บทที่ ๑ ตำนานอนุศาสนาจารย์ทหารบก

เริ่มความ

(พระธรรมนิเทศทวยหาญ เรียบเรียงแต่ พ.ศ. ๒๔๖๙)

          ตำแหน่งอนุศาสนาจารย์สำหรับกองทหารนั้น ว่าได้มีมาคราวหนึ่งแล้วในรัชกาลที่ ๕ แต่ว่ามีเพียงเป็นตัวบุคคล ไม่ได้ตั้งขึ้นเป็นคณะเช่นกองหรือแผนกและไม่ได้บัญญัติเรียกว่าอนุศาสนาจารย์อย่างเดี๋ยวนี้ คงเรียกตามภาษาอังกฤษว่าแช๊ปลินหรือแช๊เปลนนั้นเอง ตามนิยมในยุคนั้น ครั้นแล้วก็เลิกไป ไม่ได้มีติดต่อเป็นเชื้อสายถึงภายหลัง ตำแหน่งอนุศาสนาจารย์ที่เคยมีมาแต่ก่อน จึงขาดตอนอยู่เพียงนั้น ( อนุศาสนาจารย์ในยุคนั้น คือ พระสารสาสน์พลขันธ์ (สมบุญ) ปรากฎว่าเมื่อครั้งยังอุปสมบทอยู่ ได้เป็น ฐานานุกรมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ครั้งยังทรงผนวชอยู่ ) ในที่นี้ จักกล่าวเฉพาะแต่กองอนุศาสนาจารย์ที่ตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งสังกัดอยู่ในกรมยุทธศึกษาทหารบกเดี๋ยวนี้ตามเหตุการณ์ที่มีมาโดยสังเขป

อุบัติ

          ในพุทธศักราช ๒๔๖๑ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๖ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้กระทรวงกลาโหมจัดส่งกองทหารอาษา ไปช่วยราชสัมพันธมิตรในงานพระราชสงครามแล้ว ทรงพระราชปรารภว่ากองทหารที่โปรดเกล้า ฯ ให้ส่งไปแล้วนั้น เป็นอันได้จัดดีทุกสิ่งสรรพ์ แต่ยังขาดสิ่งสำคัญอยู่อย่างหนึ่ง คือ อนุศาสนาจารย์ที่จะเป็นผู้ปลุกใจทหาร หาได้จัดส่งไปด้วยไม่ (กระแสพระราชปรารภนี้ ท่านเสนาบดีกระทรวงธรรมการ เชิญมาเล่าแก่เจ้าหน้าที่ผู้จะเป็นอนุศาสนาจารย์ออกไป ลงไว้ในนี้เพียงสังเขป) จึงทรงเลือก อำมาตย์ตรี พระธรรมนิเทศทวยหาญ หัวหน้ากองอนุศาสนาจารย์ในบัดนี้ ซึ่งในเวลานั้นเป็น รองอำมาตย์ตรี อยู่ อุดมศิลป์ รับราชการอยู่ในกรมราชบัณฑิต กระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) ให้เป็นอนุศาสนาจารย์ตามกองทหารออกไปยังประเทศยุโรป มีข้อความสังเขปแจ้งอยู่ในรายงานของเสนาบดีกระทรวงธรรมการในเวลานั้น อันส่งขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย หมายเลข ๑ ซึ่งลงไว้ในลำดับเรื่องนี้แล้ว

          ในรายงานฉบับนั้น ท้าวความถึงพระราชปรารภว่า ควรจะมีราชบัณฑิตเป็นอนุศาสนาจารย์ออกไปกับกองทัพ ตามโบราณราชประเพณี ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการที่มีอนุศาสนาจารย์ออกไปคราวนั้น คงเป็นตำแหน่งพิเศษของราชบัณฑิตในยามสงครามโดยตรง คือเอาราชบัณฑิตไปเป็นอนุศาสนาจารย์เฉพาะคราวเท่านั้น หาใช่ตำแหน่งซึ่งประจำอยู่กับราชการทหารอย่างเดี๋ยวนี้ไม่ แม้ในการแต่งกายเล่า ทางกระทรวงกลาโหมก็คงให้ใช้อินทรธนูตามสังกัดเดิม ในรายงานฉบับนั้น จึงมีว่าแต่งเป็นราชบัณฑิตตามหน้าที่ ดังนี้ ซึ่งทำให้พิศวงอยู่ว่าแต่งอย่างไร คือ แต่งอย่างนายทหารบก แต่ติดอินทรธนูกระทรวงธรรมการตามเดิมนั้นเอง และที่แต่งกายอย่างนี้หาได้เริ่มไปแต่กรุงเทพมหานครไม่ เพราะเวลากระชั้น เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมเกรงจะทำเครื่องแต่งกายให้ไม่ทัน ได้ตกลงให้ไปทำในยุโรป เวลาเดินทางจึงแต่งอย่างพลเรือนไปตลอด การจัดส่งไปก็ดี การนำเบิกถวายบังคมลาก็ดี เป็นธุระของกระทรวงกลาโหมนำเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่ท่าวาสุกรี เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๔๖๑ ในการเสด็จพระราชดำเนินยังพระราชวังบางปอินโดยชลมารค เพื่อแปรพระราชฐาน
อันเนื่องจากทรงพระประชวรในระหว่างนั้น

          คำว่า อนุศาสนาจารย์ เป็นพระราชมติที่ทรงเริ่มบัญญัติขึ้นในราชการคราวนั้นเป็นครั้งแรก ตามใจความแห่งหน้าที่ซึ่งมีพระราชประสงค์ให้ปฏิบัติ เพราะเมื่อกองทหารออกไปแล้ว ทรงพระราชวิตกถึงทหารยิ่งนัก จะเห็นได้จากพระกระแสที่เสนาบดีกระทรวงธรรมการเชิญมาชี้แจงให้เจ้าหน้าที่ฟัง และที่ จอมพลสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ เสนาธิการทหารบกตรัสเล่าแก่เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ในขณะที่พาตัวเจ้าหน้าที่ไปถวาย ด้วยว่าพระราชปรารภที่จะส่งอนุศาสนาจารย์ออกไปนั้น ได้ทรงมาเป็น ๒ ทาง คือ ทางหนึ่งให้เสนาบดีรับสั่งมาเพื่อทำความติดต่อกับองค์จอมพลเสนาธิการทหารบก  อีกทางหนึ่งได้รับสั่งตรงมายังองค์เสนาธิการทหารบกทีเดียว เพื่อให้ทรงจัดส่งอนุศาสนาจารย์ออกไป ในพระราชปรารภทั้ง ๒ ทางนี้ มีพระกระแสร่วมกันเป็นใจความว่า “ทหารที่จากบ้านเมืองไปคราวนี้ต้องไปอยู่ในถิ่นไกล ไม่ได้พบเห็นพระเหมือนเมื่ออยู่ในบ้านเมืองของตน จิตใจจะห่างเหินจากทางธรรม ถึงยามคะนองก็จะฮึกเหิมเกินไป เป็นเหตุให้เสื่อมเสีย ไม่มีใครจะคอยให้โอวาทตักเตือน ถึงคราวทุกข์ร้อนก็อาดูรระส่ำระสาย ไม่มีใครจะช่วยปลดเปลื้องบันเทาให้ ดูเป็นการว้าเหว่น่าอนาถ ถ้ามีอนุศาสนาจารย์ออกไปจะได้คอยอนุศาสน์พร่ำสอนและปลอบโยนปลดเปลื้องในยามทุกข์” ดังนี้เป็นต้น ซึ่งพระองค์เสนาธิการทหารบกรับสั่งรวมความว่า ให้อนุศาสนาจารย์ออกไปทหารจะได้ระลึกถึงพระ เช่นนี้ จะเห็นได้ว่า ล้นเกล้าล้นกระหม่อมทรงเป็นห่วงถึงทหารของพระองค์เพียงไร และในข้อความทั้งนี้ เจ้าหน้าที่หาได้กล่าวลงไว้เท่าที่ได้สดับตรับฟังครั้งนั้นไม่ เป็นแต่ย่นย่อจากข้อความที่ได้ฟังอีกชั้นหนึ่งเพราะเป็นเจ้าหน้าที่อยู่แก่ตน ย่อมจำเป็นที่จะได้ทราบจากผู้ใหญ่ของตนอย่างตระหนักถี่ถ้วนอยู่เอง แต่ไม่ได้จดบันทึกไว้ ทั้งกาลก็ล่วงมานานแล้ว จึงคงกล่าวแต่ใจความ ในข้อที่ล้นเกล้าฯ ทรงคิดถึงทหารของพระองค์อย่างไรเท่านั้น ได้บันทึกไว้แต่พระราชดำรัสเหนือเกล้าฯ ที่ตรัสสั่งเสียอนุศาสนาจารย์เมื่อถวายบังคมลา ซึ่งลงไว้ข้างท้าย หมายเลข ๒ นั้น อันเป็นพยานแห่งข้อนี้โดยตรง เวลานั้น    พระอาการกำลังซีด เนื่องจากทรงพระประชวรที่กล่าวแล้วได้รับสั่งอย่างช้า ๆ ด้วย    พระสุรเสียงอันแหบเครือ มีพระกระแสทรงละห้อยแต่ชัดเจนทุกๆ องค์ที่รับสั่งซึ่งทำให้ผู้รับใส่เกล้า ฯ นั้นใจตื้น ด้วยอำนาจผัสสะในพระเดชพระคุณและความสงสารอันจับใจระคนกัน ได้บันทึกพระราชดำรัสนี้ลงในลำดับแห่งการนั้นทันทีและรายงานข้อความทั้งปวงนี้ ต่อท่านเสนาบดีของตน ท่านก็เห็นชอบด้วยที่ทำดังนี้ เพราะจะได้นำไปเล่าให้ทหารทางโน้นฟัง จะได้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้า ฯ แม้ผู้อยู่ในภายหลังไม่ได้เห็นพระอาการในคราวนั้นด้วยตนเอง เป็นแต่ได้อ่านที่บันทึกไว้อย่างเดียว ความรู้สึกจะไม่เท่ากับได้อ่านพระอาการในครั้งนั้นประกอบด้วยก็ตาม ถึงอย่างนั้น     เมื่อได้อ่านพระราชดำรัสตรัสสั่งเสียที่บันทึกไว้นี้แล้วก็คงเห็นได้ว่าไม่ใช่อื่น เป็นเรื่องทรงคิดถึงทหารที่ไปนั้นเอง

