมรรถนะทางกายทางจิตใจและทางปัญญา เพื่อความประพฤติที่ประเสริฐบริสุทธิ์และกำกับความประพฤติให้เป็นไปโดยชอบถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
๓) หลักภาวนา ๔ หมายถึง การเจริญการพัฒนาการฝึกอบรมเป็นหลักธรรมเพื่อการพัฒนา โดยมีองค์ประกอบ ได้แก่ ๑) กายภาวนา คือ การพัฒนากายให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ให้มีมีบุคลิกภาพทางกายสดชื่นแจ่มใสสง่างาม ร่างกายคล่องแคล่วว่องไว มีทักษะในการใช้วาจา ๒) ศีลภาวนา คือ การพัฒนาความประพฤติ โดยเฉพาะที่สำคัญอันจะต้องมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้อื่น ไม่มีการเบียดเบียน ไม่โกหกหลอกลวงผู้อื่นทั้งทางตรงและทางอ้อมทั้งทางกายและทางวาจา ไม่ทำร้ายตนเองและผู้อื่น ๓) จิตตภาวนา คือ พัฒนาจิตใจให้สงบให้มีสมาธิพยายามทำจิตให้เป็นสุข ให้อิ่มเอิบ ให้เบิกบานแจ่มใส ให้เกิดปราโมทย์ ไม่ให้จิตใจขุ่นมัว มีจิตใจหนักแน่นไม่หวั่นไหวในเพราะอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ และ ๔) ปัญญาภาวนา คือ การพัฒนาปัญญา ใช้ปัญญาในการศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ ทั้งทางโลกและทางธรรม และนำความรู้ไปใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติภารกิจด้านต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาปัญญาของผู้ปฏิบัติวิปัสสนาตามแนวทางของมหาสติปัฏฐาน ๔
๔) หลักกัลยาณมิตรธรรม ๗คือ ๑) ปิโย คือ อนุศาสนาจารย์เป็นบุคคลมีบุคลิกภาพน่ารัก เพียงแค่เห็นก็เกิดศรัทธา เห็นแล้วรู้สึกสบายใจ ชวนให้เข้าใกล้ปรึกษา ไต่ถาม มีความร่าเริงผ่องใส เบิกบานอยู่เป็นประจำ ๒) ครุ คือ มีความหนักแน่นหรือน่าเคารพที่อุดมภูมิรู้ภูมิธรรม เกิดความตระหนักและซาบซึ้งได้ดีว่าอะไรถูกอะไรผิดอะไรเป็นบุญอะไรเป็นบาป ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งเย้ายวนต่างๆ ๓) ภาวนีโย มีบุคลิกภาพที่น่ายกย่อง ทรงความรู้มีภูมิปัญญาเป็นเลิศ มีความสามารถอันยอดเยี่ยม ๔) วัตตา มีความสามารถด้านการพูด รู้จักชี้แจงให้เข้าใจ สามารถพูดโน้มน้าวใจให้ทำตามในสิ่งที่ดีให้เหตุให้ผล คอยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือน เป็นที่ปรึกษาที่ดี เป็นผู้ฉลาดในการใช้คำพูด๕) วจนักขโม คือมีสมรรถนะทางจิตใจอดทนฟังได้ในคำตำหนิว่าร้ายพร้อมที่จะรับฟังวิพากษ์วิจารณ์ อดทนฟังได้ไม่เบื่อหน่ายไม่ฉุนเฉียว ไม่เสียอารมณ์แม้จุกจิก ๖) คัมภีรัญจะ กะถัง กัตตามีทักษะทางวาจาที่สามารถพูดใช้ถ่อยคำได้ลึกซึ้ง แถลงชี้แจงเรื่องที่ลึกล้ำได้ สามารถอธิบายเรื่องยุ่งยากซับซ้อนให้เข้าใจ สามารถแถลงชี้แจงได้จนเห็นภาพพจน์ ๗) โน จัฏฐาเน นิโยชะเย คือ มีสติปัญญาพิเคราะห์พิจารณาไม่เป็นบุคคลที่ชักนำไปในทางเสื่อมเสียหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีงาม ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงามตลอดเวลา
๕) หลักธรรมเทสกธรรม ๕ หลักธรรมนี้ได้แก่ ๑) อนุปุพฺพิกถํ) กล่าวธรรมะไปตามลำดับเพื่อช่วยให้ผู้ฟังสามารถติดตามเนื้อหาและเข้าใจในธรรมะได้ดี ๒) ปริยายทสฺสาวี ใช้เหตุผลประกอบการบรรยาย จะช่วยให้มีความเข้าใจได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะเหตุและผลจะมีความสัมพันธ์กัน ๓) อนุทยตํ ปฏิจฺจ มีเมตตาจิตต่อผู้ฟัง หวังให้ผู้ฟังได้รับความสุขความเข้าใจจากการฟัง เพื่อนำไปเป็นข้อปฏิบัติเป็นหลักการหรือแนวทางในการดำเนินชีวิต ๔) น อามิสนฺตโร ไม่เห็นแก่อามิส ไม่อบรมหรือสอนศีลธรรมโดยตั้งจิตหวังจะได้ลาภสักการะ เพราะจะทำให้จิตใจหม่นหมองไม่ผ่องใสไม่บริสุทธิ์ ๕) อตฺตานญฺจ ปรญฺจ อนุปหจฺจ สอนหรืออบรมศีลธรรมโดยไม่กระทบตนและผู้อื่น ไม่เสียดสีใครๆ
๖) หลักเทศนาวิธี ๔มีอยู่ ๔ ประการ ได้แก่ ๑) สันทัสสนา ชี้แจงให้เห็นชัด จะอบรมจะสอนอะไรก็ชี้แจงจำแนกแยกแยะอธิบายและแสดงเหตุผลให้ชัดเจน จนผู้ฟังเข้าใจแจ่มแจ้งเห็นจริง ๒) สมาทปนา ชักชวนให้อยากรับเอาไปลงมือทำหรือนำไปปฏิบัติ๓) สมุตเตชนาเร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลุกเร้าใจให้กระตือรือร้นเกิดความอุตสาหะ มีกำลังใจแข็งขัน มั่นใจที่จะทำให้สำเร็จจงได้ สู้งาน ไม่กลัวเหนื่อย ไม่กลัวยาก๔) สัมปหังสนา ชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง บำรุงจิตให้แช่มชื่นเบิกบาน โดยชี้ให้เห็นผลดีหรือคุณประโยชน์ที่จะได้รับและทางที่จะก้าวหน้าบรรลุผลสำเร็จยิ่งขึ้นไป
๗) หลักอนุศาสนีปาฏิหาริย์ คือ คำสั่งสอนอันอาจจูงใจคนให้นิยมเชื่อถือนำไปปฏิบัติตามจนได้ผลอย่างน่าอัศจรรย์ บทบาทภารกิจหน้าที่อันสำคัญยิ่งของอนุศาสนาจารย์ คือ ให้การอบรมหรือการสอนศีลธรรมการปฏิบัติธรรมการปฏิบัติศาสนพิธีและการเยี่ยมไข้เป็นกิจหน้าที่อันสำคัญ เป็นภารกิจที่อนุศาสนาจารย์ทุกนายต้องตระหนักและใส่ใจอยู่เสมอดังนั้น การที่อนุศาสนาจารย์ใส่ใจในการทำหน้าที่พร่ำสอนอยู่เสมอจัดได้ว่าเป็นอนุศาสนีปาฏิหาริย์
๕. บทสรุป
แนวทางการพัฒนาสมรรถนะอนุศาสนาจารย์ทหารบกไทยเชิงพุทธบูรณาการ สามารถสรุปออกมาเป็น MODEL เรียกว่า PACKED MODEL โดยในการพัฒนาสมรรถนะอนุศาสนาจารย์ทหารบกไทย คณะผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็นผู้บริหารหน่วยและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรมีการนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคและส่งเสริมการพัฒนาสมรรถนะอนุศาสนาจารย์ทหารบกไทยเกิดประสิทธิภาพกำหนดแนวทางปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายเพื่อความสำเร็จอันหมายถึงการให้ความสำคัญต่อหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาควบคู่ไปกับการนำหลักการพัฒนาสมรรถนะตามวิทยาการศาสตร์สมัยใหม่เพื่อการพัฒนาสมรรถนะให้ได้ความทันยุคทันสมัยและเป็นสากลนอกจากนั้นต้องเล็งเห็นสาเหตุที่อาจจะนำมาซึ่งปัญหาในการพัฒนาสมรรถนะและทำการป้องกันคอยระมัดระวังทุกขั้นตอนในการพัฒนาสมรรถนะต้องนำหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนาผสมผสานเพื่อให้การพัฒนาสมรรถนะมีการตรวจตราควบคุมอำนวยการและเพิ่มพูนความรู้ทั้งจากประสบการณ์และความรู้รอบตัวให้ทันต่อเทคโนโลยีให้ทันต่อสภาวะจิตใจเพื่อให้การพัฒนาสมรรถนะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายโดยPACKED MODEL แทนคำอธิบายดังนี้
๑) P = Planning คือ การวางแผน ขั้นตอนของการดำเนินงานต่างๆ นั้น ขั้นตอนแรก คือ ขั้นวางแผนขั้นเตรียมการมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ถึงกับมีคำกล่าวว่า “การวางแผนดี มีความสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง” งานทุกงานภารกิจทุกภารกิจ ที่มีความสำเร็จด้วยดี เบื้องหลังที่สำคัญคือการวางแผนหรือการเตรียมความพร้อม การเตรียมความพร้อมอันดับแรกคือเตรียมความพร้อมที่เกี่ยวกับตัวเอง อนุศาสนาจารย์ต้องมีการเตรียมความพร้อมทางด้านร่างกาย คือความมีร่างกายแข็งแรง มีร่างกายคล่องแคล่วว่องไว ความพร้อมทางด้านจิตใจ คือมีหลักคุณธรรมประจำใจเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว มีความศรัทธาเชื่อมั่นในภารกิจที่จะทำ มีจิตใจที่เข้มแข็ง มีความมุ่งมั่นเพื่อความสำเร็จของงานที่จะทำ และมีความรู้ความเข้าใจในขั้นตอนความสำเร็จของภารกิจที่อนุศาสนาจารย์จะลงมือปฏิบัติในด้านการอบรมการสอนศีลธรรม การปฏิบัติธรรมเจริญจิตภาวนา การปฏิบัติศาสนพิธี และการเยี่ยมไข้กำลังพลหรือครอบครัวที่มีการเจ็บป่วย ในการปฏิบัติภารกิจแต่ละด้านต้องมีการเตรียมการทางด้านกายภาพที่มีการประสานสอดคล้องกัน และมีหลักคิดที่สำคัญในแต่ละด้านเพื่อให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม และต้องมีความรู้ความเข้าใจเพื่อให้การปฏิบัติภารกิจเป็นไปโดยไม่ติดขัด
๒) A = Army’s Goal คือ เป้าหมายของกองทัพบกอนุศาสนาจารย์ทหารบกไทยต้องคำนึงถึงเป้าหมายซึ่งเป็นผลที่กองทัพบกต้องการเป็นสำคัญ ผลทางด้านกายภาพ คือความเป็นผู้มีบุคลิกภาพที่น่าศรัทธา น่าเคารพ น่านับถือ น่าเชื่อถือ น่ายกย่อง มีความสามารถในการทำงานทางกายภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทางด้านจิตใจ คือความเป็นผู้มีจิตใจหนักแน่น มั่นคง ไม่หวั่นไหวมีจิตใจที่มุ่งดีมุ่งเจริญต่อกำลังพล มีความรอบรู้มีความสามารถทางสติปัญญาในการช่วยแก้ไขปัญญากำลังพลของหน่วย มีความรอบรู้ในภารกิจที่จะทำได้เป็นอย่างดี
๓) C = Cooperation คือ ความร่วมมือ การทำงานที่จะให้ประสบผลสำเร็จก็คือ ความร่วมมือ ความมีส่วนร่วม ทั้งทางด้านกายภาพ จิตใจ และสติปัญญา มีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิด เป็นการเดินเข้าหาหน่วยเข้าหากำลังพล สร้างความรู้สึกในความมีส่วนร่วมให้เกิดแก่กำลังพลและครอบครัว ในการทำงานร่วมกันจึงมีหลักการทำงานร่วมกัน 5 ร่วม คือ 1) ร่วมคิด คือการนำเอาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันปรึกษาหารือ วางแผนงาน กำหนดรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง กำหนดกรอบเวลา รวมทั้งแบ่งงานรับผิดชอบเพื่อทุกคนจะได้ไปปฏิบัติในส่วนของตน 2) ร่วมทำ เมื่อตกลงในเรื่องต่างๆที่ได้ร่วมคิดไว้แล้ว ต่างคนต่างฝ่ายก็ไปดำเนินการในส่วนที่ตัวเองรับมอบหมายให้บรรลุความสำเร็จตามที่วางไว้ 3) ร่วมแก้ไข เมื่อไปทำงานแล้วประสบปัญหาใดก็รีบแจ้งเรื่องต่อกันและกันเพื่อเร่งรีบแก้ไขมิให้ส่งผลกระทบต่องานทั้งหมด4) ร่วมรับผิดชอบ ทำงานไปแล้วหากได้รับผลสำเร็จของงานก็รับผลสำเร็จร่วมกัน ถ้างานที่ทำไปไม่ประสบความสำเร็จหรือเกิดความเสียหายก็รับผลแห่งความรับผิดชอบนั้นร่วมกันโดยไม่ปัดความรับผิดชอบไปยังฝ่ายใด5) ร่วมดำเนินการ ปฏิบัติงานใดๆเสร็จเรียบร้อยพึงสรุปบทเรียนที่เกิดขึ้นแล้วนำมาดำเนินการให้ดียิ่งขึ้นต่อไปอย่างต่อเนื่องจะเห็นได้ว่า 5 ร่วมนั้นพัฒนามาจากวงจร PDCA (Plan, Do, Check, Act)นั้นเอง
๔)K = Kick-off คือ การเริ่มต้นลงมือปฏิบัติถ้าไม่ลงมือทำอะไร คิดดีแค่ไหนก็ไม่มีประโยชน์ไม่มีใครที่ประสบความสำเร็จมาตั้งแต่ต้น ความคิดต่างๆ ไม่ได้เกิดขึ้นมาแบบสำเร็จรูป แต่มันจะเป็นรูปธรรมหากคิดแล้วลงมือปฏิบัติ การลังเลไม่กล้าทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่เพราะเรากลัวว่าสิ่งที่ทำลงไปจะผิดพลาด ทำให้ไม่กล้าที่จะลงมือทำอะไรเลย จะส่งผลร้ายไปยังอนาคต เพราะจะหยุดยั้งมิให้ริเริ่มทำอะไร เมื่อกำหนดเป้าหมายและวางแผนเรียบร้อยแล้ว ก็เริ่มลงมือปฏิบัติได้เลย จงมุ่งมั่น ตั้งใจ ทุ่มเททำให้เต็มที่ หมั่นทบทวนเป้าหมายอยู่สม่ำเสมอ อย่าไปกลัวกับอุปสรรคที่จะเกิดขึ้น เพราะอุปสรรคเป็นบททดสอบที่เปรียบเหมือนบันไดให้ก้าวข้ามไปสู่ความสำเร็จ หากคิดและแก้ไขปัญหาได้ ความสำเร็จอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมอย่างแน่นอนการลงมือทำแสดงให้เห็นว่าจริงจังกับเจตนาในการทำ การลงมือทำในทุกๆ วัน ต้องมุ่งเน้นไปที่การทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย การมุ่งมั่นทำในงานที่ถูกต้อง คือหัวใจสำคัญของความสำเร็จ จงตัดสินใจแน่วแน่ว่าอะไรบ้างที่จำเป็นต้องทำให้สำเร็จ และรู้แน่ชัดว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง ต้องมุ่งมั่นทำเฉพาะสิ่งที่จำเป็นต้องทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ความมุ่งมั่นทำแต่สิ่งที่ถูกต้องคือหัวใจของความสำเร็จ การลงมือทำมีความสำคัญเป็นอย่างมาก
E = Elation คือ ความภาคภูมิใจ อนุศาสนาจารย์ต้องมีความภาคภูมิใจในตนเองและภารกิจหน้าที่ของตน สร้างฉันทะและความภาคภูมิใจในหน้าที่การงาน ตระหนักเห็นคุณค่าภารกิจหน้าที่ของอนุศาสนาจารย์ช่วยคนให้ทำแต่ความดี บุคคลที่ทำแต่ความดีชีวิตจะมีแต่ความสุขด้วยการมีบุคลิกภาพที่ดี เป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในความคิดของตนเอง สามารถให้เหตุผลในสิ่งที่ตนเองกระทำได้กระจ่างชัด มั่นใจในการกระทำหรือการตัดสินของตน กล้าคิดกล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม มีความคิดสร้างสรรค์ มุ่งมั่นการทำงานให้ประสบผลสำเร็จ มีความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและผู้อื่น มั่นคงทางจิตใจ มองโลกในแง่ดี สร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อบุคคลอื่น ทำงานอย่างเต็มที่ การที่ลงมือทำงานอย่างสุดความสามารถ เมื่องานสำเร็จเสร็จสิ้นแล้วมองย้อนกลับไปความภูมิใจก็จะเกิดขึ้นมาได้ ยิ่งถ้าเป็นงานที่ยาก หรือการข้ามผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ได้ก็ยิ่งภูมิใจ ให้การช่วยเหลือคนอื่นแน่นอนว่าเราไม่ได้ทำงานทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยคนเดียว การที่เรารู้จักมีน้ำใจช่วยเหลือซึ่งกันและกันนั้นจะทำให้งานออกมาดี แถมยังได้ความภาคภูมิใจกับความสำเร็จนั้นไปด้วยกันทั้งนี้ ความภูมิใจในงานที่ทำต้องไม่เกิดจากการเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นจึงจะเรียกได้ว่า ภาคภูมิใจอย่างแท้จริง
D = Dharma คือ หลักธรรมะ ในการพัฒนาสมรรถนะนั้น อนุศาสนาจารย์ทหารบกไทยควรนำหลักพุทธธรรมมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสมรรถนะ ๓ อย่าง คือ ๑) สมรรถนะทางกาย ๒) สมรรถนะทางจิตใจ และ ๓) สมรรถนะทางปัญญา เพื่อความมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติภารกิจทั้ง ๔ ด้าน คือ ๑) การอบรมการสอนศีลธรรม ๒) การปฏิบัติธรรม ๓) การปฏิบัติศาสนพิธี และ๔) การเยี่ยมไข้ สำหรับหลักพุทธธรรมที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาสมรรถนะ คือ หลักอิทธิบาท ๔ หลักพรหมวิหาร ๔ หลักภาวนา ๔ หลักกัลยาณมิตรธรรม ๗หลักธรรมเทสกธรรม ๕ หลักเทศนาวิธี ๔ และหลักอนุศาสนีปาฏิหาริย์
๖.ข้อเสนอแนะ
จากการศึกษาวิจัยเรื่องการพัฒนาสมรรถนะอนุศาสนาจารย์ทหารบกไทยเชิงพุทธบูรณาการ ผู้วิจัยขอเสนอแนวทางการนำไปประยุกต์ใช้ ดังนี้
๑) ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
กองทัพบก โดยกรมยุทธศึกษาทหารบกควรให้การสนับสนุนส่งเสริมกองอนุศาสนาจารย์ให้จัดทำหลักสูตรการศึกษาหรือหลักสูตรการฝึกอบรมแนวทางการพัฒนาสมรรถนะอนุศาสนาจารย์ทหารบกไทย โดยนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เช่น หลักภาวนา ๔ หลักกัลยาณมิตรธรรม ๗หลักธรรมเทสกธรรม ๕ หลักเทศนาวิธี ๔ หลักพรหมวิหาร ๔ หลักอิทธิบาท ๔ และอนุศาสนีปาฏิหาริย์ ไปบูรณาการเข้ากับการปฏิบัติหน้าที่ของอนุศาสนาจารย์ ในการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของอนุศาสนาจารย์อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นการปลุกจิตสำนึกให้อนุศาสนาจารย์ได้มีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาและสามารถนำมาใช้เป็นหลักยึดถือประพฤติปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม
๒) ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติ
จากผลการวิจัยในครั้งนี้พบว่า แนวคิดตามหลักไตรสิกขา ได้แก่ อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขามีความสอดรับกับแนวคิดสมรรถนะ (Competency) คือ คุณลักษณะเฉพาะพื้นฐาน ๖ ประการ ได้แก่ แรงจูงใจ (Motive) อุปนิสัย (Trait) อัตมโนทัศน์ (Self-Image)บทบาททางสังคม (Social Role) ความรู้ (Knowledge) และทักษะ (Skill) ที่มีความสัมพันธ์ซ่อนอยู่ภายในตัวของบุคคล ซึ่งสมรรถนะเหล่านี้จะเป็นตัวผลักดันให้บุคคลสามารถสร้างผลการปฏิบัติงานในงานที่ตนรับผิดชอบได้สูงกว่าหรือเหนือกว่าเกณฑ์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ดังนั้น อนุศาสนาจารย์ทหารบกไทย พึงเอาแนวคิดสมรรถนะตามหลักหลักไตรสิกขา และแนวคิดสมรรถนะ คือ คุณลักษณะเฉพาะพื้นฐาน ๖ ประการ มาบูรณาการร่วมกันกับหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนาอื่นๆ ในมิติความสัมพันธ์สอดคล้องกันเชิงเหตุผลได้ยึดถือเป็นข้อปฏิบัติ เพื่อให้การทำงานประสบความสำเร็จมีผลงานได้ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดหรือสูงกว่า
๓) ข้อเสนอแนะงานวิจัยครั้งต่อไป
จากการศึกษาเรื่อง การพัฒนาสมรรถนะอนุศาสนาจารย์ทหารบกไทยเชิงพุทธบูรณาการสามารถสรุปผลการวิจัยได้ดังนี้นั้น ผู้วิจัยพบว่ายังมีประเด็นที่เป็นสาระสำคัญที่น่าสนใจศึกษาค้นคว้า ดังนี้
๑. ควรทำวิจัยเรื่อง “ศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบบทบาท ภารกิจ และสมรรถนะของอนุศาสนาจารย์ทหารบกไทยกับอนุศาสนาจารย์ทหารเรือไทย”
๒. ควรทำวิจัยเรื่อง “รูปแบบการนำหลักพรหมวิหาร ๔ มาบูรณาการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติภารกิจการเยี่ยมไข้ของอนุศาสนาจารย์ทหารบกไทย”
๓. ควรทำวิจัยเรื่อง “การปฏิบัติธรรมกับผลสัมฤทธิ์ในการพัฒนาบุคลากรของกองทัพบก”
………………………….
บรรณานุกรม
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.
กองทัพบก.คู่มือการอนุศาสนาจารย์กองทัพบก.กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรมยุทธศึกษาทหารบก, ๒๕๓๘.
กองทัพบก.ตำรายุทธศาสตร์ของกรมยุทธการทหารบก. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์อรุณการพิมพ์, ๒๔๗๐.
คงชีพ ตันตระวาณิชย์, พันตรี. คุณภาพชีวิตการทำงานของนายทหารชั้นประทวน สังกัดกรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์.วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต(รัฐศาสตร์). บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ๒๕๔๓.
ฐิติพัฒน์ พิชญธาดาพงศ์. ยุทธวิธีการใช้ระบบสมรรถนะในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ เพื่อผลักดันองค์กรสู่ความเป็นเลิศเหนือคู่แข่ง.วารสารดำรงราชานุภาพ.ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๒๐ (กรกฎาคม – กันยายน ๒๕๔๙).
ปกรณ์ ปรียากร.ทฤษฎีและแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาในการบริหารการพัฒนา. กรุงเทพฯ: สามเจริญพานิช, ๒๕๓๘.
ปธาน ทองขุนนา, พันเอก. รัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. นิตยสารยุทธโกษ. ปีที่ ๑๒๕ ฉบับที่ ๑ (ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๕๙).
พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต).การศึกษากับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์.กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การศาสนา, ๒๕๓๙.
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต).ลักษณะแห่งพระพุทธศาสนา. พิมพ์ครั้งที่ ๑๑.กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย, 25๔๗.
ยุวัฒน์ วุฒิเมธี.การพัฒนาชุมชน : จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ. กรุงเทพฯ: บางกอกบล็อก, ๒๕๓๔.
วิเชียร ปราบพาล, เรืออากาศเอก.การวิเคราะห์บทบาทอนุศาสนาจารย์ : ศึกษาเฉพาะกรณีอนุศาสนาจารย์ทหารอากาศไทย.สารนิพนธ์สังคมสงเคราะห์ศาสตรมหาบัณฑิต, บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๐.
สมาน รักสิโยกฤฎ์.ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล. พิมพ์ครั้งที่ ๑๓. กรุงเทพฯ:สวัสดิการสำนักงาน กพ., ๒๕๓๐.
สุจิตรา ธนานันท์.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, ๒๕๕๐.
Ivancevichj.m. Human ResourceManagement.10thed. New yok :McGrawhill, 2007.
Marchington M. & Wilkinson A. Human ResourceManagement at Work : People Managementand Department. 4thed, Londol : DIPD, 2008.
Sims,R.R. Human ResourceManagement : Contemporary Issues, Challengrs, and Opportunities. Charlotte, NC : Information Age, 2007.
[1]คงชีพ ตันตระวาณิชย์, พันตรี, “คุณภาพชีวิตการทำงานของนายทหารชั้นประทวน สังกัดกรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์”, วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต(รัฐศาสตร์), (บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์, ๒๕๔๓), หน้า ๒.
[2]กองทัพบก, ตำรายุทธศาสตร์ของกรมยุทธการทหารบก, (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์อรุณการพิมพ์, ๒๔๗๐), หน้า ๑๔.
[3]สมาน รักสิโยกฤฎ์, ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล, พิมพ์ครั้งที่ ๑๓, (กรุงเทพมหานคร:สวัสดิการสำนักงาน กพ., ๒๕๓๐), หน้า ๘๓.
[4]ปธาน ทองขุนนา, พันเอก, “รัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว”, นิตยสารยุทธโกษ, อรุณการพิมพ์, ปีที่ ๑๒๕ ฉบับที่ ๑ (ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๕๙): หน้า ๒.
[5]กองทัพบก, คู่มือการอนุศาสนาจารย์กองทัพบก, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์กรมยุทธศึกษาทหารบก, ๒๕๓๘), หน้า ๔.
[6]วิเชียร ปราบพาล, เรืออากาศเอก, “การวิเคราะห์บทบาทอนุศาสนาจารย์ : ศึกษาเฉพาะกรณีอนุศาสนาจารย์ทหารอากาศไทย”, สารนิพนธ์สังคมสงเคราะห์ศาสตรมหาบัณฑิต, (บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์, ๒๕๔๐), หน้า ๒.
๘กองทัพบก, คู่มือการอนุศาสนาจารย์กองทัพบก, หน้า ๑๒๘.
[8]สัมภาษณ์ พันโท บวรวิทย์ ไชยศิลป์ หัวหน้าแผนกกำลังพล กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารบก, ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๑.
[9]พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), ลักษณะแห่งพระพุทธศาสนา, พิมพ์ครั้งที่ ๑๑, (กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย, 25๔๗), หน้า ๕๐.
[10]พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต), การศึกษากับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์, (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การศาสนา, ๒๕๓๙), หน้า ๖๗.
[11]ปกรณ์ ปรียากร, ทฤษฎีและแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาในการบริหารการพัฒนา, (กรุงเทพฯ: สามเจริญพานิช, ๒๕๓๘), หน้า ๕.
[12]ยุวัฒน์ วุฒิเมธี, การพัฒนาชุมชน : จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ, (กรุงเทพฯ: บากกอกบล็อก, ๒๕๓๔.), หน้า ๑.
[13]ฐิติพัฒน์ พิชญธาดาพงศ์, “ยุทธวิธีการใช้ระบบสมรรถนะในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ เพื่อผลักดันองค์กรสู่ความเป็นเลิศเหนือคู่แข่ง”, วารสารดำรงราชานุภาพ, หน้า ๒๐-๒๑.
[14]Sims,R.R., Human ResourceManagement : Contemporary Issues,Challengrs,and Opportunities, (Charlotte, NC : Information Age, 2007), p. 7.
[15]Ivancevich, j.m., Human ResourceManagement, p. 399.
[16]Marchington, M., & Wilkinson, A., Human ResourceManagement at Work : PeopleManagementand Department, p. 343.
[17]สุจิตรา ธนานันท์, การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์, (พิมพ์ครั้งที่ ๒), (กรุงเทพมหานคร: สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, ๒๕๕๐), หน้า ๒๖.
[1]หน.อบรม กอศจ.ยศ.ทบ. ,นิสิตพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย