อาจริยพจน์ พล.ต. สมพงษ์ ถิ่นทวี

อาจริยพจน์ พล.ต. สมพงษ์  ถิ่นทวี[1]


        ความมั่นคงของชาติและความสงบสุขร่มเย็นของประชาชนในชาติ คือความรับผิดชอบส่วนหนึ่งของอนุศาสนาจารย์ไทย ที่ต้องน้อมนำเอาหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ชาวไทยส่วนใหญ่เชื่อถือศรัทธา มาเป็นหลักธรรมนำวิถีชีวิต ทั้งในด้านการครองตน ครองคน และครองงาน อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจ ความสมัครสมานสามัคคี ความเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ตลอดจนความปรารถนาดีต่อผู้อื่น และพร้อมที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข อันนับเป็นความจำเป็นสูงสุดต่อประเทศชาติในทุกสถานการณ์

        ในปีพุทธศักราช ๒๔๖๒ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์        ผู้เป็นปราชญ์ในทางพระพุทธศาสนา ทรงเล็งเห็นความสำคัญในการนำหลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนามาพัฒนาประชาชนของพระองค์ มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้กระทรวงกลาโหมตั้งกองอนุศาสนาจารย์ขึ้นในทหารบก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระธรรมนิเทศทวยหาญ (รองอำมาตย์ตรี อยู่  อุดมศิลป์)       เป็นหัวหน้าอนุศาสนาจารย์ (ปฐมอนุศาสนาจารย์) เพื่อทำหน้าที่สืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ มาตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๖๒  กิจการอนุศาสนาจารย์ไทยได้เริ่มขึ้นมาตั้งแต่บัดนั้น มีความเจริญก้าวหน้าและพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่นมาตามลำดับ โดยได้ขยายกิจการไปอยู่ตามหน่วยราชการต่าง ๆ ได้แก่ อนุศาสนาจารย์กรมเสมียนตรา สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม  อนุศาสนาจารย์กองบัญชาการกองทัพไทย อนุศาสนาจารย์ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ อนุศาสนาจารย์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และอนุศาสนาจารย์กรมราชทัณฑ์ ซึ่งคณะอนุศาสนาจารย์ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ได้ทำหน้าที่สร้างความมั่นคงให้กับประเทศชาติ ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา    และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยได้สืบสานพัฒนางานในหน้าที่รับผิดชอบมาอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่ยอมรับของผู้บังคับบัญชา ผู้บังคับหน่วย กำลังพลและครอบครัว ตลอดทั้งประชาชนทั่วไป

        ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ กระผมได้มีโอกาสเข้ามาทำหน้าที่ในฐานะอนุศาสนาจารย์ทหารบก นอกจากจะทำหน้าที่เป็นผู้บำรุงขวัญและกำลังใจให้กับข้าราชการทหารแล้ว ยังได้เห็นบทบาทของอนุศาสนาจารย์กับการเสนอนโยบายการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมกำลังพลกองทัพบก จนก่อให้เกิดศูนย์พัฒนาจิตใจกำลังพลกองทัพบกขึ้น ได้ร่วมกันจัดทำแผนงาน โครงการ และกิจกรรม”นำกำลังพลเข้าหาธรรมะและนำธรรมะพัฒนากำลังพล” อย่างเป็นรูปธรรม ได้เห็นจุดแข็งของอนุศาสนาจารย์ไทย คือ ความมุ่งมั่นจัดการศึกษาอบรมคุณธรรมแก่กำลังพลอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านปริยัติ และการปฏิบัติธรรมตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ตลอดทั้งด้านศาสนพิธีประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม ปัจจุบันถึงแม้กระผมจะเกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่ก็ยังรู้สึกว่าความเป็นอนุศาสนาจารย์ยังติดอยู่กับตัวและคงจะติดตัวไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ซึ่งคาดว่าอดีตอนุศาสนาจารย์ทุกท่าน ก็คงมีความรู้สึกไม่แตกต่างกัน

        บทบาทและหน้าที่ของอนุศาสนาจารย์ในปัจจุบัน มีการพัฒนาอย่างกว้างขวางมากขึ้นตามยุคตามสมัย จนเป็นที่เชื่อถือเชื่อมือและเชื่อใจจากทุกภาคส่วน แต่อย่างไรก็ตาม อนุศาสนาจารย์เองก็ต้องมีศรัทธาอย่างแรงกล้าต่ออาชีพของตน มีเมตตาธรรมต่อบุคคลอื่น ดำรงตนด้วยอุบาสกธรรม เป็นต้นแบบของพุทธศาสนิกชน มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์พัฒนางานอย่างต่อเนื่อง ตามความสามารถของแต่ละบุคคล โดยยึดหลักการตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเทศนาเสือป่าที่พยายามตอกย้ำให้คนไทยเกิดความสำนึกเห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนา ตอนหนึ่งว่า

        “ศาสนาย่อมเป็นหลักสำหรับจะชี้ให้ถูกทาง ว่าอย่างไรจะเป็นทางที่ประพฤติดี ข้าพเจ้ารู้สึกด้วยความแน่ใจว่า คนเราทุกคนจำเป็นต้องมีศาสนา พระพุทธศาสนาเป็นของไทย เรามาชวนกันนับถือพระพุทธศาสนาเถิด ผู้ที่แปลงศาสนาคนเขาดูถูกยิ่งกว่าผู้ที่แปลงชาติ ข้าพเจ้ารู้สึกว่าได้ทำหน้าที่สมควรแก่ผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา เราตั้งใจจะรักษาศาสนาของเราด้วยชีวิต ข้าพเจ้าและท่านทั้งหลายตั้งใจอยู่ในข้อนี้ และถ้าท่านตั้งใจจะช่วยข้าพเจ้าในกิจอันใหญ่นี้แล้ว ก็จะเป็นที่พอใจข้าพเจ้าเป็นอันมาก”

        อนุศาสนาจารย์ คือผู้ทำงานหมุนกงล้อแห่งธรรม ด้วยการเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามหน้าที่พุทธศาสนิกชน ซึ่งมีงานหลักอยู่ที่ “ศึกษาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วสอนบุคคลอื่นให้ปฏิบัติตามด้วย” อันเป็นหลักปฏิบัติตามพระดำรัสของพระพุทธองค์ที่ตรัสแก่พระอรหันต์สาวกรุ่นแรก ๖๐ รูป ว่า

        ๑. “ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราพ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ที่เป็นของมนุษย์ แม้เธอทั้งหลายก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ที่เป็นของมนุษย์” นี่คือภารกิจแรกในด้านการศึกษา หรืองานในองค์กรศึกษา

        ๒. “เธอทั้งหลายจงเที่ยวจารึกไป เพื่อประโยชน์แก่มหาชน เพื่อความสุขแก่มหาชน เพื่อเป็นการอนุเคราะห์ต่อชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย” นี่คือวัตถุประสงค์หลักของพระพุทธศาสนาที่มีความมุ่งหมายอยู่ที่การช่วยชาวโลก ด้วยการทำตนเป็นผู้ให้ และเป็นการให้ในสิ่งที่ตนจะมีให้ สิ่งนั้นคือ “พระปริยัติศาสนา” ตามนัยแห่งพระพุทธดำรัสที่ว่า “จงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด สมบูรณ์ ด้วยอรรถะ และพยัญชนะ” เถิด

        ในโอกาสครบ ๑๐๐ ปี     การอนุศาสนาจารย์ไทย ในวันที่    ๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๒ นี้     กระผมขออ้างอิงคุณพระศรีรัตนตรัย และบุญกุศลที่ได้บำเพ็ญมา ขอน้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกิจการอนุศาสนาจารย์ไทย และได้โปรดดลบันดาลให้บุรพาจารย์ผู้ช่วยสืบสานการอนุศาสนาจารย์ทุกท่าน                คณะอนุศาสนาจารย์ ครอบครัว ตลอดทั้งประชาชนทั่วไป จงประสบสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูนผลในสิ่งอันพึงปรารถนา เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ และงอกงามไพบูลย์ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตลอดไปเทอญ

[1] ผอ.กอศจ.ยศ.ทบ. ลำดับที่ ๒๕ (พ.ศ. ๒๕๕๗ – ๒๕๕๙), เลขาธิการสมาคมอนุศาสนาจารย์ไทย