          เมื่ออนุศาสนาจารย์ไปถึงปารีสแล้ว หัวหน้าทูตทหารได้ทำรายงานบอกเข้ามา ยังกรมเสนาธิการทหารบก มีข้อความแจ้งอยู่ในสำเนาข้างท้าย หมายเลข ๓ แล้วและหน้าที่ของอนุศาสนาจารย์ ซึ่งจอมพลเสนาธิการทหารบก ทรงกำหนดไปยังกองทูตทหารนั้นมีใจความเป็น ๕ ข้อดังนี้

          ๑. ให้ทำการอยู่ในกองทูตทหาร

          ๒. ส่งตัวไปเยี่ยมเยือนทหารในที่ต่างๆ ซึ่งทหารแยกย้ายกันอยู่นั้นเนืองๆ เพื่อสั่งสอนตักเตือนในพระพุทธศาสนา และทางจรรยาความประพฤติ

          ๓. ให้ถามสุขทุกข์กันอย่างใจจริง ทั้งคอยให้รับธุระต่างๆ ของทหาร เช่น
จะสั่งมาถึงญาติของตนในกรุงสยาม หรือส่งเงินส่งของมาให้ให้รับธุระทุกอย่าง ๆ

          ๔. ทหารคนใดเจ็บไข้ ให้อนุศาสนาจารย์ไปเยี่ยมปลอบโยนเอาใจ

          ๕. ถ้ามีเหตุอันไม่พึงประสงค์ที่ทหารคนใดถึงแก่ความตายลง ให้อนุศาสนาจารย์ทำพิธีเทศนาอ้างพระธรรมตามแบบสังฆปฏิบัติในขณะฝังศพ

          รวมความ ก็ทำหน้าที่อย่างที่พระควรทำ แต่พระของเราจะไปยุโรปมิได้ ขัดด้วยการแต่งกายและเหตุอื่นๆ จึงต้องใช้คฤหัสถ์ซึ่งเป็นเปรียญ และเคยอุปสมบทอยู่ในเพศสมณะได้เป็นพระราชาคณะนั้นแทน

          การแต่งกาย ให้แต่งอย่างนายทหาร แต่ใช้อินทรธนูรองอำมาตย์ตรีกระทรวงธรรมการ กับเว้นกระบี่

          ในที่นี้ จะอธิบายถึงหน้าที่บางประการสักเล็กน้อย พอให้เห็นเป็นเค้าว่างานจริงๆ ในเรื่องนี้มีอยู่อย่างไร และทรงมุ่งหมายอย่างไรบ้าง จึงได้ทรงวางหน้าที่ไว้ดังนี้

          ในข้อ ๑ ซึ่งว่าให้ทำการอยู่ในกองทูตทหารนั้น แม้ใจความจะบ่งอยู่ว่าย่อมแล้วแต่หัวหน้าทูตทหารจะให้ทำอะไร ซึ่งนอกออกไปจากที่ทรงกำหนดไว้แล้วนั้นดังนี้ก็จริง แต่ก็ทรงแนะกำกับไปด้วยในคราวนั้น ทรงมุ่งหมายเพื่อให้ช่วยในทางเอกสาร ฝ่ายภาษาไทยโดยตรง ถึงอย่างนั้น ผู้ใหญ่ที่โน่นก็ไม่กะงานอย่างอื่นให้ทำกี่อย่างนัก ที่เป็นหน้าเป็นตานั้น นับได้ว่ามีอยู่อย่างเดียวคือ มอบให้เป็นเจ้าหน้าที่ตรวจจดหมายของทหารที่จะส่งเข้ามาถึงญาติมิตรในกรุงสยาม เพราะมีข้อความบางประการที่ห้ามไว้อย่างกวดขัน เพื่อมิให้รั่วไหลออกนอกยุทธบริเวณของฝ่ายสัมพันธมิตรในเวลานั้น ด้วยเหตุนี้ จดหมายส่วนตัวของทหารที่ไปในคราวนั้นทั้งสิ้น เมื่อจะส่งเข้ามาในนี้ จึงต้องผ่านกองทูตทหารก่อน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ตรวจเรื่องและตัดข้อความที่ต้องห้ามออกเสียแล้วจึงกลับผนึกส่งเข้ามาได้ จดหมายที่ว่านี้มีวันละมากมาย เพราะต่างคนก็ต้องการจะบอกข่าวสู่ญาติมิตรของตนด้วยกำลังความคิดถึง ในจดหมายฉบับหนึ่ง ๆ จึงมีข้อความอย่างยืดยาว และต้องตรวจให้ได้ในวันหนึ่ง ๆ ไม่ต่ำกว่าสองร้อยฉบับ สำหรับเจ้าหน้าที่คนหนึ่งต้องตรวจให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยฉบับทุกวันไป ถ้าเป็นจดหมายอย่างยืดยาวมีประดังกันหลายสิบฉบับ ตรวจจนหมดเวลาทำงานแล้วยังไม่เสร็จ ก็ต้องนำไปตรวจในเวลากลางคืนให้เสร็จตามจำนวนที่กะไว้ เพื่อให้ทันส่งเจ้าหน้าที่ทางสถานทูตในเวลาเช้าแห่งวันรุ่งขึ้น ถึงว่าจดหมายที่ต้องตรวจประจำวันมีมากก็จริง แต่ไม่ใช่งานหนักความคิดเป็นแต่งานที่ต้องใช้เวลากับความถี่ถ้วนมากเท่านั้น งานในกองทูตทหารนอกจากนี้ เกือบจะกล่าวได้ว่า ผู้ใหญ่ทางโน้นไม่ได้กะให้ทำอะไร ตัวบุคคลจึงมีโอกาสได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างอนุศาสนาจารย์ได้เต็มที่ ข้อนี้แหละที่เป็นหัวต่อสำคัญนัก ของงานอนุศาสนาจารย์ คือ ถ้าตัวบุคคลทำงานได้เฉพาะอย่าง ก็ไม่เป็นที่นิยมและเป็นทางชวนให้เห็นว่าหน้าที่อนุศาสนาจารย์ไม่สู้มีประโยชน์ไปด้วย ถ้าทำงานได้หลายอย่าง ก็เป็นทางมาแห่งงานได้หลายอย่าง ซึ่งแล้วแต่จะมีมา งานเช่นนี้มีมากขึ้นเท่าใดงานที่เป็นรสของอนุศาสนาจารย์แท้ๆ ก็อาจเสื่อมไปเท่านั้น เพราะบุคคลแบ่งภาคไม่ได้ ย่อมไม่สามารถที่จะทำได้ดีทุกด้านไป และเมื่องานที่เป็นรส ของอนุศาสนาจารย์เสื่อมลงแล้ว ถึงจะทำงานอื่นที่ปนเข้ามาได้ดีสักเพียงไรก็ป่วยการ เพราะงานอื่นย่อมมีเจ้าหน้าที่อื่นเป็นตัวตั้งอยู่แล้ว ถ้าอนุศาสนาจารย์ไปทำงานเช่นนั้นประจำด้วย โดยไม่จำเป็น ย่อมเป็นการสำงานสำบุคคลอย่างว่า จะได้ผลก็ต้องเป็นถี่เกินไปและห่างเกินเท่านั้น ไม่ใช่ได้อย่างพอเหมาะแก่เหตุการณ์ และถ้างานที่เป็นตัวรส (ภารกิจ) ของอนุศาสนาจารย์จริงๆ เสื่อมลงแล้ว หน้าที่ของอนุศาสนาจารย์ก็จะต้องเลือนไปโดยลำดับ จนนับไม่ได้ว่าโดยตรงนั้นมีอย่างไร ครั้นเมื่อหน้าที่เลือนไปแล้ว ตัวบุคคลก็จำเลือนไปตามกัน จนอาจกลายเป็นไม่มี โดยนัยนี้เอง เมื่อสาวเข้าไปโดยเทียบตำนานแล้ว จึงน่าสงสัยว่าอนุศาสนาจารย์ที่ว่ามีมาแล้วในคราวหนึ่งนั้นได้สูญไปโดยความเลือนแห่งรสงานหรืออย่างไร ด้วยว่าหน้าที่อนุศาสนาจารย์นั้น เฉพาะตัวงานทีเดียวยังเห็นได้ง่าย แต่ประโยชน์ของงานเห็นยากนัก เพราะเป็นนามธรรมโดยมากไม่เป็นชิ้นเป็นก้อนให้เห็นได้อย่างรูปธรรม ยิ่งตัวบุคคลมีน้อยไปไม่พอแก่เหตุที่พึงมีด้วยแล้ว ก็ยิ่งเห็นประโยชน์ได้ช้ามาก เมื่อเห็นประโยชน์ได้ยากและเนิ่นช้าดังนี้แล้ว ก็ชวนให้ทำโน่นทำนี่ที่มีประโยชน์ทันตาเห็น ครั้นงานเช่นนี้อากูลขึ้น หน้าที่ของอนุศาสนาจารย์แท้ๆ ก็ยากที่จะคงบริบูรณ์อยู่ จึงต้องเลือนไปตามงาน และถ้าซ้ำมีตัวน้อยอยู่ด้วยแล้ว ต้านทานงานหลายด้านไม่ไหวก็ต้องหมดเร็วอยู่เอง

          ในข้อ ๓ ที่ว่าให้ถามสุขทุกข์กันอย่างจริงใจนั้น คือ ไม่ใช่ ถามอย่างปราศรัยซึ่งถามแล้วก็แล้วไป เป็นการถามเพื่อจะช่วยเหลือโดยส่วนเดียว และไม่หมายความว่าให้อนุศาสนาจารย์เที่ยวถามสุขทุกข์ของทหารเรื่อยไปอย่างนั้น อันไม่เป็นกิจจะลักษณะ และไม่สะดวก ในทางการงานจริงๆ นั้น หมายเอาการรับปรับทุกข์ของทหารด้วยความจริงใจ เมื่อมีใครมาปรับทุกข์ ก็พูดจาถ่ายถามด้วยพยายามจะช่วยเหลือปลดเปลื้องให้จริงๆ ตามที่ทำได้อย่างไร และเพียงไร กองทูตทหารของเราในปารีสจึงได้บอกประกาศไปยังกองทหารไทยทุกกอง ถึงความที่มีพระบรมราชโองการดำรัสให้จัดส่งอนุศาสนาจารย์ออกไป และอนุศาสนาจารย์เป็นเพื่อนทุกข์ของทหารที่ไปทุกคน ถ้าใครมีความทุกข์ร้อนในใจอย่างไร เมื่อไม่สามารถจะแก้ไขได้โดยประการอื่น ก็ให้ปรับทุกข์กับอนุศาสนาจารย์ได้ทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้การปรับทุกข์ของทหาร จึงเป็นงานหนักอันหนึ่งในคราวนั้น แม้ทหารที่ไปจะไม่ได้พบอนุศาสนาจารย์ทั่วถึงกันก็ตาม แต่คนมากด้วยกัน ไปอยู่ในต่างถิ่นแดนของตน ในคราวที่สับสน ซึ่งผิดกันมากกับยามปกติ ทั้งบุคคลคนเดียวจะปรับทุกข์กี่ครั้งก็ได้ ผู้ที่อยู่ห่างไกล ส่งจดหมายเล่าความในใจมาปรับทุกข์ก็ได้แล้วอนุศาสนาจารย์เขียนชี้แจงตอบไป เช่นนี้ การรับปรับทุกข์จักมีน้อยเรื่องไม่ได้อยู่เองและใช้เวลาอีกต่างหาก นอกจากเวลาทำการในกองทูตทหารเป็นเปิดโอกาสให้ทุกระยะไป งานนี้จึงเพรื่อมาก แต่เป็นเหตุให้ได้ใช้อนุศาสนาจารย์มาก ได้พูดจาเฉพาะตัวในทางธรรมมากซึ่งมีทางได้เนื้อยิ่งกว่าที่ผู้นั้นจะเข้าไปรวมฟังในคราวประชุม โดยเหตุว่าการปรับทุกข์ของทหารนั้นแม้ย่อมมีได้ต่างๆ ตามเรื่องตามอารมณ์ของบุคคล จนกำหนดไม่ได้ว่าจักเป็นเรื่องอย่างไรบ้างดังนี้ก็ตาม แต่การรับปรับทุกข์ของอนุศาสนาจารย์ต้องให้เป็นไปโดยธรรมเสมอคือ มุ่งแก้เหตุในตัวของผู้ปรับทุกข์นั้นเองให้ยิ่งกว่าอย่างอื่น ไม่ใช่คอยแก้เหตุในภายนอกเป็นใหญ่ เพราะไม่มีที่สุดและหายุติในการนี้ได้ยาก จึงต้องพยายามที่สุดเพื่อให้ผู้ปรับทุกข์ได้รับประโยชน์ในทางธรรม ทั้งในโอกาสเช่นนั้น เป็นคราวที่จะพูดกันได้เต็มที่ และความทุกข์ร้อนทั้งมวลนั้นย่อมทับถมแก่ผู้เสียระเบียบในทางมากกว่าผู้อื่น ทางธรรมเท่านั้น ย่อมเป็นระเบียบอย่างดียิ่งของทางใจ และอย่างไร จึงชื่อว่ามีระเบียบในทางใจ เมื่อจำเป็นต้องทำที่ยากก็จำเป็นต้องยอมลำบากเมื่อจำเป็นต้องยอมลำบากก็จำเป็นต้องอดทน เมื่อจำเป็นต้องอดทน ก็จำเป็นต้องทำใจให้แช่มอยู่กับความอดทนเข้าไปช่วยกันตามลำดับ ตัวอย่างดังนี้เป็นต้นแหละ เรียกว่ามีระเบียบในทางใจ ต้องโน้มน้าวผู้ปรับทุกข์ในทางนี้ จึงชื่อว่าเป็นไปโดยธรรม ไม่ใช่รับปรับทุกข์ด้วยวิธีพยักพเยิด ธรรมดาผู้ปรับทุกข์ ถ้าเดือดร้อนกับใครมามักจะอดเอาเรื่องของบุคคลนั้นๆ มาประมูลไม่ใคร่ได้ ซึ่งไม่เป็นแต่เล่าเรื่องทุกข์ร้อนของตนเองตรงๆไปเช่นว่าเดือดร้อนมากับผู้บังคับบัญชา หรือเพื่อนข้าราชการด้วยกัน ก็มักจะโพนทะนาถึงบุคคลนั้นๆ อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งไม่เฉพาะแต่ปรับทุกข์ หรือถ้าไม่พูดเป็นเนื้อเป็นตัวก็ติเตียนการปกครองอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าผู้รับปรับทุกข์ได้พลอยเอออวยช่วยติเตียนส่งไปด้วยก็มักจะเป็นที่พอใจของผู้ปรับทุกข์ อย่างนี้เรียกว่าพยักพเยิด ไม่ใช่เป็นไปโดยธรรม การรับปรับทุกข์ของอนุศาสนาจารย์ย่อมไม่ใช่ดังว่านี้ ยิ่งถ้าความทุกข์ร้อนของผู้นั้นเป็นเรื่องที่จะต้องแก้ทางผู้บังคับบัญชาด้วยแล้ว ก็ยิ่งต้องระมัดระวังให้จงหนัก ถ้าเรื่องนั้นจักเป็นไปในทางเสียปกครองแล้ว ก็มีสิ่งที่อนุศาสนาจารย์จะพึงทำ แต่ต้องชี้แจงแก่ผู้ปรับทุกข์จนเข้าใจ ให้เห็นชัดว่าเป็นไปไม่ได้ ใจจะได้ยอมอยู่ในเหตุผล ซึ่งเป็นการอยู่สงบแก่ตนผู้นั้นเอง แต่ความจริงในเรื่องนี้ ยังมีอีกชนิดหนึ่ง คือ ถ้าความเดือดร้อนนั้นๆ บังเกิดขึ้นเพราะความเข้าใจของผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชาไม่บรรจบเข้าหากัน อย่างที่เรียกว่าไม่พบกันครึ่งทางดังนี้เป็นสาเหตุ  ความเป็นไปพอดีในเรื่องนั้นๆ จึงมีไม่ได้ และความเดือดร้อนก็เกิดขึ้น เมื่อมีคนกลางเข้าไปอีกคนหนึ่งช่วยสื่อสารให้ความพอดีจะเกิดขึ้นได้ และความเดือดร้อนของผู้ปรับทุกข์จักสงบได้ เช่นนี้แล้วอนุศาสนาจารย์ย่อมเป็นคนกลางช่วยเหลือได้ เพื่อสวัสดิภาพด้วยกันทั้งสองฝ่าย ในหน้าที่ข้อนี้ จึงได้ทรงมุ่งหมายให้อนุศาสนาจารย์พูดจาให้ โดยใจความก็คือเป็นคนกลางดังกล่าวมา และเหตุไรจึงต้องมีคนกลางพูดจาให้ ตามที่ได้ทราบอธิบายมาแต่ครั้งนั้นว่า เพราะปกติของทหาร มักสะทกสะท้าน ไม่สามารถจะยังถ้อยความให้บริบูรณ์
ความประสงค์ในอันจะกล่าวย่อมเสียไป หรือมิฉะนั้น เมื่อต้องพูดจากันมากเข้า ก็จะกลายเป็นความต่อนัดต่อแนงแก่กันขึ้น ถ้ามีผู้สื่อสารให้ ย่อมเป็นการระงับข้อนี้ได้ จึงได้ทรงมุ่งหมายไว้ดังนี้ ด้วยพระปรีชาญาณที่ทรงเห็นอกเห็นใจของทหารจริงๆ

          งานอันนี้อยู่ข้างยากมาก แต่ถ้าทำจริง ๆ และปฏิบัติให้ถูกต้องกับเรื่องแล้ว ย่อมระงับเหตุภายในได้มากทีเดียว เพราะความเดือดร้อนในใจ ย่อมเป็นเหมือนวัตถุระเบิดที่อัดอยู่ เมื่อไม่มีทางจะถ่ายถอนและทนไม่ไหว ก็ให้ผลร้ายได้ต่าง ๆ ยิ่งเป็นคราวคับขันเช่นในราชการครั้งนั้นด้วยแล้ว ความเดือดร้อนส่วนบุคคลก็ยิ่งมีทางเกิดได้มากมายจึงเห็นได้ว่า การที่โปรดเกล้า ฯ ให้ส่งอนุศาสนาจารย์ออกไปคราวนั้น เป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น แต่ทั้งนี้ ต้องให้เป็นไปอย่างลี้ลับ แม้ถึงในเหตุการณ์ที่จะพูดจาทางผู้บังคับบัญชาของทหารผู้ปรับทุกข์ ก็ต้องให้เป็นไปเฉพาะ เช่นเดียวกัน และเพราะเหตุที่ต้องทำโดยลี้ลับดังนี้แหละ จึงเป็นงานที่มองเห็นได้ยาก แต่อยู่ในวิสัยของผู้ใหญ่ งานอันนี้จึงได้เป็นไปแล้วในครั้งนั้นและต่อมา

          ในข้อ ๔ ที่ว่าทหารคนใดเจ็บไข้ ให้อนุศาสนาจารย์ ไปเยี่ยมปลอบโยน เอาใจนั้น ทหารที่ไป มีป่วยประจำโรงพยาบาลอยู่เสมอตั้งแต่ไปจนกลับ ไม่มีวันว่างเว้นทหารป่วย อนุศาสนาจารย์ จึงได้ถือเอาการไปโรงพยาบาล เป็นกิจวัตรอย่างหนึ่งซึ่งต้องทำเสมอ คือไปได้ในวันใด เป็นต้องไปวันนั้น ครั้นเมื่อไปเสมอ ๆ เช่นนี้แล้ว จักเยี่ยมเฉพาะแต่ทหารไทยด้วยกัน ก็ดูเป็นใจจืด จึงได้ไปเยี่ยมทหารฝรั่งด้วย เพราะทหารป่วยส่วนมากที่ส่งเข้าไปรักษาตัวในปารีสนั้น อยู่โรงพยาบาลเดียวกันกับทหารฝรั่ง

          กิจในการเยี่ยมทหารเจ็บไข้ของอนุศาสนาจารย์นั้น มิได้อยู่ที่ถามอาการกับตัวคนเจ็บว่าเป็นอย่างไร เพราะได้ทราบความจากนายแพทย์และผู้พยาบาลประจำตัวแล้ว กิจของอนุศาสนาจารย์อยู่ที่สอนคนเจ็บ ให้รู้จักจัดการในใจของตนเองในเวลาเช่นนั้น อันรวมความได้ว่า คนเจ็บนั้นๆ ได้ฟังได้รู้และทำใจอย่างใดจึงเป็นประโยชน์ อย่างยิ่งของตนในเวลานั้นได้ อนุศาสนาจารย์ก็เยี่ยม และสอนอย่างนั้น ที่ควรจะรวมกันฟังได้ นายแพทย์ก็ให้มาประชุมแห่งเดียวกัน ที่มาไม่ได้ อนุศาสนาจารย์ก็ไปเยี่ยม และให้สติเฉพาะคนเป็นเตียง ๆ ไป ที่เจ็บไข้อย่างเดียวกันและอยู่เคียงกัน อนุศาสนาจารย์ก็เข้าไปอยู่ในระหว่างแห่งเตียงทั้งสอง ให้คนเจ็บได้นอนฟังพร้อมกันไปทั้งสองคน ผลซึ่งได้ในตอนนี้ ที่ไม่เป็นแต่เพียงว่ากองทหารไทยจำเริญ ได้รับทำนุบำรุงอย่างประณีต จนถึงมีเจ้าหน้าที่คอยเยี่ยมและให้สติในยามเจ็บไข้เป็นพิเศษอีกต่างหาก นอกจากที่มีแพทย์และผู้พยาบาลประจำให้ จะเฟ้นหาผลต่างๆ ที่ว่าทำดังนี้แล้วจะได้อะไรนั้น ยากที่จะเห็นได้ แม้ตัวผู้ทำเองก็มิอาจยืนยัน นอกจากจะกล่าวไว้เพียงเป็นรายงานว่า ทหารป่วยที่กำลังกระสับกระส่ายด้วยทุกข์เวทนานั้น ได้รับเยี่ยมฟังคำสอน จนหลับได้ ซึ่งเขาตื่นขึ้นไม่ทราบว่าอนุศาสนาจารย์ถอยออกไปเมื่อไร ดังนี้ก็มี แต่ถึงอย่างนั้น ก็เป็นคราวของร่างกายที่จะเป็นเช่นนั้นได้ ส่วนคราวที่เป็นไม่ได้นั้นมีอยู่ แม้จะสอนอย่างไรก็ไม่ไหว คงเป็นไปตามเรื่องที่ร่างกายจะเป็นอยู่นั่นเอง

          ยังมีกรณีอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดเป็นงานจริงขึ้นคราวนั้น อันเนื่องมาแต่พระกรุณาคุณของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสเป็นเดิมเหตุ ความสวัสดีจึงมีแก่ทหารป่วยส่วนมากที่กล่าวแล้ว ประพฤติเหตุทางอนุศาสนาจารย์ทั้งหมด ที่เป็นส่วนการบุคคลอย่างเดียว มิได้เกี่ยวกับพระเกียรติคุณของเจ้านายนั้น จะตัดทอนออกเสียอย่างไร ถ้าไม่เสียข่าวในทางตำนานแล้วก็ทำได้ เพราะเป็นเรื่องทางเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะ ไม่อัศจรรย์อะไร แต่ถ้าเป็นข้อความแสดงพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้า  และพระเดชพระคุณของจอมพลเสนาธิการทหารบก ในราชการคราวนั้นแล้ว จักตัดทอนออกเสีย ย่อมเป็นการไม่เฉลิมพระเกียรติคุณของเจ้านาย หาสมควรไม่ แม้ในข้อนี้ก็เหมือนกัน ไม่กล่าวให้ปรากฏไม่เป็นแต่เสียข่าว ในทางตำนาน ย่อมเป็นการทิ้งพระคุณข้อนี้ที่มีแก่ทหารป่วยในคราวนั้นด้วย และถ้าไม่ทราบในที่นี้แล้ว จักหาทางทราบที่อื่นได้โดยยาก เพราะเป็นเรื่องลี้ลับชอบกลอยู่ จักกล่าวไว้พอรักษาเรื่องที่ควรจะทราบ

          ทหารไทยที่ป่วยส่วนมากนั้น เมื่อได้ย้ายมาฝากไว้ที่โรงพยาบาลลุกเซมเบิก ในปารีส ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสำหรับทหารอเมริกันในการสงครามคราวนั้น ครั้งหนึ่ง ทหารเป็นไข้นิวโมเนียถึงแก่กรรมติด ๆ กันไป ทหารป่วยเป็นอันมากต่างใจฝ่อไปตามกัน ให้หวาดหวั่นต่อมรณภัยจนขวัญเสีย เห็นโรงพยาบาลเหมือนป่าช้า และเกิดโกลาหลปั่นป่วนขึ้น ที่จะให้พ้นโรงพยาบาลนี้ไปเสียให้ได้ จึงรบเร้านายแพทย์ให้ส่งกลับยังกองเดิมของตน ๆ แม้ยังไม่หายก็ขอไป นายแพทย์จักชี้แจงปลอบโยนสักเท่าไร หาฟังไม่ นายร้อยเอก หลวงประสิทธิ์สรรพแพทย์ (อุ๋ย สุนทรหุต) ผู้บังคับหมวดพยาบาลของ    กองทหารที่ไป ซึ่งในเวลานั้นยังมิได้เรียกว่าหมวดเสนารักษ์ เป็นผู้ทำงานร่วมมือกันกับอนุศาสนาจารย์ในการเยี่ยมทหารเจ็บไข้ ได้มาแจ้งเรื่องนี้ ให้อนุศาสนาจารย์ฟังดังที่กล่าวมาแล้วนั้น และขอให้ช่วยระงับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้กับชี้แจงว่า ได้ขอผัดทหารไว้ให้สงบรออยู่ก่อน เพื่อจะมาขอให้แก้ไข จึงได้ปรึกษากันว่า ทางแก้ไขโดยตรงนั้นก็คือพูดจาชี้แจงจนเข้าใจ แต่นายแพทย์ก็ได้ช่วยกันพูดแล้วเป็นหนักหนา อนุศาสนาจารย์จักไปชี้แจงอีก เป็นการทำช้ำในข้อที่ทหารไม่ฟังแล้ว ไม่น่าจะได้ประโยชน์จึงเห็นอยู่ทางหนึ่งเท่านั้นที่ควรจะทำได้ คือตั้งพิธีทำน้ำมนต์ประพรมให้ทหารเหล่านั้นเห็น วัตถุมิ่งขวัญที่จะประสิทธิ์ให้เป็นน้ำมนต์ขึ้นนั้น ก็ได้ประทานออกมาสำหรับมีพร้อมอยู่แล้ว ขัดข้องอยู่ข้อเดียวเท่านั้น คือ อนุศาสนาจารย์เป็นฆราวาส ทหารจักไม่สนิทใจในน้ำมนต์ที่ทำว่าศักดิ์สิทธิ์ก็ไม่เป็นประโยชน์อีก แต่ผู้บังคับหมวดพยาบาลยืนยันว่า ทหารนับถือ เพราะมีความนับถือส่วนบุคคลมากอยู่แล้ว แม้ตนเองก็นับถือ ไม่มีความรังเกียจเลย การที่ฆราวาสทำน้ำมนต์นั้น หาเป็นเรื่องที่แปลกไม่  ในบ้านเมืองเราก็ทำกันถมไปจึงเป็นอันตกลงในการนี้

          เมื่ออนุศาสนาจารย์จะไปนั้น ได้ถวายบังคมลาสมเด็จพระมหาสมณเจ้าและทรงพระกรุณาโปรดให้ขึ้นเฝ้าบนตำหนักจันทร์เป็นพิเศษ ได้ประทานวัตถุเป็นมิ่งขวัญ ๓ อย่าง คือ เหรียญพระพุทธชินสีห์ เหรียญพระจตุราริยสัจ เหรียญมหาสมณุตตมาภิเษก และทรงสั่งไว้ว่า ถ้าถึงคราวจำเป็น ก็ให้นำวัตถุเหล่านี้ออกทำน้ำมนต์ได้ ทั้งทรงอธิบายไว้ด้วยว่าสีลพัตตปรามาสนั้น ถ้ามุ่งเอาเมตตากรุณาเป็นที่ตั้งแล้วยังเป็นกิจที่ควรทำ ไม่ควรจะเว้นเสียทีเดียว เหตุไรจึงได้ทรงอธิบายดังนี้ เพราะสีลพัตตปรามาสเป็นพิธีของโลกมาแต่โบราณกาลจนบัดนี้ ไม่ใช่ความดีในพระศาสนาทั้งเป็นปฏิปักษ์ต่อการทำความดีในพระศาสนาด้วย ซึ่งผู้ปฏิบัติธรรมชั้นสูงจะแตะต้องไม่ได้ทีเดียว แต่ถ้าทำด้วยอำนาจเมตตากรุณาเป็นใหญ่ ด้งที่พระสงฆ์สวดมนต์ทำน้ำมนต์นั้นเป็นต้นแล้ว ก็ไม่เป็นข้อที่เสียหาย จักอธิบายไว้ให้ละเอียด จะชักช้า จึงขอรวบรัดตัดตอนว่า เมื่อได้ตกลงกันดังนั้นแล้ว ถึงเวลากำหนด ก็อัญเชิญวัตถุมิ่งขวัญทั้ง ๓ นี้ไปยังโรงพยาบาลลุกเซมเบิก นายแพทย์ให้ทหารป่วยที่เดินได้มารวมกันในห้องทหารป่วยที่เดินไม่ได้ อนุศาสนาจารย์ยืนอยู่ ณ ท่ามกลางชุมชนนั้นซึ่งพากันเงียบกริบปราศจากเสียง ยกถ้วยน้ำขึ้นจบแล้วประคองไว้ในกระพุ่มมือตั้งสัตยาธิษฐานประกาศข้อความทำน้ำมนต์นั้นดังๆ ช้าๆ ให้ทุกคนได้ยินทุกคำอย่างกล่าวประกาศสัตยาธิษฐานที่ท่านทำกันมา ครั้นสำเร็จเป็นน้ำมนต์ขึ้นแล้ว แทนที่จะประพรมตามห้องดังได้ตกลงกันไว้ก่อนนั้น ทั้งนายแพทย์ทั้งทหารป่วยต่างกลุ้มรุมขอน้ำมนต์นั้น ดื่มบ้าง ลูบหน้าลูบศีรษะบ้าง จนไม่พอกันต้องเติมแล้วเติมเล่าเป็นหลายหน จึงได้ประพรมตามเตียงคนไข้จนทั่วห้อง เพื่อขับอุปัทวะอย่างประน้ำมนต์ขึ้นเรือนใหม่ ความปั่นป่วนของทหารไทยในโรงพยาบาลลุกเซมเบิกก็สงบแต่นั้นมา จนถึงกลับพระมหานคร

          อนุศาสนาจารย์ที่ไปคราวนั้น ได้กลับมากับกองทูตทหารถึงกรุงเทพมหานคร ในวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ กระทรวงกลาโหม ได้ตั้งกองอนุศาสนาจารย์ขึ้นในเดือนนั้นทันที มีข้อความแจ้งอยู่ในสำเนาคำสั่งสำหรับทหารบกเรื่องตั้งกองอนุศาสนาจารย์ หมายเลข ๔ มีข้อปรารภแจ้งอยู่ในสำเนาคำกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต หมายเลข ๕ และขอโอนตัวบุคคลจากกระทรวงธรรมการมาเป็นหัวหน้ากอง มีเหตุผลแจ้งอยู่ในสำเนาหนังสือขอโอนของกระทรวง หมายเลข ๖ แล้ว กองอนุศาสนาจารย์ที่ตั้งขึ้นนี้ สังกัดอยู่ในกรมตำราทหารบก ซึ่งเป็นกรมขึ้นของกรมเสนาธิการทหารบกในเวลานั้น มีข้อบังคับสำหรับทหารบกว่าด้วยกองอนุศาสนาจารย์ แจ้งอยู่ในสำเนาข้างท้ายนี้ตอน หมายเลข ๗ ซึ่งในที่นี้เรียกว่าข้อบังคับเดิม เพราะบัดนี้ไม่ใช้แล้ว คำกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตตั้งกองอนุศาสนาจารย์ขึ้นก็ดี คำขอโอนตัวบุคคลจากกระทรวงธรรมการ และข้อบังคับนั้นก็ดี จอมพล เสนาธิการทหารบกทรงร่างเองทั้งนั้น สมุหนามแห่งงานส่วนใหญ่ของกรมตำราทหารบกแต่ก่อนนั้นเป็นกองบ้าง เป็นแผนกบ้าง ต่าง ๆ กัน เจ้าหน้าที่จึงได้บัญญัติให้เป็นแผนกเหมือนกันหมด กองอนุศาสนาจารย์จึงเป็นแผนกในกรมนั้น เรียกว่า แผนกอนุศาสนาจารย์ และแผนกเหล่านั้นที่เรียกตามลำดับเลขก็มี คือ แผนกที่ ๑ แผนกที่ ๒ เรียกตามใจความก็มี คือ แผนกอนุศาสนาจารย์ แผนกห้องสมุดกระทรวงกลาโหม ไม่เหมือนกันเช่นนี้ เจ้าหน้าที่จึงได้เปลี่ยนบัญญัติอีกให้เรียกตามลำดับเลขเหมือนกันหมดตั้งแต่แผนกที่ ๑ ถึงแผนกที่ ๔ และแผนกอนุศาสนาจารย์เป็นแผนกที่ ๓ ในกรมนั้น ต่อมากรมตำราทหารบกได้ทำประมวญข้อบังคับสำหรับทหารบกขึ้น กระทรวงกลาโหมสั่งให้ใช้ประมวญนั้น และยกเลิกบรรดาข้อบังคับ สำหรับทหารบกซึ่งแยกอยู่ต่าง ๆ เสีย ข้อบังคับว่าด้วยกองอนุศาสนาจารย์ ซึ่งตราขึ้นไว้แต่เดิมนั้น จึงเป็นอันไม่ต้องใช้เพราะต้องแก้ความเดิมมาโดยลำดับ และในที่สุดได้มีในประมวญแล้ว แต่เพื่อให้ทราบความเดิมว่าเป็นมาอย่างไร จึงได้รักษาไว้ในเรื่องนี้ ถึง พ.ศ. ๒๔๖๙ เลิกกรมตำราทหารบก และจำหน่ายแผนกในกรมนั้นไปไว้ในกรมนั้นๆ ตามเหมาะสมแก่งาน ส่วนแผนกที่ ๓ จำหน่ายมาไว้ในกรมยุทธศึกษาทหารบก ยกมาแต่วันที่ ๕ ตุลาคม ศกนั้น ประจวบกับเป็นคราวที่กรมนี้เริ่มเปลี่ยนสมุหนามของประเภทงานให้เรียกว่ากองเหมือนกันหมด แผนกที่ ๓ ที่ยกมา จึงเป็นกองอนุศาสนาจารย์ในกรมยุทธศึกษาทหารบก

          เรื่องนี้ ยังขาดข่าวในทางตำนานอยู่หลายประการ แต่เป็นเรื่องที่เร่งรัดต้องทำด้วยเวลาจำกัดจึงเป็นยุติว่า กองอนุศาสนาจารย์ได้มีขึ้นในกรมยุทธศึกษาทหารบก ด้วยประการดังนี้


เอกสารหมายเลข ๑

รายงานของเสนาบดีกระทรวงธรรมการ

ส่งขึ้นทูลเกล้าถวาย

———————

หมายเลขที่ ๖/๑๘๖๕ ลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๔๖๑

ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวาย

ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

          เนื่องจากพระราชปรารภว่า ในงานพระราชสงครามครั้งนี้ ซึ่งได้โปรดเกล้าฯ ให้ส่งกองทหารไปช่วยราชสัมพันธมิตรกระทำการสงครามแล้ว ควรจะมีราชบัณฑิตเป็นอนุศาสนาจารย์ออกไปกับกองทัพตามโบราณราชประเพณี ทรงพระราชดำริว่า รองอำมาตย์ตรี อยู่ เปรียญ เดิมเป็นพระอมราภิรักขิต พระคณาจารย์เอก บัดนี้รับราชการอยู่ในกรมราชบัณฑิตกระทรวงธรรมการ ควรสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งนี้ได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มีพระราชดำรัสสั่งให้ข้าพระพุทธเจ้านำความไปกราบทูลสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ  เจ้าฟ้ากรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ เสนาธิการทหารบก ข้าพระพุทธเจ้ารับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ แล้วกลับไปถึงกรุงเทพฯ (เวลานั้นประทับอยู่ ณ หาดเจ้าสำราญ จังหวัดเพชรบุรี ท่านเสนาบดีไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระบรมราชโองการที่นั่น) ได้รีบไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ พระองค์ท่านทรงเห็นเป็นประโยชน์โดยอเนกประการ ทรงรับจัดการที่จะส่ง รองอำมาตย์ตรี อยู่ เปรียญ ตามกองทหารออกไปยังประเทศยุโรป ส่วนการแต่งกายนั้น ทรงเห็นว่าควรแต่งเป็นราชบัณฑิตตามหน้าที่นั้นเอง

          ข้าพระพุทธเจ้าได้แจ้งข้อพระราชประสงค์ให้รองอำมาตย์ตรี อยู่  เปรียญ ทราบเกล้าฯ แล้ว รองอำมาตย์ตรี อยู่ เปรียญ มีความยินดีเป็นล้นเกล้าฯ และตั้งใจสนองพระเดชพระคุณเต็มกำลังความสามารถ ข้าพระพุทธเจ้าได้พาตัวไปเฝ้าพระเจ้าน้องยาเธอด้วยแล้ว รองอำมาตย์ตรี อยู่ เปรียญ พึ่งได้รับพระราชทานยศชั้นข้าราชการสัญญาบัตรเป็นชั้นแรกเท่านั้น

          ทั้งนี้ จะควรประการใดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

ขอเดชะ

ข้าพระพุทธเจ้า (ลงนาม) เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี

จางวางเอก

เสนาบดีกระทรวงธรรมการ


เอกสารหมายเลข ๒

สำเนาบันทึกพระราชดำรัสเหนือเกล้าฯ

ตรัสสั่งเสียอนุศาสนาจารย์ เพื่อถวายบังคมลาตามกองทหารออกไป

……………………

          “นี่แน่ะ เจ้าเป็นผู้ที่ข้าได้เลือกแล้ว เพื่อให้ไปเป็นผู้สอนทหาร ด้วยเห็นว่า เจ้าเป็นผู้สามารถที่จะสั่งสอนทหารได้ ตามที่ข้าได้รู้จักชอบพอกับเจ้ามานานแล้ว เพราะฉะนั้น ขอให้เจ้าช่วยรับธุระของข้า ไปสั่งสอนทหารทางโน้น ตามแบบอย่างที่ข้าได้เคยสอนมาแล้ว เจ้าก็คงจะได้เห็นแล้วไม่ใช่หรือ (กราบบังคมทูลสนอง) เออ นั่นแหละ ข้าขอฝากให้เจ้าช่วยสั่งสอนอย่างนั้นด้วย เข้าใจละนะ” (รับด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมและกราบถวายบังคม)


เอกสารหมายเลข ๓

รายงานของหัวหน้าทูตทหาร

……………………..

ที่ ๘๙/๒๐๖

ที่ว่าการกองทูตทหาร กรุงปารีส

                                                       วันที่ ๙ ตุลาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๑

          ข้าพระพุทธเจ้านายพลตรีพระยาพิไชยชาญฤทธิ์ หัวหน้าทูตทหารขอพระราชทานกราบบังคมทูล จอมพล สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ เสนาธิการทหารบก ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท

          ลายพระหัตถ์ ที่ ๑๐/๒๑๓๙ ลงวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ศกนี้ ความว่า มีพระบรม  ราชโองการดำรัสสั่งให้จัดส่ง รองอำมาตย์ตรี อยู่ อุดมศิลป์ กรมราชบัณฑิตกระทรวงธรรมการ ออกไปเป็นอนุศาสนาจารย์ (Aumonier) ประจำกองทหารซึ่งไปราชการนอกพระราชอาณาเขต และโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับราชการอยู่ในกองทูตทหาร กับกำหนดหน้าที่ให้ รองอำมาตย์ตรี  อยู่ อุดมศิลป์ ปฏิบัติ มีข้อความหลายประการแจ้งอยู่ในลายพระหัตถ์ฉบับนั้นแล้ว

          รองอำมาตย์ตรี อยู่ อุดมศิลป์ ได้ไปถึงปารีสเมื่อ วันที่ ๕ เดือนนี้ ด้วยความสวัสดิภาพ ข้าพระพุทธเจ้าจะได้กำหนดหน้าที่ และบรรจุเข้ารับราชการตามพระราชประสงค์ทุกประการ

ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

ข้าพระพุทธเจ้า นายพลตรี พระยาพิไชยชาญฤทธิ์

หัวหน้าทูตทหาร


เอกสารหมายเลข ๔

สำเนา

คำสั่งสำหรับทหารบก

เรื่อง

ตั้งกองอนุศาสนาจารย์ และบรรจุตำแหน่งหัวหน้าอนุศาสนาจารย์

…………………………

ที่ ๕๘/๔๐๙๗                                                

ศาลาว่าการกลาโหม ในพระนคร

วันที่ ๒๗ พฤษภาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๒

          มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ตั้งกองอนุศาสนาจารย์ขึ้นในทหารบก มีหน้าที่ดังปรากฏในข้อบังคับสำหรับทหารบก ว่าด้วยกองอนุศาสนาจารย์นั้น

          ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ รองอำมาตย์ตรี อยู่ อุดมศิลป์ เป็นหัวหน้าอนุศาสนาจารย์ และพระราชทานยศเลื่อนเป็นรองอำมาตย์เอก

          เพราะฉะนั้น ให้รองอำมาตย์เอก อยู่ อุดมศิลป์ เข้าประจำรับราชการตามตำแหน่ง รับเงินเดือน ๑๓๕ บาท แต่วันที่ ๑ มิถุนายน ศกนี้

(ลงชื่อ) จอมพล เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต

เสนาบดีกระทรวงกลาโหม

สำเนาคำสั่งสำหรับทหารบกฉบับนี้ตรวจถูกต้องกับฉบับเดิมแล้ว

(ลงชื่อ) นายพันเอก พระยาสุรเสนา

ปลัดกรมเสนาธิการทหารบก


เอกสารหมายเลข ๕

คำกราบบังคมทูลพระกรุณา

ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ตั้งกองอนุศาสนาจารย์ขึ้นในกองทัพบก

………………………….

ที่ ๑๙/๓๐๘๐                                                                                                           

(ส.ท.๑๒๔๔)

ศาลาว่าการกลาโหม ในพระนคร

วันที่ ๑๖ พฤษภาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๒

ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าฯ

          ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดส่ง รองอำมาตย์ตรี อยู่ อุดมศิลป์ ออกไปทำการในตำแหน่งอนุศาสนาจารย์สมทบกับกองทหาร ซึ่งไปราชการสงครามนอกพระราชอาณาเขตนั้น สังเกตว่าเป็นการมีประโยชน์ดีอย่างยิ่งในทางบำรุงน้ำใจทหาร สมควรจัดตั้งกองอนุศาสนาจารย์ขึ้นเป็นกองประจำในกองทัพบก และสมควรให้รองอำมาตย์ตรี อยู่ อุดมศิลป์ ได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณต่อไป ในตำแหน่งหัวหน้าอนุศาสนาจารย์ ถ้าทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วยแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ตั้งกองอนุศาสนาจารย์ขึ้นตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ศกนี้ และขอพระราชทานให้ รองอำมาตย์ตรี อยู่ อุดมศิลป์ ได้เลื่อนยศขึ้นเป็นรองอำมาตย์เอก เพื่อให้มียศสูงพอสมควรแก่ตำแหน่ง

ควรมิควรสุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

ขอเดชะ

ข้าพระพุทธเจ้า จอมพล (ลงนาม) เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต

เสนาบดีกระทรวงกลาโหม

ได้ทรงหมายเหตุไว้ในร่างว่า

          “เรื่องนี้ ที่จริง ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว และทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วยแล้ว นี่เป็นการกราบบังคมทูลตามระเบียบเท่านั้น”


เอกสารหมายเลข ๖

จดหมายขอโอนตัวบุคคลมาเป็นหัวหน้าอนุศาสนาจารย์

…………………………..

ที่ ๗/๒๗๘๓                                                   

ศาลาว่าการกลาโหม ในพระนคร

วันที่ ๙ พฤษภาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๒

เรียน จางวางเอก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงธรรมการทราบ

          ตามที่ รองอำมาตย์ตรี อยู่ อุดมศิลป์ ข้าราชการกรมราชบัณฑิต ได้ออกไปรับราชการในตำแหน่งอนุศาสนาจารย์ในกองทหาร ณ ทวีปยุโรป ตามกระแสพระบรมราชโองการนั้น ทำให้รู้สึกว่าการมีอนุศาสนาจารย์สำหรับสั่งสอนและรับความปรับทุกข์ของทหารนั้น เป็นประโยชน์ดีอย่างยิ่งแก่ราชการ สมควรจักให้มีกองอนุศาสนาจารย์ขึ้นในกองทัพบกในกรุงสยาม จอมพล สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ เสนาธิการทหารบก ได้ทรงนำความข้อนี้ขึ้นกราบบังคับทูลพระกรุณา และกราบทูลหารือในสมเด็จพระมหาสมณะ ก็ทรงพระดำริเห็นชอบด้วยทั้ง ๒ พระองค์ เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าขอโอน รองอำมาตย์ตรี อยู่ อุดมศิลป์ มารับราชการในกระทรวงกลาโหม แต่วันที่ ๑ มิถุนายน ศกนี้ เงินเดือนประจำเดือนพฤษภาคม ศกนี้ ขอให้กระทรวงธรรมการจ่ายอีกเดือน ๑ เงินเดือนประจำเดือนมิถุนายน จะจ่ายทางกระทรวงกลาโหม

          ในโอกาสนี้ ขอแสดงความนับถือย่างสูง

(ลงนาม) จอมพล เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต

เสนาบดีกระทรวงกลาโหม


เอกสารหมายเลข ๗

ข้อบังคับเดิม

ข้อบังคับสำหรับทหารบก ว่าด้วยกองอนุศาสนาจารย์

          ข้อ ๑ ให้มีกองอนุศาสนาจารย์อยู่ในกรมตำราทหารบก มีหัวหน้าอนุศาสนาจารย์เป็นประธาน เป็นตำแหน่งเทียบชั้นหัวหน้าแผนกในกรมตำราทหารบก ขึ้นตรงต่อเจ้ากรม ตำราทหารบก และให้มีอนุศาสนาจารย์ประจำอีกตามที่จะหาบุคคลที่เหมาะสมได้ต่อไป ในเวลานี้ยังไม่กำหนดแน่ว่าให้มีกี่คน

          ข้อ ๒ อนุศาสนาจารย์ทั้งปวง แต่งตัวอย่างนายทหารบกชั้นสัญญาบัตรชนิดทหารราบ แต่ใช้อินทรธนูอย่างข้าราชการกลาโหมพลเรือน และไม่ใช้กระบี่กับทั้งให้มีปลอกแขนกว้าง ๗ เซนติเมตร ทำด้วยสักหลาดสีเหลืองพันรอบแขนเสื้อเบื้องซ้ายในตอนระหว่างไหล่กับข้อศอก

          ข้อ ๓ อนุศาสนาจารย์มีหน้าที่ปฏิบัติการ ดังจะกล่าวต่อไปนี้

               ๑. ช่วยราชการในกรมตำราทหารบก ตามแต่เจ้ากรมตำราทหารบกจะกำหนดให้

               ๒. ต้องไปเยี่ยมเยือนทหารในกรมกองต่างๆ ทั่วพระราชอาณาเขตเป็นครั้งคราว ตามที่จักได้วางแผนโดยละเอียดต่อไปว่าผู้ใดไปแห่งใดเมื่อใด เมื่อไปถึงที่ตั้งกรมใดแล้ว ต้องทำความตกลงกับผู้บังคับบัญชาทหารในที่นั้น ให้ได้ทำการบรรยาย ในที่ประชุมทหาร หรือถ้ามีทหารคนใดต้องการพบพูดจากับอนุศาสนาจารย์เฉพาะตัว ก็ต้องพบพูดจาสนทนาด้วยจงทุกคนที่ได้แสดงความประสงค์เช่นนั้น เมื่อยังไม่เสร็จกิจจะรีบกลับมาเสียก่อนไม่ได้เป็นอันขาด

               ๓.ในการที่ไปเยี่ยมทหารตามความที่ว่ามาแล้ว ในตอน หมายเลข ๒ นั้น อนุศาสนาจารย์ต้องกระทำตนให้ทหารนับถือและไว้วางใจ แล้วก็ชักจูงส่งเสริมให้ทหารตั้งมั่นอยู่ในความประพฤตอันดี มีจรรยาและมรรยาทอันงาม กับให้ผู้ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาตามบรรพบุรุษของตนนั้น มีความศรัทธาเชื่อมั่นยิ่งขึ้นในธรรมะของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่มีหน้าที่ชักจูงให้ผู้’ซึ่งนับถือลัทธิความเชื่อถืออย่างอื่นกลับมาถือพระพุทธศาสนาหามิได้ เพราะราชการมิได้ประสงค์จะบังคับน้ำใจผู้ใดในทางลัทธิความเชื่อ ทั้งถ้าทหารผู้ใดมีความทุกข์ร้อนอย่างใด และประสงค์จะปรับทุกข์กับอนุศาสนาจารย์ ให้อนุศาสนาจารย์ฟังคำปรับทุกข์ พยายามปลดเปลื้องความทุกข์ด้วยโอวาทของตน หรือเมื่อเห็นว่าพ้นความสามารถที่ตนจะปลดเปลื้องได้แต่ผู้บังคับบัญชาของทหารน่าจะปลดเปลื้องได้ ก็ให้บอกเล่าชี้แจงแก่ผู้บังคับบัญชานั้น ๆ

               ๔. เมื่อกลับจากไปเยี่ยมทหารครั้ง ๑  ต้องทำรายงานเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึงเสนาธิการทหารบก ว่าได้ทำการอย่างไรบ้าง

               ๕. ต้องรักษาความรู้ในกิจการซึ่งตนได้รับบอกเล่าตามหน้าที่นั้น ไว้เป็นความลับเสมอ นามบุคคลซึ่งได้ปรับทุกข์กับตนไม่ว่าในเรื่องใด ๆ จะบอกเล่ากับผู้ใดไม่ได้

          ข้อ ๔ หัวหน้าอนุศาสนาจารย์ มีหน้าที่เช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้วในข้อ ๒ กับทั้งต้องเป็นผู้ฝึกสอนอบรมอนุศาสนาจารย์ทั้งปวง ให้ปฏิบัติในหน้าที่ของตนให้ถูกต้องเรียบร้อย และเป็นผู้ทำความเห็นเสนอเจ้ากรมตำราทหารบก เพื่อวางแผนว่าอนุศาสนาจารย์คนใดต้องไป ณ กรมทหารแห่งใด เมื่อใด

          ข้อ ๕ ผู้บังคับบัญชาทหารทั้งปวง ต้องเข้าใจชัดว่า อนุศาสนาจารย์นั้นเป็นผู้ช่วยของตนในการอบรมทหารให้อยู่ในความประพฤติ และจรรยามารยาทอันดีงาม ช่วยปลดเปลื้องความขัดข้องกังวลในใจของทหาร ช่วยสดับตรับฟังแล้วชี้แจงความทุกข์ร้อนของทหารให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ต้องอย่าให้เข้าใจไปว่าอนุศาสนาจารย์นั้น เป็นจารบุรุษสำหรับไปสืบความบกพร่องในกรมกองทหารใต้บังคับบัญชาของตน ตรงกันข้ามผู้บังคับบัญชาทหารต้องยึดถือโอกาสเมื่ออนุศาสนาจารย์ไปที่กรม สำหรับขอร้องให้อนุศาสนาจารย์ช่วยตนในทางบำรุงน้ำใจทหาร เพราะฉะนั้น ผู้บังคับบัญชาทหารมีหน้าที่ปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

               ๑. เมื่ออนุศาสนาจารย์ไปถึงที่ตั้งกองพลหรือกรมทหารกรมใด ให้ผู้บังคับบัญชากองพล หรือผู้บังคับการกรม กำหนดให้อนุศาสนาจารย์ได้แสดงคำสั่งสอนแก่ทหารเป็นส่วนรวม ๑ ครั้ง หรือหลายครั้งตามแต่จะตกลงกัน

               ๒. ให้ประกาศแก่บรรดาทหารว่า ผู้ใดต้องการพบพูดจาสนทนากับอนุศาสนาจารย์เฉพาะตัว ก็ให้บอกแก่ผู้บังคับบัญชาของตน แล้วผู้บังคับบัญชาจัดการให้ได้สนทนาสมประสงค์

               ๓. เมื่อผู้บังคับบัญชาเห็นว่าทหารคนใด ไม่ว่านายหรือพลชวนจะบกพร่อง ในทางจรรยาความประพฤติ สมควรจะได้รับความสั่งสอนตักเตือนเป็นพิเศษ ก็ให้นำตัวทหารผู้นั้นมาให้อนุศาสนาจารย์สั่งสอนเฉพาะตัว

          ข้อ ๖ ให้ใช้ข้อบังคับนี้ แต่วันที่ ๑ มิถุนายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๒ และให้เสนาธิการทหารบก เป็นผู้รักษาดูแลให้การดำเนินการไปตามที่บัญญัติไว้นี้

(ลงนาม) จอมพล เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต

เสนาบดีกระทรวงกลาโหม

ศาลาว่าการกลาโหม ในพระนคร

วันที่ ๒๗ พฤษภาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๒


เอกสารหมายเลข ๘

คำสั่งกองทัพบก

ที่ ๔๑๖/๑๒๕๖๙

เรื่อง โอนกองอนุศาสนาจารย์

……………………….

          ด้วยตามพระราชกฤษฎีกาการจัดวางระเบียบราชการกองทัพบก ในกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๔๙๑ ได้กำหนดหน้าที่กรมสวัสดิการทหารบก ให้มีหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมสวัสดิภาพของทหารและฌาปนกิจ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (๑๔ ก.ย. ๙๑) เป็นต้นไป

          เพื่อปรับปรุงให้งานสอดคล้องกัน จึงให้โอนกิจการของกองอนุศาสนาจารย์ รร. นายร้อยพระจุลจอมเกล้า ไปขึ้นในบังคับบัญชากรมสวัสดิการทหารบก ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

          สั่ง ณ วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๙๑

(ลงชื่อ) พล.ท. ผ. ชุณหะวัณ

ผบ.ทบ.


เอกสารหมายเลข ๙

คำสั่งกองทัพบก

ที่ ๓๔๗/๒๔๖๓๓

เรื่อง การโอนบังคับบัญชากองอนุศาสนาจารย์และฌาปนกิจ

………………………….

          ด้วยกระทรวงกลาโหมได้มีคำสั่งกระทรวงกลาโหม (เฉพาะ) ที่ ๖๙/๒๐๖๒๓ สั่ง ณ วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ ให้แก้ข้อบังคับทหาร ว่าด้วยกำหนดกำลังเจ้าหน้าที่กองทัพบกในเวลาปกติ ๙๑ คือ ให้ยกเลิกอัตรา กองอนุศาสนาจารย์และฌาปนกิจในกรมสวัสดิการทหารบก (เฉพาะอัตราหัวหน้ากอง และแผนกอนุศาสนาจารย์) และให้ตั้งอัตรากองอนุศาสนาจารย์ขึ้นในกรมยุทธศึกษาทหารบก

          ฉะนั้น จึงให้กรมสวัสดิการทหารบก โอนการบังคับบัญชากองอนุศาสนาจารย์และฌาปนกิจ (เฉพาะอัตราหัวหน้ากอง และแผนกอนุศาสนาจารย์) ให้แก่ กรมยุทธศึกษาทหารบก เพื่อจัดตั้งเป็นกองอนุศาสนาจารย์ต่อไป ส่วนแผนกศึกษาและแผนกฌาปนกิจ คงให้เป็นแผนกขึ้นตรงต่อกรมสวัสดิการทหารบก

          ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

สั่ง  ณ  วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๔๙๙

(ลงชื่อ) จอมพล ส. ธนะรัชต์

ผบ.ทบ.


๑. ประวัติและวิวัฒนาการของอนุศาสนาจารย์ทหารบก

          ในปีพุทธศักราช ๒๔๖๑  พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๖ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงกลาโหมจัดส่งกองทหารอาสาไปช่วยราชสัมพันธมิตรในงานพระราชสงคราม ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ทรงพระราชปรารภว่า กองทหารที่โปรดเกล้าฯ ให้ส่งไปแล้วนั้นเป็นอันได้จัดดีทุกสิ่งสรรพ์  แต่ยังขาดสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่ง คือ อนุศาสนาจารย์ที่จะเป็นผู้ปลุกใจทหาร หาได้จัดส่งไปด้วยไม่  จึงทรงเลือก อำมาตย์ตรี พระธรรมนิเทศทวยหาญ  ซึ่งในเวลานั้นเป็นรองอำมาตย์ตรีอยู่  อุดมศิลป์  รับราชการอยู่ในกรมราชบัณฑิต กระทรวงธรรมการ ให้เป็นอนุศาสนาจารย์ตามกองทหารออกไปยังประเทศยุโรป โดยทรงมีพระราชปรารภว่า “ทหารที่จากบ้านเมืองไปคราวนี้ ต้องไปอยู่ในถิ่นไกล  ไม่ได้พบเห็นพระเหมือนเมื่ออยู่ในบ้านเมืองของตน จิตใจจะห่างเหินจากทางธรรม ถึงยามคะนองก็จะฮึกเหิมเกินไป เป็นเหตุให้เสื่อมเสีย ไม่มีใครจะคอยให้โอวาทตักเตือน ถึงคราวทุกข์ร้อน ก็จะอาดูรระส่ำระสาย ไม่มีใครจะช่วยปลดเปลื้องบรรเทาให้ ดูเป็นการว้าเหว่น่าอนาถ ถ้ามีอนุศาสนาจารย์ออกไปจะได้คอยอนุศาสน์พร่ำสอนและปลอบโยนปลดเปลื้องในยามทุกข์”

          ทรงกำหนดหน้าที่ให้อนุศาสนาจารย์ปฏิบัติในกองทหารดังนี้

          ๑. ให้ทำการอยู่ในกองทูตทหาร

          ๒. ส่งตัวไปเยี่ยมเยียนทหารในที่ต่างๆ ซึ่งทหารแยกย้ายกันอยู่นั้นเนืองๆ เพื่อสั่งสอนตักเตือนในทางพระพุทธศาสนาและทางจรรยาความประพฤติ

          ๓. ให้ถามสุขทุกข์กันอย่างใจจริง  ทั้งให้คอยรับธุระต่างๆ ของทหาร เช่น จะส่งมาถึงญาติของตนในกรุงสยาม หรือส่งเงินส่งของมาให้  ให้รับธุระทุกอย่าง

          ๔. ทหารคนใดเจ็บไข้ ให้อนุศาสนาจารย์ไปเยี่ยมปลอบโยนเอาใจ

          ๕. ถ้ามีเหตุอันไม่พึงประสงค์ที่ทหารคนใดถึงแก่ความตาย ให้อนุศาสนาจารย์ทำพิธีเทศนาอ้างพระธรรมตามแบบสังฆปฏิบัติในขณะฝังศพ

          การปฏิบัติภารกิจของอนุศาสนาจารย์ในการพระราชสงครามครั้งนั้นมีประโยชน์ดีอย่างยิ่งในทางบำรุงน้ำใจทหาร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ตั้งกองอนุศาสนาจารย์ขึ้นในทหารบก สังกัดอยู่ในแผนกที่ ๓ กรมตำราทหารบก ตั้งแต่ วันที่ ๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๖๒   มีหน้าที่ดังปรากฏในข้อบังคับสำหรับทหารบก ว่าด้วย กองอนุศาสนาจารย์นั้น

          ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ รองอำมาตย์ตรี อยู่  อุดมศิลป์ เป็นหัวหน้าอนุศาสนาจารย์และพระราชทานเลื่อนยศเป็น รองอำมาตย์เอก

          พ.ศ.๒๔๖๙ ทางราชการได้ยุบกรมตำราทหารบก โอนแผนกที่ ๓ กองอนุศาสนาจารย์ไปสังกัดกรมยุทธศึกษาทหารบก  เรียกว่า แผนกอนุศาสนาจารย์

          พ.ศ.๒๔๘๘ ทางราชการยุบกรมยุทธศึกษาทหารบก เป็นโรงเรียนนายร้อยทหารบก แผนกอนุศาสนาจารย์ ก็เป็นอันถูกยุบไปด้วย  และมีอนุศาสนาจารย์กองทัพบกเหลืออยู่เพียง ๗ นายประจำอยู่โรงเรียนนายร้อยทหารบก ๒ นาย  เรียกว่า อนุศาสนาจารย์โรงเรียนนายร้อยทหารบก  ส่วนอีก ๕ นาย  ไปประจำอยู่ที่มณฑลทหารบกที่ ๑ – ๕

          พ.ศ.๒๔๙๑ ทางราชการโอนกิจการอนุศาสนาจารย์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ไปขึ้นการบังคับบัญชาในแผนกที่ ๓ กรมสวัสดิการทหารบก

          พ.ศ.๒๔๙๓ เกิดสงครามระหว่างประเทศเกาหลีเหนือและประเทศเกาหลีใต้ สหประชาชาติได้มีมติให้ส่งทหารไปช่วยประเทศเกาหลีใต้ทำการร่วมรบเพื่อต่อสู้กับประเทศเกาหลีเหนือผู้รุกราน  ประเทศไทยจึงได้จัดส่งกำลังทหารไปทำการร่วมรบกับสหประชาชาติ  เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๙๓  และได้จัดส่งอนุศาสนาจารย์ผลัดเปลี่ยนกันไปปฏิบัติหน้าที่ ณ ประเทศเกาหลี

          พ.ศ.๒๔๙๖ กองทัพบกได้ออกระเบียบกำหนดหน้าที่ส่วนราชการในกองทัพบกใหม่ ให้กองอนุศาสนาจารย์  ได้รับการปรับปรุงขึ้นเป็นกอง  เรียกว่ากองอนุศาสนาจารย์และฌาปนกิจ กรมสวัสดิการทหารบก

          พ.ศ.๒๔๙๙ กระทรวงกลาโหม  ให้ยกเลิกอัตรากองอนุศาสนาจารย์และฌาปนกิจ กรมสวัสดิการทหารบก และให้ตั้งกองอนุศาสนาจารย์ขึ้นในกรมยุทธศึกษาทหารบก นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กิจการอนุศาสนาจารย์ก็ได้รับการพัฒนาให้เจริญรุ่งเรืองมาตามลำดับ เพื่อตอบสนองภารกิจของกองทัพบก

          พ.ศ.๒๕๒๘ กองทัพบก ให้โอนกองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารบก ไปขึ้นการบังคับบัญชากับ กรมกิจการพลเรือนทหารบก เป็นกองอนุศาสนาจารย์ กรมกิจการพลเรือนทหารบก เพื่อสนองงานด้านกิจการพลเรือนของกองทัพบกอีกส่วนหนึ่ง

          พ.ศ.๒๕๔๔  กองทัพบก ให้โอนกองอนุศาสนาจารย์ กรมกิจการพลเรือนทหารบก กลับไปขึ้นการบังคับบัญชากับ กรมยุทธศึกษาทหารบก ตามเดิมจนถึงปัจจุบัน

๒. ข้อบังคับสำหรับทหารบก ว่าด้วยกองอนุศาสนาจารย์

          ภารกิจของอนุศาสนาจารย์เมื่อได้ตั้งกองอนุศาสนาจารย์ขึ้นในกองทัพบก  เป็นไปตามข้อบังคับสำหรับทหารบก ว่าด้วยกองอนุศาสนาจารย์ (ข้อบังคับเดิม) ประกาศเมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๖๒  โดยกระทรวงกลาโหม ดังนี้

          ข้อ ๑ ให้มีกองอนุศาสนาจารย์อยู่ในกรมตำราทหารบก มีหัวหน้าอนุศาสนาจารย์เป็นประธาน  เป็นตำแหน่งเทียบชั้นหัวหน้าแผนกในกรมตำราทหารบก ขึ้นตรงต่อเจ้ากรมตำราทหารบก และให้มีอนุศาสนาจารย์ประจำอีกตามที่จะหาบุคคลที่เหมาะสมได้ต่อไป ในเวลานี้ยังไม่กำหนดแน่ว่าให้มีกี่คน

          ข้อ ๒ อนุศาสนาจารย์ทั้งปวงแต่งตัวอย่างนายทหารบกชั้นสัญญาบัตรชนิดทหารราบ    แต่ใช้อินทรธนูอย่างข้าราชการกลาโหมพลเรือน และไม่ใช้กระบี่กับทั้งให้มีปลอกแขนกว้าง ๗ เซนติเมตรทำด้วยสักหลาดสีเหลืองพันรอบแขนเสื้อเบื้องซ้าย ในตอนระหว่างไหล่กับข้อศอก

          ข้อ ๓ อนุศาสนาจารย์มีหน้าที่ปฏิบัติการดังจะกล่าวต่อไปนี้

               ๑. ช่วยราชการในกรมตำราทหารบก ตามแต่เจ้ากรมตำราทหารบกจะกำหนดให้

               ๒. ต้องไปเยี่ยมเยียนทหารในกรมกองต่างๆ ทั่วพระราชอาณาเขตเป็นครั้งคราว ตามที่จักได้วางแผนโดยละเอียดต่อไปว่าผู้ใดไปแห่งใดเมื่อใด เมื่อไปถึงที่ตั้งกรมใดแล้ว ต้องทำความตกลง กับผู้บังคับบัญชาทหารในที่นั้น  ให้ได้ทำการบรรยายในที่ประชุมทหาร  หรือถ้ามีทหารคนใดต้องการพบพูดจากับอนุศาสนาจารย์เฉพาะตัวก็ต้องพบพูดจาสนทนาด้วยจงทุกคนที่ได้แสดงความประสงค์เช่นนั้น  เมื่อยังไม่เสร็จกิจจะรีบกลับมาเสียก่อนไม่ได้เป็นอันขาด

               ๓. ในการที่ไปเยี่ยมทหารตามความที่ว่ามาแล้วในตอนหมายเลข ๒ นั้น  อนุศาสนาจารย์ต้องกระทำตนให้ทหารนับถือและไว้วางใจ  แล้วก็ชักจูงส่งเสริมให้ทหารตั้งมั่นอยู่ในความประพฤติอันดี มีจรรยาและมรรยาทอันงาม  กับให้ผู้ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาตามบรรพบุรุษของตนนั้น  มีความศรัทธาเชื่อมั่นยิ่งขึ้นในธรรมะของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  แต่ไม่มีหน้าที่ชักจูงให้ผู้ซึ่งนับถือลัทธิความเชื่อถืออย่างอื่นกลับมานับถือพระพุทธศาสนาหามิได้  เพราะราชการมิได้ประสงค์จะบังคับน้ำใจผู้ใดในทางลัทธิความเชื่อ  ทั้งถ้าทหารผู้ใดมีความทุกข์ร้อนอย่างใด และประสงค์จะปรับทุกข์กับอนุศาสนาจารย์  ให้อนุศาสนาจารย์ฟังคำปรับทุกข์ พยายามปลดเปลื้องความทุกข์ด้วยโอวาทของตน  หรือเมื่อเห็นว่าพ้นความสามารถที่ตนจะปลดเปลื้องได้แต่ผู้บังคับบัญชาของทหารน่าจะปลดเปลื้องได้ ก็ให้บอกเล่าชี้แจงแก่ผู้บังคับบัญชานั้นๆ

               ๔. เมื่อกลับจากไปเยี่ยมทหารครั้ง ๑ ต้องทำรายงานเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึงเสนาธิการทหารบก ว่าได้ทำการอย่างไรบ้าง

               ๕. ต้องรักษาความรู้ในกิจการซึ่งตนได้รับบอกเล่าตามหน้าที่นั้นไว้เป็นความลับเสมอ นามบุคคลซึ่งได้ปรับทุกข์กับตนไม่ว่าในเรื่องใดๆ จะบอกเล่ากับผู้ใดไม่ได้

          ข้อ ๔ หัวหน้าอนุศาสนาจารย์  มีหน้าที่เช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้วในข้อ ๒ กับทั้งต้องเป็นผู้ฝึกสอนอบรมอนุศาสนาจารย์ทั้งปวงให้ปฏิบัติในหน้าที่ของตนให้ถูกต้องเรียบร้อย  และเป็นผู้ทำความเห็นเสนอเจ้ากรมตำราทหารบก  เพื่อวางแผนว่าอนุศาสนาจารย์คนใดต้องไป ณ กรมทหารแห่งใดเมื่อใด

          ข้อ ๕ ผู้บังคับบัญชาทหารทั้งปวง  ต้องเข้าใจชัดว่า อนุศาสนาจารย์นั้น เป็นผู้ช่วยของตนในการอบรมทหารให้อยู่ในความประพฤติและจรรยามารยาทอันดีงามช่วยปลดเปลื้องความขัดข้องกังวลในใจของทหาร ช่วยสดับตรับฟังแล้วชี้แจงความทุกข์ร้อนของทหารให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ต้องอย่าให้เข้าใจไปว่าอนุศาสนาจารย์นั้นเป็นจารบุรุษ สำหรับไปสืบความบกพร่องในกรมกองทหารใต้บังคับบัญชาของตน  ตรงกันข้ามผู้บังคับบัญชาทหารต้องยึดถือโอกาสเมื่ออนุศาสนาจารย์ไปที่กรม  สำหรับขอร้องให้อนุศาสนาจารย์ช่วยตนในทางบำรุงน้ำใจทหาร เพราะฉะนั้น ผู้บังคับบัญชาทหารมีหน้าที่ ปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

                    ๑. เมื่ออนุศาสนาจารย์ไปถึงที่ตั้งกองพลหรือกรมทหารกรมใด ให้ผู้บังคับบัญชากองพล หรือผู้บังคับการกรม กำหนดให้อนุศาสนาจารย์ได้แสดงคำสั่งสอนแก่ทหารเป็นส่วนรวม ๑ ครั้ง หรือหลายครั้งตามแต่จะตกลงกัน

               ๒. ให้ประกาศแก่บรรดาทหารว่า ผู้ใดต้องการพบพูดจาสนทนากับอนุศาสนาจารย์เฉพาะตัว ก็ให้บอกแก่ผู้บังคับบัญชาของตน แล้วผู้บังคับบัญชาจัดการให้ได้สนทนาสมประสงค์

               ๓. เมื่อผู้บังคับบัญชาเห็นว่าทหารคนใด  ไม่ว่าระดับใดจะบกพร่องในทางจรรยาความประพฤติ  สมควรจะได้รับความสั่งสอนตักเตือนเป็นพิเศษ  ก็ให้นำตัวทหารผู้นั้นมาให้อนุศาสนาจารย์สั่งสอนเฉพาะตัว

          ข้อ ๖ ให้ใช้ข้อบังคับนี้ แต่วันที่ ๑ มิถุนายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๒ และให้เสนาธิการทหารบก เป็นผู้รักษาดูแลให้การดำเนินการไปตามที่บัญญัติไว้นี้

          ข้อบังคับนี้แม้จะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ก็เป็นแนวทางในการดำเนินการด้านกิจการอนุศาสนาจารย์ในปัจจุบัน โดยยึดมั่นและดำรงวัตถุประสงค์และเป้าหมายเดิมที่แท้จริงของการพระราชทานกิจการอนุศาสนาจารย์ไว้ในกองทัพบก

. ความมุ่งหมายและความสำคัญในการพัฒนาหลักนิยม

          ก. หลักนิยมนี้ได้รวบรวมไว้ซึ่งภารกิจ, สถานภาพ, หน้าที่ และคุณลักษณะเฉพาะงานของอนุศาสนาจารย์ ตลอดถึงงานต่างๆ ที่อนุศาสนาจารย์จะต้องเข้าไปสัมพันธ์ด้วย

          ข. เรื่องต่างๆ ที่บรรจุไว้ในหลักนิยมนี้ จะเป็นแนวปฏิบัติที่อนุศาสนาจารย์สามารถนำไปใช้ได้ ทั้งในยามปกติ และยามสงคราม

          ค. หลักนิยมนี้ นอกจากจะเป็นแนวปฏิบัติสำหรับอนุศาสนาจารย์แล้ว จะต้องเผยแพร่ให้ ผู้บังคับหน่วยและฝ่ายอำนวยการอื่นทราบด้วย เพื่อให้เกิดการประสานและมอบหมายภารกิจให้อนุศาสนาจารย์ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป